xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : แก่นของการปฏิบัติ (ตอนที่ ๒)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นอกจากนั้น เมื่อทำสมาธิภาวนากำหนดจิตพิจารณาอยู่ภายใน มันจะคิดนึกเฉพาะภายใน จิตนั่นแหละ แต่มันนึกออกไปภายนอก เช่น เห็นรูป เห็นนามต่างๆภายนอก เรียกว่าเห็นสิ่งภายนอก ไม่อยู่ เฉพาะในจิต ถ้าหากจิตรู้เห็นอยู่ภายในจิตไม่เป็นอย่างนั้น พิจารณาสิ่งใดจิตมันแน่วแน่ปลอดโปร่ง เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลงสภาวะเป็นจริง แล้วจิตก็สงบนิ่ง ไม่ส่งออกไปภายนอก อย่างนั้นจึงเรียกว่า จิตอยู่ภายในจิตอยู่กับใจแท้ อันนี้เป็นแก่นแท้ อันที่ส่งออกไปกับรูปนามภายนอกนั่นยังเป็นเปลือกอยู่

คนที่ไม่เข้าใจเปลือกไม่เข้าใจแก่น ย่อมจับพลัดจับผลูในสิ่งที่ตนเห็น ความไม่รู้ไม่เข้าใจนั่นแหละทำให้จับเอาเปลือกไม่เอาแก่น เหตุนั้นจึงควรศึกษาให้ถ่องแท้แน่แก่ใจ อย่าเพิ่งตื่นเต้นจำเอาอันตนเห็นมาก่อน ให้พิจารณาให้มันชัดเจนแจ่มแจ้งในใจของตนเอง และให้อยู่อย่างนั้นบ่อยๆนานๆ พิจารณาจนชำนิชำนาญ เมื่อชำนาญแล้วรู้ได้ด้วยตนเองแล้วว่าอันนี้ผิดหรือถูกทาง อันนี้เป็นแก่นหรือเป็นเปลือก

ถ้าหากว่าพิจารณาสิ่งนั้น (ที่เกิดจากภาวนา) อยู่นานๆ จนกระทั่งว่า จะพิจารณาก็ได้ จะให้จิตอยู่นิ่งเฉยอยู่ที่เดียวก็ได้ จะให้มันออกส่งส่ายก็ได้โดยที่รู้ ตัวอยู่ทุกขณะ อันนั้น เรียกว่า เราจับแก่นได้แล้ว

ผู้ปฏิบัติให้ฝึกหัดปฏิบัติเช่นนั้นไปให้มันชำนิชำนาญอยู่ตลอดเวลา แล้วคราวนี้จะเห็นเรื่องจิตของตนเอง เราจะรู้เรื่องของเราว่า เวลานี้จิตใจเราเป็นอย่างไร ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีหรือไม่ มีความอดความทนหรือไม่ จิตใจเราเยือกเย็นหรือไม่

เมื่อฝึกหัดปฏิบัติไปแล้วถ้าจิตใจเยือกเย็นปลอดโปร่งดี นั่นแสดงว่าถูก

ถ้าหากว่าจิตใจมันยังหงุดหงิด ฉุนเฉียว ขี้โกรธ ใจน้อยไม่พอใจสิ่งต่างๆ ที่กระทบอารมณ์อยู่อย่างเดิม อย่างนั้นเรียกว่าผิดทาง
การที่จะทราบว่าเราปฏิบัติในทางผิดหรือถูกสังเกตได้ตรงนี้

เอาเถิดถึงแม้ว่าจะผิดมาก ผิดน้อยก็ตาม ให้รักษาอันที่มันเป็นอยู่อย่างนั้นไว้เสียก่อน แล้วค่อยสังเกตทีหลัง คือ คอยสังเกตจิตของเราด้วยตัวเราเองว่า มันถูกหรือมันผิด ถูกมากหรือผิดมาก ถูกน้อยหรือผิดน้อย ให้มันรู้จักด้วยตัวเอง อันนี้แหละเป็นเครื่องสังเกต

ถ้าหากว่าไม่รู้เรื่องจิตของตัวเองแล้ว อย่าเพิ่งไปตัดสินใจก่อนเลยว่า อันนั้นถูกหรือผิด เข้าใจตนเองได้เสียก่อนจึงจะเข้าใจว่า ที่ตนปฏิบัตินั้นถูกหรือผิดทาง ไม่ต้องมีใครตัดสินให้ ตัดสินได้ด้วยใจตนเอง

