ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ท่ามกลางความเศร้าสลดของพรรคประชาธิปัตย์ หลังรับรู้ผลเลือกตั้งที่ปรากฏออกมาว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ดูเหมือนจะได้นำพาพรรคประชาธิปัตย์ไปสู่การปรากฏการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค รวมไปถึง “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการพรรค ตัดสินใจลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
เพราะนอกจากจะไม่สามารถนำทัพประชาธิปัตย์ชนะศึกเลือกตั้ง และได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งแล้ว จำนวน ส.ส.ที่ได้รับกลับเข้าสภาในครั้งนี้ยังมีจำนวนน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกว่า พิธีกรรมการลาออกของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ มิใช่การแก้วิกฤตครั้งสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังประสบอยู่ ณ ขณะนี้ เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเลือกนายอภิสิทธิ์ให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง เนื่องจากบุคลากรของพรรคที่มีอยู่ในขณะนี้ มือยังไม่ถึงชั้นที่จะไปแข่งขันกับใครได้
แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์พึงสำเหนียกเอาไว้ให้หนักก็คือ ผลการเลือกตั้งที่ออกมาได้สะท้อนให้เห็นถึงนัยยะทางการเมืองหลายปัจจัยต่างๆ และคงจะไม่ผิดเพี้ยนไปนักหากจะบอกว่าในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลได้เดินยุทธศาสตร์การเมืองได้อย่างผิดพลาดมาตลอด ซึ่งคำถามสำคัญก็คือ ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองอำนาจรัฐมาเป็นเวลา 2ปี 6 เดือน ถึงได้พ่ายแพ้ให้กับ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ผู้ที่ได้ชื่อว่าเข้าสู่สนามการเมืองเพียงในเวลาไม่ถึง 2 เดือน แบบหมดรูป
ดังนั้น การกล่าวว่า ประชาธิปัตย์แพ้ภัยตัวเองก็คงจะไม่ผิดเพี้ยนไปนัก
เอาแค่ไม่ต้องอื่นไกล ถ้าหากจะกล่าวถึงจุดสลบที่แท้จริงในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ครองอำนาจรัฐ ก็คงหนีไม่พ้นการบริหารบ้านเมืองที่ล้มเหลวในเชิงเศรษฐกิจจนทำให้สู่ยุคข้าวยากหมากแพง บรรดาสินค้าไม่ว่าจะเป็น ไข่ ไก่ หมู ผัก น้ำมัน พาเหรดกันขึ้นราคากันอย่างหนักหน่วง ซึ่งกระทบกับฐานเสียงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะชาวบ้านตาดำๆ ที่ต้องแบกภาระค่าครองชีพสูง จนชาวบ้านพูดกันระงมติดหูว่าพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลทีไรของแพงขึ้นจมทุกครั้งคราไป
ที่สำคัญก็คือ ดันมาปล่อยให้เกิดวิกฤตเลวร้ายสุดขีดในช่วงที่รัฐบาลประกาศจะยุบสภาอีกต่างหาก จนถูกพรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดงไปขยายแผลเครื่องหมายการค้า "ดีแต่พูด" ติดตัวไปสู่สนามเลือกตั้งจนพ่ายแพ้อย่างหมดรูป
นโยบาย การทำงานและการแก้ปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถตอบสนองชนชั้นรากหญ้า ซึ่งเป็นคนจำนวนมากในสังคมได้ และทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลของ นช.ทักษิณ ชินวัตร
