xs
xsm
sm
md
lg

ศาสนาพราหมณ์ (2)

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช


ภควัทคีตา

ภควัทคีตาในความหมายดั้งเดิม หมายถึง เพลงสวดต่อพระเจ้า ความสำคัญคือเพลงสวดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งอย่างสูงสุดในสงครามมหาภารตะ กาพย์มหาภารตะเป็นการขยายความสุดยอดต่อปรัชญาเวทานตะ (อุปนิษัท) ซึ่งได้หนีออกมาจากยุคพระเวท (Rig Veda period) ที่ปรัชญาคือการบูชาเทพ ในพระเวทมีเทพเจ้าหลายองค์ แต่ละองค์มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ กัน มนุษย์เข้าถึงเทพเจ้าต่างๆ ได้ก็ด้วยการทำบูชายันต์

เมื่อมาถึงสมัยอุปนิษัท การถือเอาพรหมเป็นหนึ่งก็เท่ากับว่าปรัชญาของพราหมณ์นี้ได้ปฏิวัติตนเองไปในทางปฏิเสธเทพ เครื่องมือสื่อสารของมนุษย์ต่อ “พระเจ้าองค์ใหม่” หรือพรหมก็ไม่ต้องอาศัยการบูชายันต์ แต่อาศัยการทำความดีมีคุณธรรมและการสละอกุศลกรรมต่างๆ ให้หมดเสีย

หลวงวิจิตรฯ ได้อ้างแนวคิดของศาสตราจารย์ฝรั่งที่เชื่อว่าลัทธิในยุคอุปนิษัทนี้ มีเหตุผลทำให้เชื่อได้ว่า พวกพราหมณ์ได้พยายามทำลายเทพเจ้าทั้งหลายทั้งปวงให้หมดไป จึงเหลือพรหมไว้เป็นหนึ่ง แต่ในสมัยโบราณนั้นการเข้าหาพรหมเป็นเรื่องยาก ต่อมาลัทธิพราหมณ์จึงจำต้องหันกลับมาสร้างเทพเจ้าและปล่อยให้มีการบูชาเทพเจ้าต่อไป เพราะมหาชนนิยม

สรุปได้ว่าพวกพราหมณ์ยุคแรกที่เคร่งในลัทธิจริงๆ นั้นมีจิตสำนึกในการปฏิรูปความเชื่อเก่าๆ เช่นกัน แต่การปฏิบัติในขั้นต่อมามิได้พบกับความสำเร็จ ความเชื่อซึ่งเป็นปรัชญาและลัทธิปฏิบัติที่สูงส่ง จึงต้องมีวิวัฒนาการประยุกต์ต่อกระแสความคิดบูชาอีกต่อไป อย่างน้อยพราหมณ์รุ่นหลังก็ยังยึด “พรหม” หรือ “อาตมัน” ว่าเป็นเสมือนพระเจ้าองค์ใหม่แต่เป็นพระเจ้าที่สูงสุด

เมื่อกล่าวถึงความพยายามในการเข้าถึง “พรหม” ของเหล่าพราหมณ์แล้ว เราน่าศึกษาถึงมรรควิธีในการแสวงหาของพวกสำนักพราหมณ์เหล่านี้ด้วย เพราะมรรควิธีเป็นหนทางในการเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา

วิธีการของพราหมณ์มีอยู่สองวิธีใหญ่ๆ คือการทำตบะกับการทำโยคะ ทั้งสองวิธีนี้เป็นผลผลิตจากความเชื่อในความสามารถของปัจเจกบุคคลที่จะเข้าถึงอาตมัน การทำตบะหมายถึง การบำเพ็ญภายะให้เกิดทุกขเวทนา ด้วยเชื่อว่า ร่างกายเป็นของรับรู้กิเลสและความชั่วร้าย เมื่อทรมานกายไปมากๆ แล้วจะได้ไล่ความชั่วร้ายนั้นให้พ้นออกจากร่างได้ และเมื่อร่างบริสุทธิ์แล้ว จิตก็จะบริสุทธิ์จนเข้าถึงอาตมันได้ ส่วนวิธีโยคะ เป็นหนทางตรงกันข้าม คือมุ่งโดยตรงต่อการทำจิตใจให้สะอาด โดยทำกายให้สบายที่สุด สำนักนี้เชื่อว่ากายกับจิตบริสุทธิ์ไปพร้อมๆ กัน หนทางของโยคะมี 8 ประการคือ

1. ยมะ หมายถึง การงดเว้นการเหนี่ยวรั้ง

2. นิยมะ หมายถึง การยึดถือปฏิบัติ

3. อาสนะ หมายถึง คำสอนว่าด้วยวิธีนั่งเพ่งจิต

4. ปราฌายามะ หมายถึง วิธีว่าด้วยการผ่อนหายใจ

5. ปรัตยาหาระ หมายถึง การสลัดอารมณ์

6. ฌาน หมายถึง การเพ่ง

7. ธารณะ หมายถึง การรักษาสิ่งที่เพ่งไว้

8. สมาธิ หมายถึง การตั้งจิตไว้ให้แน่วแน่

ไม่ว่าจะเป็นวิธีการบำเพ็ญตบะหรือวิธีบำเพ็ญโยคะในการมุ่งให้จิตใจเป็นที่รวมแห่งความสงบทั้งนั้น ความสงบย่อมมาจากการตัดภาวะจิตออกจากภาวะแวดล้อมนอกกาย ดังเช่น กฤษณะกล่าวต่ออรชุนว่า

