ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเลื่อนแถลงรายงานผลการตรวจสอบกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ศุกร์ที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาออกไป โดยไม่มีกำหนด
ไม่ต้องสงสัยอะไรมากไปกว่า “ความเหมาะสมของสถานการณ์” หลังจากพรรคเพื่อไทย ได้ส.ส.มา 265 ที่นั่ง
“กรรมการบางท่านเห็นว่า มีประเด็นอื่นๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากการประชุมครั้งที่แล้ว และที่ประชุม กสม.เห็นว่าควรพิจารณาให้ครบถ้วน และเห็นว่าเงื่อนไขเวลาในการเปิดเผยรายงานที่ขยายออกไปอีกไม่น่าจะเป็นปัญหาใดๆ” นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อธิบายเหตุผลที่ไม่ค่อยมีนำหนักมากนัก
คนส่วนใหญ่เชื่อว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กำลังหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้ง
แต่ความจริงก็ยังเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ
ทำให้เกิดรายงานข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ เนื้อหาของรายงานผลการศึกษาผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.53 - 19 พ.ค.53 ต่อที่ประชุมกสม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา การตรวจสอบถูกแบ่งออกเป็น 9 กรณี แต่กรณีที่สำคัญ ซึ่งแสดงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงของกลุ่ม นปช. แต่ถูกแกนนำนปช.นำมาบิดเบือนล้างสมองคนเสื้อแดง ได้แก่
กรณีที่ 5 เหตุการณ์กรณีการสั่งการของรัฐบาล การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค.53 รวมทั้งเหตุการณ์ต่อเนื่อง เช่น การเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารต่างๆ
คณะกรรมการเห็นว่า การชุมนุมของนปช. เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ และมีอาวุธปืนอยู่ในสถานที่ชุมนุม มีกลุ่มบุคคลติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในกลุ่มชุมนุมส่งผลต่อความมั่นคงภายในประเทศ
ส่วนมาตรการกระชับพื้นที่ สี่แยกราชประสงค์และบริเวณโดยรอบ ตั้งแต่วันที่ 13-19 พ.ค.53 ตามประกาศของศอฉ.นั้น เห็นว่าเป็นกรณีที่รัฐบาลกำหนดขึ้นโดยความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดดังกล่าว แต่มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีผู้เสียชีวิต 57 ราย และบาดเจ็บ 437 คน
แม้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏกรณีเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย จากการยิงปะทะกันระหว่างทหาร และกลุ่มผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ในนปช. ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ว่า มาจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบเยียวยาผู้ที่เสียหาย และต้องสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ส่วนพฤติการณ์การกระทำของฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมในการเผาอาคารทรัพย์สิน ขยายไปถึงการเผาศาลากลางในหลายจังหวัด เห็นได้ว่าเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นและกระทำผิดกฎหมายอาญา
กรณีที่ 6 การเสียชีวิต 6 ศพ และการกระทำในรูปแบบอื่นๆ ในวัดปทุมวนาราม ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค.53
คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า รัฐบาลโดย ศอฉ.ได้ปฏิบัติการกดดันกระชับพื้นที่อย่างจริงจังมาตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. จนเกิดสถานการณ์การยิงปะทะในบริเวณพื้นที่ชุมนุมและพื้นที่โดยรอบ ในสภาพที่บ้านเมืองวุ่นวาย ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต 6 ศพและบาดเจ็บ 7 คน ในวัดปทุมฯ
การรวบรวมหลักฐานในชั้นนี้ ไม่มีพยานยืนยันว่าใคร ฝ่ายใดเป็นผู้ยิงทั้ง 6 ศพ และผู้เสียชีวิตบางรายเป็นการเสียชีวิตนอกวัด บางศพไม่รู้ว่าเสียชีวิตบริเวณใด แต่ทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ในวัด
กรณีที่เกิดขึ้นรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น และควรสืบสวนหาข้อเท็จจริง และหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม
นั่นทำให้การเรียกร้องเพื่อให้จัดการกับกลุ่ม นปช.อย่างเด็ดขาด จึงเกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว
ส่งผลให้มีการจับกุมแก๊งฮาร์ดคอร์ คนเสื้อแดงจำนวนมาก
ล่าสุดศาลอาญาได้มีคำพิพากษตัดสินจำคุก การ์ดนปช. ในข้อลักทรัพย์ และพกวัตถุระเบิดในระหว่างชุมนุมบริเวณ แยกราชประสงค์รวมแล้ว 11 ปี
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 27 มิ.ย. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง นายประสงค์ มณีอินทร์ และนายโกวิทย์ แย้มประเสริฐ 2 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนด ห้ามมิให้มีการชุมนุม และการใช้เส้นทางคมนาคม ร่วมกันมีวัตถุระเบิด ร่วมกันมีเครื่องวิทยุคมนาคม ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง และร่วมกันลักทรัพย์
