xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองพุทธกาล (2)

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช


ความขัดแย้งระหว่างสถานภาพทางสังคมนี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งในเป้าหมายของคุณธรรมศีลธรรมด้วย คุณธรรมศีลธรรมของพวกชนชั้นสูงมักมีค่าไปในทางดีหรือทางบวก ส่วนคุณค่าของทาสหรือผู้ถูกปกครองมุ่งไปในทางเลวหรือทางลบ ดังนั้นศีลธรรมคุณธรรมของชนชั้นเหนือกว่า จึงมุ่งในการสำแดงกำลังอำนาจเหนือคนอื่นและเหนือตัวเอง ส่วนชนชั้นต่ำกว่าเก่งในทางป้องกันตนเอง ปกป้องและขอความช่วยเหลือ หรือร้องขอความสุขสงบอย่างสันติ

ในการปฏิรูปความเชื่อทางพุทธศาสนา จึงมุ่งขจัดความแตกต่างของคุณธรรมศีลธรรมทางชั้นวรรณะโดยสิ้นเชิงเป็นเบื้องต้น จุดร่วมของคุณธรรมไม่ได้ติดอยู่กับสถานะทางชนชั้นหรือพืดกำเนิด แต่อยู่ด้วย “กรรม” หรือการกระทำของมนุษย์เองเป็นข้อใหญ่ มนุษย์ทุกคนกระทำ “กรรม” ต่างวาระต่างเงื่อนไขก็จริงอยู่ แต่ผลกรรมนั้นสะท้อนวัฏจักรแห่งความทุกข์ยากโดยถ้วนหน้า ไม่ละเว้นต่อชาติกำเนิด พุทธศาสนา ไม่ได้สร้างลัทธิความเชื่อที่ผูกพันอยู่กับบาปบุญคุณโทษ โดยอ้างว่าเป็นผลมาจากการกระทำของพระเจ้าหรืออำนาจลึกลับ

ทัศนะนี้นิชเช่ (Nietzsche) ถึงกลับกล่าวว่าศาสนาพุทธเป็น “ศาสนาที่ให้สัจธรรมมากกว่าคริสต์หลายร้อยเท่า ศาสนาพุทธกำเนิดขึ้นหลังจากมีปรัชญาเก่าดำเนินมาแล้วกว่าร้อยปี และเริ่มขึ้นเมื่อแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าได้ถูกลบล้างไปแล้ว พุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่ให้สัจธรรมอันพิสูจน์เห็นจริงได้ในประวัติศาสตร์ทั้งหมด” พุทธศาสนาไม่ได้พร่ำสอนให้คนรู้กับ “บาป” แต่สอนให้คนรู้กับความ “ทุกข์”

การปฏิเสธพรหมหรือเทพยเจ้า

ในภูริทัตตชาดก พระพุทธเจ้าได้ตั้งต้นถามคำถามต่อผู้ที่ยังเชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนี้อยู่ในแรงสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า โดยพระองค์ก็ได้กล่าวเป็นทำนองว่า

“ทำไมพระพรหมจึงไม่บันดาลสัตว์ทั้งปวงให้มีใจกุศล ถ้าหากพระพรหมมีอำนาจอันหาขอบเขตมิได้แล้ว ท่านก็น่าที่จะป้องกันสิ่งชั่วร้ายให้หมดไป ทำไมจึงไม่ยื่นมือออกช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายให้ปลอดจากทุกข์ ทำไมจึงไม่ให้ความสุขแก่สรรพสัตว์ ทำไมการคดโกง การโกหกและความหลงจึงยังมีอยู่ ทำไมความเท็จจึงเอาชนะความจริง และความยุติธรรมได้ และเมื่อพรหมสร้างเช่นนี้แก่โลก ท่านก็ทรงสร้างโลกขึ้นมาเพื่อให้บาปและความชั่วเท่านั้นมาอาศัยอยู่” และในอังคุตตรนิกายติกนิบาตได้มีคำสอนกล่าวว่า

“หากพระเจ้าทรงอำนาจสูงสุดสามารถจะทำสัตว์ทั้งปวงให้ได้ทุกข์หรือสุข หรือสามารถบันดาลให้ทำดีทำชั่วแล้ว พระองค์นั้นก็เป็นผู้ที่มีบาปมากทีเดียว อันที่จริงแล้ว มนุษย์ต่างหากที่ทำทุกๆ อย่างด้วยเจตนาของเขานั่นเอง”