“ความรู้สึกร้อนหรือหนาว เจ็บปวดหรือความสบาย เกิดขึ้นก็เพราะโสตสัมผัส ได้รับรู้ต่อสิ่งภายนอกทุกๆ สิ่งเกิดขึ้นแล้วก็จะจากไปเอง...จิตที่สงบยอมรับความเจ็บปวด และความสบายที่สมดุลกันและความสมดุลนั้น ความเจ็บก็ไม่มี ความสบายก็ไม่มี”

อรชุนถามกฤษณะว่าเหตุใดมนุษย์จึงประกอบกรรมชั่ว แม้ว่าความชั่วนั้นขัดต่อความต้องการของเขาเอง กฤษณะจึงว่ากิเลสได้บดบังอาตมันเสียหมดสิ้น ประหนึ่ง “ควันซ่อนไฟ” “ฝุ่นบังกระจก” ศัตรูของมนุษย์ที่ร้ายที่สุดคือกิเลสและจิต ความรู้สึกสัมผัสล้วนเป็นเชื้อเพลิงที่ดีต่อกิเลสให้ลุกโชติช่วงบดบังความสงบของอาตมัน

ภควัทคีตายังอธิบายถึงการสร้างวรรณะขึ้น 4 วรรณะคือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร พื้นฐานที่กำหนดมนุษย์ให้อยู่ในวรรณะคือ “กรรม” ที่มนุษย์เองก่อขึ้น กรรมที่ต่างๆ กันนี้ส่งเสริมให้ฐานะของมนุษย์ต่างกัน เนื่องจากจิตใจเป็นเรื่องสำคัญที่จะเข้าถึงอาตมัน ดังนั้นผู้มีจิตใจเจริญจึงมีโอกาสมากกว่าพวกวรรณะต่างๆ นั้น

ถ้ามองสภาพแวดล้อมทางสังคม-การเมือง และเศรษฐกิจแล้วเราก็จะพบว่า คุณภาพของวรรณะสูงปลอดจากการลงแรงงาน พวกต่ำสุดมีสภาพชีวิตต้องยากลำบากเหมือนกับว่ายังเป็นสัตว์ชั้นต่ำอยู่ โอกาสของพวกวรรณะต่ำที่จะขึ้นมาเสมอวรรณะสูงในทางโลกนั้นไม่มีแน่ ส่วนในทางอรูปโลกนั้นคนในวรรณะต่ำซึ่งต้องพัวพันอยู่กับกิเลสทางกายอยู่มากก็จะประกอบกรรมดีอย่างมหาศาล เพื่อที่ในชีวิตหน้าเขาอาจจะได้เลื่อนชั้นวรรณะขึ้น พวกที่อยู่ในวรรณะสูงหากทำความชั่วก็ถึงแก่บาปและเมื่อเกิดใหม่ กรรมอันทรามของพวกนี้ก็อาจบันดาลให้เกิดมาอยู่ในชีวิตใหม่ที่ต่ำได้ การกำหนด “กรรม” เป็นเครื่องวัดมนุษย์นี้ เนรูห์เรียกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบอภิปรัชญา เกิดขึ้นในนามธรรมเท่านั้น

บทเรียนจากปรัชญาศาสนา

ปรัชญาที่เน้นภาวะสูงสุดในการเข้าถึงสัจธรรมมักมีลัทธิความเชื่อเป็นหลักใหญ่ๆ อยู่ 4 อย่าง คือ

1. โลกที่ปรากฏในแง่ของวัตถุ และโลกส่วนตัวของปัจเจกชนนั้นเป็นผลผลิตของพระเจ้า

2. มนุษย์สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ และรับรู้ว่าพระเจ้ามีสภาวะอมตะได้โดยอาศัยเหตุผลและปัญญา

3. มนุษย์มีจิตสองสภาวะ คือ มีจิตที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโลกวัตถุภายนอก และมีจิตภายในที่เป็นส่วนลึกสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ ถ้าเขาต้องการ

4. เป้าหมายอย่างเดียวของมนุษย์ในโลกคือการเข้าถึงส่วนลึกของจิตใจที่มีวิญญาณจะเข้าถึงพระเจ้า

ลักษณะของความเชื่อใน 4 ประเด็นนี้ปรากฏอยู่ในแนวคิดทางปรัชญาศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ พราหมณ์ อิสลาม หรือเต๋า

ลักษณะของแนวปรัชญานี้เมื่อประยุกต์เข้ากับมหาชนแล้วเราก็ได้พบว่าความเชื่อเรื่องพระเจ้าซึ่งเป็นเอกภาวะสร้างลัทธิปัจเจกนิยมให้กับหมู่ประชาชน โดยวิธีการของศรัทธาความเชื่อนี้จึงครอบงำให้ประชาชนยอมรับเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวพันโดยตรงกับศรัทธาด้วย อาทิ ทฤษฎีการแบ่งชนชั้นวรรณะ ทฤษฎีทางศาสนาว่ามีชั้นบุคคลที่มหาชนควรยอมรับสภาพว่าเป็นตัวแทนจากพระเจ้า

แม้ว่าในเบื้องต้นของหลักการแล้ว ทฤษฎีที่คาบเกี่ยวโดยตรงต่อความเชื่อในแนวทางปรัชญานี้ดูจะไม่กำหนดเสรีภาพของปัจเจกชนในภูมิปัญญา (ติดตามตอนจบในสัปดาห์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น