เมื่อแปดปีที่แล้ว ผมได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ภาระที่ไม่จำเป็นด้านพลังงาน” ดังภาพปกทางซ้ายมือ ภาพลาลากล้อเลื่อนที่บรรทุกหนักจนขาลอย และผู้สนับสนุนการจัดพิมพ์โดยคณะกรรมการกองทุนสื่อเพื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชัน คงจะบอกถึงเนื้อหาสาระข้างในได้ระดับหนึ่ง
บทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ผมบอกว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยซื้อจากประเทศพม่ามีราคาแพงกว่าราคาก๊าซในอ่าวไทยคิดเป็นมูลค่าตลอดโครงการ (40 ปี) ถึง 4.5 แสนล้านบาท ผมได้ข้อมูลนี้มาจากรายงานชิ้นเล็กๆ ของกระทรวงพลังงาน (http://www.eppo.go.th/admin/nlt/nlt-2546-01.pdf) ซึ่งผมคิดว่าเขาคง “เผลอ” บอกมา ทำให้คนไทยต้องแบก “ภาระที่ไม่จำเป็น” คล้ายกับลาตัวนี้
ในวันนั้นผมคิดว่า ราคาก๊าซในอ่าวไทยเป็นราคาปกติที่ทั่วโลกเขาซื้อขายกัน แต่ราคาที่เราซื้อจากประเทศพม่าเป็นราคาที่แพงกว่าปกติ ตอนนั้นผมมีโอกาสได้ “ออกสื่อ” บ้างเล็กน้อย เพราะอยู่ในช่วงการคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ผู้บริหาร ปตท. อธิบายว่า ราคาก๊าซในอ่าวไทยเป็นราคาที่ปากหลุม แต่ราคาจากพม่าเป็นราคาที่ชายแดนที่ผู้ขายต้องลงทุนสร้างท่อมาเองระยะหนึ่ง ราคาจึงต้องสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ผมมีราคาการลงทุนท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อเทียบเคียงกันแล้ว ผมยืนยันว่าราคาก๊าซในพม่าก็ยังแพงกว่าถึงประมาณ 4.5 แสนล้านบาท
ในวันนั้นไม่มีสื่อใดติดตามประเด็นนี้ หนังสือที่ผมเขียนก็พิมพ์จำนวนแค่พันกว่าเล่ม คนรับรู้จึงน้อย แต่คำบอกเล่าของผมในหนังสือเล่มนี้ที่ว่า "ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กล่าวว่า ประเทศไทยเราอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรมากมาย หากไม่มีการคอร์รัปชันเสียอย่างเดียว เอาทองคำมาทำถนนยังได้เลย” กลับมาเข้าหูผมโดยคนขับแท็กซี่ใน กทม.ครับ นี่เป็นปรากฏการณ์ของการสื่อสารที่น่าสนใจยิ่ง
ผมเคยเรียนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีทราบถึงปัญหาท่อก๊าซไทย-พม่า เขาบอกว่า "เรื่องนี้เกิดในสมัย ส.ส.สงขลาเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม รัฐบาลนี้กำลังแก้ปัญหาอยู่” นับว่าเป็นคำตอบที่กระทบชิ่ง แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรได้เลย
มาวันนี้ รายงานเรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ ภาคที่ 2” ของวุฒิสภาที่มี คุณรสนา โตสิตระกูล เป็นประธานจับเรื่องนี้ต่อ ผลการศึกษากลับตรงกันข้ามกับที่ผมเคยสรุปครับ คือ ราคาก๊าซจากประเทศไทยมีราคาต่ำกว่าที่ใดๆ ในหลายแหล่งของโลกประมาณ 40 ถึง 67% รวมทั้งต่ำกว่าราคาที่เราซื้อจากพม่าด้วย (ดูตาราง) ตารางนี้มาจากเอกสารชี้แจงของกระทรวงพลังงานต่อคณะกรรมาธิการฯ รายงานของวุฒิสภาชิ้นนี้น่าสนใจมากครับ (หาได้จากกูเกิล) เฉพาะเรื่องการจัดการรายได้ปิโตรเลียมเพียงประเด็นเดียวสรุปว่า
