xs
xsm
sm
md
lg

ครม.สั่งเบรกขึ้นค่าไฟฟ้า ปตท.เร่งซ่อมท่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.สั่งเบรก ห้ามนำปัญหาท่อก๊าซฯ รั่ว ขึ้นค่าไฟประชาชน กฟผ.รับภาระจนกว่าเรกูเลเตอร์จะหาผู้รับผิดชอบได้ เผยหยุดจ่ายก๊าซฯ 2 สัปดาห์ค่าไฟต้องขึ้น 3 สตางค์ต่อหน่วย ย้ำหากตอนนี้เป็นปี 57 มีหวังได้เห็นบางพื้นที่ไฟดับกันบ้างแล้ว ปตท. ส่งนักประดาน้ำลงปิดวาล์วซ่อมท่อรั่ววันนี้ พร้อมนำเข้าน้ำมันเตาเพิ่มป้อนผลิตไฟฟ้า

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (28มิ.ย.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เชิญกระทรวงพลังงานไปชี้แจงถึงกรณีท่อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยบริเวณจุดเชื่อมต่อเส้นที่ 1 และท่อกิ่งของแหล่งปลางทองรั่ว โดยได้ยืนยันถึงมาตรการต่างๆ ที่จะไม่ส่งผลกระทบให้ไฟฟ้าขาดแคลน รวมถึง

ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และก๊าซปิโตเลียมเหลว (LPG) โดยครม. ได้ตั้งข้อเป็นห่วงและสั่งการให้ระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชน โดยเฉพาะเรื่องภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

"ครม.ได้มอบนโยบายเพื่อไปหารือร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปที่จะทำให้ค่าไฟที่เกิดขึ้นไม่ตกมาอยู่ที่ประชาชน”นายณอคุณกล่าว

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่ากฟผ. กล่าวว่า จากกรณีท่อก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยรั่ว ส่งผลให้ส่วนหนึ่งต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาประมาณวันละ 9-10 ล้านลิตร เบื้องต้นประเมินผลกระทบจากการใช้น้ำมันเตาที่ราคาจะเฉลี่ย 16 บาทต่อลิตร 2 สัปดาห์ จะมีผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลกระทบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ประมาณ 3 สตางค์ต่อหน่วย (400ล้านบาทเท่ากับ 1 สตางค์) โดยเบื้องต้นกฟผ.จะเป็นผู้แบกภาระก่อน หลังจากนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) จะเป็นผู้สรุปขั้นสุดท้ายว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

“เรามีสำรองน้ำมันประมาณ 110 ล้านลิตร ซึ่งใช้ได้ประมาณ 10วัน สิ่งที่ห่วง คือ ถ้าต้องมีการหยุดซ่อมบำรุงมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป อาจจะมีปัญหาการขนส่งน้ำมันเตาไปยังโรงไฟฟ้าราชบุรีที่ต้องใช้รถขนนับร้อยเที่ยวในแต่ละวัน และกรณีหากโรงไฟฟ้าน้ำมันเตาขัดข้องขึ้น ก็ต้องหันไปเดินเครื่องผลิตจากดีเซล ซึ่งเวลานี้ตรึงราคาไว้ 30 บาทต่อลิตร แต่ก็แพงกว่าน้ำมันเตาเกือบเท่าตัว”นายสุทัศน์กล่าว

ทั้งนี้ หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2557 ที่สำรองไฟฟ้าเหลือประมาณ 10% ไฟฟ้าคงจะต้องดับเป็นบางพื้นที่แน่นอนแต่โชคดีครั้งนี้สำรองไฟฟ้าของกฟผ.ยังมีสูงอยู่ถึง 25% ซึ่งไทยโชคดีที่ยังไม่เคยเจอไฟดับ ดังนั้น ไทยควรจะต้องตัดสินใจในเรื่องของการกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้เข้าใจได้ว่านิวเคลียร์ยังมีปัญหา ดังนั้น ควรมองในเรื่องถ่านหินสะอาดที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยง โดยตามแผน กฟผ.จะสร้างเข้าระบบโรงแรกในปี 2562 ซึ่งคงจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ (29 มิ.ย.) ปตท.จะส่งนักประดาน้ำดำลงตรงบริเวณที่ท่อก๊าซฯ รั่ว ซึ่งมีความลึก 60-70 เมตร เพื่อสำรวจว่าวาล์วท่อก๊าซฯ ที่เชื่อมระหว่างท่อก๊าซฯ ประธานในทะเล เส้นที่ 1 ขนาด 34 นิ้วกับท่อก๊าซฯ ย่อยขนาด 24 นิ้วว่าได้รับความเสียหายหรือไม่ หากไม่เสียหาย นักประดาน้ำก็จะดำเนินการปิดวาล์วได้เลย ส่วนการซ่อมแซมได้ส่งอุปกรณ์สำรวจใต้น้ำ ROV (Remotely Operated Vehicle) ลงไปตรวจสอบแล้ว พบว่าท่อก๊าซฯ ที่รั่วเป็นท่อก๊าซฯ ย่อย 24 นิ้ว ไม่ใช่ท่อก๊าซฯประธานเส้นที่ 1ทำให้ใช้เวลาซ่อมแซมไม่นาน และไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างท่อก๊าซฯใหม่ เพียงแต่จะใช้วิธีปิดรอยรั่ว โดยการนำอุปกรณ์มาคาดปิด หรือตัดท่อบริเวณที่รั่วแล้วเชื่อมท่อก๊าซฯ ใหม่ โดยการซ่อมแซมประเมินว่าจะใช้เวลาเป็นสัปดาห์แต่ไม่เกิน 1 เดือน

ทั้งนี้ ปตท.ได้เตรียมนำเข้าน้ำมันเตาจากสิงคโปร์เข้ามาสำรองเพิ่ม 30 ล้านลิตร จากปัจจุบันที่มีปริมาณสำรองน้ำมันเตาอยู่แล้ว 50 ล้านลิตร ซึ่งระยะเวลาขนส่งน้ำมันเตาจากสิงคโปร์มาไทยสั้นเพียง 2-4 วันเท่านั้น และยังมีน้ำมันเตาที่ได้จากโรงกลั่นบางจากอีก 40-50 ล้านลิตร/เดือน ซึ่งในแต่ละวันจะใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 10 ล้านลิตร ซึ่งอดีตไทยเคยใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าถึง 5,000 ล้านลิตรหรือประมาณเดือนละ 400-500 ล้านลิตร จึงยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ท่อก๊าซฯ รั่วจะไม่ส่งผลกระทบทำให้การผลิตไฟฟ้ามีปัญหาแต่อย่างใด

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น ทางฮุนไดฯ ซึ่งเป็นผู้รับเหมาวางท่อก๊าซฯ ที่เชื่อมระหว่างแหล่งปลาทองกับท่อประธานเส้น 3 ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุท่อก๊าซฯ รั่ว คงต้องรับผิดชอบ และปตท.เองก็มีการทำประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น