ฟ้องโจทก์ สรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.53 จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และมั่วสุมอยู่บริเวณที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะโตโยต้า ไมตี้เอ็กซ์ ทะเบียน ปว 2816 กทม. เข้าไปในเส้นทางที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งไปด้วย ร่วมกันมีวัตถุระเบิด และเครื่องวิทยุคมนาคมชนิดมือถือโดยไม่ได้รับอนุญาต พกพาวัตถุระเบิดและอาวุธต่างๆไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันสมควร นอกจากนี้ยังงัดประตูร้านสะดวกซื้อเข้าไปลักทรัพย์รวม 60 รายการ เป็นเงิน 38,251 บาทด้วย
เหตุเกิดที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน, แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กทม. ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 335, 336 ทวิ, พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ.2549 มาตรา 55, 78, พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 5, 9, 11, 18 ทั้งนี้จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามวันเวลาที่ฟ้อง มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ห้ามใช้เส้นทางตามที่กำหนด ห้ามชุมนุม ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองขับรถกระบะผ่านไปยังด่านตรวจค้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านสกัดอยู่บริเวณถนนเพชรบุรี เมื่อตรวจค้นพบวัตถุระเบิด มีด ขวาน วิทยุสื่อสาร นอกจากนี้ ยังมีบุหรี่ สุรา อาหารแห้ง และบัตรเติมเงินโทรศัพท์ ที่จำเลยทั้งสองลักมาจากร้านสะดวกซื้อ
ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพว่า กำลังเดินทางกลับจากการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ที่บริเวณแยกราชประสงค์ แม้จำเลยจะให้การปฏิเสธ แต่จากคำเบิกความของพยานโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ขณะตั้งด่านตรวจค้น มีเจ้าหน้าที่ร่วมจับกุมหลายนาย ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่า จะเบิกความปรักปรำให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษ เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องจริง
พิพากษาฐานร่วมกันลักทรัพย์ด้วยการทำลายสิ่งกีดกั้นตั้งแต่สองคนขึ้นไป จำคุกคนละ 5 ปี ฐานมีวัตถุระเบิด จำคุกคนละ 6 ปี ฐานฝ่าฝืนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุกคนละ 8 เดือน ฐานมีวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 6,000 บาท และพกพาอาวุธไปในที่สาธารณะปรับคนละ 100 บาท
รวมจำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ 11 ปี 8 เดือน ปรับคนละ 6,100 บาท และริบของกลาง
ขณะเดียกันในช่วงที่พรรคเพื่อไทยกำลังจัดตั้งรัฐบาล โดยแกนนำนปช. คาดหวังว่า จะขยับขึ้นเป็นอำมาตย์ ในทำเนียบรัฐบาล
การพิจารณาคดีเผาเซ็นทาวเวอร์ และห้างเซ็นทรัลเมืองไทย ก็ดำเนินไปตามปกติ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องพิจารณา 501 ศาลอาญากรุงเทพ
ใต้ ซอยเจริญกรุง 63 ศาลนัดสืบพยานโจทก์คดีหมายเลขดำ ด.2478/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสายชล แพบัว อายุ 29 ปี ชาว จ.ชัยนาท การ์ดแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 27 ปี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์โรงเรือนที่เก็บสินค้า จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวมทั้งข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 7 เมษายน 2553 และประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ลงวันที่ 8 เมษายน 2553 กรณีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เกิดเหตุเพลิงไหม้ อาคารเซ็นทาวเวอร์และอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ตั้งอยู่แยกราชประสงค์
โดยวันนั้นอัยการนำเจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการกล้องวงจรปิด ซึ่งอยู่ชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เบิกความเป็นพยาน พร้อมกับนำพยานวัตถุ ซึ่งเป็นภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดรวม 6 จุด ภายในอาคาร มานำสืบประกอบด้วย
เจ้าหน้าที่ประจำห้องวงจรปิดได้ตอบคำถามเกี่ยวกับภาพที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดระบุว่า จะมีชายฉกรรจ์ที่มีผ้าปิดบังใบหน้า ประมาณ 10-20 คน ซึ่งบางคนมีผ้าพันคอสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ด้วย เข้ามาอยู่ภายในอาคาร และพยายามที่จะหาเชื้อเพลิงมาวางเพลิง โดยช่วงเกิดเหตุเจ้าหน้าที่พยายามที่จะเจรจาด้วย แต่ไม่เป็นผล จนเกิดเพลิงไหม้ครั้งแรก ซึ่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพยายามเข้าระงับเหตุแล้ว แต่กลุ่มชายฉกรรจ์พยายามวางเพลิงรอบสอง โดยเมื่อเหตุเริ่มลุกลาม พนักงานทั้งหมดต่างลงมาที่ลานจอดรถชั้น 1 ของอาคาร
นั่นหมายความว่า “ความจริงต้องเป็นความจริง” อยู่วันยังค่ำ ไม่ว่าจะมีการบิดเบือนล้างสมองผ่านวิทยุชุมชนไปนานแค่ไหนก็ตาม