xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รัฐบาลหลัง 3 ก.ค. “พท.”หรือ“ปชป.”นิติรัฐก็ป่นปี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่คาดหมายได้ล่วงหน้าว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใดได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศวันที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงนี้แล้ว หลักนิติรัฐของประเทศนี้ล้วนมีความเสี่ยงที่จะถูกทำลายลงอย่างป่นปี้อีกครั้ง

เมื่อดูจากการให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยลำดับที่ 1 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งเป็นโคลนนิ่งของตัวเองนำทัพลงสู้ศึกครั้งนี้ เป็นที่แน่นอนว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น สิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินการคือ การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่กระทำผิด ที่ถูกดำเนินคดีนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ภายใต้วาทะกรรมที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ว่า “แก้ไขไม่แก้แค้น”

เมื่อดูถึงเจตนาเบื้องหลังของวาทกรรมดังกล่าวแล้ว เป้าหมายสูงสุดของการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็คือการลบล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริงนั่นเอง นั่นเพราะคดีทุจริตโครงการต่างๆ การตัดสิทธิทางการเมืองอันเนื่องมาจากคดียุบพรรค รวมทั้งคดียึดทรัพย์ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณตกเป็นจำเลยนั้น แม้พฤติกรรมการกระทำผิดจะเกิดขึ้นก่อน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรี แต่คดีความก็ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหลังจากการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ทั้งสิ้น เนื่องจากก่อนหน้านั้น พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหารสามารถควบคุมกลไกทุกส่วนของประเทศไว้ได้หมด

แม้จะมีการออกมาปฏิเสธว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีเป้าหมายในการลบล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่จะมีหลักประกันอะไรหรือไม่ เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลกุมเสียงข้างมากในสภาแล้ว ย่อมสามารถที่จะผ่านกฎหมายออกมาตามที่ต้องการได้ หากมีกระแสสังคมออกมาคัดค้าน ก็สามารถใช้สื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมจัดการกับกระแสต่อต้าน ภายใต้ข้ออ้างเพื่อการปรองดองของคนในชาติ โดยจะเสนอให้มีการนิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่ายที่ถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นฟากฝั่งคนเสื้อแดงหรือคนเสื้อเหลือง

ความเบื่อหน่ายต่อเหตุการณ์วุ่นวายในบ้านเมืองตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ปล่อยให้กลุ่มคนเสื้อแดงภายใต้การชักใยของทักษิณ ชินวัตร ก่อเหตุเผาบ้านเผาเมืองได้ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเกือบ 100 คน ทำให้กระแสการปรองดองถูกชูขึ้นมาเป็นจุดขายในการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นตอความวุ่นวายตลอด 2 ปีที่ผ่านมาด้วย

เมื่อประเมินจากกระแสการปรองดองที่พรรคการเมืองหลายๆ พรรคพยายามสร้างขึ้นมา และผลสำรวจของสำนักสำรวจความคิดเห็นต่างๆ ที่อ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า นี่คือการปูทางไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม หลังจากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

นั่นหมายถึงว่า คดีความต่างๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นจำเลย ทั้งกรณีการทุจริตเชิงนโยบายระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาทิ คดีที่ดินรัชดา คดีหวยบนดิน คดีแปลงสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม คดีปล่อยกู้เงินเอ็กซิมแบงก์ให้พม่า เป็นต้น ก็จะถูกลบล้าง รวมทั้งทรัพย์สินมูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาทที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งยึด ก็อาจจะได้คืนด้วย นี่ยังไม่นับรวมถึงคดีก่อการร้าย คดียุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองในช่วงที่คนเสื้อแดงก่อเหตุจลาจลเผาเมืองในปี 2552 และ 2553 ที่จะถูกยกเลิกไปด้วย

ในขณะเดียวกัน หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่มีหลักประกันอันใดว่า จะไม่มีการทำลายหลักนิติรัฐของบ้านเมือง

เป็นที่คาดหมายกันจากทุกฝ่ายว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางที่จะได้ ส.ส.มากกว่าพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน ดังนั้น หากจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์จะต้องหาทางมัดใจพรรคร่วมรัฐบาลให้กลับมาจับขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์ตามเดิมให้ได้ นั่นหมายถึงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะต้องมีผลประโยชน์ตอบแทนแก่พรรคร่วมฯ ในระดับที่น่าพอใจมากกว่าที่จะได้รับจากพรรคเพื่อไทย

เมื่อดูจากการให้สัมภาษณ์ของนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งถือเป็นพรรคขนาดกลางที่เป็นตัวแปรสำคัญว่าใครจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ทำให้เห็นถึงความต้องการของนายบรรหาร ซึ่งโดยพฤตินัยคือหัวหน้าพรรคตัวจริงของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่จะให้มีการนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคชาติไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551

นายบรรหารได้ตัดพ้อต่อว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่าไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้เมื่อครั้งดึงเอาพรรคชาติไทยพัฒนามาร่วมรัฐบาลเมื่อปลายปี 2551 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็ออกมายอมรับเองว่า สัญญาที่ให้ไว้คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อนิรโทษกรรมให้แก่อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกตัดสิทธิอันเนื่องมาจากคดียุบพรรค

นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า ได้พยายามทำตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกอย่างแล้ว แต่ที่ไม่สามารถแก้ไขมาตรา 237 ได้ ก็เนื่องมาจากพรรคประชาธิปัตย์ก็มีคดียุบพรรคค้างอยู่เช่นกัน หากมีการเสนอแก้ไขมาตรา 237 ก็จะเข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้

เมื่ออ่านนัยจากคำพูดของนายอภิสิทธิ์แล้ว ก็ย่อมตีความหมายได้ว่า หลังจากนี้ ก็จะสามารถเสนอแก้ไขมาตรา 237 ยกเลิกโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีให้แก่อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองต่างๆ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคได้ เนื่องจากคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยกฟ้องไปแล้วเมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งหากมีการเสนอแก้ไขมาตรา 237 อีกครั้ง ก็จะไม่เข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อนอีกต่อไป

แต่ผลพลอยได้จากการเสนอมาตรานี้จะตกแก่พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ซึ่งแกนนำพรรคตัวจริงล้วนแต่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดียุบพรรคทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนายเนวิน ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายพินิจ จารุสมบัติ ฯลฯ

นี่เป็นเพียงผลประโยชน์ก้อนหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องหยิบยื่นให้กับพรรคร่วมฯ เพื่อมัดใจให้อยู่กับขั้วเดิมต่อไป ยังมีผลประโยชน์อื่นๆ ที่พรรคร่วมฯ เคยได้รับจากการร่วมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และจะต้องได้ไม่น้อยกว่าเดิม นั่นคือโอกาสในการทำมาหากินในกระทรวงต่างๆ ตามข้อตกลงแบ่งสรรปันส่วนกันก่อนจัดตั้งรัฐบาล

นั่นหมายถึงว่า ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมนี้แล้ว หลักนิติรัฐของประเทศก็จะถูกกัดกร่อนทำลายเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองอยู่ดี
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น