xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บอกวันยุบสภาล่วงหน้า บูมเมอแรงย้อนฆ่า“อภิสิทธิ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับวันยิ่งเห็นชัดเจนว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ดีกรีปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ผู้มีประสบการณ์เล่นการเมืองมา 19 ปี นับแต่เป็น ส.ส.ครั้งแรกเมื่อปี 2535 นั้น ไม่ได้เข้าใจในรากเหง้าของปัญหาบ้านเมืองเลยแม้แต่น้อย

การเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ของเขาเมื่อปลายปี 2551 ก็เพียงเพื่อสนองความอยากจะนั่งเก้าอี้นายกฯ ตามที่เคยใฝ่ฝันมาตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ได้คิดจะเข้ามาแก้ไขวิกฤติของบ้านเมืองอย่างจริงจังเลย และเมื่อได้นั่งเก้าอี้นายกฯ สมใจแล้ว สิ่งที่ทำหลังจากนั้น คือการเล่นเกมเพื่อรักษาเก้าอี้นายกฯ ไว้ให้ได้นานที่สุด

ในช่วงปีแรกในตำแหน่งนายกฯ งานหลักของนายอภิสิทธิ์ จึงเป็นการลดแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาล และ ทักษิณ ชินวัตร ที่มีพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงเป็นเครื่องมือ

พรรคร่วมรัฐบาลที่ย้ายขั้วมาจากฝั่งตรงข้าม พยายามสร้างแรงกดดันนายอภิสิทธิ์เพื่อสร้างอำนาจต่อรองผลประโยชน์ ด้วยการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเขตเลือกตั้ง และการยุบพรรค ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็เล่นเกมซื้อเวลาด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ขึ้นมาทำการศึกษา แต่สุดท้ายก็ทำตามความต้องการของพรรคร่วม

หากนายอภิสิทธิ์ เข้าใจในวิกฤติของบ้านเมือง จะต้องปัดข้อเสนอจากพรรคร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญให้ตกไป และไม่ปล่อยให้พรรคร่วมมาสร้างอำนาจต่อรองเหนือตัวเขาเป็นอันขาด หากนายอภิสิทธิ์เข้าใจปัญหา นายอภิสิทธิ์ย่อมสามารถอธิบายเหตุผลได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 นั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติจากประชาชนมาแล้ว และเพิ่งใช้มาไม่กี่ปี หากจะมีการแก้ไขก็ควรจะต้องทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลมากดดันให้แก้ไขตามอำเภอใจ

นอกจากนี้ เพียงแค่ใช้สามัญสำนึก นายอภิสิทธิ์ ย่อมจะรู้ดีว่า นักการเมืองจากพรรคร่วม ที่ย้ายขั้วมาจากฝั่งนอมินีทักษิณนั้น ล้วนมีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ไม่น่าไว้ใจทั้งสิ้น แต่นายอภิสิทธิ์กลับยอมให้นักการเมืองเหล่านี้ขี่คอได้ตลอด เพื่อแลกกับการที่ตนเองจะได้อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไป ไม่ได้ใช้ความเด็ดจัดการกับรัฐมนตรีที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ตามมาตรการกฎเหล็ก 9 ข้อ ที่ตั้งขึ้นมากับมือ

ส่วนทักษิณ ชินวัตรนั้น ได้เปิดเกมกดดันนายอภิสิทธิ์ตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง ด้วยการสั่งม็อบคนเสื้อแดงเข้าไปก่อกวนที่น้ารัฐสภาในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และปิดล้อมรัฐสภาในวันแถลงนโยบายรัฐบาล ก่อนวันสิ้นปี 2551 จนต้องมีการย้ายการประชุมรัฐสภาไปที่กระทรวงการต่างประเทศ หลังจากนั้น ก็มีการจัดชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่ต้นปี 2552 ต่อเนื่องไปจนถึงการล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา และจบลงด้วยการเผาเมืองครั้งแรกในวันสงกรานต์ปีนั้น

การรับมือกับคนเสื้อแดงนั้น แทนที่นายอภิสิทธิ์จะใช้สื่อของรัฐให้เป็นประโยชน์ในการให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อให้เห็นว่าคนเสื้อแดงนั้นแท้ที่จริงคือเครื่องมือของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หนีคดีทุจริตโกงบ้านกินเมืองไปหลบอยู่ต่างประเทศ และมีกลุ่มขบวนการล้มเจ้าเข้าแอบแฝง นายอภิสิทธิ์กลับยังปล่อยให้คนเสื้อแดงใช้สื่อประเภทกลางกลวงเป็นเครื่องมือ รวมทั้งมีสื่อของตัวเองอย่างพีเพิ่ลทีวี เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นอันตรายออกสู่ประชาชน รวมทั้งทำสื่อประเภทซีดี ใบปลิวออกแจกจ่ายประชาชนระดับรากหญ้าในต่างจังหวัด รวมทั้งมีการตั้งโรงเรียนคนเสื้อแดง จัดอบอรมให้ข้อมูลที่เป็นอันตรายฝังหัวชาวบ้าน จนขบวนการคนเสื้อแดงขยายตัวออกไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับขบวนการล้มเจ้าที่รัฐบาลไม่จัดการให้เด็ดขาด

