xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รื้อมาตรา 112 ความพยายามของ “คุ่น” แอนด์เดอะก๊วน “สมอลล์รู กูแนว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

คงต้องย้ำกันอีกครั้งกับข้อความใน ม.112 ที่บัญญัติเอาไว้ในกฎหมายอาญาของราชอาณาจักรไทยที่กลุ่มนักเขียนซึ่งนำโดย “คุ่นแอนด์เดอะก๊วนสมอลล์รู กูแนว” ซึ่งประกอบไปด้วย“บินหลา สันกาลาคีรี ปราบดา หยุ่น ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ซะการีย์ยา อมตยา กิตติพล สรัคคานนท์ วรพจน์ พันธุ์พงศ์และวาด รวี กำลังเรียกร้องให้มีการแก้ไข

เพราะนับจากวันแรก(19 พ.ค.) ที่คุ่นแอนด์เดอะก๊วนปล่อยของผ่าน “จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนไทยทั่วประเทศ เรื่อง: ขอเชิญร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง” ความเคลื่อนไหวของ 7 แกนนำก็ยังคำเนินไปด้วยความมุ่งมั่น ไม่สนใจกระแสสังคม และข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นถึงความเหมาะสมถึงประเด็นที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผล

เพราะแม้กระทั่งการเปิดแถ-ลงข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. พร้อมกับบันทึกคลิปวิดีโอของการแถลงข่าวเพื่อนำเสนอผ่านอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. คุ่นแอนด์เดอะก๊วนก็ยังตอกย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไข มาตรา 112 เหมือนเดิม

“พวกเรามิใช่กลุ่มก้อนที่ต้องการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือระดมแนวร่วมเชิงอุดมการณ์ พวกเราปราศจากผลประโยชน์ส่วนตัวและไม่มีเจตนาแอบแฝงใดๆ นอกเหนือไปจากการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และความเป็นธรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงได้รับ และเป็นหัวใจของการทำงานเขียน ซึ่งผูกพันเกี่ยวข้องกับพวกเราและนักเขียนผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมดโดยตรง”

นั่นคือเหตุผลที่คุ่นแอนด์เดอะก๊วนสำแดงเอาไว้ในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการที่ปรากฏให้เห็นชัดทั้งหน้าและเสียง ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้สังคมได้เข้าใจอีกเช่นเคยว่า การแก้ไขมาตรา 112 จะทำให้พวกเขามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความเป็นธรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงได้รับและเป็นหัวใจของการทำงานเขียนนั้นหมายความว่าอย่างไร

ใช่หมายความว่า คุ่นแอนด์เดอะก๊วนต้องการให้แก้กฎหมายมาตรานี้เพื่อทำให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันหรือไม่

หรือการแก้มาตรา 112 จะเป็นประโยชน์ต่องานเขียนของคุ่นแอนด์เดอะก๊วนอย่างไร

คุ่นแอนด์เดอะก๊วนไม่เคยตอบคำถามเหล่านี้ชัดเจน เพียงแต่พร่ำบ่นเป็นนกแก้วนกขุนทองว่า มาตรานี้มีปัญหาและต้องแก้ไข จนผู้คนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมพวกเขาถึงอยากแก้มาตรานี้กันนักกันหนา

เหมือนดังเช่นที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก ตั้งคำถามอย่างไม่อ้อมค้อมว่า “กฎหมายมาตรา 112 ก็มีคนจะล้มเลิก คิดว่าไม่ใช่เรื่อง ถ้าท่านไม่ไปยุ่งหรือละเมิดว่ากล่าวสถาบันฯ ท่านจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ ที่ผ่านมาท่านประสงค์ไม่ให้ดำเนินคดี แต่สิ่งที่ท่านทรงพระเมตตากลับทำให้คนเหล่านี้ได้ใจว่า ยังไงก็ไม่โดน ซึ่งคนดีส่วนใหญ่ไม่ยอม และพอเจ้าหน้าที่ทำงานกลับต่อต้านมาตรา 112 ฝากคำถามนี้ให้สังคมไปแก้ด้วย”

