“ปัญญาพลวัตร”
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
จากการติดตามนโยบายการเสียงของพรรคการเมืองทั้งพรรคใหญ่ กลาง และเล็กตั้งแต่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พบว่า มีนโยบายสามประเภทหลัก คือนโยบายแจกขนมหวาน นโยบายสร้างปราสาททราย และนโยบายพิฆาตนิติรัฐ นโยบายแจกขนมหวานคือนโยบายประชานิยม ที่มุ่งแข่งขันเสนอผลประโยชน์ระยะสั้นเฉพาะหน้าในเชิงรูปธรรมแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส่วนนโยบายสร้างปราสาททรายคือนโยบายการสร้างสาธารณูปการขนาดใหญ่ (Mega Projects) และนโยบายพิฆาตนิติรัฐคือ การนิรโทษกรรมแก่พวกพ้องตนเองที่ทำผิดกฎหมาย อันเป็นการทำลายนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตย
ตัวอย่างนโยบายแจกขนมของพรรคประชาธิปัตย์คือ การใช้ไฟฟ้าฟรีถาวรแก่ผู้ใช้ไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25 % ใน 2 ปี เพิ่มเงินกำไรร้อยละ 25 จากโครงการประกันรายได้เกษตรกร ส่วนพรรคเพื่อไทยได้แก่ การเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาท เพิ่มเงินเดือนแก่ผู้จบปริญญาตรี เป็น 15,000 บาท ลดภาษีนิติบุคคลจาก 30 % เหลือ 3 % แจกคอมพิวเตอร์แก่เด็ก และแจกบัตรเครดิตแก่เกษตรกร เป็นต้น
นโยบายแจกขนมของพรรคการเมืองเกิดจากความเชื่อแฝงฝังบางประการที่ดำรงอยู่ในเบื้องลึกระดับจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกของผู้นำหรือผู้บริหารของพรรคการเมืองเหล่านั้น พวกเขาความเชื่อว่าประชาชนคิดไม่เป็น ไม่มีทางที่ประชาชนจะเข้าใจว่าผลเสียที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยมเป็นอย่างไร และพวกเขายังเชื่ออีกว่าผู้เลือกตั้งไทยไร้วุฒิภาวะทางอารมณ์จึงชอบของฟรีหรือของที่ได้รับแจกแบบที่เด็กๆชอบของแจกที่ไร้รับจากผู้ใหญ่ โดยไม่ตระหนักรู้ว่าของที่ได้รับแจกนั้นจะทำร้ายตนเองอย่างไร ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเชื่อต่อไปว่าหากพวกเขาเสนอขนมหวานที่หลากหลายและครอบคลุมกลุ่มผู้เลือกตั้งมากเท่าไร โอกาสที่พวกเขาจะได้รับเลือกตั้งก็ยิ่งมีสูงขึ้น
ความเชื่อเช่นนี้ของนักการเมืองจึงเป็นการสะท้อนออกมาจากจิตที่ดูถูกประชาชน จิตที่ดูแคลนชาวบ้าน และจิตที่หยามเหยียดผู้เลือกตั้ง มองผู้เลือกตั้งเป็นมวลชนที่พวกเขาสามารถปั่นหัวและหลอกลวงได้ง่าย
สำหรับนโยบายสร้างปราสาททราย อาทิ รถไฟความเร็วสูง การขยายบรอดแบนด์ 3 จี ทำเขื่อนกั้นน้ำทะเลที่กรุงเทพ รถไฟฟ้า คอนโดมีเนี่ยมราคาถูก ถนนไร้ฝุ่น ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เป็นต้น นโยบายเหล่านี้ก็มีแก่นความคิดไม่แตกต่างจากนโยบายแจกขนมหวานมากนัก เพราะเกิดจากความเชื่อที่ว่าผู้เลือกตั้งไทยชอบความเจริญทางวัตถุ ชอบความยิ่งใหญ่ ยิ่งเสนอสร้างอะไรให้มันใหญ่เข้าไว้ ผู้เลือกตั้งก็จะชอบ
อย่างไรก็ตามนโยบายสร้างปราสาททรายมีความแตกต่างจากนโยบายประชานิยมอยู่เล็กน้อย กล่าวคือนโยบายเหล่านี้จะเป็นแหล่งหากินหรือเป็นช่องทางในการทุจริตคอรัปชั่นของบรรดานักการเมืองได้เป็นอย่างดี ยิ่งโครงการมีมูลค่ามากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งมีโอกาสได้เงินจากการทุจริตมากเท่านั้น
