xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : แก่นของการปฏิบัติ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระพุทธเจ้าก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี ไม่ทราบว่าเมื่อไรท่านจะมาเกิดอีก นานหนักหนาที่จะได้ประสบพบครูบาอาจารย์ที่สอนให้เราละกิเลส สอนให้เราทิ้งสิ่งไม่ดีไม่งามที่มันมีอยู่ในใจของเรา เหตุนั้นจึงว่า เมื่อเรามาฝึกปฏิบัติธรรมจนเห็นเรื่องโทษของตนเองแล้ว ค่อยชำระสะสางให้มันหมดไปๆ ก็จะเป็นคุณแก่ตนในอนาคตข้างหน้า ได้ชื่อว่าไม่เสียชาติเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ แล้วยังมาพบพระพุทธศาสนา และยังมาพบครูบาอาจารย์ที่สอนให้เราละกิเลสอีกด้วย

การถือเอาสาระ(คือจิตเป็นหนึ่ง) อันเป็นแก่นสารของตนนั้นฝังไว้ในตนให้มั่นคง ก็จะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ อันยิ่งใหญ่ไพศาลแก่ตน

อธิบายเรื่อง แก่นของการปฏิบัติ มาก็จบเพียงเท่านี้ เอวํฯ

• หลวงปู่อบรมนั่งสมาธิ

ตั้งใจหาแก่นสารในตัวของเราให้พบ และก่อนที่จะหาแก่นสารในตัวของเราได้ ก็ต้องหัดสมาธิให้แน่วแน่เสียก่อน การหัดสมาธิไม่ต้องเฉพาะนั่งอย่างเดียว จะ ยืน เดิน นั่ง นอน ทำได้ทั้งนั้น ทุกอิริยาบถทำได้หมด ขอให้จิตสงบอยู่เป็นหนึ่งก็แล้วกัน

ตัวสาระคือจิตเป็นหนึ่งมันเป็นแก่นสารในตัวของเราแท้ สาระอันนี้ไปไหนก็ไปด้วย ไม่เหมือนร่างกาย เนื้อหนังมังสาส่วนต่างๆทุกอย่างมันเป็นของปฏิกูลเปื่อย เน่า มันเป็นเพียงธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น กายอันนี้ เรายืมเขามาใช้ต่างหาก ไม่ใช่ของเราหรอก เรามาเกิดในโลกนี้ก็เอาของเหล่านี้มาใช้ (คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ผสมกันเป็นร่างกาย) ใช้แล้วก็ทิ้งไป ไม่เห็นมีใครเอาไปด้วย เมื่อไปเกิดใหม่ก็เอาของใหม่มาเกิดอีก ของใหม่นั้นก็แบบ เก่าคือธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ของเก่านั้นแหละ ยืมเขาใช้ไปชั่วครั้งชั่วคราว

ท่านจึงสอนไม่ให้ถือเป็นของจริงของจังอะไร ไม่ให้ถือเอาเป็นตนเป็นตัวของเราของเขา แต่คนเรามักจะถือเอาน่ะซี ยึดถือเป็นตนเป็นตัวเป็นจริงเป็นจัง ใครมาว่าไม่ดีไม่งามดูถูกดูหมิ่นก็โกรธใหญ่โกรธโต เป็นเพราะว่าไม่เห็นเป็นก้อนดินก้อนหนึ่ง

แท้จริงแล้วกายอันนี้ก็เหมือนๆกับก้อนดินก้อนใหญ่หรือพื้นปฐพีที่เราเหยียบย่ำมันนี่แหละ ใครจะว่ามันอย่างไรมันก็ไม่กระทบกระเทือน จะว่ามันอย่างไร มันก็ไม่เดือดร้อน ใครจะบ้วนน้ำลาย จะสั่งน้ำมูก จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะใส่ มันก็ไม่ว่าอะไร หากพิจารณาให้เห็นว่า กายนี้แท้จริงแล้วไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของใครทั้งนั้น มันเป็นสภาพของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เท่านั้น อันนี้แหละคือการหาแก่นสารไม่ได้

แก่นสาร คือ จิตที่เป็นหนึ่ง จับเอาจิตที่เป็นหนึ่งให้ได้ ครั้นจับเอาจิตที่เป็นหนึ่งได้แล้ว รักษาเอาไว้ให้มั่น ไม่ต้องเอาอื่นใดอีก เอาอันเดียวเท่านั้นเป็นพอแล้ว

จิตที่เป็นหนึ่งเป็นอย่างไร มันไปเกิดที่ไหน

จิตที่เป็นหนึ่ง คือ จิตที่สงบนิ่งแน่วไม่แส่ส่ายไปไหน มีอารมณ์อันเดียวเป็นเอกัคคตารมณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมันจะไปเกิดที่ไหนล่ะ รูปร่างมันก็ไม่มีแล้ว อาการของมัน ก็ไม่มีที่จะทำให้ไปเกิดอีก มันก็ไม่มีที่เกิดน่ะซี อันที่มีรูปร่างเพราะมันมีจิตหลายอย่าง แส่ส่ายไปตามร่างกาย ที่เรียกว่าอายตนะนั้น มันปรุงแต่งหลายอย่าง จิตที่เป็นหนึ่งแล้ว มันไม่มีปรุงไม่มีแต่ง เป็นตัวกลางๆ หยุดนิ่งไม่ไปเกิดที่ไหนอีกแล้ว

