xs
xsm
sm
md
lg

ภูฏาน เรื่องเล่าในบางมุมมอง (ตอนที่ 7)

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ทิมพู นครหลวงของภูฏานเห็นจะเป็นเมืองเดียวในโลกละกระมังที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรแม้แต่แห่งเดียว มีเพียงตำรวจจราจร 2 คนยืนโบกรถในป้อมกลางสี่แยกใหญ่ของเขาเท่านั้น หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวกลางเมืองที่อยู่ในทุกโปรแกรมทัวร์คือมหาสถูปแห่งทิมพู หรือ National Memorial Chorten อนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง 1 ใน 2 มหาราชนักปฏิรูปแผ่นดิน

พระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุก พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 พระราชบิดาแห่งภูฏานยุคใหม่!

ในการไปเยือนแผ่นดินมังกรสายฟ้า 2 ครั้ง ผมได้ไปชมมหาสถูปที่ดูภายนอกไม่ได้ใหญ่โตโอฬารหรือวิจิตรพิสดารอะไรนักแห่งนี้ทั้ง 2 ครั้ง แต่ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2553 อาจจะเป็นเพราะร่วมคณะไปกับท่านอดีตประธานวุฒิสภา ศ.ประสพสุข บุญเดช ที่ถือเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของสภาแห่งชาติ จึงโชคดีกว่าได้มีโอกาสเข้าไปชมภายในมหาสถูปเสียจุใจ

ณ เวลานั้นก็เข้าใจความนัยไม่ได้มากนักหรอก ต่อเมื่อภายหลังจึงเริ่มเข้าใจความยิ่งใหญ่ของพระองค์

วันที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์นั้นก่อนผมเกิด 3 ปี โลกภายนอกอยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 10 ปี มีความเจริญก้าวหน้าตามสมควรทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่และระบอบการเมือง แต่ราชอาณาจักรภูฏานภายใต้การปกครองของราชวงศ์วังชุกกลับตรงกันข้าม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 หลังก่อตั้งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นในช่วงต้นของศตวรรษ ซึ่งก็อย่างที่เล่ามาตลอดว่าเป็นระบอบใหม่ที่ยังปราศจากเสถียรภาพที่แท้จริง สังคมภูฏานอยู่ในระบอบศักนิดาแบบโบราณ พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ข้าราชการในตำแหน่งสำคัญล้วนเป็นเชื้อพระวงศ์

นอกจากนั้นยังมีทาสติดที่ดินที่ได้รับผลตอบแทนเป็นผลผลิตเพียงร้อยละ 1 ของผลผลิตรวมทั้งปี บวกกับเสื้อผ้าอีกปีละ 1 ชุดเท่านั้น

การกดขี่ขูดรีดในรูปแบบต่างๆ มีอยู่ทั่วไปจนถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดมายาวนาน

พระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุก เสด็จฯ ขึ้นครองราชย์ขณะพระชนมายุ 24 พรรษา ถือว่ายังอยู่ในช่วงวัยรุ่น แต่เป็นโชคดีมหาศาลของราชอาณาจักรและราชวงศ์ที่พระองค์ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทรงศึกษามาจากตะวันตก แต่ทรงมุ่งมั่นตลอดพระชนมชีพอันแสนสั้นที่จะทรงเปลี่ยนแปลงราชอาณาจักรของพระองค์ที่หยุดนิ่งอยู่กับยุคกลางมานานเกินให้เข้าสู่ประชาคมโลกในยุคใหม่ได้ เล่ากันว่าพระองค์ทรงได้รับการเลี้ยงดูจากในราชสำนักที่มีระเบียบวินัยเคร่งครัด ไม่ได้รับการศึกษามากนัก แต่ทรงเป็นนักอ่านตัวยง ทำให้ได้เข้าใจแนวคิดระบอบประชาธิปไตยตะวันตกที่กำลังครองโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทัศนคติทางการเมืองของพระองค์น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากท่านเยาวหะราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย อาจจะกล่าวได้ว่าเยาวหะราล เนห์รูเป็น Idol ของพระองค์ทีเดียว

นอกจากพระอัจฉริยภาพส่วนพระองค์แล้ว สถานการณ์ภายนอกก็มีส่วนหล่อหลอมพระองค์ให้ทรงเป็นนักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่ด้วย

ช่วงที่ทรงขึ้นครองราชย์ เหมาเจ๋อตงนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนประสบชัยชนะเหนือแผ่นดินใหญ่จีน และยกกองทัพเข้าบุกทิเบตด้วยเหตุผลความมั่นคงภายในของจีนเอง ตรงนี้กระทบภูฏานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีความผูกพันทั้งทางเชื้อชาติ ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีกับทิเบตมาก ยุวกษัตริย์พระองค์นี้ตัดสินพระทัยเด็ดขาดปิดพรมแดนทางตอนเหนือและตามมาด้วยการตัดขาดความสัมพันธ์กับจีน