ในอีกด้านหนึ่งการผลิตและชูนโยบายเหล่านี้ในการหาเสียง สะท้อนความขาดความสามารถทางปัญญาในการวิเคราะห์ปัญหา การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา และการเลือกแนวทางในการแก้ปัญหาของชาติอย่างเป็นระบบ เพราะนโยบายแจกขนมและนโยบายสร้างปราสาททรายนั้น เป็นนโยบายที่ไม่ต้องใช้พลังทางปัญญาในการคิดแต่อย่างใด อาจจะมีอยู่บ้างก็คือคิดทำขนมอย่างไรให้ถูกใจชาวบ้านมากที่สุดนั่นเอง หรือสร้างปราสาททรายแบบใดที่ชาวบ้านชอบมากที่สุด ก็เท่านั้นเอง
ปัญหาหลักของชาติ อย่างเช่น การทุจริตคอรัปชั่นซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดความยากจน การแพร่ระบาดของยาเสพติด ความเจ็บป่วยของผู้คน ความด้อยคุณภาพของการศึกษา และความขัดแย้งแตกแยกของสังคม กลับไม่มีพรรคการเมืองใดให้ความสนใจหรือใส่ใจในการเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขแม้แต่น้อย ที่พอจะเห็นอยู่บ้างก็เป็นเพียงการพูดอย่างลอยๆของผู้นำประเทศคนหนึ่งว่า จะต้านการคอร์รัปชั่น หรือ การแก้ไขการคอร์รัปชั่นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน รวมไปถึงต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หากผู้นำประเทศพูดได้เท่านี้ก็อย่าเสียเวลาอาสาประชาชนไปบริหารประเทศเลย เพราะมันตื้นเขินและล่องลอยมาก
หากต้องการจะแก้ปัญหาการทุจริตจริงต้องบอกออกมาเลยเช่น 1. จะแก้กฎหมายเพิ่มโทษการทุจริตให้สาสมแก่การทำร้ายประเทศชาติเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร 2. จะจัดตั้งหน่วยงานอิสระที่ผสานระหว่างองค์การภาคประชาชน ตำรวจน้ำดี อัยการน้ำดี ในการปราบปรามการทุจริต โดยตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าแต่ละปีจะต้องนำผู้ทุจริตไปดำเนินคดีอย่างน้อยกี่ราย 3.จะเพิ่มการสนับสนุนด้านงบประมาณ เทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรของ ปปช. และ ปปท. เท่าไร 4.จะแก้กฎหมายให้การทุจริตไม่มีอายุความมหรือไม่ และ 5.จะแก้กฎหมายให้ประชาชนมีสิทธิในการฟ้องร้องนักการเมืองและข้าราชการทุจริตได้ด้วยตนเองหรือไม่
นี่เป็นเพียงตัวอย่างมาตรการเบื้องต้นห้าประการในการต่อสู้กับการทุจริต ยังมีมาตรการเชิงนโยบายอีกมากทั้งในด้านการเสริมสร้างอำนาจของประชาชนในการเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริต และการปราบปรามการทุจริตที่เกิดขึ้นแล้ว อยากจะถามว่าพรรคการเมืองที่บอกว่าจะต้านการทุจริตเคยคิดและประสงค์จะทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่
นอกจากปัญหาการทุจริตแล้ว ปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการใส่ใจ แต่กลับถูกละเลยจากพรรคการเมืองคือ เรื่องความตกต่ำของคุณภาพการศึกษา ประเทศไทยใช้งบประมาณการศึกษาเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ได้ผลลัพธ์ต่ำกว่าหลายประเทศที่เขาใช้งบประมาณน้อยกว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น บรรดานักการเมืองคิดกันบ้างหรือไม่ งบประมาณการศึกษานับแสนล้านบาทที่จะทุ่มเทลงไปนั้นใช้ไปทำอะไร เท่าที่เห็นคือส่วนใหญ่ใช้ไปสร้างและซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ไร้สาระและไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้แก่นักเรียนนักศึกษา และกลับกลายเป็นช่องทางในการสมคิดกันทุจริตระหว่างผู้บริหารสถานศึกษาและนักการเมืองเสียอีก
