"พลังงาน" สยบข่าวค่าไฟพุ่ง นัดถก "ปตท.-กฟผ." สัปดาห์หน้า เคลียร์ค่าเสียหายท่อก๊าซในอ่าวไทยรั่ว เพื่อหาเจ้าภาพรับผิดชอบ ยืนยัน รบ.ไม่โยนภาระให้ ปชช. แน่นอน ด้านผู้ว่า กฟผ. ระบุ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เกิดจากส่วนที่ใช้น้ำมันเตา แต่ห่วงค่าก๊าซที่แพงขึ้น อาจกระทบต่อค่าเอฟที
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการแก้ปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าที่อาจเพิ่มขึ้นหลังท่อก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รั่วกลางอ่าวไทย ทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติ โดยยืนยันว่า ภายในสัปดาห์หน้า จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เข้ามาหารือถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เพื่อพิจารณาว่ามีมูลค่าเท่าไร และหน่วยงานไหนจะเป็นผู้รับภาระนี้ พร้อมยืนยันว่า นโยบายของรัฐบาล จะไม่ผลักภาระไปประชาชนแน่นอน
“การดำเนินงานทั้งหมด จะเน้นความโปร่งใส ไม่ผลักภาระไปกับประชาชน และไม่เอาไปแอบแฝงไว้ที่ค่าไฟแน่นอน อย่างไรก็ตาม สำหรับท่อส่งก๊าซนั้นได้ซ่อมเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ คาดว่าในเร็วนี้จะสามารถส่งก๊าซฯ ได้ตามปกติ”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ปตท.ได้สรุปตัวเลขเบื้องต้นว่า ปตท.สูญเสียปริมาณก๊าซที่เกิดจากการรั่วของท่อไปแล้วกว่า 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคาดว่าภายในเดือนสิงหาคม 2554 นี้ ปตท. จะส่งก๊าซได้ประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยในระยะแรกจะเริ่มทยอยเดินเครื่องจนกว่าจะปกติ
ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการ กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้การแก้ไขปัญหาท่อก๊าซ ปตท.รั่วที่อ่าวไทยใกล้จะเสร็จแล้ว คาดว่าจะสามารถใช้งานตามปกติได้ในต้นเดือนสิงหาคม 2554 นี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเชื่อว่าจะกลับสู่ภาวะปกติในปลายเดือนสิงหาคม 2554 นี้
ส่วนเรื่องค่าใช่จ่ายและความเสียหายทั้งหมด นายสุทัศน์ กล่าวว่า กฟผ.จะประสานกับ ปตท. เพื่อรวบรวมข้อมูล เพราะมีทั้งส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า และ ส่วนที่ประหยัดได้มากขึ้นจากการใช้พลังน้ำ และจะแจ้งต่อเรกูเลเตอร์ ต่อไป
ขณะที่ผลกระทบต่อค่าไฟฟ้านั้น กฟผ. ยืนยันจะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่กำชับไม่ให้กรณีท่อก๊าซรั่วมีผลกระทบต่อประชาชน แต่ยอมรับว่าค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดต่อไป มีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้น เนื่องจากราคาก๊าซที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าปรับราคาขึ้นมาก
นายสุทัศน์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยต้องเร่งหาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อมาทดแทนการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันใช้อยู่ถึงร้อยละ 70 โดยเห็นว่าถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันไทยมีการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 20 จากที่ทั่วโลกใช้ถ่านหินร้อยละ 40-50