คำตอบต่อปัญหาเรื่องเทพยเจ้าและเรื่องพรหมนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าได้ให้ทัศนะคล้ายคลึงกับโปรธากอรัส (Protagoras) ที่เห็นว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เป็นต้นกำเนิดและให้ค่า ตลอดจนเจตนาของโลกด้วยตัวของมนุษย์เอง เมื่อพระพุทธเจ้าปฏิเสธลัทธิเชื่อเทพยเจ้าแล้ว ก็ย่อมหมายความว่าสูตรสำเร็จในมรรควิธีที่จะเข้าถึงแก่นของการพบ “ความจริง” หรือนิพพานอันสูงสุดนั้น มิได้กระทำได้โดยทางลัด ดังเช่น โยคีบางพวกเห็นว่าสูตรสำเร็จในการถึงพรหม คือ พยายามวิงวอนขอร้องพระเจ้าโดยตรงด้วยวิธีทรมานร่างกายให้แห้งตายไปกับต้นไม้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นวิธีที่ลัดกว่าการทรมานก็คือ การฆ่าตัวตายอย่างรวดเร็วโดยวิธีใดวิธีหนึ่งได้ ผลออกมาก็เท่ากัน คือตายไปพบพรหมปัญหาในเรื่อง “พรหม” หรือพระเจ้าล้วนให้สูตรสำเร็จ สรุปว่า มีภาวะเอกภาพเป็นตัวยืนอยู่ในพิภพ (Cosmic Entity) การปฏิเสธภาวะเอกภาพนี้มีสาเหตุ 3 ประการคือ

1. สมมติว่าเกิดมีภาวะนั้นจริง ภาวะดังกล่าวย่อมอยู่เหนือกาลเวลา หรือสสารเหนือประสบการณ์ที่มนุษย์สัมผัสได้

2. เมื่ออยู่เหนือวิสัยประสบการณ์ของมนุษย์แล้ว ย่อมทำให้ไม่สามารถพิสูจน์เห็นจริงได้ และหมายความว่าอยู่เหนือกรรมอยู่เหนือพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทำให้ปัญหาเรื่องทุกข์เรื่องสุขตกไป

3. เหตุการณ์ของมนุษย์เป็นเรื่องปฏิกิริยาตอบสนองโดยตรงระหว่างวัตถุกับจิตใจเกิดขึ้นด้วยเหตุและผล เหตุและผลเป็นเรื่องของกรรมและเจตนาในการก่อกรรมนั้นๆ การวิงวอนขอร้องเทพยเจ้าไม่ได้ช่วยในสิ่งนั้น

ในการปฏิเสธพรหมนั้น พระพุทธเจ้าได้เท้าความไปถึงแก่นหัวใจลัทธิปฏิบัติของพวกพราหมณ์ที่ได้สร้างระเบียบสังคมตามวรรณะว่าเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ การปฏิเสธระเบียบสังคมนี้ทำให้เราเห็นว่า พุทธศาสนาให้ความเสมอภาคระหว่างมนุษย์มาแต่กำเนิด ดังที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในอัคคัญญสูตร ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค มีใจความว่า

“พวกพราหมณ์พากันว่าอย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวกันบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้นเป็นทายาทของพรหม....ก็ตามที่ปรากฏอยู่แลคือนางพราหมณีทั้งหลายของพวกพราหมณ์มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกกินนมอยู่บ้าง อันที่จริงพวกพราหมณ์เหล่านั้นก็ล้วนแต่เกิดจากช่องคลอดของนางพราหมณีทั้งนั้น”

ด้วยเหตุผลเท่านี้ที่ทำให้เราชี้เหตุได้ว่าการตั้งบัญญัติทางรูปตามลักษณะของผิวเป็นบ่อเกิดแห่งวรรณะ วรรณะของคนทำให้คนต่างกันไปตามนามที่ผู้อื่นตั้งขึ้นแต่โดยแท้แล้วมนุษย์เหมือนกันตามความเป็นจริงที่เห็นคือเกิดจากครรภ์ของมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น

ความแตกต่างของมนุษย์จึงวัดกันไม่ได้ด้วยบ่อกำเนิด แต่มนุษย์ต่างกันก็ด้วยกรรมที่ก่อการขึ้นเองตามวิสัยในโลกอันเป็นธรรมชาติ ในตอนต่อมาของอัคคัญญสูตรก็ได้อธิบายว่า วรรณะดำ วรรณะขาวนั้น ไม่มีผลในเชิงปฏิบัติเท่ากรรมของมนุษย์ที่เป็นธรรมขาว ธรรมดำ ธรรมขาว หมายถึงพฤติกรรมที่ละเว้นในการฆ่าสัตว์ เว้นการลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในกาม เว้นพูดเท็จ เว้นพูดส่อเสียดและคำหยาม ไม่ละโมบมาก หรือคอยคิดปองร้ายผู้อื่น ส่วนธรรมดำนั้นเป็นไปในทางตรงกันข้าม

อัคคัญญสูตร ยังอธิบายถึงขบวนการกำเนิดของจุลชีวิตที่พัฒนามาเป็นสัตว์ และมนุษย์อีกตอนหนึ่งด้วย ซึ่งจุดมุ่งหมายในการอธิบายก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าธรรมชาติกับมนุษย์นั้นพัฒนาควบคู่กัน ปราศจากการสร้างของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ

“สมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นและเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงดาวนักษัตรยังไม่ปรากฏ ฤดูปียังไม่ปรากฏ เพศชายหญิงก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายก็นับว่าเป็นสัตว์เท่านั้น จนกาลเวลาล่วงมายึดยาว เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่เคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน...

(ติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น