ยิ่งสำหรับ 7 แกนนำอย่างบินหลา สันกาลาคีรี ปราบดา หยุ่น ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ซะการีย์ยา อมตยา กิตติพล สรัคคานนท์ วรพจน์ พันธุ์พงศ์และวาด รวีด้วยแล้ว ยิ่งไม่เข้าใจว่า มาตรา 112 จะไปกระทบกับงานเขียนของเขาอย่างไร และถ้ามีมาตรา 112 แล้วจะทำให้พวกเขาก้าวขึ้นไปสู่ความมีเสรีภาพในงานเขียนถึงขีดสุดได้อย่างไร

ด้วยเหตุดังกล่าว จงอย่าแปลกใจถ้าหากสังคมจะตั้งคำถามกลับไปที่คุ่นแอนด์เดอะก๊วนบ้างว่า ในช่วงที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต คนเสื้อแดงก่อจลาจลเผาบ้านเผาเมือง ทั้ง 7 คนเคยคิดที่ใช้เสรีภาพในการเขียนของตนเองที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมทำจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้องทวงถามความยุติธรรมให้กับสังคมบ้างหรือไม่

ถามว่า คุ่นแอนด์เดอะก๊วนเคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่อการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองบ้างหรือไม่ และเคยเรียกร้องหรือมีจดหมายเปิดผนึกเพื่อแก้ไขบทลงโทษนักการเมืองชั่วๆ ให้หนักขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่

รวมถึงการกระทำอะไรที่ “ปกป้องสถาบัน” ดังที่อ้างเอาไว้ในจดหมายเปิดผนึกถึงความจำเป็นที่จำต้องแก้มาตรา 112 ว่า “เป็นการนำเสนอแนวทางที่จะสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว” บ้างหรือไม่

แล้วทำไมวันดีคืนดีในช่วงที่คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยกำลังจะกลับมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน คุ่นแอนด์เดอะก๊วนถึงกล้าที่จะลุกขึ้นมาเพื่อขอแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ ถ้าทั้ง 7 คนมิได้มีความคิดที่ดำเนินไปในท่วงทำนองเดียวกัน

แน่นอนพวกเขาอ้างว่า คุ่นแอนด์เดอะก๊วนไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่คิดแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งนั่นเป็นความจริง แต่สิ่งที่พวกเขาจะต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจว่า กลุ่มที่คิดแก้ไขมาตรา 112 ก่อนหน้าเป็นใครบ้าง

ใจ อึ๊งภากรณ์  ธงชัย วินิจจกูล สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฯลฯ

ชื่อเหล่านี้เป็นหลักประกันถึงแนวความคิดที่มีต่อสถาบันได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญกว่านั้นคือ การแก้มาตรา 112 มิได้มีความหมายเพียงแค่ “การเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และความเป็นธรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงได้รับ และเป็นหัวใจของการทำงานเขียน ซึ่งผูกพันเกี่ยวข้องกับพวกเราและนักเขียนผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมดโดยตรง” ดังที่คุ่นแอนด์เดอะก๊วนกล่าวอ้าง หากแต่เป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐโดยตรง ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐส่วนที่ 2 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ มาตรา 77 จึงกำหนดไว้ว่า “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็นและเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ”

เช่นเดียวกับในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 8 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ฉบับล่าสุดดังกล่าว คุ่นแอนด์เดอะก๊วนพยายามทำให้เห็นว่า พวกเขาเคารพในเพื่อนนักเขียนอีกจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนแต่ไม่สามารถร่วมลงชื่อ ได้ว่า เป็นเพราะความกลัว และเหมารวมว่า เป็นความกลัวที่เกี่ยวข้องกับในสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องคือการแก้มาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่นคลอนเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงคามคิดเห็น

หรือสรุปง่ายๆ ว่า นี่ไงล่ะคือปัญหาของมาตรา 112

ทั้งๆ ที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยปรากฏว่า มี “กลุ่มคนที่ต้องการแก้มาตรา 112 ต้องติดคุกติดตะรางเพราะต้องการแก้มาตรานี้แต่อย่างใด”

