ปตท.เตรียมกำหนดทิศทางแผนธุรกิจ 5 ปี ใช้เงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ตั้งเป้าเป็นบริษัทชั้นนำ ติดอันดับ 1 ใน 100 ของโลก พร้อมเปิดแผนระยะ 10 ปี ใช้เงินลงทุน 3.3 ล้านล้านบาท ปรับโฉมธุรกิจจากผู้ค้าน้ำมันและก๊าซสู่ธุรกิจพลังงานครบวงจร "บิ๊กไฝ" แนะรัฐบาลใหม่ยกเครื่องพลังงานทั้งระบบ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.ตั้งเป้าในอนาคตจะติด 1 ใน 100 ของการจัดอันดับบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกของนิตยสารฟอร์จูน จากปัจจุบันอยู่อันดับ 128 จึงวางแนวทางเพิ่มขนาดการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น แผนลงทุนของกลุ่ม ปตท.ใน 10 ปีข้างหน้าอาจจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงประมาณ 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกว่า 50% จะเป็นการลงทุนในต่างประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทจะประชุมคณะกรรมการบริหารในวันที่ 23 กรกฎาคม 2554 นี้ เพื่อกำหนดทิศทางกลยุทธ์ตามแผนธุรกิจ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2559 คาดว่าจะมีการใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของ ปตท. จำนวนกว่า 3 แสนล้านบาท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP จำนวนกว่า 4 แสนล้านบาท กลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มโรงกลั่นกว่า 2 แสนล้านบาท โดย 40% ของเงินลงทุนจะนำไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของ PTTEP
นายประเสริฐ กล่าวว่า หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนทั้งหมด กลุ่ม ปตท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า จากนั้นจะเพิ่มเป็น 6 ล้านล้านบาทตามแผนธุรกิจ 10 ปี
"การขยายธุรกิจของ ปตท.ในต่างประเทศ คาดว่าจะมีการระดมทุนโดยการนำบริษัทในเครือที่ไปลงทุนในต่างประเทศเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศนั้นๆ ส่วน ปตท.จะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศอื่นอีกหรือไม่ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม"
สำหรับการลงทุนภายใต้แผน 5 ปี แบ่งเป็นของ ปตท.เองกว่า 3 แสนล้านบาท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP จำนวนกว่า 4 แสนล้านบาท กลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มโรงกลั่นกว่า 2 แสนล้านบาท โดย 40% ของเงินลงทุนจะนำไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของ PTTEP
งบลงทุนของ ปตท.จะเน้นไปที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมากที่สุด เช่น การลงทุนก่อสร้างคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะที่ 2 การวางท่อส่งก๊าซฯ ไปภาคเหนือและอีสาน และการวางท่อบนบกเส้นที่ 4 เพื่อเชื่อมคลัง LNG ไปยังผู้ใช้ก๊าซฯ การขยายเครือข่ายก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV) และการวางท่อย่อยเชื่อมโครงข่ายท่อก๊าซฯ หลัก
"แผนธุรกิจของ ปตท.สผ.ตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 9 แสนบาร์เรลต่อวันในปี 63 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตประมาณ 3 แสนบาร์เรลต่อวัน ในส่วนของเงินลงทุนของ ปตท.สผ. ส่วนนี้ยังไม่ได้รวมอยู่ในเม็ดเงินลงทุนของ ปตท.ตามยุทธศาสตร์ 5 ปี แต่จะรวมเม็ดเงินลงทุนเมื่อได้แหล่งลงทุนที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งการลงทุนของ ปตท.สผ.จะประกอบด้วย การลงทุนเพื่อรักษาระดับการผลิตแหล่งที่ทำการผลิตอยู่ในปัจจุบัน การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต และการทำคลัง LNG ลอยน้ำ"
นอกจากนี้ ปตท.ยังมีการลงทุนในธุรกิจถ่านหินในต่างประเทศ เช่น บรูไน มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย รวมถึงการเข้าไปซื้อกิจการ และการร่วมทุนสร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ ส่วนการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจะเน้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหิน เพื่อขายไฟฟ้ากลับมาประเทศ โดยจะมุ่งไปที่ประเทศลาวและพม่า เป็นต้น
ขณะที่การลงทุนของกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น ส่วนใหญ่จะลงทุนผ่านบริษัทในเครือ ปตท.โดยจะเน้นปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 4 และพลังงานทดแทน เช่น เอทานอล พลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP จะขยายการลงทุนไปยังธุรกิจเอทานอลมากขึ้น บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ขยายการลงทุนในธุรกิจเอทานอลและพลังงานแสงอาทิตย์
