นาทีนี้ ใครๆ ก็กลัวคนเสื้อแดงที่ใหญ่คับบ้านคับเมือง เพราะมีทั้งอำนาจรัฐ จากชัยชนะในการเลือกตั้ง ที่กำลังรอการประกาศสถาปนาอย่างเป็นทางการ และมีทั้งอำนาจเถื่อน ที่เที่ยวข่มขู่คุกคาม บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับพวกตนมาโดยตลอด
คณะกรรมการสิทธิมนูษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคล หรือองค์กร ที่เข้าข่ายอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวต่อ “ ภัยแดง” นี้ด้วย เพราะหาไม่แล้วคงจะไม่เลื่อนการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อเปิดเผย รายงานการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปีที่แล้วอย่างกระทันหัน จากที่นัดหมายกับสื่อไว้ในวันที่ 8 กรกฎาคม โดยเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด
เหตุผลของการเลื่อน ตามการแถลงของนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการ กสม.ก็ไม่ชัดเจน แม้จะอ้างว่ากรรมการ กสม.บางคนเห็นว่า ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ควรจะสอบเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ชัดเจนว่า คืออะไร
อย่างไรก็ตาม รายงานซึ่งมีความยาว 80 หน้า ก็เล็ดรอดออกมาถึงสื่อ และมีการสรุปความเห็นของ กสม. ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างวันที่ 12 มีนาคม - 19 พฤษภาคม 2553 รวม 9 กรณี มีอยู่ 5 กรณี ที่ผลสอบของ กสม.ระบุว่า การชุมนุมของ นปช.ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ละเมิดสิทธิของผู้อื่น มีการใช้ความรุนแรง มีกลุ่มบุคคลติดอาวุธแฝงอยุ่ในกลุ่มม็อบ
ในขณะที่ การปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพ และรัฐบาล กสม. เห็นว่า อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยทั่วไป ที่เป้นกาจำเป็น เหมาะสมในสถานการณ์ความรุนแรง และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ตัวอย่างเช่น กรณีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ถนนราชดำเนิน กสม.สรุปว่า ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากลุ่ม นปช.ได้มีการต่อต้านและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ทั้งมีกลุ่มชายชุดดำติดอาวุธปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม อันถือว่าเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีอาวุธและมีลักษณะเป็นกระบวนการที่พร้อมใช้อาวุธและความรุนแรงได้ตลอดเวลา ดังนั้น การชุมนุมดังกล่าวจึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนทั่วไป ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนจริง กระทำจากเบาไปหาหนัก จึงเป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แม้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อผู้ชุมนุมทั้งการใช้กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง แต่เมื่อพิจารณาย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝ่ายผู้ชุมนุมที่มีอาวุธและผู้สนับสนุนที่มีอาวุธสงคราม
การขอคืนพื้นที่ของรัฐบาลในครั้งนี้ ยังขาดการวางแผนที่ดี ทั้งเชิงรุกและรับ การข่าวที่ไร้ประสิทธิภาพและการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของฝ่ายผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงและมีอาวุธร้ายแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมาก ซึ่งการที่รัฐบาลไม่สามารถวางแผนหรือบริหารจัดการควบคุมสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป็นเหตุให้ประชาชนและผู้ชุมนุมเสียชีวิต รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการชดใช้เยียวยาความเสียหาย
นอกจากนี้เหตุระเบิดในที่ประชุมนายทหารโดยการเข้าเป้าด้วยแสงเลเซอร์ แสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนเพื่อฆาตกรรมนายทหาร ได้แก่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และ ส.ท.ภูริวัฒน์ ประพันธ์ อันเป็นการกระทำที่แฝงอยู่ในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มชายฉกรรจ์ จึงเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา ซึ่งรัฐบาลต้องสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ
หรือ เหตุการณ์ กระชับพื้นที่ที่สี่แยกราชประสงค์ ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม รวมทั้งเหตุการณ์ต่อเนื่อง เช่น การเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารต่างๆ
คณะกรรมการเห็นว่าการชุมนุมของ นปช. เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและมีอาวุธปืนอยู่ในสถานที่ชุมนุม มีกลุ่มบุคคลติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในกลุ่มชุมนุมส่งผลต่อความมั่นคงภายในประเทศ
ส่วนมาตรการกระชับพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณโดยรอบ ตั้งแต่วันที่ 13-19 พ.ค.2553 ตามประกาศของ ศอฉ.นั้น เห็นว่าเป็นกรณีที่รัฐบาลกำหนดขึ้นโดยความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดดังกล่าว แต่มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีผู้เสียชีวิต 57 ราย และบาดเจ็บ 437 คน
แม้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏกรณีเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย จากการยิงปะทะกันระหว่างทหารและกลุ่มผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ใน นปช. ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ว่ามาจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบเยียวยาผู้ที่เสียหาย และต้องสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ส่วนพฤติการณ์การกระทำของฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมในการเผาอาคารทรัพย์สิน ขยายไปถึงการเผาศาลากลางในหลายจังหวัด เห็นได้ว่าเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นและกระทำผิดกฎหมายอาญา
ในขณะที่ กรณี 6 ศพ ในวัดปทุมวนาราม ที่ฝายเสิ้อแดงใช้เป็นจุดขาย มาโดยตลอด กสม.เห็นว่า การรวบรวมหลักฐานในชั้นนี้ ไม่มีพยานยืนยันว่าใคร ฝ่ายใดเป็นผู้ยิงทั้ง 6 ศพและผู้เสียชีวิตบางรายเป็นการเสียชีวิตนอกวัด บางศพไม่รู้ว่าเสียชีวิตบริเวณ ใด แต่ทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ในวัด ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น และควรสืบสวนหาข้อเท็จจริงและหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม
รวมทั้ง กรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ตลอดจนความรุนแรงต่อสื่อมวลชน ที่ฝ่าย นปช. พยายามบิดเบือน ป้ายสีว่า ทหารเป็นผู้ยิง โดยเฉพาะในกรณีของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น แต่ กสม.กลับเห็นว่าผลการเสียชีวิตและบาดเจ็บของสื่อมวลชนเกิดขึ้นจากการยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธแฝงในกลุ่มผู้ชุมนุม แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้ใดเป็นผู้ยิง และกลุ่มที่ติดอาวุธแฝงเป็นใคร ดังนั้น รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบจึงมีหน้าที่เยียวยาช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ผลสอบที่ออกมาเช่นนี้ ย่อมไม่สบอารมณ์ ไม่ถูกใจกลุ่ม นปช.และกลุ่มคนเสิ้อแดงแน่ ถึงแม้ว่าผลสอบนี้ก็แค่ตอกย้ำในสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นและเชื่อว่า ใครคือผู้ก่อเหตุ ใช้ความรุนแรง เผาบ้านเผาเมือง เมื่อปีที่แล้ว
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลังจากมีการเผยแพร่ ผลสรุปรายงานการตรวจสอบนี้ แล้ว กสม.จะถูกแกนนำคนเสื้อแดงและสื่อเสื้อแดงรุมด่าประณามว่าบิดเบือน ไม่เป็นกลาง รับใช้อำนาจรัฐ เพราะมันเป็นความจริงที่พวกเขาไม่อยากให้ประชาชนได้รับรู้
คอยดูกันต่อไปว่า กสม.จะทำอย่างไรกับ รายงานการตรวจสอบนี้ จะมีการแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติมจากเดิมหรือจะปล่อยให้หายไปเฉยๆ