(1) ประชาชนไทยเจ้าของประเทศได้ค่าภาคหลวงต่ำที่สุดในโลก คือประมาณ 12.5% ถ้ารวมภาษีเงินได้เข้าไปด้วยก็จะได้แค่ร้อยละ 28.87 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ปากหลุมเท่านั้น ในขณะที่ ประเทศพม่า นอกจากค่าภาคหลวง 10% แล้วยังได้ส่วนแบ่งกำไรอีกร้อยละ 50-80 จากน้ำมัน และได้ส่วนแบ่งอีกร้อยละ 45-60 จากการผลิตก๊าซธรรมชาติ และได้ภาษีเงินได้อีกร้อยละ 30 ประเทศกัมพูชาได้ค่าภาคหลวงร้อยละ 12.5 และได้ส่วนแบ่งกำไรอีกร้อยละ 40-60 จากน้ำมัน และส่วนแบ่งกำไร 35% จากก๊าซธรรมชาติ และได้ภาษีเงินได้อีก 30% สำหรับประเทศอินโดนีเซียจะได้ส่วนแบ่งกำไรจากน้ำมันร้อยละ 65 และส่วนแบ่งกำไรจากก๊าซธรรมชาติ 35% และได้ภาษีเงินได้อีก 44%
(2) ราคาก๊าซในอ่าวไทยต่ำกว่าที่อื่นถึง 40-67% ดังที่กล่าวแล้ว
เมื่อผลการศึกษาชิ้นนี้ออกมาว่า ราคาก๊าซในอ่าวไทยต่ำกว่าที่อื่นๆ ทำให้ผมยิ่งสงสัยหนักเข้าไปอีก เพราะผมทราบว่าบริษัทผู้ขุดเจาะก๊าซในอ่าวไทย ส่วนมากเป็นบริษัทต่างชาติ มีบริษัท ปตท.สผ.อยู่บ้างแต่ก็ถือว่ายังเป็นส่วนน้อย
การกำหนดค่าภาคหลวงในอัตราต่ำนั้น เราสามารถเข้าใจได้ เพราะบริษัทขุดเจาะจะได้จ่ายเงินให้รัฐบาลไทยน้อยๆ แต่การกำหนดราคาก๊าซให้ต่ำๆ จะทำให้บริษัทขุดเจาะไม่เสียผลประโยชน์หรือ? เพราะบริษัทขุดเจาะจะต้องขายก๊าซนี้ให้แก่บริษัท ปตท.จำกัด เพื่อนำก๊าซผ่านท่อไปขายต่อให้กับผู้ผลิตไฟฟ้า
หลังจากสงสัยและสอบถามใครต่อใครอยู่หลายวัน ก็มาพบความจริงว่า ผู้ขุดเจาะก๊าซจะต้องขายก๊าซให้แก่ บริษัท ปตท. จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (ก่อตั้งปี 2539) โดยที่บริษัทนี้คือบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 58% บริษัท Suez Energy International (ถือหุ้น 40%) และ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (2%)
รายงานของวุฒิสภาฯ ระบุว่า ในปี 2551 ประเทศไทยขายก๊าซ (เฉพาะก๊าซ) ได้ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยที่ราคานี้อยู่ที่ระดับ 45% ของตลาดโลก เราได้ค่าภาคหลวงประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ถ้าคิดกันเต็มราคาจริงที่อัตรา 12.5 % ก็จะได้ค่าภาคหลวง 4 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าคิดเต็มราคาจริงและอัตราที่ 35% (ตามรัฐ Alberta แคนาดา) รัฐก็จะได้ค่าภาคหลวง 1.2 แสนล้านบาท เห็นอะไรไหมครับ?
การกำหนดราคาก๊าซต่ำเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่าคนไทยได้ใช้ก๊าซราคาถูก เพราะ บริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด นำมาขายแพงอยู่ดี ส่งผลให้ บริษัท ปตท.จำกัด มีกำไรมหาศาล
เขียนมาถึงตอนนี้ ก็นึกถึงคำพูดของ ขุนรองปลัดชู ทางทีวีไทยที่ว่า "กูอยากจะบอกต่อพวกมึงว่า แผ่นดินมันกำลังอ่อนแอ อ่อนแออย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เหมือนเรือนใกล้จะพัง คานใกล้จะขาด เสาผุกร่อน เพราะปลวกมอดมันเจาะกินใน ถ้าพวกเราไม่ช่วยกัน วันหนึ่ง ถ้ามันต้องเผชิญกับพายุร้าย แม้นแรงเพียงนิด มันก็ไม่แคล้วต้องพังทลายลง เราต้องดูแลตัวเอง ดูแลบ้านเกิดของเรา ดูแลวิเศษไชยชาญ แล้วกูมีความหวังว่า จิตวิญญาณ...จะปลุกให้พวกเราตื่น”