พระองค์ตระหนักดีว่าภูฏานไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป ถึงไม่ยุ่งกับโลก โลกก็จะเข้ามายุ่ง แม้จะโชคดีที่รักษาเอกราชไว้ได้ในยุคล่าอาณานิคม โดยเหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะจักรวรรดินิยมอังกฤษเห็นว่าปล่อยภูฏานไว้เป็นรัฐกันชนระหว่างจีนกับอินเดียน่าจะเป็นประโยชน์กว่า แต่จะหวังโชคช่วยต่อไปและตลอดไปอย่างไรได้หากไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง

นอกจากหันไปคบหาสมาคมกับอินเดียในช่วง 10 ปีแรกของรัชกาลแล้ว พระองค์ยังมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะต้องปรับเปลี่ยนประเทศให้เข้าสู่ยุคใหม่ ให้มีเศรษฐกิจแข็งแก่งพอจะช่วยตัวเองได้เพื่อป้องกันการรุกรานทางเศรษฐกิจจากมหาอำนาจอย่างจีน

และในปีสุดท้ายของช่วงพระชนมายุที่แสนสั้นของพระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุก ภูฏานได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติสมพระราชประสงค์

แต่การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกหาทำให้ภูฏานละทิ้งจิตวิญญาณดั้งเดิมไม่

ความข้อนี้พิสูจน์ทราบได้ภายในมหาสถูปแห่งทิมพู

มหาสถูปแห่งทิมพูแม้จะสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1974 ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุก พระราชโอรส แต่เป็นพระราชดำริของพระองค์เองที่จะทรงสร้างสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาแนววัชรยานนิกายดรุ๊กปะการยุปขึ้นกลางนครหลวงแห่งใหม่ที่เพิ่งย้ายมาในรัชสมัยของพระองค์

ทิมพู หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า “ตาชิโช ซ่ง” แม้จะสร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณปีค.ศ. 1216 และปรับปรุงใหม่เมื่อประมาณปีค.ศ. 1630 ในยุคท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล แต่หลังจากเกิดอัคคีภัยหลายครั้งก็ถูกทอดทิ้งไปนาน มาบูรณะใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอูเก็น วังชุก องค์ปฐมบรมกษัตริย์ จนถึงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุกนี่แหละได้มีการบูรณะฟื้นฟูและต่อเติมขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางอำนาจของราชอาณาจักรในระหว่างปี ค.ศ. 1962-1969 หลังจากที่ทรงสถาปนาให้ทิมพูเป็นนครหลวงแทนที่ปูนาคาแล้ว ทุกวันนี้ตาชิโช ซ่งหรือชื่อใหม่ที่มักจะเรียกกันว่า “ทิมพู ซ่ง” ยังคงเป็นที่ทำการรัฐบาลและที่ทำการสังฆราชารวมทั้งสำนักราชเลขาธิการ พอจะเปรียบได้กับพระบรมมหาราชวังของบ้านเราในยุคก่อน สวยงามอลังการมาก ไม่ได้เปิดให้เข้าชมทั่วไป แต่ผมโชคดีเช่นเคยที่ในการเยือนเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ได้มีโอกาสเข้าไปชมภายใน

ถ้าทิมพูซ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร มหาสถูปแห่งทิมพูก็เป็นเสมือนศูนย์กลางแห่งสัญลักษณ์จิตวิญญาณ

เข้าใจว่าพระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุกทรงมีพระราชดำริให้มหาสถูปเป็นสัญลักษณ์แห่งการกลับชาติมาเกิดใหม่ของพระพุทธองค์ในร่างใหม่ตามคติพุทธศาสนาแนววัชรยานทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายมโน, ฝ่ายวจี และฝ่ายกาย ภายในสถูปที่เป็นเสมือนมหาวิหารขนาดย่อมทรงโปรดฯ ให้มีการจารึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ลงบนแผ่นทองเพื่อแทนการกลับชาติมาเกิดใหม่ในฝ่ายวจี ควบคู่ไปกับพระพุทธรูปรวม 1,000 องค์ที่แทนการกลับชาติมาเกิดใหม่ในฝ่ายกาย

ส่วนตัวสถูปที่ครอบมหาวิหารเห็นโดดเด่นกลางเมืองคือสัญลักษณ์แทนกลับชาติมาเกิดใหม่ของพระพุทธองค์ในฝ่ายมโนที่ถือว่าสูงสุดใน 3 ฝ่าย

ทางเข้ามีงานสลักหินประดับสวน ด้านนอกเป็นพระโพธิสัตว์ 3 พระองค์ผู้เป็นตัวแทนแห่งปัญญา ความเมตตา และอำนาจ ด้านในเป็นพระพุทธองค์ ท่านกูรูริมโปชี และท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล ริมสวนใกล้ประตูเป็นกงล้อมนต์ขนาดใหญ่ตั้งเรียงรายและหมุนวนไม่หยุดด้วยแรงศรัทธาของสาธุชนชาวภูฏานอยู่เกือบตลอดเวลา

ถ้าเราได้รับรู้ถึงประติมากรรมทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุก และมาสานต่ออย่างสมบูรณ์ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุก เราจะเข้าใจว่าเหตุใดชาวภูฏานถึงรักพระองค์

เพราะเป็นประติมากรรมทางการเมืองที่มีลักษณะเป็นการสละอำนาจในเชิงโครงสร้างของสถาบันและชนชั้นนำที่ครองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่เดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น