xs
xsm
sm
md
lg

ศาสนาพราหมณ์ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช


เรื่องที่ศาสนาพราหมณ์นั้นว่าด้วยการแบ่งวรรณะ และกำหนดหน้าที่ทางสังคม-วัฒนธรรม และการเมืองไว้อย่างเบ็ดเสร็จ ทฤษฎีนี้จึงสนับสนุนการปกครองโดยผู้มีอำนาจที่ซื่อสัตย์ต่อศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า และถืออภิสิทธิ์ว่าคนส่วนใหญ่ซึ่งทุกข์ยากหรือได้รับการกดขี่ทางวรรณะจำต้องปฏิบัติตนไปตามสภาพโดยไม่ต้องต่อสู้ หรือไม่ต้องคิดถึงการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และรู้ถึงฐานอำนาจอันแท้จริงของตนเอง ในบั้นปลายแล้วลัทธิและปรัชญาเช่นนี้มีผลปฏิบัติในทางแปรรูปของศรัทธาให้กลายเป็นการบูชา การขอร้องต่อสิ่งที่เป็นอมนุษย์ทั้งสิ้น

เมื่อลัทธิและปรัชญาของพราหมณ์เสื่อมลง เพราะสถาบันพราหมณ์ได้เข้าไปร่วมอยู่กับการเมืองมากยิ่งขึ้น ก็ว่าต้องมีลัทธิใหม่ขึ้นมาแทนที่มนุษย์ได้พบกับสัจธรรมที่ว่า เงื่อนไขของพระเจ้านั้น มิได้เป็นเงื่อนไขที่ให้ความเป็นธรรมนัก ผู้ชั่วร้ายในวรรณะสูงมิต้องโดนลงโทษ และพวกผู้ดีในวรรณะต่ำก็หาได้พ้นจากการกดขี่ข่มเหงและบาปในโลกมีแต่ความทารุณเกินกว่าที่จะยอมทนอยู่เฉยได้

ผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว และมีความเกรงต่อการเกิดใหม่ในชาติหน้าว่าจะมีวัฏจักรซ้ำรอยเดิม จึงพยายามค้นหาทางลัดต่างๆ นานาที่จะหลุดพ้นจากพันธนาการทางโลกโดยสิ้นเชิง พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของผู้ไม่พึงพอใจในสวรรค์ แม้อยู่ในสวรรค์บนโลกมนุษย์ก็ยังค้นพบว่า ในสวรรค์นั้นมีความสกปรกโสโครกและการแก่งแย่งชิงดีกัน อันเกิดเป็นภาพที่น่าเวทนา แรงดลใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าเห็นคือสภาพความทุกข์ ความน่าเวทนา ในหมู่มนุษย์ผู้ร่วมวรรณะ ดังนั้นการแสวงหาตนทางใหม่จึงเกิดขึ้น

การต่อต้านศาสนาพราหมณ์ในยุคนั้นทำให้รากฐานความเชื่อของคนถูกสั่นคลอนไปด้วยความเชื่อในแบบพุทธศาสนาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติพวกพราหมณ์อยู่ 4 ข้อใหญ่ๆ คือ

1. พวกพราหมณ์สอนความรักในมนุษย์ ให้มนุษย์มีเมตตา มีความรัก แต่ในทางปฏิบัติกลับตั้งชั้นวรรณะขึ้น และการปฏิบัตินี้ทำให้มนุษย์ไม่เสมอภาคกันอย่างแท้จริง ผู้อยู่ในวรรณะสูงต่อต้านมนุษย์ผู้อยู่ในวรรณะต่ำกว่า พราหมณ์ยังมุ่งพิธีกรรมที่โหดร้าย เช่น การบูชายันต์ด้วยสัตว์ หรือคน ทำให้ลัทธิความเชื่อนี้ไม่มีความรักในสิ่งที่มีชีวิต ทั้งคนและสัตว์

2. พวกพราหมณ์ลุ่มหลงอยู่ในกิจกรรมทางโลกโดยอาศัยพิธีการทางศาสนาพราหมณ์ยกฐานะของตนจนเกือบสุดโด่ง คือสร้างตนเองว่าเป็นตัวแทนจากสวรรค์เป็นตัวแทนระหว่างพระเจ้ากับคน

3. ศาสนาที่แท้จริงย่อมไม่แบ่งแยกฐานะของคนแต่ต้องให้ทุกๆ คนมีความสมบูรณ์อยู่ในตนเอง ระบบวรรณะของพราหมณ์เป็นปราการเบื้องต้นที่ทำให้คนเกิดมามีสภาพไม่สมบูรณ์ตามสถานะ ลักษณะนี้เป็นการผูกขาดตายตัวจนเกินไป

