xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : ฌาน - สมาธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฌาน แปลว่า เพ่ง เพ่งอารมณ์กัมมัฏฐานนั้นๆ ให้เป็นไปตามปรารถนาที่ตนประสงค์ไว้แล้ว เช่น เพ่งกสิณหรือเพ่งอสุภ เป็นต้น ให้เป็นไปตามประสงค์ของตน เช่น อยากจะให้เป็นไฟ แล้วก็เพ่งว่า ไฟ ๆๆ จนกว่าจิตนั้นจะรวมลงสู่ไฟ เกิดความร้อนขึ้นมา เป็นต้น หรือเพ่งคนให้เป็นอสุภ จนจิตรวมลงในคนนั้น แล้วเกิดอสุภขึ้นมาในบุคคลนั้นจริงๆ ดังนี้เป็นต้น

รวมความว่า จิต กับ สังขาร ไปปรุงแต่งหลอกลวงเอง แล้วตนเองก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เกิดความสลด สังเวชถึงกับร้องไห้ร้องห่มทั้งๆ ที่ตัวของเราก็ยังดีๆอยู่ ไม่เป็นอสุภเปื่อยเน่าอะไรเลย เพราะจิตรวมแล้วมันส่งใน คุมจิตของตัวเองไม่ได้ จึงร้องไห้ร้องห่มและเห็นเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ดีเหมือนกัน ถ้าไม่เห็นอสุภด้วยใจของตนแล้ว ก็จะประมาทมัวเมาอยู่ว่า ตัวของเรานี้สวยสดงดงาม จะไม่แก่เฒ่าไม่ตาย

ฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก จิตไปกำหนดเอาอารมณ์ของกัมมัฏฐานนั้นๆ มาเป็นอารมณ์ ๑ วิจาร จิตนึกคิดตริตรองว่าทำอย่างไรจิตเราจะละอารมณ์นั้นๆ แล้วเข้ามารวมเป็นฌานได้ ๑ เมื่อจิตละอารมณ์นั้นๆ แล้วก็เข้าสู่ภวังค์ เกิด ปีติ ซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กายหรือเบากายเบาใจ ๑ แล้วก็เกิดความสุข สงบอย่างยิ่ง ๑ จิตก็เป็นอารมณ์อันเดียวกัน เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ ๑ อันนี้เรียก ว่าได้ ปฐมฌาน

ด้วยความคล่องตัวของการกระทำเช่นนั้น จึงไม่ต้องมีวิตก วิจาร มีแต่ ปีติ สุข เอกัคคตา เรียกว่า ทุติยฌาน

ด้วยความคล่องตัวยิ่งขึ้น ตติยฌาน จึงไม่ต้องมีปีติ มีแต่ สุข กับ เอกัคคตา เท่านั้น

จตุตถฌาน จิตมันแน่วแน่ใน เอกัคคตา จนสุขก็ไม่ปรากฏ มีแต่ เอกัคคตา กับ อุเบกขา วางเฉยเท่านั้น

ฌาน เป็นเพียง นิวรณ์ ๕ ได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะฌานไม่ได้ใช้ปัญญา ใช้แต่จิตสงบอย่างเดียว จึงเป็นแต่ข่มนิวรณ์ ๕ ได้ นิวรณ์ ๕ คือ

กามฉันทะ ความรักใคร่พอใจในกามคุณ ๕ มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อจิตสงบแล้วไม่ต้องเกี่ยวข้องกันกับสิ่งเหล่านี้ ๑

พยาบาท จิตคิดปองร้ายอยากให้ได้ตามความ ปรารถนาของตน ไม่ว่ากามนั้นจะอยู่ในสภาพเช่นไร และอาการอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งไม่ทราบเลย เปรียบเหมือนคน คิดจะทำลายคนอื่นโดยเราไม่ทันรู้ตัวเลยฉะนั้น ๑

ถีนมิทธะ จิตเมื่อคิดฉะนั้นแล้วก็หมกมุ่นอยู่แต่ในอารมณ์นั้น และไม่กล้าบอกแก่ใคร จนกระทั่งซึมเซ่อและมึนงงไปหมด ๑

อุทธัจกุกกุจจะ จิตที่ฟุ้งซ่านส่งไปในอารมณ์ของกามนั้นไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ ๑

วิจิกิจฉา จิตที่ลังเล ไม่แน่ใจว่ากามนั้นจะสำเร็จลงได้เมื่อใดหนอ ๑

ทั้งห้านี้ เมื่อจิตสงบเข้าถึงฌานแล้วก็จะไม่ปรากฏ เมื่อออกจากฌานก็จะปรากฏอีกตามเดิม

จิตของฌาน มี ๓ ภูมิ หยาบและละเอียดโดยลำดับกัน คือ

๑. ภวังคบาต
๒. ภวังคจลนะ
๓. ภวังคุปัจเฉทะ


ภวังคบาต จิตจะรวมเป็นครั้งคราว รวมแล้วถอนออกมา จะตั้งหลักไม่ได้ หรือไม่รู้ว่าจิตของเรารวม มีได้ทั่วไปแก่คนทั้งหลาย เช่น เมื่อเห็นคนหรือสัตว์ตกทุกข์ได้ยาก เป็นต้นว่า ถูกเขาฆ่าหรือทรมานด้วยประการต่างๆ จิตจะสลดสังเวช แล้วรวมลงขณะหนึ่ง ถ้าไม่รวมก็จะไม่สลดสังเวช เรียกว่า ภวังคบาต

