xs
xsm
sm
md
lg

รายงานทวงคืนปตท.ตอน 6: ขรก.-ปตท.ร่วมด้วยช่วยอิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมีหน้าที่กำกับควบคุมกิจการด้านพลังงาน แต่หลังจากปตท.แปรรูปเป็นบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)แล้ว รัฐกลับทำตัวเสมือนเป็นพวกพ้องกับผู้บริหารบริษัท การออกกฎระเบียบและการตัดสินใจเรื่องสำคัญบางประการแทนที่จะยึดผลักผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่กลับยึดประโยชน์ของบริษัทเพื่อให้เกิดกำไรสูงสุดไปแบ่งปันกัน

ความพิลึกพิลั่นของการแปรรูปปตท.คือรัฐได้ส่งข้าราชการระดับสูงไปนั่งกินเงินเดือนของปตท.และบริษัทในเครือ ค่าตอบแทนต่าง ๆ รวมถึงโบนัสสูงมากกล่าวได้ว่าสูงกว่าเงินเดือนข้าราชการเสียอีก วิธีการเช่นนี้ขัดกับหลักธรรมาภิบาลอย่างชัดเจนเพราะแนวโน้มที่ข้าราชการซึ่งมีหน้ากำกับและออกนโยบายจะตัดสินใจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทมหาชนย่อมมีมากกว่าตัดสินใจบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวม รัฐบาลในยุคนั้นยังแก้ไขระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ข้าราชการที่มีหน้าที่กำกับนโยบายเข้าไปเสวยสุขในกิจการรัฐวิสาหกิจบริษัทมหาชนง่ายขึ้นกว่าเก่า

มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินมองเห็นความเสียหายจากประเด็นดังกล่าวจึงได้บรรจุร่วมในคำฟ้องด้วย โดยระบุว่าพฤติกรรมดังกล่าวโดยเริ่มจากการแต่งตั้งให้นายมนู เลียวไพโรจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลพลังงานของประเทศในขณะนั้น (2544 ) เข้าไปเป็นกรรมการบริษัทของบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) และบริษัทเอกชนในเครือ ต่อมายังได้มีการแก้ไขพรบ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ฉบับที่ 5 เพื่อให้ข้าราชการผู้เป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจเข้าไปเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทเอกชน ที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้นได้ และฉบับที่ 5 พ.ศ. 2550 เพื่อให้ข้าราชการเข้าไปเป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้บริหารในนิติบุคคลที่เป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียกับรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้ข้าราชการรับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปเบี้ยประชุม โบนัสและผลตอบแทนอื่นที่มิใช่ตัวเงินเป็นจำนวนมากเปิดช่องทางให้นโยบายของรัฐถูกครอบงำจากภาคธุรกิจซึ่งขัดต่อหลักธรรมาภิบาลสากลอย่างร้ายแรง

หลังรัฐประหาร 2549 รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พยายามหาวิธีการแก้ปัญหาวิสาหกิจด้านพลังงานที่ถูกแปรรูปไปอาจจะถูกเอกชนและกลุ่มการเมืองครอบงำ จึงได้เพิ่มองค์กรควบคุมกำกับนโยบายขึ้นมาใหม่เรียกว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้เห็นว่าการกำกับธุรกิจพลังงานมีความเป็นอิสระ จากนักการเมืองหรือข้าราชการประจำ แต่มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินก็พบว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดังกล่าวกลับไม่ได้ทำหน้าที่อย่างอิสระจริงเพราะได้เอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)เบียดบังเอาเปรียบผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเอื้อประโยชน์ให้ปตท.กระทืบซ้ำประชาชนหลายกรณี เช่นการช่วยปตท.เล่นกลทางบัญชีประเมินมูลค่าท่อก๊าซที่ซื้อมาจากรัฐบาลเสียใหม่จากเดิม มีอายุงาน25 ปีมูลค่า 46,189.22 ล้านบาท กลายเป็นมูลค่าระหว่าง 105,000 - 120,000 ล้านบาทแถมอายุเพิ่มเป็น 50 ปี

การตีมูลค่าท่อก๊าซเป็นแค่ลูกเล่นทางบัญชีของปตท. ท่อก๊าซก็อยู่คงเดิมไม่ใช่การเพิ่มทุนลงทุนอะไรเพิ่มของปตท. แต่คณะกรรมการกำกับพลังงานกลับบ้าจี้อนุมัติให้ปตท.ปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซให้สูงขึ้น เพราะไปยึดแนวความคิดทางบัญชีท่อก๊าซมีต้นทุนทางบัญชีสูงเท่าไหร่แล้วคิดย้อนกลับมาเป็นค่าบริการ

การอนุมัติปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซเมื่อเมื่อ 1 มกราคม 2551 มีผลให้อัตราค่าขนส่งก๊าซผ่านท่อเพิ่มขึ้นจากอัตรา 19.7447 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.7665 บาทต่อล้านบีทียู คือเพิ่มขึ้นอีก 14.32 เปอร์เซ็นต์ ทำให้บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) มีรายได้จากการคิดค่าบริการขนส่งก๊าซผ่านท่อเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปีเป็นกว่า 22,000 ล้านบาทต่อปีในพริบตา

เงินรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 2 พันล้านบาทจากค่าบริการท่อก๊าซดังกล่าวเป็นกำไรจากเทคนิคทางบัญชีเบียดบังประโยชน์จากรัฐ และจากการช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐบางหน่วยล้วน ๆ หาใช่เกิดจากความสามารถในเชิงธุรกิจหรือการขยายการบริการอย่างใดเลย

มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินชี้ว่าการเอื้อประโยชน์ให้ปตท.ทำกำไรลักษณะนี้ของรัฐทำให้ปตท.มีรายได้มากขึ้นและส่งผลเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นภาคเอกชน 49% ที่ถืออยู่ เป็นการหาเงินกำไรบนการขูดรีดประชาชนโดยไม่จำเป็น

การเอื้อประโยชน์เรื่องการส่งมอบท่อก๊าซคืนให้รัฐก็เช่นกันผลสืบเนื่องจากที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองให้กลับคืนมาเป็นของรัฐ แต่จนกระทั่งบัดนี้ท่อบางส่วนยังไม่ได้กลับคืนมาตามคำพิพากษาศาลเนื่องเพราะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเพิกเฉยไม่ใส่ใจดูแลปกป้องประโยชน์ส่วนรวม

เฉพาะความพิลึกพิกลหลังศาลปกครองมีคำสั่งให้ท่อก๊าซกลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดินนี้มีหลายเรื่อง โดยสรุปคือกระทรวงการคลังเหมือนจะไม่อยากเอากลับคืนเพราะยังไงก็ต้องส่งมอบให้ปตท.เช่าใช้ประโยชน์ต่ออยู่ดี ตกกลับมาเป็นของรัฐแต่เพียงในนาม ความน่าตกใจของเรื่องนี้คือกระทรวงการคลังเอื้อประโยชน์ให้บริษัทมหาชนที่มีเอกชนถือหุ้นอยู่ 49% เกินไป แทนที่จะประเมินราคาค่าเช่าให้สมเหตุสมผลกลับคำนวณแบบขาดทุนเรี่ยดิน

ในปี พ.ศ. 2551 กระทรวงการคลัง ได้ประเมินค่าเช่าใช้ท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์ของปตท.(ที่ผนวกเข้าไปเป็นทรัพย์สินบริษัท) ระหว่างปี พ.ศ.2544 จนถึงปี พ.ศ. 2551 เป็นเงิน 1,300 ล้านบาท ดูเผิน ๆ เหมือนจะเยอะแต่แท้จริงแล้วเป็นค่าเช่าใช้ที่ต่ำกว่าความเป็นจริงหลายเท่า เพราะปตท. ได้เรียกเก็บค่าใช้ท่อส่งก๊าซไปจากประชาชนผู้ใช้ก๊าซไปแล้วเป็นเงิน 137,176 ล้านบาท

ตลกสิ้นดี กรณีนี้เปรียบได้กับมีคนมาเช่าที่นาของหมู่บ้านไป 10 ปี เขาเอาที่นานั้นทำมาหารายได้ไปแล้ว 1 ล้านบาท แต่ผู้ใหญ่บ้านใจดีเรียกเก็บค่าเช่าที่นารวมแล้วเพียงหมื่นบาทแค่นั้นเอง !!

กระทรวงการคลัง คำนวณเรียกคืนจากปตท. 1,300 ล้านบาทซึ่งคิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ปตท.ได้กำไรจากการเก็บค่าบริการจากประชาชน เฉพาะการประเมินช่วยกันของกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นเหตุให้ปตท. ได้กำไรเหนาะ ๆ จากค่าใช้ท่อส่งก๊าซของรัฐและประชาชนไปเป็นเงิน 135,876 ล้านบาทเงินดังกล่าวนำไปแบ่งให้เอกชนที่ถือหุ้น ส่วนประชาชนไทยเจ้าของท่อก๊าซได้เงินจากกระทรวงการคลังเพียง 1,300 ล้านบาทเท่านั้น

นอกจากท่อก๊าซที่ปตท.ส่งคืนกระทรวงการคลังที่ได้กล่าวมาแล้วในปัจจุบันยังคงมีท่อส่งก๊าซที่ปตท. ยังไม่คืนตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดอีก มูลค่าถึง 36,217.28 ล้านบาท ส่วนที่ยังไม่คืน บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ยังคงหาประโยชน์โดยเก็บค่าผ่านท่อทั้งยังไม่ต้องจ่ายค่าเช่าให้แก่รัฐมาจนทุกวันนี้ การที่ปตท.กระทำการเช่นนี้ได้ เนื่องจากข้าราชการที่มีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายพลังงานแห่งชาติและกระทรวงการคลังซึ่งควรจะเร่งรัดให้ส่งมอบคืนกลับมาเป็นของหลวงเพิกเฉยเพราะยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่กับบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)

มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินระบุในบรรยายฟ้องว่า รายละเอียดของข้าราชการและผลประโยชน์ทับซ้อนที่กล่าวข้างต้น ผู้ฟ้องคดีขออ้างส่งศาลในชั้นพิจารณา.
กำลังโหลดความคิดเห็น