ขณะเดียวกันความจริงที่คุ่นแอนด์เดอะก๊วนมิได้กล่าวถึงในจดหมายฉบับดังกล่าวก็คือ ทั้ง 320 คนที่ปรากฏรายชื่อในจดหมายเปิดผนึกของพวกเขานั้นมิได้เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ทั้งหมด บางคนลงชื่อเพราะเพื่อนขอร้อง บางคนลงชื่อเพราะตกกะไดพลอยโจน และบางรายถูก “ขอชื่อ” ไป โดยไม่รู้ถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง จนเมื่อรู้เหตุผลในภายหลังจึงทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกิดขึ้น

และถ้าจะว่าไปแล้ว จดหมายฉบับนี้ก็ปรากฏร่องรอยของความขัดแย้งให้เห็น ดังเช่นในตอนที่ว่า

สำหรับเพื่อนนักเขียนบางกลุ่มบางท่าน ที่มีความเคลือบแคลงใจในเจตนาของพวกเราผู้ร่างจดหมาย ขอให้สบายใจได้ว่าไม่มีพวกเราคนใดคิดนำการตอบรับของเพื่อนนักเขียนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม เราขอยืนยันอีกครั้งว่าจดหมายเปิดผนึกของเรามิได้เป็นตัวแทนทางความคิด ความเชื่อ และทัศนะทางการเมืองด้านอื่นๆ ของพวกเราแต่ละคนไปเสียทั้งหมด เราเชื่อว่าเพื่อนนักเขียนมีวุฒิภาวะเพียงพอในการแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากข้อเรียกร้องเพื่อส่วนรวม และมีความหนักแน่นในตัวเองเพียงพอจะไม่หวั่นไหวไปกับข้อกล่าวหาเหมารวมที่ไม่สร้างสรรค์ และมีแต่จะนำมาซึ่งความแตกแยกร้าวฉานระหว่างผู้มีความต้องการเดียวกัน นั่นคือเสรีภาพ ความเป็นธรรม และประชาธิปไตย”

แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ไปน่าแปลกใจอะไรที่คุ่นแอนด์เดอะก๊วนมองมาตรา 112 เป็นอุปสรรคในการทำงานของพวกเขา เพราะแม้แต่ในจดหมายเปิดผนึกฉบับแรกที่นำเสนอ ส่วนหนึ่งของเนื้อหาก็ยกตัวอย่างเรื่องที่สังคมรับไม่ได้ เพราะคุ่นแอนด์เดอะก๊วนมีความคิดว่า การไม่ยืนถวายพระพร เมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี มิใช่เรื่องที่จะต้องรับผิดในความผิดฐานดูหมิ่นได้

แน่นอน กรณีนี้อาจมิใช่เรื่องใหญ่โตในความรู้สึกของพวกเขา แต่สิ่งที่คุ่นแอนด์เดอะก๊วนจะต้องตอบคำถามต่อไปกรณี คนที่ไม่ยืนถวายพระพรเมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี มิได้มีความคิดหยุดอยู่ตรงแค่นั้น หากแต่มีการนำไปขยายความเพิ่มเติม มีการจัดทำป้าย จัดทำเสื้อยืดเพื่อสำแดงให้เห็นถึงความเป็นปฏิปักษ์ของพวกเขาที่มีต่อสถาบันอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เมื่อตรวจสอบไปที่จดหมายที่ปราบดา หยุ่นและวาด รวีเขียนถึง “นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ก็จะพบบางช่วงบางตอนที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเชื่อมโยงและหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของตนเองโดยที่มิได้มีความเข้าใจที่ถ่องแท้ โดยเฉพาะการกล่าวอ้างกรณีความคิดเห็นของนายนิพิฏฐ์ที่บอกว่า การที่สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้องร้องเอง ยิ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะจะกลายเป็นว่าเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่กรณีกับชาวบ้าน

โดยในประเด็นนี้ปราบดา หยุ่นและวาด รวี แก้ข้อวิจารณ์โดยระบุเอาไว้ว่า “ต่อประเด็นนี้ต้องเรียนย้ำกับท่านรัฐมนตรีว่า สำนักราชเลขาธิการเคย เป็นคู่คดีกับชาวบ้านมาแล้วในคดีหมายเลขดำ อ.2358/2551 หรือเป็นที่รู้จักทั่วไปว่าเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัว โดยสำนักราชเลขาธิการได้มอบหมายให้ดีเอสไอเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสิทธิกร บุญฉิม หรือ เสี่ยอู๊ด”

