หัวหน้าชาติไทยพัฒนา ซัด “มาร์ค” อย่าเลี่ยงบาลี ยกคำวินิจฉัยศาล รธน.สวนกลับ “ชูวิทย์” ยันไม่ได้ตัดสิทธิแสดงความคิดเห็น ย้ำเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ม.237 ซัดฆ่าตัดตอนทางการเมือง อ้างไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ยันไม่ใช่เงื่อนไขร่วมรัฐ
วันนี้ (1 มิ.ย.) ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่าผิดสัญญากับพรรคชาติไทยพัฒนาเพียงเรื่องเดียว คือการไม่ได้พาครอบครัวไปบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี ว่าไม่รู้ว่ารับปากกันเรื่องอะไร แต่เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์มาคุยคนเดียวก็เหมือนคุยกันหมด จะมาเลี่ยงบาลีกันไม่ได้ ยืนยันว่าพรรคชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทย เวลาจะทำอะไรเป็นก็มีสัญญาสุภาพบุรุษสัญญาใจเอาไว้กันแล้ว
หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนายังแถลงถึงกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย กล่าวพาดพิงนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาและบุคคลคนอื่นๆ ของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปีเข้ามาก้าวก่ายทางการเมืองว่า สำหรับประเด็นนี้ขอยืนยันว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไม่ได้ตัดสิทธิพื้นฐานของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 2 ธ.ค. 2551 ได้ระบุไว้เพียง 2 ประเด็น คือ 1.ให้ยุบพรรคชาติไทยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 และมาตรา 68 และ 2.ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคชาติไทยและกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
“จากสองประเด็นดังกล่าวมีผลกระทบเฉพาะบุคคล 8 ประการตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ได้แก่ 1.เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ 2.ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง 3.ห้ามสมัคร ส.ส. 4.ห้ามสมัคร ส.ว. 5.ห้ามเป็นรัฐมนตรี 6.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7.คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ 8.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นอกจากนี้ มีผลกระทบเกี่ยวกับโครงสร้างของพรรคที่ห้ามไม่ให้บุคคลใช้ชื่อพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปเพื่อดำเนินการกิจการทางการเมือง ซึ่งต่างจากกรณีที่ถูกตัดสิทธิ์การดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ซึ่งกำหนดชัดเจนว่าห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองในทุกกรณี เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าไม่ได้กำหนดข้อห้ามบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามมาตรา 45 ที่ได้รับรองไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ” นายชุมพลกล่าว
นายชุมพลกล่าวว่า ที่ผ่านมานายบรรหารไม่เคยได้ร่วมกิจกรรมของพรรค และพรรคชาติไทยพัฒนาไม่เคยมอบหมายให้นายบรรหารดำเนินการอะไรทางการเมืองเพียงแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นของนายบรรหาร เท่านั้น และที่สำคัญ กกต.เคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ดังนั้น อยากให้บุคคลที่ออกมาพาดพิงให้กลับไปดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่าจะอธิบายสังคมอย่างไร ในเมื่อวันนี้มีการวิจารณ์ว่านายบรรหารเป็นผู้บริหารตัวจริงในพรรคชาติไทยพัฒนามาโดยตลอด นายชุมพลกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องบอกอะไรต่อสังคมเพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ถ้าแสดงความคิดเห็นไม่ได้คงต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 45
นายชุมพลกล่าวต่อว่า พรรคยืนยันจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราที่ไม่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน เช่นเดียวกับคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดอื่นๆ
นายชุมพลกล่าวว่า ที่ผ่านมาก่อนการร่วมรัฐบาลได้เคยมีการตกลงว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็นจนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการหลายคณะแต่สุดท้ายก็แก้ไขได้เพียง 2 ประเด็น คือ 1.การเลือกตั้ง และ 2.มาตรา 190 เกี่ยวกับหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา โดยยังเหลือประเด็นที่ต้องดำเนินการต่อไปอีก ดังนั้น ที่มีข้อกังวลว่าจะแก้ไขมาตรา 237 เพื่อตัวเราเองไม่ใช่เพราะเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับคณะกรรมการศึกษาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายชุด การแก้ไขมาตรานี้เพื่อแก้ไขระบบและแก้ไขวิกฤติการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และผลที่ได้รับไม่ได้มีแค่พรรคชาติไทยพัฒนาพรรคเดียว
“มาตรา 237 ไม่มีหลักการที่ไหนในโลกทำกัน เพราะคนทำผิดคนเดียวไปลงโทษทั้งพรรคและบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย ถือว่าไม่ถูกต้อง โดยต้องเป็นความผิดเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ดังนั้น พรรคจะเดินหน้าแก้ 237 เพื่อให้ผู้กระทำความผิดเป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียวและไม่มีการยุบพรรคในกรณีนี้เด็ดขาด เพราะเรามองเห็นว่ามาตรา 237 เป็นการฆ่าตัดตอนทางการเมือง โดยควรให้พรรคการเมืองมีความต่อเนื่องเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย” นายชุมพลกล่าว
เมื่อถามว่า แสดงว่าการแก้ไขมาตรา 237 จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเข้าร่วมรัฐบาลในอนาคตหรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า ไม่เกี่ยว เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศ เราจะนำเสนอต่อประชาชนให้เข้าใจโดยจะไม่เสนอต่อพรรคการเมือง
เมื่อถามว่า ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์แสดงท่าทีไม่ต้องการให้มีการนิรโทษกรรมจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า เรื่องนั้นหลังเลือกตั้งเอาไว้มาคุยกัน เพียงแต่พรรคชาติไทยพัฒนาแสดงจุดยืนต่อความต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้เท่านั้น