ปัญหาประการต่อมาที่ทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์ ดำดิ่งลงไปอีกคงหนีไม่พ้นปัญหาคอรัปชั่น โดยในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ เลวร้ายถึงขนาดบรรดาสมาคมการค้าและเศรษฐกิจ เคยออกมาตัวที่น่าสะพรึงกลัวว่ามีการชักหัวคิวในตัวเลข 50-50 เรียกได้ว่าหนักหน่วงกว่ายุคระบอบทักษิณในอดีตเสียด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก็คือ ยี่ห้อการค้าที่ติดตัวพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องของความซื่อสัตย์มาตลอด มีอันที่จะต้องพังครืนไปกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมาโดยโครงการฉาวโฉ่ อย่างโครงการแจกปลากระป๋องเน่า ข้าวสารหมดอายุ โครงการชุมชนพอเพียง ปัญหาการทุจริตน้ำมันปาล์ม ก็ล้วนมีชื่อของคนในประชาธิปัตย์แปะอยู่ในลิสต์ที่กล่าวมาแทบทั้งสิ้น
และที่ต้องกล่าวถึงเสียไม่ได้ ก็คงจะหนีไม่พ้นจุดอ่อนอีกประการหนึ่งคือ นายอภิสิทธิ์ขาดมือไม้ข้างกายที่พร้อมจะทำงานเบื้องหลัง คอยชี้แนะ ชี้นำได้ในทุกเรื่อง วางแผนยุทธศาสตร์ สร้างจุดแข็ง กำจัดจุดอ่อน ซึ่งคุณสมบัติที่กล่าวมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียทีเดียว แต่ก็ถูกวางตัวไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีเสียหมดแล้ว ซึ่งภาพที่เห็นอันชินตาก็คือ ภาพนายอภิสิทธิ์จะถูกห้อมล้อมด้วยแก๊งไอติม ซึ่งมาถึงขณะนี้คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นคุณหรือโทษแก่นายอภิสิทธิ์มากแค่ไหน
ขณะเดียวกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์คงทราบดีอยู่ตลอดเวลาว่า พื้นที่ภาคอีสาน ถือเป็นจุดบอดของพรรคตัวเองเสมอมา และในครั้งนี้ก็เฉกเช่นเดิม ยังไม่มีการส่งคนไปลงพื้นที่อย่างที่ควรจะเป็น ดีที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ในการเอาใจคนรากหญ้าก็คือการออกนโยบายประชานิยม ซึ่งดูแล้วก็กระเดียดเฉียดไปทางที่พรรคไทยรักของไทย เจ้าของนโยบายประชานิยมเจ้าเก่าเคยทำมาก่อนแล้ว แน่นอนว่าเวลา 2 ปีกว่า ๆ ของประชาธิปัตย์คงไม่สามารถลบภาพประชานิยมของทักษิณ ที่เคยหว่านไว้ก่อนหน้านี้ได้
แถมยิ่งตายสนิทเข้าไปอีกเมื่อมาเจอสโลแกน "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" เป็นแผนการตลาดที่ทักษิณรู้ดีว่าต้องตอกย้ำแบรนด์นี้ลงไปในใจคนรากหญ้าอีก
ทั้งนี้ คงกล่าวได้ว่าภารกิจด้านการเมืองในการเจาะฐานเสียงภาคอีสาน ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของ “นายเนวิน ชิดชอบ” ของพรรคภูมิใจไทยตลอดมา จวบจนมาสู่โหมดการเลือกตั้งหัวหอกอย่างนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ นายกอร์ปศักดิ์ ก็ยังคงยืนกรานที่จะใช้แผนเดิมด้วยการประเมินไว้ว่าคะแนนพรรคประชาธิปัตย์โดยรวมทั้งประเทศจะแพ้เพื่อไทยที่ได้ ส.ส.มาเต็มที่ 230 ที่นั่ง ไม่ห่างมากจากพรรคประชาธิปัตย์ที่จะได้ ส.ส.เข้าสภาจำนวน 180-190 ที่นั่ง และที่สำคัญคือประเมินว่าซี้ปึกอย่างพรรคภูมิใจไทยของนายเนวินจะสามารถบรรลุภารกิจโกยส.ส.เข้าสภาให้ได้ 70 ที่นั่งอย่างที่หวังไว้ หรือจะเป็นพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินของนายสุวัจน์ที่คาดว่าจะได้ 30 ที่นั่ง แต่ทุกอย่างก็กลับตาลปัตร เพราะถูกกระแสพรรคเพื่อไทยกลบมิดแบบไม่เห็นฝุ่น ทำให้ต้องนอนกินแห้วกอดคอเป็นฝ่ายค้านด้วยกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
พรรคประชาธิปัตย์แพ้เพราะไว้ใจนายเนวินมากเกินไป โดยมิได้สนใจใยดีที่จะทำงานการเมืองในภาคอีสาน
นอกจากนั้น อีกยุทธศาสตร์ที่ดูเหมือนจะผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยเพราะส่งผลให้กระแสคนเสื้อแดงทรงพลานุภาพในการเลือกตั้งครั้งที๋ผ่านมาก็คือ การตัดสินใจยื้ออำนาจต่อในห้วงเวลาที่กลุ่มคนเสื้อแดงระดมพลออกมาโจมตี ขับไล่ กดดัน รัฐบาล จนนำไปสู่การเผาบ้านเผาเมือง
