xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายค้านท่าเรือสตูลซัดนักวิชาการ มอ.กลางอากาศ จี้ยุติรับเศษเงินกรมเจ้าท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ร่วมเสวนาผ่านวิทยุ มอ.88 กับทีมนักวิชาการ มอ. เพื่อร่วมหาข้อยุติกรณีที่รับหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้โครงการท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารา ชี้อย่าตกเป็นเครื่องมือนำข้อมูลเท็จมาเผยแพร่ต่อ และแสดงสปิริตรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยการถอนตัวออกจากงานนี้ ด้านกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลย์ โดดร่วมเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลอกลวงจากนักวิชาการ และรัฐบาล ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากมลพิษมาแล้ว และกำลังจะกลายเป็นเหยื่อซ้ำจากโครงการต่อเนื่องจาก จ.สตูล

จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โครงการท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ได้ยื่นหนังสือคัดค้านไม่ให้ คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จำนวนหนึ่งเข้ามาทำงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อนดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรม อ.ปากบารา จ.สตูลโดยรับเงินว่าจ้างจากกรมเจ้าท่ามาดำเนินการ เป็นเงินประมาณ 15 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ห้องประชุมสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านฯ จาก จ.สตูล ได้เดินทางมาพูดคุยร่วมกับ ผศ.ดร.ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดี ฝ่ายศิษย์เก่าและชุมชนสัมพันธ์ และทีมนักวิชาการ โดยมีตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเดินทางมาร่วมรับฟังจนแน่นขนัดห้องประชุม ทั้งกลุ่มชาวบ้านและเยาวชน โดยมีนายบัญชร วิเชียรศรี ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟ สถานีวิทยุ มอ.88 เมกะเฮิรตซ์

ผศ.ดร.ธนิยา เกาศล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวว่า เหตุที่ทีมนักวิชาการ มอ.หาดใหญ่ รับทำการประชาสัมพันธ์โครงการนี้ เนื่องจากกรมเจ้าท่าเห็นว่ามีความเป็นกลางในสังคม และไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงมีโอกาสที่จะสะท้อนประเด็นปัญหาของชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากที่ผ่านมาการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น จากบริษัทเอกชนนั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใสตลอดจนความไม่ถูกต้องเป็นอย่างมาก การทำหน้าที่ของ มอ.ครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนคนกลางที่เข้าไปรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนปัญหาระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย คือกรมเจ้าท่าและชาวบ้าน ทั้งนี้ มอ.ได้เริ่มรับงานตั้งแต่เดือน ก.ย.ของปี 2553 ได้เริ่มทำการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสปอตวิทยุซึ่งในระยะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน และเตรียมลงพื้นที่ดูปัญหาว่าเหตุใดชาวบ้านจึงไม่ยอมรับ

ด้านนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี แกนนำเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้มองการพัฒนาเป็นเสี้ยวอย่างที่ภาครัฐพยายามแยกส่วนเป็นโครงการแยกย่อย ทั้งท่าเรือน้ำลึก โครงการรถไฟรางคู่ แต่ชาวบ้านกำลังมองการพัฒนาในภาพรวมว่าเมื่อพัฒนาแล้วสภาพบ้านเกิดจะอยู่กันอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อ มอ.มาดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์กลับนำข้อมูลที่กรมเจ้าท่าบิดเบือนมาเผยแพร่เป็นครั้งที่ 2 โดยมีสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยติดไปด้วย เพราะเมื่อมีการก่อสร้างท่าเรือก็จะมีอุตสาหกรรมตามมาต่อจากนี้ ดังที่ อ.มะนัง และละงู ได้เปลี่ยนผังเมืองเพื่อรองรับรองรับนิคมอุตสาหกรรมร่วมแสนไร่ไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีท่าเทียบเรือแล้วข้อขัดแย้งจะยุติลงเพียงเท่านั้น

โครงการพัฒนาด้านปิโตรเคมี คลังน้ำมัน ที่กำลังจะตามมานั้น สวนทางกับข้อมูลของกรมเจ้าท่าที่บอกว่าจะขนส่งสินค้ายางพาราและเฟอร์นิเจอร์ แต่เมื่อมีการร้องเรียนความเดือดร้อนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จึงได้ทราบว่าในระดับกระทรวงนั้นได้เตรียมให้เป็นเส้นทางขนส่งปิโตรเคมีต่างหาก ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้นทำให้ชาวสตูลต้องล้มทั้งยืนกับความเลวร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้น และข้อมูลแต่ละอย่างนั้นกว่าชาวบ้านจะทราบต้องดิ้นรนเลือดตาแทบกระเด็น แต่ไม่ว่าจะยากเพียงใดก็ต้องพยายามเพื่อจะปกป้องบ้านเกิด และจะตายในบ้านเกิดท่ามกลางคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี

