พุทธศาสนาได้มีการย้ำให้มีการถือแบบอย่างที่กำหนดไว้ในหลักปฏิบัติการแบ่งหน้าที่ทางสังคมให้มีระเบียบอย่างเคร่งครัด อาทิ ในการชี้ธรรมให้ชาวเมืองวัชชีอยู่ในความเจริญท่านได้กล่าวว่า
“ตราบใดที่ชาววัชชีเข้าประชุมพร้อมเพรียงกันเลิกประชุมพร้อมเพรียงกัน กระทำกิจทั้งหลายโดยพร้อมเพรียงกันไม่นำวินัยใหม่มาล้างวินัยเก่าที่ตั้งไว้แล้ว แต่รักษาไว้ซึ่งธรรมเก่าแก่ที่ยึดถือมายกย่อง เคารพสักการบูชา ผู้อาวุโสในหมู่ชาววัชชี และถือเป็นผู้ควรเชื่อฟัง หญิงชราและหญิงสาวในครัวเรือน
ไม่ถูกบังคับเคี่ยวเข็ญ เคารพสักการบูชา พระเจดีย์ของชาววัชชี ทั้งภายในและภายนอก ไม่ละเลยการบูชาพระเจดีย์เหล่านี้ ด้วยพลีกรรมและพิธีกรรมตามที่เคยทำมา ยังคอยต้อนรับพระอรหันต์ในหมู่ชนตามที่เคยมา ให้มาสู่แว่นแคว้นโดยสะดวก และเมื่อมาแล้ว ก็ให้อยู่อาศัยและการรับรองโดยสมเกียรติ ตราบนั้นชาววัชชี ก็หวังได้ซึ่งความสุข ความเจริญ ไม่มีวันเสื่อมเลย”
ตามลักษณะของการกล่าวเช่นนี้ เราจะเห็นได้ว่า สถานะของความเสื่อมตามพุทธปรัชญานั้น ย่อมเกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ดีกว่าไปสู่ที่เสื่อมลง เรามิอาจทราบจากเพียงคำกล่าวสั้นๆ แค่นี้ว่าระเบียบการปกครองของนครชาววัชชีจะเป็นไปในรูปใด เพียงแต่ทราบว่าคงจะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยตรงเช่นเดียวกับในนครรัฐเอเชนส์ยุคประชาธิปไตยของประชาชนชนชั้นนายทาส
ทั้งนี้ เพราะมีการอ้างถึง “ชาววัชชีที่เข้าประชุมและเลิกประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน” และให้ “กระทำกิจ” ทั้งหลายโดยพร้อมเพรียงกัน หมายถึงความสามัคคีทั้งในรูปแบบของการออกกฎระเบียบ และการเคารพกฎระเบียบที่ออกมาตามมติประชาธิปไตย ประชาธิปไตยโบราณของชาววัชชีแม้จะเป็นประชาธิปไตยที่วรรณะสูงชนชั้นปกครองกำหนดขึ้นก็ยังให้ความสำคัญของสตรีว่าควรมีความเสมอภาคปลอดจากการกดขี่อีกด้วย ทั้งนี้ก็คงจะหมายความว่า สตรีกับบุรุษมีความเสมอภาคกันตามสิทธิในบางระดับ สังคมและรัฐมีหน้าที่เพียงกำหนดบทบาทและหน้าที่ปฏิบัติของประชาชนเท่านั้น
แต่นครรัฐแบบนี้ก็ต้องประสบกับหลักอนิจจัง อันหมายถึงภาวะของการเสื่อมโทรมเป็นที่สุด ความขัดแย้งทางชั้นวรรณะหาได้หยุดหรือปลอดจากการต่อสู้กันไม่ ทั้งนี้เพราะการขยายตัวของนครเองเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการขัดแย้งทางผลประโยชน์เศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน มันอาจปะทุออกมาในรูปของสงครามแย่งชิงที่ทำกิน ดังเช่นในสมัยพระพุทธประวัตินั้น สงครามระหว่างนครเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้อยู่เสมอ น่าเสียดายที่ในยุคนี้ไม่มีการบันทึกเชิงประวัติศาสตร์สังคมโดยตรงไว้ ทำให้การศึกษาในเรื่องนี้เป็นการเก็งหรือคาดคะเนกันมากกว่าใช้ข้อมูลมาวินิจฉัยอย่างรอบด้าน
อิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์ ช่วยให้การจัดระเบียบสังคมต้องยึดอยู่กับความลักหลั่นทางวรรณะ ระบบวรรณะนี้ยังได้สร้างสายใยทางเศรษฐกิจขึ้นมาหล่อเลี้ยงชนชั้นที่สูงเหนือขึ้นไป แม้ว่าที่ดินจะถูกครอบครองโดยคนในหมู่บ้านที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่นาโดยตรง แต่ผลประโยชน์จะถูกดูแลโดยหัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านนี้ก็ได้รับค่าตอบแทนโดยตรงจากผลผลิตนั้น ผลผลิตจากที่ดินแม้จะเป็นผลรายได้ที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น แต่นครรัฐยังมีรายได้จากการอื่นๆ อีกมาก เช่น การฝีมือต่างๆ อาทิ หม้อไห เครื่องไม้ ผ้าทอ ได้ถูกส่งไปจำหน่ายในต่างนครด้วย เรื่องการค้าขายนี้ตกอยู่กับพวกแพศย์อันเป็นวรรณะของชนชั้นนายทุนวาณิช