4. ศาสนาและความเชื่อในพิธีการเป็นเรื่องที่เคร่งครัด ยากแก่การเข้าถึง คนจำต้องตกอยู่กับพันธนาการทางความคิด โดยถูกกรอบของบัญญัติต่างๆ ครอบคลุมไว้ ยากแก่การส่งผลดีในการปฏิบัติ

การท้าทายต่อความเชื่อของพราหมณ์เป็นการเน้นให้เห็นถึงหนทางในการแก้ปัญหาระหว่างความจริงกับการปฏิบัติ การยึดถือในแบบนามธรรมกับการดูอาการและพฤติกรรมในสิ่งที่เป็นรูปธรรม ปัญหาที่จะหาความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันตามนัยดังกล่าวนี้เป็นปัญหาสากลที่ปราชญ์ทั้งหลายล้วนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายการพิสูจน์อยู่มาก

สภาพการเมืองในยุคพุทธการ (600-321 B.C.)

หลังจากยุคพระเวทและยุคอารยันพวกแรกที่เข้าเริ่มมาในอินเดียตอนเหนือแล้ว การเมืองและประวัติศาสตร์ได้เริ่มพัฒนาขึ้นเป็นรูปเป็นร่างยิ่งขึ้น คล้ายกับหลังยุคของมหากาพย์อีเลียดของโฮเมอร์ในกรีกที่ประวัติศาสตร์เริ่มจารึกพฤติกรรมระหว่างมนุษย์ขึ้นอย่างแท้จริง

หลังจากพวกอารยันได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอย่างเป็นกิจลักษณะแล้ว นครรัฐและอาณาจักรหลายแห่งได้เริ่มต้นขึ้น ระบบกษัตริย์ได้พัฒนาขึ้นหลังจากนครเริ่มขยายตัว การเมืองระหว่างรัฐก็ได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงสมัยนี้ด้วย สถานะทางภูมิศาสตร์ผนวกกับลักษณะของประชากรได้ช่วยให้เกิดนครรัฐที่กระจัดกระจายกัน ความผูกพันในแง่เผ่า พวกเผ่าพันธุ์ก่อให้เกิดลักษณะเผ่าพันธุ์นิยม (tribalism) และรัฐหลายรัฐในช่วงนี้จัดตั้งขึ้นก็โดยอาศัยพื้นฐานของชาติพันธุ์เป็นหลัก

สภาพการเมืองในนครรัฐอินเดียเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะอธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงเกิดแนวเชื่อใหม่ในทางปรัชญา อิทธิพลของกษัตริย์และพราหมณ์มีอยู่สูงในนครรัฐซึ่งใช้อำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายใน อาทิ เกิดระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง กษัตริย์กับพราหมณ์หรือเกิดขึ้นในหมู่ราชวงศ์เดียวกัน ดังนั้นตำนานในอินเดียเกี่ยวกับกำเนิดของเมือง จึงมักอ้างถึงสาเหตุใหญ่สองประการคือ

1. เกิดจากการตั้งตนเป็นใหญ่ของบุคคลที่มีเชื้อสายกษัตริย์ ซึ่งมีสาเหตุมาหลายประการ เช่น เข้ากับพี่น้องราชวงศ์เดียวกันไม่ได้ จึงละบ้านช่องไปตั้งบ้านเรือนหรือเมืองใหม่พร้อมด้วยผู้ภักดี และใช้การปกครองแบบเอกชนวีรชนของกษัตริย์

2. เกิดจากการรวมกลุ่มประชาชนขึ้นเอง โดยมีหัวหน้าปกครองแบบลูกแบบหลานหรือใช้การปกครองแบบอาศัยที่ปรึกษาที่เรียกว่า การปกครองแบบสาธารณรัฐ มีสภาทำหน้าที่ตัดสินคดีความทางการเมือง และขจัดความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นปกครองและประชาชนโดยทั่วไป*

ระบบการเมือง

ในระยะเริ่มต้นการเมืองเป็นเรื่องมีขอบเขตจำกัด อาศัยหลักการปกครองแบบง่ายๆ คล้ายกับรูปแบบของพ่อปกครองลูกดังในสมัยสุโขทัยยุคต้นเป็นตัวอย่าง ในลักษณะของการปกครองเช่นนี้ ย่อมหมายความว่าระเบียบภายในสังคมเป็นระเบียบที่มีการวางกฎหลักที่ตายตัวเป็นที่พอใจของคนหมู่มากระดับหนึ่ง มีการแบ่งหน้าที่ทางสังคมและการเศรษฐกิจไว้เรียบร้อยเช่นกัน ประการสำคัญที่สุดคือประชาชนคงต้องการเคารพกฎหมายที่วางไว้นั้น ไม่ละเมิดกฎหรือกระทำการใดๆ อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งถึงรบกันในขั้นสุดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น