หลังจากการเผาเมืองครั้งแรกในเดือนเมษายน 2552 แทนที่นายอภิสิทธิ์ จะตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง และเร่งจัดการกับคนที่ทำผิดอย่างเด็ดขาด แต่นายอภิสิทธิ์ไม่กล้าพอ จึงใช้วิธีเอาตัวรอด ด้วยการเสนอแนวทางปรองดอง ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา ราวกับว่าการล้มการประชุมอาเซียน การเผาเมืองในวันสงกรานต์ ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศเลย

นั่นทำให้ขบวนการคนเสื้อแดงยังคงเติบโตต่อเนื่อง และเริ่มมีการชุมนุมกดดันนายอภิสิทธิ์อีกครั้งตั้งแต่ปลายปี 2552 โดยชูวาทะกรรม ยุบสภา โค่นล้มอำมาตย์ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ที่ขี้ขลาดตาขาวอยู่แล้ว แทนที่จะตอบโต้เพื่อหักล้างเหตุผลของคนเสื้อแดงว่า ไม่มีความจำเป็นต้องยุบสภา เพราะอายุสภายังอยู่ถึงปลายปี 2554 เขาจะขอใช้เวลาที่เหลืออยู่ก่อนหมดอายุสภา ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ

นายอภิสิทธิ์กลับเลือกที่จะสร้างภาพว่าเขาไม่ยึดติดกับอำนาจ และพร้อมที่จะยุบสภา แต่มีเงื่อนไขต่างๆ นานา เช่นว่า ให้บ้านเมืองสงบก่อน ให้เศรษฐกิจดีขึ้นก่อน ให้กฎกติกาได้รับการแก้ไขให้เป็นธรรมก่อน ซึ่งหมายถึงให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน

เมื่อไม่มีการหักล้างเหตุผลความจำเป็นต้องยุบสภา คนเสื้อแดงจึงยังจัดชุมนุมต่อเนื่อง และเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้มาจากการทุจริตระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเงินประมาณ 46,000 ล้านบาท ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้เป็นข้ออ้างว่าเขาโดนอำมาตย์กลั่นแกล้ง ปลุกคนเสื้อแดงให้ออกมาชุมนุมใหญ่ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งบานปลายต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน และจบลงด้วยการเผาบ้านเผาเมืองเป็นครั้งที่ 2 ที่สร้างความเสียหายมากกว่าครั้งแรกหลายพันเท่า

จะเห็นได้ว่า ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 นั้น นายอภิสิทธิ์ไม่กล้าพอที่จะหักล้างเหตุผลของคนเสื้อแดงโดยตรง ไม่มีการชี้แจงให้คนทั่วไปทราบว่า ข้ออ้างในการชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้น ไม่มีเหตุผลแต่อย่างใด นายอภิสิทธิ์กลับบอกว่าเป็นสิทธิของคนเสื้อแดงที่จะจัดชุมนุมได้ รวมทั้งเรียกกลุ่มมวลชนของคนเสื้อแดงว่าเป็นพี่น้องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้วยหวังว่า มวลชนเหล่านั้นจะปันใจจากแกนนำคนเสื้อแดงมาหารัฐบาลบ้าง ซึ่งเหตุการณ์ต่อมาก็พิสูจน์ชัดว่านายอภิสิทธิ์คิดผิด และคาดไม่ถึงเมื่อคนเสื้อแดงได้ตั้งกลุ่มติดอาวุธออกมาสู้กับรัฐบาล จนมีทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายนาย รวมทั้งมีคนเสื้อแดงถูกยิงเสียชีวิต ช่วยให้แกนนำเสื้อแดงมีศพไปแห่ตะโกนกล่าวหาเป็นนายกฯ ฆาตกร เพิ่มแรงกดดันนายอภิสิทธิ์ขึ้นไปอีก

แต่กระนั้น ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ นายอภิสิทธิ์ยังเสนอแนวทางประนีประนอมกับคนเสื้อแดงด้วยการจะยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2553 แลกเปลี่ยนกับการยอมสลายชุมนุมของคนเสื้อแดง แต่เมื่อกระแสสังคมไม่เห็นด้วย เพราะเท่ากับเป็นการยอมจำนนต่อกลุ่มก่อการร้าย นายอภิสิทธิ์จึงยกเลิกแผนดังกล่าว และทหารจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมในที่สุด

เช่นเดียวกับการเผาเมืองรอบแรก หลังการเผาเมืองรอบที่ 2 แทนที่นายอภิสิทธิ์จะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ธาตุแท้ของคนเสื้อแดงเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์กลับเสนอแผนปรองดองอีกครั้ง เพื่อสร้างภาพว่าตนเองให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้มีการสอบสวนการสลายการชุมนุม ทั้งที่มี พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว

ขณะที่เกมการกำหนดวันยุบสภา ก็ยังถูกนำมาใช้ เพื่อลดแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งเพื่อหนีปัญหาจากกรณีเอ็มโอยู.2543 ที่จะทำให้ไทยเสียดินแดนให้กัมพูชา

ในที่สุดนายอภิสิทธิ์ก็ประกาศวันยุบสภาในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2554 นี้ ผลที่ตามมาคือ ส.ส.-ข้าราชการ เริ่มปล่อยเกียร์ว่าง เพื่อดูทิศทางลมหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลังเลือกตั้ง อันจะส่งผลให้การบริหารงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์หลังจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง ด้อยประสิทธิภาพลงไป ซึ่งก็จะส่งผลย้อนกลับไปถึงคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ จนทำให้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง และการอยู่ตำแหน่งนายกฯ ของนายอภิสิทธิ์ ก็อาจยุติลงเพียงสมัยแรกนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น