xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“มาร์ค”ปล่อยทหารเผชิญข้อหาฆ่านักข่าว“ยุ่น”-ลอยตัวรอตีกินอย่างเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทหารที่ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกยิงจากกลุ่มชายชุดดำ ระหว่างปฏิบัติการขอพื้นที่คืนจากคนเสื้อแดง บริเวณแยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็แถลงผลการตรวจสอบการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ขณะปฏิบัติหน้าที่ทำข่าวในวันทหารขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ที่บริเวณแยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ว่า ไม่ได้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
 

โดยเมื่อวิเคราะห์จากลักษณะบาดแผล สันนิษฐานว่าเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากถูกยิงด้วยกระสุนปืน 3 ชนิด ได้แก่ ปืนเอเค 47 หรืออาก้า ปืนเซกาเซ่ และปืน 05 นาโต้ ซึ่งแม้ว่าวิถีกระสุนอาจมาจากแนวของทหาร แต่ในวันดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้นำอาวุธปืนชนิดนี้ไปใช้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีความพยายามที่จะชี้นำว่า นักข่าวรายนี้ถูกยิงจากทหาร เนื่องจากมีพยานและคนเสื้อแดงอ้างว่า วิถีกระสุนออกมาจากแนวทหาร จนทำให้ฝ่ายสถานทูตญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว ตามความต้องการของฝ่ายคนเสื้อแดง และทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังจะนำเรื่องการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ไปฟ้องเอาผิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

แต่เมื่อ ผลสรุปของดีเอสไอชี้ว่า ไม่ได้เกิดจาการกระทำของเจ้าหน้าที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง ก็ปฏิบัติการตอบโต้เร็ว ด้วยการยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ โดยทันที ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พ่วงด้วยการฟ้อง พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจและที่ปรึกษาดีเอสไอ ที่ร่วมแถลงข่าวกับนายธาริต ในข้อหาสนับสนุนเจ้าพนักงานให้กระทำความผิด โดยนายจตุพรอ้างว่า การแถลงของนายธาริต เป็นการบิดเบือนรูปคดีการเสียชีวิตของนักข่าวชาวญี่ปุ่น เพื่อปกปิดการกระทำผิดของผู้ถูกกล่าวหาหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดให้หลุดพ้นความรับผิดตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หากจะย้อนไปดูข่าวสารที่ปรากฏทั้งในสื่อไทยและสื่อต่างประเทศในช่วงวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็จะพบว่า ในคืนแห่งการนองเลือดนั้น มีกลุ่มชายชุดดำที่ปะปนอยู่กับคนเสื้อแดงถืออาวุธปืนอาก้าออกมายิงต่อสู้กับทหาร โดยมีวิดีโอคลิปและภาพนิ่งเป็นหลักฐานให้เห็นชัดเจน ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่นั้น มีเพียงกระบองและโล่ ยกเว้นนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่ให้ถือปืนเอ็ม 16 เพื่อยิงขู่ผู้ชุมนุม และมีการใช้อาวุธปืนทราโว่ ยิงเปิดทาง ขณะถอนกำลังทหารจากพื้นที่หลังจากถูกโจมตีจากกลุ่มคนชุดดำ จนทหารรวมถึง พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิตและบาดเจ็บ

ดังนั้น หากพิจารณาจาก รูปการณ์ พยานหลักฐาน และที่มาที่ไปของปฏิบัติการยึดพื้นที่คืนบริเวณแยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 แล้ว ไม่จำเป็นเลยที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ต้องมาถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมาย

หากจะลำดับเหตุการณ์แล้ว ปฏิบัติการวันที่ 10 เมษาฯ เกิดขึ้นหลังจากที่คนเสื้อแดงยกพวกไปบุกอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และปิด “พีเพิลทีวี” สถานีโทรทัศน์ของกลุ่มคนเสื้อแดง รวมทั้งส่งกำลังทหารไปควบคุมสถานีดาวเทียมไทยคมที่ลาดหลุมแก้ว ซึ่งคนเสื้อแดงใช้ส่งสัญญาณออกอากาศของพีเพิลทีวี จากนั้นวันที่ 9 เมษายน คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งได้เคลื่อนขบวนออกจากแยกราชประสงค์ไปยังสถานีดาวเทียมไทยคมลาดหลุมแก้ว เพื่อยึดสถานีดาวเทียมคืน และใช้โอกาสที่เจ้าหน้าที่ไม่กล้าใช้ความรุนแรง แย่งท่อฉีดน้ำฉีดใส่เจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ขว้างแก๊สน้ำตาใส่ ก็ขว้างกลับ จนทหารต้องยอมถอนกำลังออกจากสถานีไทยคมและทิ้งอาวุธประจำกายให้คนเสื้อแดงยึดเอาไป

