ผ่าประเด็นร้อน
แม้ว่าใจหนึ่งไม่อยากจะกล่าวถึงเรื่องมากนัก เพราะจะไปร่วมกระพือกระแสให้กับ พรรคเพื่อไทย และเครือข่าย ทักษิณ เพิ่มสร้างจิตวิทยารวมหมู่ให้ผิดเพี้ยนก็ตาม แต่ในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มแบบนี้มันก็ช่วยไม่ได้ที่ต้องชี้ให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกภายในของแต่ละฝ่ายออกมา โดยเฉพาะในช่วงของหาเสียงเลือกตั้งที่เริ่มมองเห็นผลสรุปข้างหน้าค่อนข้างชัดเจนแล้ว
การออกมาแสดงอาการ “แปลกๆ” ของหลายคนมันทำให้น่าจับตาจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะการออกมาเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้น มันย่อมส่งผลต่ออนาคต โดยเฉพาะกับอนาคตส่วนตัวของแต่ละคน
หากจะให้สังเกตความเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่ายก็ต้องเริ่มตั้งแต่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่เริ่มตั้งแต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคที่อาสากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และล่าสุดก็เป็นผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แม้ว่าในความเป็นจริงกลุ่มอำนาจเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เป็นเนื้อเดียวกัน หรือเป็นพวกเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาถือว่ามีประโยชน์ร่วมในเชิงใช้ “อำนาจรัฐ” ในลักษณะแบบพึ่งพาอาศัยกันมาตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล ที่มีการค่อนแคะขยายความจากฝ่ายตรงข้ามในประเด็น “สุมหัวในค่ายทหาร” หรือ “กลุ่มอำนาจแฝง” ที่ปฏิเสธไม่ได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ก่อนจะมีบรรยากาศแบบนี้ก็ต้องลำดับเหตุการณ์ให้เห็นภาพเสียก่อน เริ่มจากฝ่ายหัวขบวนของประชาธิปัตย์เสียก่อน เพราะหากไล่เรียงกันมาตั้งแต่ อภิสิทธิ์ และ สุเทพ ในช่วงเริ่มสตาร์ทมักจะเน้นในเรื่องนโยบาย รวมไปถึงการการท้าทายฝ่ายตรงข้ามคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาดีเบตประชันวิสัยทัศน์ เนื่องจากยังคิดว่าตัวเองได้เปรียบ รวมไปถึงขณะเดินหาเสียงเมื่อเจอกับ “แก๊งแดง ที่ผ่านการจัดตั้งให้มาป่วนก็จะใช้วิธีเดินไปชี้แจงกันแบบถึงตัว โดยหวังสร้างภาพลักษณ์ “ปรองดอง” แบบเห็นต่างแต่ไม่แตกแยก หวังจะให้เป็นสีสันประชาธิปไตย แต่เป้าหมายก็คือหวังว่าเมื่อออกสื่อไปแล้วภาพของตัวเองจะดูดีทำให้เรียก “คะแนนสงสาร” จากบรรดาแม่ยกได้เป็นกอบเป็นกำ
แต่กลายเป็นว่าเอาเข้าจริงทำท่าจะไม่ได้ผล และนับวันยิ่งมีการป่วนมากขึ้นและระบาดไปทุกที่ เพราะเป็นการ “จัดตั้ง” สร้างกระแสชี้นำทางการเมืองที่ลงทุนน้อย แต่สามารถออกสื่อประจาน อภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีในเรื่องของความล้มเหลวในการบริหารประเทศตลอดสองปีหกเดือนที่ผ่านมา แค่ชูป้ายไปด่าซ้ำๆซากๆว่า “ฆาตกร 91 ศพ” หรือ “ดีแต่พูด-ของแพง” ฯลฯ ทำเอาหัวเสียเหมือนกันไปหมด แม้ว่านาทียังสรุปไม่ได้ว่าในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยใครจะได้คะแนนกันแน่
แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาหลังจากนั้นก็คือเมื่อมีการสำรวจ (โพล) จากสำนักต่างๆผลก็ออกมาตรงกันคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนตามหลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยห่างออกไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นแบบบัญชีรายชื่อหรือส.ส.ระบบเขต แม้ว่าจะมีการโต้แย้งว่าเป็นโพลสร้างกระแส หรือ “โพลปั่น” ก็ตาม แต่ถึงอย่างไรก็ตามผลที่ออกมาก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก นอกจาก “สุเทพโพล” เท่านั้นที่ผลออกมา “ฉีก” ไปไกลว่าพรรคประชาธิปัตย์ชนะพรรคเพื่อไทยประมาณไม่เกิน 10 ที่นั่งได้จัดตั้งรัฐบาลอีกรอบ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากอาการล่าสุด โดยเฉพาะในเรื่องของกลยุทธ์การหาเสียงของพรรคที่เปลี่ยนไปอย่างน่าสังเกตก็คือ ในระยะหลังจะเน้นในเรื่องของ “วาทะข่มขู่” ในทำนองว่า “ไม่เลือกเราเขามาแน่” หรือ “อย่าให้พวกเผาเมืองได้เข้ามา” เป็นต้น ขณะเดียวกัน เวลาเดินหาเสียงก็จะไม่เดินเข้าไปชี้แจงเหมือนเก่า แต่จะใช้วิธีปราศรัยตอบโต้แทน อาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นมันเหมือนกับการดิ้นหวังลุ้นในช่วงท้ายๆ เหมือนกับรู้ตัวว่ากำลังตกเป็นรอง
