xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน ทวงคืนปตท. ตอนที่ 5 – ทุบราคาทรัพย์สินชาติขายเอื้อเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแปรรูปปตท.คือกระบวนการสมประโยชน์มูลค่ามหาศาลระหว่างนักการเมือง เทคโนแครต นักวิชาการพลังงานและข้าราชการระดับสูง นโยบายบริษัทมหาชนต้องทำกำไรเพื่อตอบสนองผู้ถือหุ้นนั้นสร้างผลกำไรเติบโตขึ้นจากฐานคิดองค์กรรัฐวิสาหกิจแบบเดิมอย่างชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้นด้วยสถานะพิเศษ เป็นทั้งบริษัทมหาชนที่คล่องตัวและยังเป็นทั้งรัฐวิสาหกิจที่มีสิทธิพิเศษ ทำกิจการต้นน้ำกึ่งผูกขาดส่งผลให้เป็นเจ้าตลาดหนึ่งเดียวทั้งด้านก๊าซธรรมชาติด้านโรงกลั่นและด้านธุรกิจน้ำมัน

การเตรียมการแปรรูปเป็นขั้นตอนสำคัญมากเพราะขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและโครงสร้างจากของเก่าแปรมาสู่มือเจ้าของใหม่ การตีราคาทรัพย์สินจะส่งผลต่อฐานะทางบัญชี ความได้เปรียบเรื่องต้นทุนกำไรมหาศาล

ข้อเท็จจริงที่พบคือในการประเมินราคาสินทรัพย์ของปตท.เพื่อนำมาหาราคาตลาดของหุ้นสามัญต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นการประเมินให้ต่ำอย่างจงใจเพราะในเวลาต่อมาทรัพย์สินชิ้นเดียวกันนั้นก็ถูกเล่นแร่แปรธาตุเพิ่มมูลค่าทางบัญชีให้กับบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ทำให้เอกชนที่ถือหุ้นได้ประโยชน์เฉย ๆ โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม

ประเด็นที่เคยเป็นข่าวและขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครองมาแล้วคือการตีราคาท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ซึ่งของเหล่านี้คือทรัพย์สินของรัฐและประชาชนไทยที่ได้ลงทุนสร้างจากเงินภาษีอากรและรัฐต้องค้ำประกันเงินกู้จนสร้างเสร็จด้วยความเสี่ยงของรัฐและประชาชนไทย

แทนที่คณะกรรมการของปตท.จะกันท่อก๊าซซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติส่วนกลางของชาติออกมากลับวางแผนผนวกสมบัติดังกล่าวไว้ในบริษัทใหม่ทั้งยังตีราคาให้ถูกลงเพื่อให้ง่ายต่อการซื้อหุ้นร่วมกิจการและที่สำคัญผู้ที่เสียประโยชน์คือประเทศเพราะเงินที่จะเข้ากระทรวงการคลังจากการขายก็น้อยลงไปจากมูลค่าจริง

ปตท.ได้ประเมินมูลค่าทางบัญชี ( Book Value ) เพื่อการแปรรูปท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์เพียง 46,189.22 ล้านบาท และประมาณอายุการใช้งานไว้เพียง 25 ปี หลังการแปรรูปเพียง 9 ปี บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาได้แก่ บริษัท General Electric International Operation Company (GEIOC) และบริษัท Shell Global Solution Thailand (SGST) ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ(Economic Value)ของท่อส่งก๊าซเดิมนี้พบว่าสามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ตอนแปรรูปเพิ่มขึ้นอีก 25 ปี รวมเป็น 50 ปี โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงระหว่าง 105,000-120,000 ล้านบาท

มูลค่าที่ตีเพิ่มขึ้น ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ เลยเพราะท่อดังกล่าวถูกซื้อไปแล้วในช่วงแปรรูป แล้วที่น่าเจ็บใจกว่าท่อดังกล่าวมีราคาที่แท้จริงแพงกว่าที่ขายไปหลายเท่า
ต่อมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ฟ้องขอให้บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ประเมินมูลค่าระบบท่อส่งก๊าซเพื่อเรียกคืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ราคา 52,393.50 ล้านบาท บริษัทปตท. ส่งคืนตามคำพิพากษาเพียง 16,176.22 ล้านบาท ยังขาดอีก 36,217.28 ล้านบาท โดยเป็นราคาของท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกและในทะเลมูลค่า 32,613.45 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่นอีก 3,603.83 ล้านบาท

นอกกรณีท่อก๊าซปตท. ยังตีราคาโรงกลั่นน้ำมันต่ำกว่าราคาจริงโดยอ้างเพียงราคาทางบัญชี ( Book Value) ซึ่งมิใช่ราคาตลาด หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ที่แท้จริงของโรงกลั่น

ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นเช่นโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 1 โรง ใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท หักค่าเสื่อมทางบัญชีปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ครบสิบปี มูลค่าทางบัญชีจะเหลือเพียง 1 บาท ทั้ง ๆ ที่โรงกลั่นนี้ยังสามารถดำเนินการได้อีกไม่น้อยกว่า 15 ปี นอกจากเงินลงทุนจำนวนมากในการก่อสร้างแล้ว ธุรกิจการกลั่นน้ำมัน จะต้องมีใบอนุญาตจากรัฐบาลและต้องผ่านกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ราคาทางบัญชี 1 บาท จึงไม่ใช่ราคาซื้อขายที่แท้จริง

กรณีบริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (RRC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ขณะทำการแปรรูปปตท.ปี 2544 โรงกลั่นน้ำมันระยองมีมูลค่าทางบัญชีเป็นศูนย์ แต่เมื่อ โรงกลั่นน้ำมันระยอง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 กลับมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 50,000 ล้านบาท

ราคาตลาด หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value ) ของโรงกลั่นที่กลั่นน้ำมันได้ทันทีมีราคาประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อโรง เป็นคนละเรื่องกับมูลค่าทางบัญชีที่มือดีของปตท.ตีไว้ที่ 0 บาทเมื่อปี 2544

โดยภาพรวมแล้วการตีราคาค่าสิทธิ์ค่าสัมปทานและมูลค่าทรัพย์สินต่างๆในการแปรรูปปตท. จึงเป็นการตีราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ราคาตลาดที่แท้จริงและราคาที่คณะกรรมการปตท.ตีราคาสินทรัพย์ ทำให้หุ้นของบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)มีราคาเปิดจองเพียง 31-35 บาทต่อหุ้น ทั้งๆ ที่ราคาตามสินทรัพย์ที่แท้จริงสูงมากกว่านั้น มูลค่าจริงของปตท.สะท้อนผ่านในราคาหุ้น PTT ในปัจจุบันนั่นเอง

นี่เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่ามีขบวนการและการกระทำเพื่อให้บุคคลบางกลุ่มและพรรคพวกของเขาเหล่านั้นสามารถเข้าครอบงำและได้ไปซึ่งทรัพย์สินของรัฐในราคาต่ำกว่าราคาตลาดที่แท้จริง

และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินต้องฟ้องร้องบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)และกระทรวงการคลังต่อศาลปกครอง เรื่อง 1.ขอให้แสดงว่าการกระทำที่ขัดต่อผลประโยชน์และธรรมาภิบาลตกเป็นโมฆะ 2.ให้ทวงคืนสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ได้มาจากอำนาจมหาชนของรัฐและ3.ขอให้เพิกถอนใบหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้มาโดยวิธีฉ้อฉล.
กำลังโหลดความคิดเห็น