xs
xsm
sm
md
lg

คกก.สิทธิฯ จี้เปิดข้อมูล “SSB” เซ่น “กรมเจ้าท่า” เมินลดข้อขัดแย้งท่าเรือสตูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านนับร้อยคนเดินทางร่วมรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่ามกลางการดูแลของกำลังตำรวจ
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกวุ่นอีกครั้ง หลังจากที่คณะกรรมการสิทธิฯติดตามการชี้แจงข้อเท็จจริง พบ “กรมเจ้าท่า” เมินศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม-สุขภาพเพิ่มตามข้อเสนอ แต่กลับว่าจ้าง มอ.ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ และตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดโดยชุดที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเป็นประธานยังตั้งคณะอนุฯ อีก 4 ชุดที่ไม่สนองการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ทำให้เสียงที่ประชุมสั่งยุบคณะอนุฯ ทันที พร้อมเสนอให้แต่ละหน่วยงานเปิดข้อมูลของ 5 โครงการพัฒนา จ.สตูลให้รอบด้าน ก่อนที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เดินทางมาติดตามการประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจา กรณีติดตามความคืบหน้า 5 โครงการพัฒนาใน จ.สตูล ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อย่างรุนแรง ประกอบด้วย โครงการท่าเทียบเรือปากบารา, รถไฟรางคู่ งบประมาณทำการศึกษา 91 ล้านบาท, ระบบท่อน้ำมัน, นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด และโครงการขุดเจาะอุโมงค์เชื่อมเส้นทางสตูล-รัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย ซึ่งกรมทางหลวงใช้งบศึกษาจำนวน 35 ล้าน โดยเป็นการประชุมครั้งที่ 2 หลังจากปลายปี 2553 ได้มีการเรียกประชุมมาแล้วครั้งหนึ่ง

ในการประชุมมี พล.ต.ต.นราศักดิ์ เชียงสุข ผบก.ภ.จว.สตูล เข้าร่วมรับฟังด้วย และได้นำกำลังตำรวจจำนวนมาก พร้อมรถบรรทุกผู้ต้องหาจำนวน 2 คัน โดยอ้างว่าเพื่อทำตามหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยและป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยมีชาวบ้านร่วมเวทีนับร้อยคน

กรมเจ้าท่าเมินศึกษาเพิ่ม ดึง มอ.ทำ PR-ตั้ง คกก.วุ่นซ้ำ

จากการประชุมครั้งก่อนได้ชี้ให้เห็นว่ารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม( EIA )ที่อนุมัติในปี 2552 มีปัญหาในด้านความถูกต้องของข้อมูล และไม่ครอบคลุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ด้วยอยู่ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว ทั้งอยู่เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล และมีแนวโน้มขนส่งสินค้าอันตราย จึงเสนอให้เพิ่มการศึกษาประเด็นใหม่ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น

นายสมชาย สุมนัสขจรกุล ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อการมีส่วนร่วมเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อ 1.ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำรวจสมุทรศาสตร์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน 2.นำข้อมูลจากกรมเจ้าท่าสู่ชาวบ้าน ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านให้แก่กรมเจ้าท่า 3.ศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมีการทำแบบสอบถาม 300 ชุด แต่มีปัญหาในการลงพื้นที่ระหว่างนักศึกษาและชาวบ้าน จึงชะลอโครงการ

ขณะเดียวกันได้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ 1.คณะกรรมการดูแลการติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยรองอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นประธาน แต่ยังไม่มีการประชุมใดๆ 2.คณะกรรมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนแต่งตั้งโดยกรมเจ้าท่าจำนวน 12 คน โดยมีนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ต่อมาคณะกรรมการชุดนี้ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการในพื้นที่อีก 4 ชุดแยกตามสาขา โดยอ้างว่าเพื่อให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม

ในโอกาสนี้ ว่าที่ พ.ต.พงษ์จักรกฤษณ์ สิทธิบุศย์ พยายามแสดงความคิดเห็นโดยอ้างว่าเป็นคนสตูลที่สนับสนุนท่าเรือน้ำลึกปากบารา และอยู่เบื้องหลังและผลักดันอีกโครงการต่างๆ ใน จ.สตูลให้มีความเจริญ ทั้งการขุดเจาะอุโมงค์ สร้างศาลหลักเมือง เป็นต้น

ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ควบคุมให้เนื้อหาอยู่ในประเด็นที่กำลังพูดถึง จึงมีการซักถามถึงที่มาของบุคคลนี้ เพราะมีความคลุมเครือและไม่เคยมีใครเคยกล่าวถึง แต่พบว่าเคยลงสมัครที่ปรึกษา ศอ.บต.สาขาสื่อมวลชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมวิชาชีพนักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ไทย และได้คะแนนเพียง 2 เสียง ทำให้นายเหนือชาย รองผู้ว่าฯ ให้การรับรอง ว่าได้แต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการ 4 ชุดข้างต้นที่ตนดูแลอยู่