ห้วงเวลา ณ ขณะนั้น สายตาของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ มองคนเสื้อแดงติดลบแบบกู่ไม่กลับ เพราะด้วยยุทธศาสตร์ที่เน้นความรุนแรง จนประชาชนส่วนใหญ่เทใจหนุนหลังรัฐบาลให้จัดการให้เด็ดขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่นายอภิสิทธิ์กลับเลือกทำตัวเป็นพ่อพระ เล่นบทปรองดองด้วยเปิดเจรจากับแกนนำคนเสื้อแดง จนนำมาสู่เหตุการณ์เผา 91 ศพ กระทั่งกลายเป็นอาวุธสำคัญที่แกนนำคนเสื้อแดงนำไปปั่นหัวคนเสื้อแดงว่ารัฐบาลฆ่าประชาชนส่งผลให้เครือข่ายเสื้อแดงทวีพลานุภาพยิ่งขึ้นไปอีกด้วยความคั่งแค้น ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากผลการเลือกตั้งที่ออกมาในลักษณะแลนสไลด์ ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน
ทั้งนี้ ในช่วงที่ที่คนเสื้อแดงติดลบอย่างหนักจากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ถ้านายอภิสิทธิ์เปิดเกมรุกฆาตอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ “ตีงูให้หลังหัก” โอกาสที่คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยจะกลับมายิ่งใหญ่ก็จะมีโอกาสที่น้อยลง
อย่างไรก็ตาม การพ่ายแพ้เลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์คงไม่สามารถร้องร้องแรกแหกกระเชอและตีโพยตีพายโทษใครได้ เพราะความล้มเหลวทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดขึ้น เพราะตัวเองทั้งสิ้น
ถามว่า ทำไมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ถึงปล่อยให้ขบวนการคนเสื้อแดงเหิมเกริมและเติบใหญ่เช่นนี้
ถามว่า ทำไมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ถึงไม่เร่งหยุดแนวความคิดที่เป็นอันตรายต่อสถาบันเบื้องสูงอย่างไร รวมทั้งชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับสังคมได้รับทราบ
มาถึงตรงนี้แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ ก็น่าจะมีบทเรียนราคาแพงและต้องตระหนักว่าถึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเสียที เพราะมิใช่แค่ผลเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจะบ่งบอกถึงวิกฤตเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเท่านั้น หากย้อนกลับไปผลการเลือกตั้งต่อเนื่องมากว่าสิบปี ก็ยังแพ้ระบอบทักษิณมาแล้วถึง 4 ครั้งในการเลือกตั้งทั่วไป อีกทั้งการได้เป็นรัฐบาลล้วนแต่เกิดจากวิกฤต หรืออุบัติเหตุทางการเมืองแทบทั้งสิ้น ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่พ้นตอกย้ำฝันร้ายของพรรคประชาธิปัตย์ให้เด่นชัดขึ้นอีกครั้ง
ที่สำคัญคือ สิ่งที่เป็นบทเรียนการพ่ายเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ยังคงเป็นเรื่องเดิมๆ อาทิสไตล์การทำงานที่ล่าช้า สู้คู่แข่งเรื่องการทำงานดังที่เอ่ยวาจาไว้ไม่ได้ บริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความล่าช้า ไม่ทันท่วงที ห่วงใยแต่นายทุน ไม่สนใจคนรากหญ้าเท่าที่ควร อาศัยการโจมตีคู่แข่งทางการเมืองด้วยโวหาร
และหากพรรคประชาธิปัตย์อยากจะนำพาประเทศไทย ออกมากจากใต้เงาระบอบทักษิณได้ ก็คงต้องเปิดกว้างเปลี่ยนแปลงทัศนคติเก่าๆ เสียใหม่ เช่น เลิกดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาที่แท้จริง เลิกหวังพึ่งทางลัดทางการเมือง หันมาเล่นการเมืองโดยยืนบนขาของตัวเอง เปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นจากมวลชนผู้สนับสนุนพรรค ล้างไพ่คนเก่าๆ ของพรรค เปิดให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ทำเช่นนั้น เชื่อว่า ประชาชนที่ยังคงให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ยังคงมีอยู่มากเช่นกัน เพียงแต่ว่าจะกล้าปฏิวัติตัวเองครั้งใหญ่หรือเปล่าเท่านั้นเอง