ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หากเริ่มนับจากเหตุการณ์เสื้อแดงเผาเมืองครั้งแรกในช่วงสงกรานต์เลือดปี 2552 ก็เป็นเวลา 2 ปีเต็มพอดี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จึงได้จัดทำหนังสือฉบับพิเศษ “ประเทศไทยของเราอย่าให้ใครเผาอีก”รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์เสื้อแดงเผาเมืองในปี 2552 และ 2553 ออกมาเผยแพร่
แม้ว่า เนื้อหาภายในหนังสือเล่มดังกล่าวจะเป็นข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสมควรที่คนทั่วไปจะได้รับรู้ แต่การทำหนังสือออกมา หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปค่อนข้างนาน และบรรยากาศทางการเมืองกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้ง ทำให้มองได้ว่า การทำหนังสือออกมาเผยแพร่ครั้งนี้ เป็นเกมการเมืองที่จะตัดคะแนนฝ่ายตรงข้าม คือพรรคเพื่อไทยที่เป็นเนื้อเดียวกันกับคนเสื้อแดง มากกว่าที่จะมุ่งนำข้อเท็จจริงออกไปให้ประชาชนได้รับรู้
หากจะมองย้อนไป ตั้งแต่เหตุการณ์เผาเมืองครั้งแรกในเดือนเมษายน 2552 ซึ่งมองเห็นการกระทำผิดของคนเสื้อแดงอย่างชัดเจน ตั้งแต่การยกขบวนไปล้มการประชุมสุดยอดพผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่พัทยา ยึดรถเมล์ร่วม 50 คันมาเผากลางเมือง ยึดรถบรรทุกแก๊สเตรียมจุดข่มขู่ชาวชุมชนแฝลตดินแดง ยิงชาวบ้านนางเลิ้งเสียชีวิต ล้อมทุบรถนายกฯ ที่กระทรวงมหาดไทย
แต่ภายหลังจากที่รัฐบาลสามารถสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงลงได้ แทนที่จะใช้โอกาสที่สังคมกำลังตื่นตัว ในการให้ข้อมูลเบื้องหลังและแรงจูงใจการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ซึ่งมีทักษิณ ชินวัตร นักโทษคดีทุจริตที่หนีคดีไปหลบอยู่ต่างประเทศอยู่เบื้องหลัง แต่กลับเสนอแนวทางสมานฉันท์ โดยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยมีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรีเป็นประธาน
ซึ่งก็ไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ได้จริง เพราะตลอดปี 2552 คนเสื้อแดงยังคงเคลื่อนไหวเพื่อรับใช้ทักษิณ ชินวัตรตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานวันเกิดที่พยายามเลียนแบบบุคคลสำคัญระดับสูงของประเทศ ทั้งที่ตัวเองมีสถานะเป็นเพียงนักโทษหนีคดี ตามด้วยการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อประชาชน 3 ล้านชื่อเพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ ชินวัตร โดยผิดหลักเกณฑ์-ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษโดยทั่วไป และเป็นการกดดันพระราชอำนาจ
ตลอดปี 2552 ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงทุกครั้ง ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังสามารถวิดีโอลิงก์หรือโฟนอินเข้าไปยังที่ชุมนุมเพื่อด่าทอให้ร้ายกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมาโดยตลอด รวมถึงการชุมนุมใหญ่วันที่ 10 ธันวาคม 2552 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราววันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลับมาใช้ อันเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาท้าทายพระราชอำนาจเป็นอย่างยิ่ง
พฤติกรรมของคนเสื้อแดงในปี 2552 ปีเดียว ก็เพียงพอแล้วที่จะบอกว่า คนกลุ่มนี้เป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร แต่นายสุเทพในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้ทำอะไรอย่างเป็นชิ้นเป็นอันที่จะให้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนเพื่อที่จะสกัดกั้นการขยายตัวของคนเสื้อแดงแต่อย่างใด
คนเสื้อแดงจะจัดชุมนุมที่ไหน เปิดโรงเรียนคนเสื้อแดงที่ไหนเพื่อปลุกระดมด้วยข้อมูลที่เป็นอันตราย ก็สามารถทำได้ตามใจ จนสามารถจัดชุมนุมใหญ่ขึ้นได้อีกตั้งแต่ต้นปี 2553 ทั้งที่พฤติกรรมที่คนเสื้อแดงแสดงออกในเดือนเมษายน 2552 ก็น่าจะเพียงพอที่จะจัดการกับแกนนำคนเสื้อแดง รวมถึงสลายมวลชนของคนเสื้อแดงได้แล้ว
ในฐานะที่นายสุเทพอยู่บนเวทีการเมืองมานาน น่าจะมองเกมออกว่า ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 จะต้องมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงให้หนักกว่าปี 2552 โดยเฉพาะการทำให้มีศพคนเสื้อแดงเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อนำไปเพิ่มน้ำหนักให้ข้อหา“นายกฯ ฆาตกร”ที่คนเสื้อแดงพยายามสร้างเป็นวาทกรรมตั้งแต่ปี 2552 แม้กระทั่งนำคลิปเสียงไปตัดต่อก็ยังทำ แต่ในครั้งนั้นยังขาดองค์กระกอบสำคัญคือศพคนเสื้อแดง
การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมนั้น คนที่เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงน่าจะมองออกตั้งแต่ช่วงแรกๆ แล้วว่า มีความพยายามที่จะยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ตั้งแต่มีการเจาะเลือดแล้วนำไปเทที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและบ้านพักนายกรัฐมนตรี การยกขบวนผู้ชุมนุมไปกดดันทหารที่มารักษาความสงบตามจุดต่างๆ ให้กลับเข้ากรมกอง ซึ่งเมื่อไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ก็มีการยกระดับการชุมนุมด้วยการย้ายไปตั้งเวทีที่สี่แยกราชประสงค์ ยกขบวนไปบุกรัฐสภา ไปสถานีดาวเทียมไทยคม ไปขับไล่ทหารออกจากกองทัพภาคทึ่ 1 จนรัฐบาลต้องใช้มาตรการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน และกลุ่มติดอาวุธเสื้อดำที่แฝงอยู่กับคนเสื้อแดงก็ปรากฏตัวออกมาพร้อมกับความตายของนายทหารอย่าง พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และมีทหารเสียชีวิต-บาดเจ็บอีกหลายสิบนาย
การที่มีคนชุดดำถืออาวุธออกมาสังหารเจ้าหน้าที่ในวันที่ 10 เมษายน 2553 นั้น นายสุเทพในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ที่อ้างในภายหลังว่า “คาดไม่ถึง” ก็เป็นข้ออ้างที่เป็นการปัดสวะให้พ้นตัวเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการเตือนถึงการออกมาสร้างสถานการณ์ของกลุ่มชายชุดดำ โดย ส.ว.และสื่อมวลชนบางส่วนแล้ว รวมทั้งนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เคยปราศรัยบนเวทีชุมนุมตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2553 แล้วว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมีองคประกอบครบตามหลักแก้ว 3 ประการแล้ว นั่นคือ มีพรรคการเมืองคือพรรคเพื่อไทย มีมวลชนคือคนเสื้อแดงและล่าสุดมีกองกำลังติดอาวุธ หลังจากมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่อาคารกองบัญชาการกองทัพบก
แต่รัฐบาลกลับไม่ระมัดระวัง ปล่อยให้ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณแยกคอกวัวและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยืดเยื้อไปเวลามืดค่ำ โดยที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธ จนเกิดความสูญเสียในที่สุด ขณะที่แกนนำคนเสื้อแดงก็มีศพของคนมวลชนไว้แห่รอบเมืองเพื่อใส่ข้อหานายกฯ ฆาตกรให้กับนายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สมดั่งใจ
หลังจากเหตุรุนแรงวันที่ 10 เมษายนแล้ว แทนที่จะมีมาตรการจัดการกับคนเสื้อแดงอย่างเด็ดขาดตามมา แต่รัฐบาลก็ยังคงเลี้ยงไข้ให้การชุมนุมยืดเยื้อออกไป มิหนำซ้ำ นายอภิสิทธิ์ยังไปเสนอแผนปรองดองกับแกนนำคนเสื้อแดง โดยยื่นเงื่อนไขว่าจะยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งใหม้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 แลกกับการที่คนเสื้อแดงจะยุติการชุมนุม แต่เมื่อกระแสสังคมไม่เห็นด้วย เพราะรับไม่ได้กับพฤติกรรมกลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดง แผนปรองดองดังกล่าวจึงถูกยกเลิกไป และทหารจำเป็นต้องใช้มาตรการกระชับพื้นที่เพื่อสลายการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งลงท้ายด้วยการเผาเมืองในที่สุด
แล้วหลังจากนั้น รัฐบาลก็ย่ำรอยเดิมเหมือนที่เคยทำหลังเหตุการณ์เผาเมืองในปี 2552 ด้วยการตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมา ให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมเพื่อจะค้นหาว่าใครผิด ทั้งที่เจ้าหน้าที่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว มีการออกมติ ครม.เพื่อช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมให้ได้รับการประกันตัว มีการส่ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ไปเจรจากับทักษิณ ชินวัตร ที่ประเทศนอรเวย์
แล้วประเด็นสำคัญคือ ให้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) ไปให้การต่อศาลว่า แกนนำคนเสื้อแดงให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี และเมื่อตรวจค้นแล้วไม่มีอาวุธ
ดังนั้น แม้เนื้อหาในหนังสือที่นายสุเทพจัดพิมพ์ออกเผยแพร่นั้นจะเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่จากพฤติกรรมและการกระทำของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ไม่ได้เอาจริงเอาจังในการจัดการกับคนเสื้อแดงที่กระทำผิด จึงทำให้การเผยแพร่หนังสือครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นเพียงเกมการเมืองช่วงก่อนการเลือกตั้ง ที่พรรคประชาธิปัตย์นำออกมาใช้ เพื่อให้ตัวเองดูดีกว่าฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น