อย่างไรก็ตาม นายสมบูรณ์ คำแหง คณะประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล เสนอต่อ นพ.นิรันดร์ ว่าการดำเนินการของกรมเจ้าท่าโดยตั้งคณะกรรมการต่างๆ นั้นยังไม่เห็นความจริงใจที่จะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม มีแต่ดึงตัวละครอื่นๆ เข้ามาเพิ่มและสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้ยุบคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดที่แต่งตั้งโดยจังหวัดเสีย เพราะไม่มีผลงานและไม่สามารถนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งท้ายที่สุด นายวินัย คุรุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เห็นด้วยตามนั้น
ชาวบ้านเดินทางมาร่วมประชุมจนแน่นห้อง และอีกหลายชีวิตติดตามผ่านจอภาพและเสียงที่ต่อสัญญาณไปยังหน้าห้อง
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรมเจ้าท่าทำการประชาสัมพันธ์โดยที่โครงการไม่ชัดเจน และยังดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นั่นเป็นต้นเหตุของการเกิดความขัดแย้ง เพราะชาวบ้านตื่นตัวเรื่องสิทธิชุมชน ชาวบ้านยังไม่ตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่ และยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่มีการใช้งบประมาณไปแล้ว 30 ล้านเพื่อประชาสัมพันธ์ และมอ.ต้องระมัดระวังว่ากำลังจะกลายเป็นเครื่องมือทำให้ชาวบ้านยอมรับ และหากรอให้ข้อมูลพร้อมแล้วทำการประชาสัมพันธ์ก็จะไม่มีความขัดแย้งรุนแรง เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่ล้วนใช้เงินภาษีในการศึกษาทั้งสิ้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่

ห่วงแหล่งอนุรักษ์-ฟอสซิล-พันธุ์ปูทหารพระราชาพัง

ด้านนายเทอดไท ขวัญทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ในฐานะผู้แทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมจะอนุญาตให้เพิกถอนแนวเขตอุทยานฯ จำนวน 4,700 ไร่ หรือไม่นั้น กรมเจ้าท่าต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มในหลายประเด็น โดยเฉพาะที่จะเกิดขึ้นกับทางทะเลที่มีปะการังและหญ้าทะเล ระบบนิเวศน์รอยต่อน้ำจืด-น้ำเค็ม เส้นทางเดินเรือผ่านเขตอนุรักษ์ของอุทยานฯ ตะรุเตา รวมทั้งด้านสังคม สุขภาพ เพื่อหาข้อยุติของความขัดแย้งในพื้นที่ก่อน

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอความสมบูรณ์ของธรรมชาติอื่นๆ เช่น การพบซากดึกดำบรรพ์ครบทั้ง 6 ยุค เป็นที่เดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ระหว่างการตั้งโครงการอุทยานธรณีตะรุเตา-ละงู-ทุ่งหว้า ผลกระทบจากการใช้หิน 112 ล้านตัน ซึ่งบางแห่งเป็นแหล่งพบซากดึกดำบรรพ์อีกด้วย และที่อ่าวปากบาราชาวบ้านยังพบปูทหารสายพันธุ์ใหม่ของโลกอาศัยอยู่อย่างสมบูรณ์ ซึ่งได้เตรียมขอพระราชทานชื่อว่า "ปูทหารแห่งพระราชา"ทำให้ชาวบ้านอยากอนุรักษ์และตั้งกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ไม่ให้เหลือเพียงชื่อ

จี้แบ 5 โครงการพัฒนาสตูลป้อนข้อมูลองค์รวมสู่ชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม พบว่าการประชุมในครั้งนี้ แต่ละหน่วยงานที่ดำเนินโครงการต่างๆ ล้วนส่งตัวแทนซึ่งไม่มีอำนาจตัดสินใจและไม่สามารถตอบคำถามในที่ประชุมได้ทั้งหมด และบางหน่วยงานกลับไม่เข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็นจาก ปตท.ซึ่งศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2553 รวมนายก อบต.ในฐานะเจ้าของพื้นที่

นายบรรจง นะแส คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำชายฝั่งและแร่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงเสนอให้มีแต่ละหน่วยงานทำเอกสารและเตรียมข้อมูล เพื่อให้ชาวบ้านได้รับทราบในภาพรวม และมีการชี้แจงในมหภาคเป็นโครงการชิ้นเดียวที่ครอบคลุม จ.สงขลา-สตูล ว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดกับชาวบ้านมีกี่โครงการ เป็นอย่างไรบ้าง เพราะแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเจ้าของบ้าน ก็ไม่ทราบรายละเอียดเสียด้วยซ้ำ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านจึงต้องเสียเวลาทำมาหากิน ในขณะที่คนทำโครงการเหล่านี้รับเงินเดือน ซึ่งข้อเสนอนี้สร้างความพึงพอใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น