ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)เกี่ยวกับบทบาทของกองทัพบกกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทางโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และช่อง 7 เมื่อคืนวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้จะมีการปฏิเสธจากทางกองทัพว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด
แต่กระแสข่าวที่ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ไปพบปะ ผบ.ทบ.ก่อนที่จะบันทึกเทปเป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง รวมทั้งเมื่อดูทิศทางของเนื้อหาที่ ผบ.ทบ.แถลงออกมาแล้ว ฟันธงได้เลยว่า การออกทีวีของ ผบ.ทบ.ครั้งนี้ หวังผลในการเรียกคะแนนให้กับพรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบันอย่างแน่นอน หลังจากที่พบว่าในช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา คะแนนนิยมตกต่ำลงอย่างหนัก จากผลงานการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ภาคประชาชนอิสระอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหันไปรณรงค์การโหวตโนเพื่อปฏิเสธนักการเมืองทุกพรรค ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งมีฐานคะแนนเสียงจัดตั้งอยู่เดิมมากกว่าประชาธิปัตย์อยู่แล้วมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาที่ พล.อ.ประยุทธ์แถลงออกมาในวันนั้น แทนที่จะสามารถโน้มน้าวให้ประชาชนหันมาลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ แต่กลับดูเหมือนเป็นการประจานการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เสียเอง โดยเฉพาะผลงานด้านความมั่นคงที่กองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
ในการแถลงวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงภารกิจหลักของกองทัพบกในสถานการณ์ในปัจจุบันว่า สถานการณ์ภายนอกได้เข้ากดดันกองทัพหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง การทหาร หรือแม้กระทั่งจัดตั้งรัฐบาล หรือการทำงานตามพันธกิจต่างๆ ของกองทัพก็ได้ถูกกล่าวไปในทางที่จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจขึ้นได้ในกองทัพบกด้วยกัน
ผบ.ทบ.อ้างว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือ เรื่องสื่อ เพราะว่าประชาชนถูกชักจูงไปโดยกลุ่มคนบางประเภท ซึ่งปัจจุบันเรามีสื่อในระบบทั่วไป คือ สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี ส่วนอีกสื่อหนึ่งที่รับจากดาวเทียมที่ออกอากาศอยู่ทุกวันนี้ทำให้เกิดการแตกแยกกันหรือเปล่า แต่ตนก็ไม่แน่ใจตรงนี้ แต่ถ้าเราต้องการให้ประเทศชาติไปได้และปรองดอง คิดว่าสื่อทั้งสองฝ่ายจะต้องเลิก หยุดได้แล้ว วันเวลาที่ผ่านมา สื่อบางสื่อทำให้เกิดเหตุต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ตนไม่ได้บอกว่าอันไหนถูกหรือผิด แต่ตนถามว่าความควรหรือไม่ควร เหมาะสมหรือไม่ และที่ผ่านมาก็ทำให้ประชาชนเป็นสองฝักสองฝ่าย วันนี้ต้องไม่มีฝักฝ่ายกันได้แล้ว สังคมจะต้องมาดู และลงความเห็นว่าจะปล่อยให้มีสื่อแบบนี้ต่อไปหรือไม่
มองได้ไม่ยากว่า การพูดเรื่องสื่อของ ผบ.ทบ.มีนัยที่ต้องการโจมตีสื่อทางเลือกทั้งฝ่ายสีเหลืองและสีแดงซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในขณะนี้ โดยโยนข้อหาการสร้างความแตกแยกให้กับสื่อมวลชนของทั้งสองสีอย่างตีขลุม ไม่แยกแยะความแตกต่าง ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
โดยฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มคนเสื้อเหลืองนั้นมีสื่ออย่างเอเอสทีวีและเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ซึ่งเริ่มมีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงการบริหารงานที่ทุจริตและฉ้อฉลของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มาตั้งแต่ปี 2548 และรับใช้ขบวนการภาคประชาชน อย่างพันธมิตรฯ ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน โดยที่ยังคงแนวทางของสื่อมืออาชีพที่ต้องนำเสนอแต่ข้อเท็จจริงและต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ขณะที่ฝ่ายคนเสื้อแดงนั้น มีจุดกำเนิดจากคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อรับใช้นายใหญ่โดยเฉพาะ และรับใช้มาจนปัจจุบัน ซึ่งบทบาทของสื่อเสื้อแดงตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็เห็นชัดเจนว่า การนำเสนอข้อมูลข่าวสารไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง แต่คำนึงถึงประโยชน์ของทักษิณ ชินวัตรเป็นหลัก แม้จะต้องปลุกระดมให้มีการเผาบ้านเผาเมืองและล่วงละเมิดสถาบันเบื้องสูงก็ตาม
การแถลงออกทีวีวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่า จากการติดตามของฝ่ายความมั่นคงเห็นว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันมากขึ้น มีคนบางกลุ่มไม่ปกติ โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งที่มีการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้น โดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับกลุ่มคนที่อยู่ต่างประเทศทั้งสิ้น เช่น นายใจ อึ๊งภากรณ์ และนายจักรภพ เพ็ญแข ที่พยายามทำให้สถาบันเสียหาย เกี่ยวพันยึดโยงกับคนอีกหลายกลุ่มซึ่งเรายอมไม่ได้
“ทุกคนต้องช่วยกันดูแลพระองค์ท่าน ท่านไม่เคยเรียกร้องความเข้าใจจากใคร ท่านไม่เคยตอบคำถามใครได้ สิ่งกล่าวอ้างทั้งหมดไม่เป็นธรรม ไม่สุภาพด้วยประการทั้งปวง สังคมต้องดูว่า เกิดจากที่ไหนอย่างไร เกี่ยวพันกับเรื่องอะไร ทำไมถึงมากขึ้นทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก หรือสื่อสิ่งพิมพ์ โฆษณาระดมมากขึ้น ในช่วงเลือกตั้ง สถาบันไม่เคยสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ไม่อยากให้คนไปละเมิดท่าน กฎหมายมาตรา 112 ก็มีคนจะล้มเลิก”
พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งพูดมากยิ่งประจานความล้มเหลวของตัวเอง คำถามที่ ผบ.ทบ.ต้องตอบคือ เหตุใดฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะกองทัพบกมีฟรีทีวีในมือถึง 2 ช่องและวิทยุทั่วประเทศอีกนับร้อยคลื่น ซึ่งมีขีดความสามารถในการเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าสื่อทางเลือกทั้งของฝ่ายสีเหลืองและสีแดง แต่กลับไม่สามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาคกัน ซึ่งนั่นจะเป็นวิธีการแก้ไขความขัดแย้งอย่างได้ผลมากกว่าที่จะมาห้ามไม่ให้มีการนำเสนอข้อมูลที่แตกต่าง ทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดง
ตลอดช่วงที่ผ่านมา กองทัพยังคงใช้สื่อของตัวเองหาประโยชน์ในทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้ในภาระกิจรักษาความมั่นคงของประเทศเท่าที่ควร แม้แต่การนำเสนอพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังให้เวลาไม่มากพอ
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์แถลงเสร็จ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ยังออกมาแถลงสำทับว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้จัดการกับสื่อทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ก็ยิ่งเป็นการประจานความล้มเหลวของ กอ.รมน.เอง เพราะหาก กอ.รมน.ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สื่อเสื้อแดงที่ให้ข้อมูลบิดเบือนจะไม่สามารถแพร่ข้อมูลเท็จไปถึงคนรากหญ้าได้ ขบวนการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงจะไม่ขยายตัวแพร่หลายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โรงเรียนคนเสื้อแดงจะไม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวออกไปถึงต่างประเทศ เหตุการณ์เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมืองทั้งในปี 2552 และ 2553 จะไม่ถูกนำไปบิดเบือนว่าเป็นฝีมือของทหารและบุคคลใกล้ชิดสถาบันเบื้องสูง
เป้าประสงค์การพูดถึงการล่วงละเมิดสถาบันของ ผบ.ทบ.นั้น มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องการโน้มน้าวให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่มีภาพว่าไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการล้มเจ้า สังเกตจากคำพูดที่ว่า “อยากฝากให้ทุกคนเลือกตั้งใช้สติมีเหตุผล รู้จักคิดว่า ทำอย่างไรบ้านเมือง สถาบันจึงจะปลอดภัย ทำอย่างไรคนดีจึงจะได้มาบริหารชาติบ้านเมือง”
ดูเผินๆ อาจจะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเป็นห่วงต่อความอยู่รอดของสถาบันเบื้องสูง แต่เมื่อพิจารณาย้อนหลังถึงการทำงานของรัฐบาลและกองทัพในช่วงตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา มันคือการประจานความล้มเหลวของงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลและกองทัพนั่นเอง