ภวังคจลนะ เมื่อผู้ฝึกหัดจิตแล้วจึงจะเกิด เมื่อเกิดมีอาการให้พิจารณาอารมณ์ภายใน หรือที่เรียกว่าส่งใน เช่น เห็นสีแสงต่างๆ นานา แล้วจิตจะจดจ้องมองแต่สิ่งนั้น หรืออารมณ์อื่นๆ ก็เหมือนกัน เป็นต้นว่า รูปพระปฏิมากร หรือพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ตลอดถึงเทวดา อินทร์ พรหม เป็นต้น แม้จะพิจารณาในธรรมนั้นๆ ก็เรียกว่า ภวังคจลนะ ทั้งสิ้น

ภวังคุปัจเฉทะ นั้นขาดเสียซึ่งอารมณ์ทั้งปวงไม่เหลือ แม้แต่ผู้รู้ (คือใจเดิม) ก็ไม่ปรากฏ บางท่านที่สติอ่อน ย่อมนอนหลับไปเลยก็มี

ภวังคบาต ได้แก่ ผู้ได้ ปฐมฌาน
ภวังคจลนะ ได้แก่ ผู้ได้ ทุติยฌาน และตติยฌาน
ภวังคุปัจเฉทะ ได้แก่ ผู้ได้ จตุตถฌาน

ฌาน แปลว่า เพ่ง คือ เพ่งอารมณ์กัมมัฏฐานที่ตนต้องการอยากจะให้เป็นไปตามปรารถนาของตน ดังอธิบายแล้วเบื้องต้น นี้เรียกว่า ฌาน ไม่ต้องพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงก็ได้

สมาธิ คือ ทำให้จิตสงบแน่วแน่เป็นอารมณ์อันเดียวเหมือนกับฌาน แต่มีการพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างไรก็ให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น ไม่ต้องเกิดปฏิภาค (คือแปรสภาพจากของเดิม) เช่น นึกคำบริกรรมว่า พุทโธๆ เป็นต้น เพื่อให้จิตรวมเข้ามาอยู่ในที่เดียว แล้วพิจารณาพุทโธนั้นให้เห็นว่ามีคุณวิเศษอย่างไรและใครเป็น ผู้ว่าพุทโธนั้น และอยู่ ณ ที่ไหน ให้เห็นชัดลงไป แล้วจะเกิดความอิ่มเอิบในใจ เพลินอยู่กับความรู้ของตนนั้น ใจจะไม่ส่งออกไปภายนอก และใจจะนิ่งแน่วเป็นอารมณ์อันเดียว สมาธินี้จิตจะไม่ปรุงแต่งให้เป็นอสุภเหมือนฌาน หรือกสิณ แต่เห็นตามเป็นจริงในสิ่งนั้นๆ จิตรวมลงได้เหมือนกัน แต่ไม่ส่งใน คงที่อยู่ที่ใจอย่างเดียว

สมาธิ ท่านไม่แสดงไว้ว่า ผู้ได้ ขณิกะ อุปจาระ และ อัปปนาสมาธิ ได้ขั้นนั้นขั้นนี้ จึงจะได้โสดาบัน สกิทาคามี และพระอรหันต์ เห็นแต่แสดงไว้ว่าองค์ของพระโสดาบัน ๔ ดังนี้ คือ ถึงพระพุทธเจ้า ๑ ถึงพระธรรม ๑ ถึงพระสงฆ์ ๑ มีศีล ๕ เป็นนิจศีล ๑ ผู้ประกอบด้วยคุณลักษณะครบ ๔ อย่างนี้ นับว่าเป็นพระโสดาบันบุคคล ส่วนสมาธิไม่ได้กล่าวถึง แต่สมาธิเป็นการเดินฌานไม่ใช่เดินมรรค ถึงจะได้ฌานขั้นสูงสุด คือ นิโรธสมาบัติ ท่านก็เรียกว่า ฌานโลกิยะ อยู่นั่นเอง

พระโสดาบัน แปลว่า ผู้ตกกระแสพระนิพพานแล้ว แต่ยังไม่ถึงพระนิพพาน เหมือนกับเดินทางไปสู่พระนคร อันสุขเกษมถึงต้นทางแล้ว แต่ยังไม่ทันถึงพระนคร ฉะนั้น และเมื่อถึงพระโสดาบันแล้ว กิเลสทั้ง ๓ กองนี้จะต้องละได้ด้วยตนเอง คือ สักกายทิฏฐิ ถือว่าอันนี้เป็นของตัวเที่ยงแท้แน่นอน ถือรั้นจนเกิดทิฐิวิจิกิจฉา ลังเลสงสัย ในคุณพระรัตนตรัย ไม่แน่นอนว่าเป็นที่พึ่งอันแท้จริง ๑ สีลัพพตปรามาส ลูบคลำในสิ่งที่ไร้สาระประโยชน์ เชื่อสิ่งอื่นโดยไม่ตรึกตรองให้ถี่ถ้วน ๑ กิเลสทั้ง ๓ กองนี้ ผู้ทำสมาธิให้มั่นคงแล้ว ย่อมเกิดปัญญาเห็นชัดในพระไตรลักษณญาณ เห็นแจ้งด้วยปัญญาว่าสิ่งทั้งสามนั้นเป็นของ ไร้สาระประโยชน์ ไม่มีแก่นสาร แล้วละได้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น