ธรรมดาคนเรามันต้องมีทั้งผิดหรือถูก ถึงพระอริยเจ้าที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ท่านก็ยังมีผิดพลาดอยู่ ตามชั้นตามภูมิของท่าน ถูกทั้งหมดไม่ได้ ก็ต้องมีผิดอยู่ดีๆ
แต่ว่าความผิดอันนั้นมีการแก้ไขในตัว คือว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความตระหนี่เหนียวแน่น ความหงุดหงิดใจ น้อยใจต่างๆที่ยังมีอยู่ เมื่อจิตสงบระงับลงด้วยสมาธิภาวนาแล้ว ให้ยกเอาข้อผิดอันนั้นแหละมาพิจารณา เหตุใดมันจึงเกิด เหตุใดมันจึงโลภ เหตุใดมันจึงหลง มันเกิดขึ้นได้ด้วยประการใด

สมมติว่าพิจารณาจนรู้จักว่าตรงนั้นมันผิด และเข้าใจชัดว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรแล้ว ให้เอาความรู้นั้นๆมาคอยระงับความผิดที่ยังมีอยู่ ตั้งใจพิจารณา ในตรงนั้นแหละบ่อยๆ ความผิดอันนั้นมันค่อยๆลดลงๆ จนกระทั่งมันหมดไปได้ สงบลงไปได้ เช่นนี้เรียกว่า ความผิดหรือกิเลสที่ยังเหลือฝังอยู่ในจิตนั้นมันหมดไปได้ โดยตั้งสติชำระด้วยการพิจารณาและเกิดปัญญาขึ้นมา จึงจะเป็นหนทางแก้ไขได้

ทีนี้หากว่าเกิดกิเลสขึ้นด้วยประการต่างๆ ดังอธิบายมานั้น เรารู้จักอยู่ว่า มีกิเลสครอบงำจิต แต่ไม่สามารถแก้ไข ไม่สามารถชำระได้ กิเลสอันนั้นเลยฝังอยู่ในจิตติดเป็นนิสัยไป

คนเราเกิดมาจนอายุได้ ๓๐-๔๐ ปีขึ้นไป นับว่าเป็นเวลานานอักโขทีเดียว ที่กิเลสต่างๆมันจะหมักดองอยู่ในสันดาน ไม่สามารถระงับหรือชำระให้มันดับสูญไปได้ ติดอยู่ที่จิตอย่างนั้นแหละ

ดังนั้น เราเกิดขึ้นมาชาติหนึ่งก็คล้ายกับว่ามาสะสมกิเลสให้พักนอนเนื่องอยู่ในใจ ให้มันฟักตัวค่อยงอกงามเจริญขึ้นเรื่อยในใจ นิสัยอันนั้นเป็นเหตุให้ก่อภพก่อชาติ ชาตินี้สะสมก่อขึ้นมาเท่านี้แล้วยังไม่พอ ชาติหน้ายังสะสมต่อไปอีก ชาติต่อไปก็ยิ่งหนาแน่นขึ้นทุกที ไม่มีวันที่จะสงบระงับลงไปได้ ถ้าหากคอยชำระ อย่างที่อธิบายมานั้น ถึงว่าชำระไม่หมด มันก็จะเบาบางลงไปในภพนี้ในชาตินี้

แม้ว่าจะมารู้สึกตัวเอาจนอายุถึงป่านนี้แล้วก็ตาม หากค่อยสงบระงับ ค่อยชำระลงไปๆจนถึงวันตาย กิเลสก็ค่อยเบาบางลงไปได้ การปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่าหัดนิสัย ชำระกิเลสที่มีอยู่ให้มันเบาบางลงไป

เราปฏิบัติเช่นนี้จะไม่ดีกว่าที่จะไม่ชำระเสียเลย หรือการชำระสะสางจิตของตนย่อมเป็นหน้าที่ของตน โดยเฉพาะคนอื่นไม่สามารถทำให้ได้ เป็นหน้าที่ของตนโดยแท้ จะคอยทำให้คนอื่นชำระให้ มันชำระแทนกันไม่ได้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 124 มีนาคม 2554 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น