แก่นของการศึกษาคือการสร้างปัญญาแก่ผู้เรียน อันหมายถึงการให้ผู้เรียนได้มีความคิดอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ มีความศรัทธาในความรู้และการเรียนรู้ มีทักษะและความสามารถในการปฏิบัติงาน มีจิตใจสาธารณะ และมีสำนึกเชิงคุณธรรมที่ดีงาม สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการศึกษานั้นมีระบบการบริหารการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพและแรงจูงใจของครูอาจารย์ มีระบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและเอื้ออำนวยในการพัฒนาศักยภาพที่แท้จริงแก่ผู้เรียน มีครูอาจารย์ที่มีความสามารถและความทุ่มเทเสียสละในการสอน และมีหลักสูตรที่เหมาะสม
ยังมีปัญหาอื่นอีกมากมายหลายประการที่มีศักยภาพในการพัฒนาจนทำให้สังคมเกิดวิกฤติ อาทิ ปัญหาอธิปไตยของชาติ การแพร่ระบาดของยาเสพติด การทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ พฤติกรรมของเด็กและเยาวชน การมอมเมาของสื่อน้ำเน่า และภัยพิบัติต่างๆ ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้รับความสนใจจากพรรคการเมืองในการวิเคราะห์และเสนอนโยบายแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด
ยิ่งกว่านั้นพรรคการเมืองบางพรรคกลับเสนอนโยบายพิฆาตนิติรัฐที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเพิ่มขึ้นอีก คือ การนิรโทษกรรมแก่พรรคพวกตนเองที่กระทำผิดกฎหมาย สิ่งที่น่าขันคือ พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายนิรโทษกรรมพรรคพวกตนเองนั้น เป็นพรรคที่ประกาศจุดยืนว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คำถามคือการนิรโทษกรรมแก่พรรคพวกตนเองเป็นวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน เป็นเพียงแต่การทำลายล้างหลักนิติรัฐ และมีแต่คณะรัฐประหารเท่านั้นที่นิรโทษกรรมให้ตนเอง
ดังนั้นหากพรรคใดที่คิดนิรโทษกรรมให้พรรคพวกตนเองก็แสดงว่ามีวิธีคิดและวิธีการเช่นเดียวกับคณะรัฐประหารนั่นเอง ดังนั้นอย่ามาพูดให้อายผู้คนดีกว่าว่าพรรคของตนเองจะสร้างประชาธิปไตย มันจะสร้างได้อย่างไร หากยังมีความคิดและการกระทำเหมือนกับคณะรัฐประหาร
กล่าวโดยสรุป พรรคการเมืองแทบทุกพรรคที่กำลังหาเสียงอย่างหนักหน่วงในช่วงการเลือกตั้ง ไม่มีพรรคการเมืองใดที่นำเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญสำคัญของประเทศชาติแม้แต่น้อย มีแต่นโยบายแจกขนมหวาน นโยบายสร้างปราสาททราย และนโยบายพิฆาตนิตรัฐเพื่อช่วยเหลือพรรคพวกตนเองที่กระทำผิดกฎหมาย
เมื่อพรรคการเมืองทุกพรรคไร้ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาและเสนอนโยบายในการแก้ปัญหาของชาติ เมื่อพรรคการเมืองทุกพรรคมุ่งแต่นโยบายที่ทำให้ประชาชนต้องตกเป็นทาสต้องพึ่งพาพวกเขา เป็นหนี้สิน เมื่อพรรคการเมืองทุกพรรคสร้างนโยบายเพื่อหาช่องทางในการทุจริตสร้างความร่ำรวยแก่ตนเองและพวกพ้องแล้ว และเมื่อพรรคการเมืองจะพิฆาตทำลายล้างนิติรัฐ พรรคการเมืองเหล่านี้เหมาะสมจะบริหารประเทศอีกหรือ
เมื่อนักการเมืองทั้งไร้ปัญญา ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ แต่กลับมอมเมา บั่นทอนปัญญาและจิตสำนึกของประชาชนให้ตกต่ำ อีกทั้งสร้างหนี้สินแก่ประเทศชาติและประชาชน และมุ่งสร้างความร่ำรวยแก่ตนเองและพวกพ้องเป็นหลักแล้ว จะให้นักการเมืองเหล่านี้บริหารประเทศได้อีกต่อไปหรือ
ทางออกของประชาชนในการขจัดพรรคการเมืองและนักการเมืองชั่ว รวมทั้งสร้างและเพิ่มพลังอำนาจแก่ภาคประชาชนเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลย์ รวมทั้งเปิดทางไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองคือ ประชาชนจะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และกาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเท่านั้น และเท่านั้นเอง