ทีนี้ทำสมาธิตั้งจิตให้เป็นกลาง ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมด ก็จะเหลือจิตอันเดียว เมื่อจิตเป็นหนึ่งแล้ว ให้พิจารณาตัวของเรา คือกายอันนี้ ให้เห็นเป็นธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้เห็นชัดเป็นจริงลงไป จนกระทั่งจิตปล่อยวางกายเพื่อเป็นเครื่องอยู่ของจิต ทำอยู่อย่างนี้จนชำนาญ ถ้าชำนาญแล้วมันเห็นเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา หากยังไม่ชำนิชำนาญมันจะเป็นหนึ่งบางครั้งบางคราว แต่ก็ต้องทำอยู่ตลอดไป

การหัดภาวนาเบื้องต้น คือ หัดให้เข้าถึงจิตเป็นหนึ่ง หัดเบื้องต้นก็จริงแต่มันถึงที่สุดได้ คือ จิตที่สงบนิ่งเป็นหนึ่งมันก็ถึงที่สุดแล้ว การฝึกหัดจิต หัดมากหัดน้อยเท่าไรก็ตาม ต้องการให้จิตเข้าถึงที่สุดได้ คือ จิตเป็นหนึ่งเท่านั้น การฝึกหัดจิตไม่นอกเหนือไปจากจิตเป็นหนึ่ง

ส่วนอุบายปัญญาที่จะเกิดขึ้น มันเป็นของเฉพาะบุคคลแตกต่างกันไป แล้วแต่คนใดจะมีวาสนาอย่างไร ผู้ฉลาดเฉียบแหลมกว้างขวางก็เป็นตามนิสัยของตนๆ ผู้ไม่มีแววไม่มีนิสัยวาสนาเฉียบแหลม ก็เกิดเฉพาะในจิตของตน เท่านั้นก็พอแล้ว

ที่อธิบายมานั้นเป็นวิธีฝึกหัดจิต จิตกับใจมันไม่เหมือนกัน จิตคือผู้คิดนึกส่งส่ายตามสัญญาอารมณ์ต่างๆ เรียกว่าจิต ใจคือผู้นิ่งเฉย ไม่คิดไม่นึก แต่รู้ตัวอยู่ว่าตัวนิ่งเฉยอยู่ แต่ที่จริงแล้ว จิตกับใจก็อันเดียวกัน พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าจิตอันใด ใจก็อันนั้น ใจอันใด จิตก็อันนั้น แต่เหตุใดพระองค์จึงตรัสว่าจิตว่าใจ จิตคงหมาย เอาความคิดนึกแส่ส่ายไปตามอายตนะนั้นๆ ใจคงหมายเอาผู้นิ่งเฉยมีแต่รู้ตัวอยู่ ไม่คิดไม่นึก ตามอารมณ์ต่างๆ หรือเรียกว่าธาตุรู้

ผู้จะฝึกหัดจิตต้องมีสติตามกำหนดจิตให้รู้ว่าจิตคิด ดีคิดชั่วหยาบและละเอียดอย่างไรอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากจิตคิดชั่วและเลวทราม ก็จงกำจัดมันเสีย ถ้าหากจิตมันคิดดีเป็นกุศลก็จงรักษามันไว้

ธรรมดา จิตของปุถุชนมันย่อมคิดแต่ในทางชั่ว เมื่อเรารักษาจิตไว้แต่ในทางดี สักหน่อยมันก็จะรวมลงเป็นหนึ่งนิ่งเฉยเป็นกลาง ไม่ส่งไปมาหน้าหลัง อดีตอนาคตไม่มี นั่นแหละคือตัวใจ

การหัดสมาธิมีความประสงค์ให้เข้าใจเท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นแล้ว การฝึกหัดสมาธินี้ใครจะฝึกแบบไหนวิธีไหนก็ตามเถิด ถึงที่สุดของการฝึกหัดก็เข้าถึงใจเท่านั้น ไม่มีอะไรอีกแล้ว ถอนออกมาจากใจ แล้วก็จะมาคิดนึกปรุงแต่ง ตามเหตุผลต่างๆที่เรียกว่าปัญญา ปัญญานี้ถ้าถูกทางที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เมื่อพิจารณาในสิ่งนั้นๆจบแล้ว ก็เข้าถึงใจอีก คือ นิ่งเฉยๆอย่างนี้ตลอดไป ถ้าไม่ใช่ปัญญาสัมมาทิฏฐิแล้ว พิจารณาอะไรก็เตลิดเปิดไปไม่มี ที่สิ้นสุด ข้อสังเกตได้ง่ายๆ ปัญญาในทางพุทธศาสนาจะสิ้นสุดได้ ปัญญาในทางโลกหาที่สุดไม่ได้ นี่เรื่องหาสาระอันแท้จริง

(แสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๖)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 125 เมษายน 2554 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น