ส่วน บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH และบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR อยู่ระหว่างขั้นตอนการควบรวมกิจการ ซึ่งจะมีการวางแผนธุรกิจภายหลังจากควบรวมกิจการกันเรียบร้อยแล้ว โดยเน้นที่การลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษที่มีคุณภาพสูง และการผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
ด้านบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC จะลงทุนตามแผนโครงการฟีนิกซ์ ซึ่งได้มีการอนุมัติโครงการลงทุนไปแล้วกว่า 85-90% โดยคาดว่าการลงทุนจะอนุมัติได้ครบในเร็วๆ นี้
นายประเสริฐ กล่าวว่า แผนในอนาคตของ ปตท.ได้ปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจจากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันและก๊าชธรรมชาติเป็นหลัก มาเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงานที่หลากหลายและครบวงจร (Business Conglomerate) หลังจากขยายเข้าไปลงทุนธุรกิจถ่านหิน ปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้า
ธุรกิจถ่านหินนับเป็นธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มสร้างรายได้ที่ดี เนื่องจากมีปริมาณสำรองทั่วโลกกว่า 120 ปี ขณะที่น้ำมันมีปริมาณสำรองเหลือเพียง 40 ปี และก๊าชธรรมชาติเหลือเพียง 60 ปี รวมทั้งถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก เป้าหมายธุรกิจถ่านหินจะมีกำลังการผลิตประมาณ 30-40 ล้านตันในปี 58 และจะเพิ่มเป็น 70 ล้านตันต่อปีในปี 63 ซึ่งขณะนี้เป็นการลงทุนผ่าน บริษัท ปตท.เอเชียแปซิฟิค ไมนิ่ง จำกัด ที่มีเหมืองในอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 10 ล้านตันต่อปี รวมถึงประเทศที่ถือสัมปทานอยู่และอยู่ระหว่างการขอสัมปทาน
"การลงทุนที่บรูไน หากกระบวนการขอสัมปทานแล้วเสร็จ ปตท.จะเจรจากับพันธมิตรที่ถือหุ้นในสัมปทานดังกล่าว เพื่อขอถือหุ้นเพิ่มขึ้น"
อยางไรก็ตาม การขยายการลงทุนคลังรับจ่ายก๊าซ LNG ระยะที่ 2 เป็น 10 ล้านตันต่อปี และการขยายอีกคลังในอีก 20 ปีข้างหน้า ยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงาน แต่เบื้องต้นคาดว่าในปี 2563 ความต้องการใช้ LNG อาจสูงถึง 20 ล้านตันต่อปี หากทำเฟส 2 ก็ต้องลงทุนอีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเฟสแรกลงทุนไป 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเปิดการผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 สามารถรองรับปัญหานำเข้ากรณีทดแทนก๊าซธรรมชาติที่หายไปจากกรณีท่อก๊าซในอ่าวไทยรั่ว ซึ่งนำเข้า LNG เพิ่มเติม 4 ลำเรือ ปริมาณ 2 แสนตัน ทำให้ลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 2 พันล้านบาท เมื่อเทียบเท่ากับการผลิตด้วยน้ำมันเตา
นายประเสริฐ ยังเปิดเผยว่า กำไรสุทธิในไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.45 หมื่นล้านบาท คาดว่าในไตรมาสที่ 2 จะดีกว่าไตรมาสเดียวกันปีก่อน ทำให้ครึ่งปีแรกจะมีรายได้และกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และหากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับนี้ ก็จะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของ ปตท.และประสบความสำเร็จมากขึ้น คาดว่าทั้งปีจะมียอดขายทะลุ 2.3-2.4 ล้านล้านบาท จากปีที่ผ่านมา 1.9 ล้านล้านบาท
นายประเสริฐ ยังฝากถึงนโยบยของรัฐบาลใหม่ ควรจะยกเครื่องการบริหารจัดการเรื่องพลังงานของประเทศใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้น เพราะการอุดหนุนราคาที่ผ่านมาทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการอุดหนุนราคาพลังงาน ทั้งในส่วนของ LPG , NGV และดีเซล ที่ไม่ควรอุดหนุน แต่ควรเป็นการอุดหนุนเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น เพราะจะทำให้รัฐบาลจะใช้งบประมาณจำนวนมาก
นอกจากนี้ นายประเสริฐ เห็นว่า ส่วนตัวแล้วการยกเลิกการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชั่วคราวนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้แต่ในระยะแรก จะต้องเป็นการจัดเตรียมเงินมาอุดหนุนราคา LPG และ NGV ต่อไป หรือแหล่งเงินอาจจะมาจากการกู้เงิน ขณะที่ระยะกลางและระยะยาว ต้องลดการอุดหนุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ด้านนายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานกรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ได้มีการวางแผนผลิตแอลเอ็นจีลอยน้ำ (FLNG) ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกันนี้ ยังเข้าไปขยายการลงทุนในแหล่งที่ถือหุ้นอยู่แล้ว ประกอบด้วย แหล่ง Cash&Maple ในประเทศออสเตรเลีย คาดว่าปลายปีหน้าจะรู้ผลการเจาะสำรวจปริมาณสำรองในแหล่ง หากมีปริมาณสำรอง 1.2 ล้านตัน ก็จะสามารถผลิต FLNG ได้ 2 ล้านตัน