xs
xsm
sm
md
lg

จี้ “กฟผ.-ปตท.” หาเจ้าภาพรับค่าไฟ-ท่อก๊าซเดี้ยง “คุรุจิต” หนุนแหล่งสำรอง-พลังงานสะอาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เรกูเลเตอร์” เรียก “กฟผ.-ปตท.” ชี้แจงผลกระทบท่อก๊าซรั่ว เพื่อพิสูจน์ว่า ความเสียหายเกิดขึ้นจากฝ่ายใด และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ยันต้องดูแลไม่ให้กระทบค่าไฟฟ้า “คุรุจิต” แนะไทยต้องมีแหล่งพลังงานสำรอง หนุนเดินหน้าพลังงานสะอาด “วรรณรัตน์” เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด ยัน ฮุนไดฯ ต้องรับผิดชอบ

นายดิเรก เลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า บ่ายวันนี้ เตรียมหารือร่วมกับตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กรณีท่อส่งก๊าซรั่วจากแหล่งปลาทอง โดย ปตท.จะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนความกังวลว่า การใช้เชื้อเพลิงอื่นแทนก๊าซธรรมชาติจะกระทบกับค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟทีนั้น กกพ.จะสอบสวนประจักษ์พยาน และพิสูจน์ว่า ความเสียหายเกิดขึ้นจากฝ่ายใด และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ก๊าซธรรมชาติ หายไปประมาณวันละ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต กระทบต่อการผลิตไฟฟ้า 2,400-3,000 เมกะวัตต์ และต้องใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงผลิตแทน กรณีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์สำหรับการพึ่งพาก๊าซมากจนเกินไป ทำให้ต้องทบทวนนโยบายการกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิงที่ต้องมีแหล่งสำรอง เช่น ถ่านหินสะอาด เพราะแม้แต่มาเลเซีย ที่มีเชื้อเพลิงน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน และพลังงานน้ำ ยังต้องแสวงหาแหล่งพลังงานอื่นสำรอง

ขณะเดียวกัน มีผู้เชี่ยวชาญพลังงานจากอาเซียน ออสเตรเลีย ปากีสถาน อิหร่าน จีน และ เกาหลี ร่วมงาน คลีน พาวเวอร์เอเชีย โดยนำเสนอกรณีศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากโครงการพลังงานสะอาดในประเทศต่างๆ เช่น โรงงานผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ผสมผสานพลังงานถ่านหิน จากออสเตรเลีย ส่วนฟิลิปปินส์ เสนอการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (กฟภ.) นำเสนอการใช้สมาร์ทกริด เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน และโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยช่วงเช้าวันนี้ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงสถานการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยรั่ว ตลอดจนการกำหนดมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆ ไว้ครบถ้วนแล้ว

ส่วนในช่วงบ่ายวันนี้ กระทรวงพลังงานจะมีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์และหาแนวทางแก้ไข หลังจากประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนแล้ว แต่ในเบื้องต้นได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ คือ สามารถซ่อมระบบท่อแล้วเสร็จภายใน 14 วัน และหากเกิดความเสียหายร้ายแรงซึ่งต้องใช้เวลาซ่อมราว 60 วัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดหาน้ำมันเตาและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้เพิ่มเติม

สำหรับมาตรการที่กระทรวงพลังงานนำออกมาใช้เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ได้แก่ การส่งน้ำมันเตาให้โรงไฟฟ้าบางปะกง 4 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า เป็นต้น

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงในที่ประชุม ครม. โดยถามกระทรวงพลังงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากต้องนำน้ำมันเตา มาใช้ผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานยืนยันว่าจะไม่มีผลต่อการปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าแน่นอน

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า บริษัท ฮุนไดเมอร์ชานท์มารีน ประเทศไทย จํากัด ซึ่งเป็นเจ้าของเรือที่ทอดสมอเรือไปเกี่ยวกับระบบท่อส่งก๊าซ บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างท่อก๊าซเส้นที่ 1 ส่งผลให้ระบบท่อได้รับความเสียหายและเกิดรอยรั่วนั้น จะต้องรับผิดชอบความเสียหาย การซ่อมแซมท่อที่รั่วและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในกรณีที่มีการนำน้ำมันเตามาผลิตไฟฟ้า

ขณะที่บริษัทฮุนไดได้ทำประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยจะเป็นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แต่หากเงินประกันไม่เพียงพอ บริษัทฮุนไดต้องรับผิดชอบส่วนที่เหลือทั้งหมด

ด้าน นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการ กฟผ.กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะส่งผลต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 1 พันล้านบาท หรือหากคิดเป็นค่าเอฟทีประมาณ 2.5 สตางค์ต่อหน่วย

ด้าน นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าทีบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.มีแผนนำเข้าน้ำมันเตา 30 ล้านลิตร จากสิงคโปร์เพื่อสำรองไว้ หลังเกิดเหตุการณ์ท่อก๊าซรั่ว หลังจากที่บริษัทมีน้ำมันเตาสำรองไว้แล้ว 50 ล้านลิตร

“เชื่อมั่นว่า การผลิตไฟฟ้าในประเทศยังคงเดินหน้าได้โดยไม่มีผลกระทบจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ เพราะในอดีตการผลิตไฟฟ้าในไทยใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงหลัก”

ทั้งนี้ คาดว่า จะใช้เวลานำเข้าประมาณ 3-4 วัน และหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ ก็สามารถให้บริษัทในเครือ เช่น บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ผลิตได้

“ตอนนี้เราประเมินสถานการณ์ คงต้องใช้น้ำมันเตาประมาณ 300 ล้านลิตร หากสถานการณ์ยืดเยื้อไป 30 วัน แต่เบื้องต้น ปตท.เชื่อว่าการแก้ปัญหาพูดกันเป็นสัปดาห์ดีกว่า คงไม่ต้องใช้เวลาเป็นเดือน และตอนนี้อยู่ระหว่างรอนำเข้าอุปกรณ์บางตัวจากสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าพรุ่งนี้จะมาถึง”

สำหรับการแก้ปัญหารอยรั่วของท่อก๊าซเส้นที่ 1 เชื่อว่า จะไม่ลุกลามไปยังท่อส่วนอื่น เนื่องจากรูรั่วไม่ได้อยู่ในท่อหลัก ขณะนี้มีการวางแผนให้นักประดาน้ำ ลงไปดูสภาพรอยรั่ว ซึ่งมีความลึกถึง 60 เมตร และมีการศึกษาที่จะนำเข้าอุปกรณ์นำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา และหลังจากนี้ ปตท.ศึกษาแผนการรองรับสถานการณ์ท่อก๊าซรั่ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น