xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นโยบายเชิงปริมาณระยะสั้น !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 % จาก 2.75 % เพิ่มเป็น 3 % เนื่องจาก กนง.ต้องการดูแลไม่ให้เงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์เร่งปรับตัวขึ้นมากเกินไป เพราะผู้ประกอบการได้ผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภค ด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหาร ที่ปรับสูงขึ้นเร็ว ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

“ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีความเสี่ยงจะสูงเกินเป้าหมายที่วางไว้ 0.5-3 % โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ ฉะนั้น กนง.น่าจะยังส่งสัญญาณการปรับอัตราดอกเบี้ย เพื่อดูแลระดับอัตราเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ มาทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดไว้” นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินอธิบายทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นั่นหมายความว่า หากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านต้นทุน ด้านอุปสงค์รวมของประเทศ หรือด้านต่างประเทศ แบงก์ชาติยังต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยควบคุมดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่วางไว้

แม้ว่าการที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นสัญญานการปรับตัวทางเศรษฐกิจ

แต่หากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวรุนแรงเกินไป ก็จะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เพราะราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วรัฐบาลชุดใหม่จะวางนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างไรที่สอดคล้องกับนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ

พรรคการเมืองทั้งหมดนำเสนอนโยบายเชิงตัวเลขประชานิยม จนดูเหมือนว่าจะเป็นการแข่งขันในปริมาณมากกว่า “คุณภาพ”

พิชัย นริพทะพันธุ์ ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย (พท.) บอกว่า พรรคเพื่อไทยจะสร้างความแข็งแรงของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเฉลี่ยต่อปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยเน้นสร้างการจ้างงาน พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อเสริมสร้างการลงทุน เช่น การพัฒนารถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาระบบชลประทานแบบท่อ สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ควบคู่กับการสร้างเมืองใหม่ ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย จะเพิ่มรายได้ให้ประชาชนทุกระดับ โดยมีโครงการบัตรเครดิตเกษตรกร เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรโดยไม่เสียดอกเบี้ย ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับภาคธุรกิจจาก ร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556 เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถจ่ายเงินเดือนให้คนจบปริญญาตรี เพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อคน และสามารถจ่ายค่าแรงขั้นต่ำได้ 300 บาทต่อวัน

พรรคเพื่อไทยจะตั้งหน่วยงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับเกษตรกร โดยเพิ่มวงเงินกองทุนหมู่บ้านเป็น 2 ล้านบาท จากเดิม 1 ล้านบาท และพักหนี้ภาคประชาชนที่มีหนี้ 500,000 บาทให้เป็นเวลา 3 ปี ส่วนคนที่มีหนี้ 500,000 บาทถึง 1 ล้านบาท จะปรับโครงสร้างหนี้ให้

โดยนโยบายนี้พรรคเพื่อไทยจะเร่งดำเนินการภายในเวลา 90 วัน

ส่วนภาคการศึกษา พรรคจะสนับสนุนเงินให้มหาวิทยาลัยทั้งเอกชนและรัฐบาลแห่งละ 1,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับนักเรียน-นักศึกษา แจกแท็บเล็ตให้นักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 จำนวน 800,000 คน รวมทั้งพัฒนาสินค้าโอท็อปให้เข้มแข้ง สนับสนุนเงินแก่ชุมชนในโครงการ เอสเอ็มแอล 300,000-500,000 บาทตามขนาดชุมชน และพัฒนาการท่องเที่ยวให้ถึง 30 ล้านคน ภายในเวลาอันรวดเร็ว ควบคู่กับการยกระดับโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ให้อาหารไทยกระจายสู่ตลาดโลกอย่างทั่วถึง ตลอดจนการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ

โดยสรุปแล้ว พรรคเพื่อไทยกำลังนำเงินภาษีของคนทั้งประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดมาจัดสรรตามนโยบายประชานิยมขนานใหญ่

คำถามตัวใหญ่คือ พรรคเพื่อไทยจะนำเงินมาจากไหน โดยไม่สร้างภาระให้คนรุ่นต่อไป !?

กรณ์ จาติกวณิชย์ ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์อธิบายว่า รายได้ของประเทศมาจากการเก็บภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พรรคจึงมีนโยบายเพิ่มรายได้ เช่น มีระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น พร้อมกับการส่งเสริมรายได้ของประชาชน ซึ่งจะดูแลค่าครองชีพของประชาชน โดยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

ส่วนภาระหนี้สินจะเดินหน้าดูแลประเภทหนี้ต่าง ๆ ที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายประชาชน เช่น การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรเงินสด และหนี้เกษตรกร

ส่วนนโยบายที่ดินทำกิน โฉนดที่ดิน กองทุนที่ดิน ธนาคารที่ดิน พรรคจะเดินหน้า เช่นเดียวกับโครงการบ้านที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างความมั่นคงให้ประชาชน ขณะที่การลงทุนระดับประเทศ มีหลายโครงการ เช่น แผนการลงทุนระบบในเกษตรกร 1.7 ล้านล้านบาท นโยบายส่งเสริมฮาเบอร์ ซิตี้ หรือ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพ-ลาดกระบัง และเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ใน 4 เส้นทางหลัก เชื่อมจีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย เส้นทาง กรุงเทพ-ระยอง-ตราด และเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ ซึ่งเป็นแผนที่จะเสริมรายได้ให้ประเทศ สำหรับแผนการจัดเก็บรายได้ ก็จะมีการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