การปกครองโดยสาธารณรัฐแม้จะมีวรรณะกษัตริย์เป็นผู้นำ แต่ก็ยังไม่เบ็ดเสร็จและเผด็จการเท่าระบบการปกครองโดยผูกขาด เช่น โดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพวกฝรั่งอารยัน ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่ระบบทรราชที่มีการกดขี่ข่มเหงคนส่วนใหญ่โดยคนเดียวได้ ระบบการปกครองโดยมีสภาเป็นระบบการปกครองที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถโต้เถียงเสนอข้อขัดแย้งและข้อสรุปได้อิทธิพลเช่นนี้มีผลต่อสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาปรัชญาใหม่ ซึ่งเจ้าลัทธิเช่นพระพุทธเจ้า และพระมหาวีระก็ล้วนแต่ถือกำเนิดและเติบโตมาจากสภาพนครรัฐแบบสาธารณรัฐดังกล่าวนี้
การปฏิรูป
แนวคิดในทางการปฏิรูปสังคมมิใช่แนวคิดที่เริ่มต้นด้วยเหตุผลเพียงปรัชญาใหม่ต่อต้านปรัชญาเก่าเพื่อทดแทนปรัชญาขึ้นใหม่เท่านั้น และก็ไม่ได้เกิดเพราะมนุษย์ต้องการเอาหลักความคิดเข้าโต้แย้งกัน เพื่อสร้างเป้าหมายในสังคมเพื่อตัวผู้สร้างปรัชญาเหล่านั้น แต่เงื่อนไขชี้ขาดสำคัญที่สุดที่จะเป็นฐานรองรับให้ปรัชญาของเจ้าลัทธิอยู่ได้ คือ ประชาชนผู้ต้องการรับรู้สิ่งใหม่ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าในการลบล้างแนวคิดทางปรัชญาต่อกันนั้น ผู้ทำการปฏิรูปปรัชญา จึงมีจุดมุ่งหมายขั้นสุดท้ายในการปฏิวัติระเบียบทางสังคมของมนุษยชาติด้วย
การมองโลกทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวคิดใหม่ เป็นแนวคิดที่ปฏิวัติต่อสภาพเสื่อมโทรมทางสังคมในยุคที่ลัทธิพราหมณ์ถูกนำไปเสริมสร้างอำนาจของชนชั้นปกครองที่ไม่ได้ประกันความพึงพอใจของประชาชนร่วมยุคให้ได้รับในสิ่งที่เขาควรจะได้รับ
ชนชั้นปกครองในยุคเสื่อมของพราหมณ์ได้พร่ำสอนลัทธิเพื่อเป้าหมายของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้สอนความเชื่อและสอนปรัชญาชีวิตที่มนุษย์จะสามารถพ้นจากความกดขี่แห่งวรรณะได้ อาณัติจากสวรรค์หรือจากโครงการของพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นผลตอบแทนเป็นเพียงเครื่องมือให้ความดำรงอยู่ในสภาพอันเสื่อมโทรมของคนส่วนใหญ่ยืดยาวไป ขณะที่การเติบโตของนครรัฐกลับขยายตัวทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ตอบสนองผลประโยชน์โดยตรงให้กับคณะบุคคลผู้มีฐานะเหนือกว่า ผู้ที่สูงกว่า “ฉลาดกว่าหลอกคนโง่กว่า” ให้หลงงมงายและเชื่อถือพวกเขา เชื่อเทวดา เชื่อถือพรหมและอิศวร เป็นผู้มีอำนาจบันดาล เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตให้เป็นไปตามกรรม กำหนดชีวิตให้กำเนิดไปตามการขีดเขียนของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เป็นมาอย่างไรต้องเป็นไปอย่างนั้น
ศาสนาพุทธสามารถเป็นปฏิปักษ์ทางความคิดกับพราหมณ์ ก็อาศัยฐานจากการปลุกระดมธรรมในหมู่ประชาชน ประชาชนที่เริ่มเสื่อมคลายต่อความเชื่อในเรื่องพระเจ้าเป็นผลให้เกิดความพร้อมเพรียงในการปฏิเสธเทพยเจ้า
การปฏิเสธเทพยเจ้านั้นจำเป็นที่ลัทธิและความเชื่อเก่าจะต้องตอบคำถามเบื้องต้นต่อการกำเนิดของเทพยเจ้าเหล่านั้นได้ด้วย การต่อสู้ระหว่างต้นกำเนิดของเทพยเจ้า มีความหมายสะท้อนกลับไปถึงปัญหากำเนิดพระเจ้าและ “คุณธรรม” ของตัวแทนศาสนาอันได้แก่พราหมณ์ด้วย ผู้ที่อ้างเทพหรือพรหมย่อมยืนอยู่บนข้อโต้แย้งในเรื่องคุณธรรมและศีลธรรมของเขา แต่นั่นก็เป็นความเชื่อในเรื่องทฤษฎี ในทางปฏิบัติแล้ว คุณธรรมของคนต่างวรรณะย่อมหมายถึงความหมายในนัยทางสังคมที่ต่างกัน “คุณธรรมศีลธรรมของวรรณะสูง” เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นที่มีอำนาจเท่านั้น ส่วนคุณธรรมศีลธรรมของ (พวกสกุลต่ำหรือวรรณะต่ำ) ก็เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นที่ถูกกดขี่และผู้ปกครอง (ติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า)