ต่อมาเช้าวันที่ 10 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงก็ย่ามใจ นายขวัญชัย ไพรพนา ได้นำคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง ปืนข้ามรั้วเข้าไปในกองทัพภาคที่ 1 เพื่อขับไล่ทหารออกไป เจ้าหน้าที่จึงใช้น้ำฉีดขับไล่ออกมา และปฏิบัติการรุกกลับ ด้วยการยึดพื้นที่ชุมนุมชองคนเสื้อแดงกลับคืน ตั้งแต่บริเวณแยกมิสกวันมาเรื่อยๆ แต่ก็ถูกคนเสื้อแดงยึดกลับในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ยังดำเนินอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงเย็น และเมื่อเวลามืดค่ำ ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังรุกขอพื้นที่คืนบริเวณแยกคอกวัว กลุ่มคนเสื้อดำก็เริ่มออกปฏิบัติการ จนทำให้ทหารและคนเสื้อแดงเองได้รับบาดเจ็บรวม 840 คน และเสียชีวิต 25 คน

อย่างไรก็ตาม นับแต่เกิดเหตุการณ์จนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่เห็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งเป็นคนสั่งการให้ทหารออกปฏิบัติหน้าที่ ออกมารับแทนอย่างองอาจในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุด กลับยังปล่อยให้คนเสื้อแดงนำไปขยายผลกล่าวหาให้ร้ายทหารอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งหลังจากที่ดีเอสไอมีผลสรุปออกมาแล้ว คนในระดับนำของรัฐบาล ก็ยังไม่กล้าที่จะออกมายืนยันความบริสุทธิ์ของเจ้าหน้าที่อย่างเต็มปากเต็มคำ แต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน กลับพยายามโยนความรับผิดชอบทั้งหมดไปที่ดีเอสไอ ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และให้ ผบ.ทบ.รับผิดชอบเอง โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์นักข่าว ที่ตั้งคำถามแบบมักง่าย โดยเชื่อมโยงว่า ผลสอบดีเอสไอระบุว่า นักข่าวญี่ปุ่นเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนอาก้า ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่ามีทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนใช้ปืนอาก้า แทนที่นายสุเทพจะยืนยันว่า ในวันดังกล่าวไม่มีทหารที่ใช้อาวุธปืนอาก้าขณะปฏิบัติหน้าที่ นายสุเทพกลับบอกให้ไปถาม ผบ.ทบ.เอง

ส่วน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อถูกนักข่าวประเภท “กลางกลวง”ถามว่า ผลตรวจสอบของดีเอสไอ เป็นการฟอกตัวให้กับรัฐบาลหรือไม่ แทนที่นายภิสิทธิ์จะยืนยันว่า ไม่ใช่การฟอกตัว และย้ำว่าปฏิบัติการเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นปฏิบัติการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด นายอภิสิทธิ์กลับตอบเพียงว่า ดีเอสไอตรวจสอบตามข้อเท็จจริง เจออะไรก็อธิบายไปอย่างนั้น และเป็นการค้นพบเบื้องต้นก่อนที่จะส่งไปให้ตำรวจ

หากจะมองย้อนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ในแง่ของการเข้าไปแก้ไขสถานการณ์เพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เนื่องจากฝ่ายผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ และการปฏิบัติการขอพื้นที่คืนนั้น เป็นกระทำการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว

การปล่อยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการต้องมาแก้ข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง จึงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขาดความกล้าที่จะแอ่นอกออกรับแทนทหาร ทั้งๆ ที่ทหารเหล่านั้นก็ปฏิบัติหน้าที่เพื่อค้ำบัลลังก์ให้เขานั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น