เรื่องแรกที่พรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการคือ การเร่งการชดเชยราคาปุ๋ย กิโลกรัมละ 1.50 บาท การประกันภัยนาล่มจากภัยธรรมชาติ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองผ่านระบบประกัน 2,000 บาทต่อไร่ ส่วนค่าแรง จะเดินหน้าทันที โดย ปชป.ปรับค่าแรงมากกว่าทุกรัฐบาล และจะเพิ่มค่าแรงร้อยละ 25 ภายใน 2 ปี

ขณะที่เรื่องหนี้สิน จะเดินหน้าโครงการบ้านหลังแรกเฟส 2 อีก 25,000 ล้านบาท รวมถึงขึ้นทะเบียนการโอนหนี้เสียเป็นหนี้ในระบบ นอกจากนี้ จะหยิบยกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการถือครองที่ดินและภาษีทรัพย์สินมาดำเนินการใน 90 วันแรก หลังได้รับเลือกเป็นรัฐบาล

คำถามตัวใหญ่คือ พรรคประชาธิปัตย์จะเอาเงินมาจากไหน โดยไม่สร้างภาระให้คนรุ่นต่อไป !?

“กรพจน์ อัศวินวิจิตร” ทีมเศรษฐกิจพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน บอกนโยบายเศรษฐกิจของพรรคว่า พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินมีนโยบายตรึงราคาน้ำมันเบนซินไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร และดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อชะลอการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนราคาสินค้า และลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ปรับปรุงระบบบัตรโดยสารราคาเดียวใบเดียวทั้งบีทีเอส และเอ็มอาร์ที

ส่วนการดูแลภาคเศรษฐกิจไทย จะเริ่มต้นดูแลตั้งแต่ประชาชนระดับรากหญ้า คือ เกษตรกร ที่จะมีทางเลือกในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวและประกันราคาข้าว และจะตั้งกองทุนความร่วมมือระหว่างเกษตรกร เอกชน และรัฐบาล เพื่อดูแลผลประโยชน์ทั้งระบบ และเร่งแก้ปัญหาภาระหนี้สินให้กับเกษตรกร เพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับคนชรา ซึ่งจะเร่งดำเนินการภายใน 90 วัน

ด้านภาคแรงงาน จะมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับคนเริ่มทำงานเป็นเวลา 5 ปี และจัดสรรเงินกู้ให้แรงงานในการซื้อ ซ่อม ปลูกบ้านที่อยู่อาศัย และเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ 350 บาทต่อวัน ควบคู่ไปกับการสร้างเถ้าแก่เงินล้าน โดยจะปล่อยสินเชื่อรายละ 1 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านอัตรา พร้อมทั้งวางเป้าการค้าของไทยให้ได้ 10 ล้านล้านบาทภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี และมุ่งเน้นการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับจีน

คำถามตัวใหญ่คือ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน จะเอางินมาจากไหน โดยไม่สร้างภาระให้คนรุ่นต่อไป !?

“สรยุทธ เพ็ชรตระกูล” ทีมเศรษฐกิจพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทย จะต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเรื่องคุณภาพและราคาของภาคธุรกิจ โดยเน้นการส่งเสริมการวิจัยละพัฒนา รวมกลุ่มคลัสเตอร์ของเอสเอ็มอี และพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รวมทั้งตั้งศูนย์กระจายสินค้าตามแนวชายแดน

นโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม พรรคจะดำเนินโครงการประกันราคาข้าว ให้ข้าวเปลือกมีราคา 20,000 บาทต่อตัน จัดการระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพทั้ง 28 ล้านไร่ และสนับสนุนการปลูกพืชพลังงาน เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ในพื้นที่ชลประทาน เร่งรัดโครงการถนนปลอดฝุ่นเข้าไปในพื้นที่เกษตรอุดหนุนการท่องเที่ยวจังหวัดละ 100 ล้านบาท จัดทำกองทุนจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง และลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 เหลือร้อยละ 5

ไม่แตกต่างกันนโยบายเศรษฐกิจของพรรคชาติไทยพัฒนา “เกษมสันต์ วีระกุล” ทีมเศรษฐกิจของพรรค อธิบายว่า พรรคจะเร่งลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 5 ล้านล้านบาท ปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยปรับภาษีทั้งระบบให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยต้องไม่มากหรือน้อยกว่าร้อยละ 10 สำหรับนโยบายที่พรรคฯ จะเร่งดำเนินการในช่วง 90 วันแรก คือ ประกาศแผนปรองดองแห่งชาติ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

คำถามเดียวกันคือ ทั้งสองพรรคจะนำงินมาจากไหน โดยไม่สร้างภาระให้คนรุ่นต่อไป !?

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยการสำรวจครั้งล่าสุด (19-22 พ.ค.)ว่า เกษตรกรส่วนใหญ่พอใจกับนโยบายด้านการเกษตรโดยรวมของรัฐบาลชุดปัจจุบันในระดับ 7 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 และชื่นชอบกับนโยบายด้านเกษตรและรายได้ที่พรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มกำไรอีกร้อยละ 25 จากโครงการประกันรายได้เกษตรกร การให้ราคาข้าวเปลือกตันละ 20,000 บาท และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 25 ในเวลา 2 ปี รวมถึงให้เกษตรกรมีบัตรเครดิตไว้ซื้อปัจจัยการผลิต

ดูเหมือนว่า มาตรการระยะสั้นเชิงปริมาณ จะกลายเป็นสิ่งชื่นชอบของเกษตรกร มากกว่านโยบายระยะยาวที่พูดแล้วเข้าใจยากเสียแล้ว !!

กำลังโหลดความคิดเห็น