นี่เป็นการหยิบยกเหตุการณ์ต่างกรรมต่างวาระมาให้เหตุผลที่ไม่สมควรยิ่ง เพราะทั้งสองคนต้องไม่ลืมว่า คดีสมเด็จเหนือหัวคือคดีฉ้อโกงประชาชนที่แอบอ้างสถาบันไปจัดสร้างพระขายจนทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ดังนั้น สำนักราชเลขาธิการจึงจำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการเพื่อมิให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้ ไม่ได้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีกับชาวบ้าน แต่กลับเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านประชาชนจำนวนมาก มิได้เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ที่พวกเขากำลังเรียกร้องให้แก้ไขแต่อย่างใด

ยิ่งเมื่อดูคำพิพากษาที่ระบุเอาไว้ว่า “จำเลยทั้งสองมีความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 , 48 และ 59 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ.2484 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 , 343 และ 83 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้เรียงลงกระทงลงโทษ โดยให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 4 ปี และปรับบริษัท จำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 บาท ฐานฉ้อโกงประชาชนอันเป็นบทหนักสุด และให้จำคุกจำเลยที่ 1 อีกเป็นเวลา 1 ปี และปรับบริษัท จำเลยที่ 2 จำนวน 2,000 บาท ฐานใช้และเลียนแบบเครื่องหมายราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 5 ปี และปรับบริษัท จำเลยที่ 2 รวม 12,000 บาท โดยให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันคืนเงินกับผู้เสียหายทั้ง 921 คนที่เช่าพระสมเด็จเหนือหัว แต่ไม่ให้เกินจำนวน 4 ,055,916 บาท” ก็จะเห็นว่าสำนักราชเลขาธิการ ไม่ได้ฟ้องเสี่ยอู๊ดด้วยกม.อาญามาตรา 112 แต่อย่างใด

ต่างจากกรณี ใจ อึ๊งภากรณ์ ดา ตอร์ปิโด จักรภพ เพ็ญแข หรือสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์สถาบันอย่างตรงไปตรงมา

และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้คือ การที่คุ่นแอนด์เดอะก๊วนกล่าวว่า ในช่วงระยะ 4-5 ปีหลังมีผู้ต้องได้รับโทษจากมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นเรื่องจริง แต่สิ่งที่พวกเขามิได้อธิบายก็คือ ทำไมในช่วงระยะ 4-5 ปีหลังจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และผู้ที่ได้รับโทษเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่ต่างประเทศหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า ผู้ทำความผิดตามมาตรา 112 ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหรือผู้สนับสนุนนักการเมือง

ที่สำคัญคือ ถ้าเหล่ากอของขบวนการล้มเจ้า ขบวนการหมิ่นสถาบันไม่มีจริง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ คงไม่ประทานสัมภาษณ์พิเศษนายวุฒิธร มิลินทจินดา พิธีกรผู้ดำเนินรายการ “วู้ดดี้เกิดมาคุย” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน

“อยากให้ทูลกระหม่อมพ่อได้รับความเป็นยุติธรรมที่ท่านควรจะได้รับ รวมทั้งสมเด็จแม่ด้วย ท่านทรงตรากตรำเหลือเกินจริงๆ อยาก แต่ยังไม่กล้าขอ อยากขอเวลาทีวี วันละ 10 นาที หลังข่าว อยากจะฉายหนังสั้นพระราชกรณียกิจว่า พระองค์นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีทรงทำอะไรบ้าง สงสารท่านเถอะ”

และมีพระดำรัสซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ในการเสด็จทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ซึ่งไปตรวจสุขภาพและรักษาโรคแก่ราษฎรที่โรงเรียนชุมชนบ้านสร้างค้อ หมู่ที่ 12 ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน จ.สกลนคร ว่า “ใครไม่รักพระองค์ก็น่าแปลก เพราะพระองค์ท่านทำงาน 60 ปี ทรงตรากตรำ พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ดูทุกเรื่องทั้งศิลปาชีพ การค้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯต่างจังหวัดไม่หยุด เวลานี้พระกำลังถดถอย ธันวาคมนี้ก็มีพระชนมพรรษา 84 พรรษาแล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น