นอกจากนี้ยังมีแนวร่วมที่เป็น “สื่อคอเดียวกัน” ที่ออกมาร่วมด้วยช่วยกัน สร้างกระแสความหวาดกลัว ก็ออกมาอย่างสอดคล้องต้องการในช่วงจังหวะเวลาพอดี
ส่วน สุเทพ นั้นระยะหลังก็มักพูดออกมาชัดเจนชี้ให้เห็นว่า ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง รวมไปถึง “ขบวนการล้มเจ้า” มีความเกี่ยวข้องหรือทำให้มองเห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน เคลื่อนไหวไปในทางเดียวกัน มีเป้าหมายเพื่อเข้ามายึดอำนาจรัฐ และการนิรโทษกรรมให้ ทักษิณ พ้นความผิดเท่านั้น
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความเคลื่อนไหวออกมาอย่างถี่ยิบ แม้ในช่วงแรกจะเน้นย้ำในเรื่องกองทัพวางตัวเป็นกลาง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ก็จำเป็นต้องตอบโต้อย่างฉับพลันหลังจากถูกแหย่ออกมาจากฝ่ายเพื่อไทย ทั้งในเรื่องของข้อกล่าวหาในเรื่องหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามยาเสพติด 3-1-5 จนมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยมาแล้ว และมีการตอบโต้กล่าวหากันอย่างรุนแรง
ถัดมาก็มีการกระพือข่าวจากพรรคชาติไทยพัฒนาที่คาดหมายว่าจะไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยหากชนะการเลือกตั้ง ในเรื่อง “อำนาจแฝง-ในค่ายทหาร” ผสมโรงเข้าไปอีก หรือแม้แต่การออกมาดักคอของยิ่งลักษณ์ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่าให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งพร้อมทั้งขอนัด “เคลียร์” กับ ผบ.ทบ.มันก็ยิ่งวาดภาพในทางลบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ในทำนองว่าอาจขัดเจตนารมณ์ประชาธิปไตยอะไรประมาณนั้น จะเป็นด้วยเรื่องดังกล่าวหรือเปล่า ที่ถูกรุกคืบกดดันเข้ามาจากฝ่ายตรงข้าม หรือเคลียร์กันไม่ลง รวมไปถึงความไม่ชัวร์ในเรื่องอนาคตของตัวเอง ทำให้ต้องออกมาใช้ “ท่าไม้ตาย” ซัดกลับไปบ้างก็เป็นได้
เพราะการออกมาเที่ยวนี้ของผู้บัญชาการทหารบกถือว่ารุนแรงและมีเป้าหมายชัดเจนนั่นคือ ขัดขวางไม่ให้พวก “ขบวนการล้มเจ้า และพวก “ทำผิดกฎหมาย” พวก “ผู้ก่อการร้าย” เข้าสภาซึ่งมีการระบุออกมาตรงๆว่าเป็นใคร และทำให้มองเห็นชัดเจนว่าเป็นพวกเดียวกับใคร เช่น เอ่ยชื่อ จักรภพ (เพ็ญแข) และ ใจล์ (อึ๊งภากรณ์) ที่หลบหนีหมายจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ต่างประเทศ แม้ว่าจะไม่ได้เชื่อมโยงให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่ก็สามารถสื่อความหมายได้เองว่าคนพวกนี้เป็นพวกเดียวกับพรรคเพื่อไทย กับ ทักษิณ ชินวัตร กับ “หัวโจก” คนเสื้อแดงนั่นเอง
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝั่งประชาธิปัตย์ที่เปลี่ยนแปลงยุทธวิธีใหม่ใช้วาทะข่มขู่ให้กลัวรวมไปถึงการออกมาขยายความของผู้บัญชาการทหารบกที่ “เตือนสติ” คนไทยไม่ให้เลือกพวกล้มเจ้า และพวกผู้ก่อการร้ายที่ปลุกระดมเผาเมืองเข้าสภา ซึ่งคนพวกนี้ก็เป็นพวกเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย และทักษิณ ความหมายที่ต้องการก็น่าจะเป็นการเบรกกระแสให้ “พลิกกลับ” ไม่ให้ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็น “โคลนนิ่ง” ของพี่ชายชนะเลือกตั้ง หรือให้ย้อนกลับไปสูสีกับประชาธิปัตย์เหมือนในช่วงเริ่มต้น
แต่ขณะเดียวกันก็ย่อมถูกตั้งคำถามเหมือนกันว่าที่ผ่านมามัวไปงมโข่งที่ไหนมา ทั้งที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ ทำไมไม่จัดการตามกฎหมายให้เด็ดขาดไปตั้งแต่แรก มาพูดเอาตอนที่จะถูก “ยึดเมือง” อยู่แล้ว อีกด้านหนึ่งทำให้ให้เข้าใจว่าออกมาเคลื่อนไหวเมื่อภัยใกล้ถึงตัวแล้วจนนั่งไม่ติดแล้วต่างหาก!!