นายวิโชคศักดิ์ ยังสอบถามถึงพฤติกรรมที่ไม่เป็นกลางของนักวิชาการ มอ.ที่เข้าแจกปฎิทินสวัสดีปีใหม่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฯ ที่จัดทำขึ้นโดยนายนาวี พรมทรัพย์ โดยวางไว้ที่ศูนย์ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของ มอ. ซึ่ง ผศ.ดร.ธนิยา ชี้แจงว่าเกิดขึ้นจากบุคคลคนๆ เดียวที่เคยทำงานให้นายนาวี และมาเป็นหนึ่งในทีมงานของ มอ. จึงรับมาแจกเป็นการส่วนตัวไม่เกี่ยวกับ มอ.และไม่ใช่หน้าที่หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ นายนาวีเคยกล่าวอ้างว่าเป็นทีมงานของ มอ.ต่อชาวบ้าน จึงได้มีการแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบเรื่องนี้แล้ว

ส่วนนายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวเสริมว่า นายนาวีเคยทำธุรกิจการขนส่งสินค้าจึงมีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องรถไฟรางคู่ โดยที่ไม่ได้สนใจความเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบต่อชาวบ้านตัวเล็กๆ ซึ่งต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต ร่วมกับข้าราชการและคหบดีที่ประกาศว่าคนสตูลต้องการการพัฒนาด้วยชุดโครงการดังกล่าว ซึ่งเมื่อชาวบ้านพยายามหาข้อมูลเรื่องนี้จึงเห็นชัดว่าจะมีการพลิกโฉมเมืองสตูลเป็นเมืองอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกฯ นั่นเอง

ชาวบ้านจึงร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ตรวจสอบ และใช้อำนาจนำข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านได้รับทราบโฉมหน้าของโครงการที่แท้จริงในที่สุด และกลายเป็นฉันทามติในที่ประชุมว่า ให้กรมเจ้าท่าทบทวน EIA ที่สร้างข้อมูลเท็จเพื่อผลักดันท่าเรือน้ำลึกให้เกิดขึ้น ต่อมา มอ.ได้เข้ามารับหน้าที่ตามข้อเสนอของกรมเจ้าท่าโดยไม่ได้ศึกษาเบื้องหลังว่ามีความเป็นมาเช่นไร และ มอ.ก็กลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งไปแล้ว ในขณะที่หน่วยงานราชการยังปฎิเสธว่าไม่มีเพื่อปัดภาระ ทั้งที่คณะกรรมการสิทธิฯ นำข้อมูลมาเปิดเผยไปแล้ว

นายสมบูรณ์ กล่าวต่ออีกว่า ที่ชาวบ้านพยายามเรียกร้องจุดยืนของ มอ.นั้น มาจากนิคมอุตสาหกรรมในมาบตาพุดที่ได้รับความเดือดร้อน และทุกรัฐบาลก็เล็งพื้นที่ชายฝั่งทะเลในภาคใต้ แต่เมื่อ มอ.ออกมารับเงินเพื่อทำเรื่องนี้ ทำให้ชาวบ้านผิดหวังสวนทางกับความภาคภูมิใจที่ลูกหลานสามารถสอบเข้าเรียนได้ แต่บ้านเกิดของตัวเองกำลังจะถูกทำลายโดยที่นักวิชาการไม่ได้ทำหน้าที่ตอบคำถามสังคม หรือเสนอทางออกให้กับรัฐบาลเลย

ด้านนางสุไรดะห์ โต๊ะหลี แกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่องส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย กล่าวว่า ครั้งนี้นักวิชาการ มอ. คือ ผศ.ฉัตรชัย วิริยะไกรกูล รองอธิการบดี ก็เคยรับหน้าที่ทำ EIA และประชาสัมพันธ์ให้กับโครงการโรงแยกก๊าซจะนะ ด้วยกลวิธีที่เหมือนกับตอนนี้ ชี้แจงแต่ข้อดี สร้างฝันว่าจะชาวบ้านจะมีงาน มีเงิน แต่ท้ายที่สุดมีนายทุนข้ามชาติมาฮั้วกับนักการเมือง ชาวบ้านได้แค่เพียงผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต และหาก จ.สตูล มีท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมที่สตูลเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเกิดที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นโครงข่ายเดียวกัน

นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านอีกหลายรายที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อบ้านเกิด และไม่ต้องการให้ จ.สตูล มีการพัฒนาที่ทำลายธรรมชาติ โดยให้ยึดและรักษาความเป็นสตูลที่ว่า สะอาด สงบ และบริสุทธิ์ และชูการพัฒนาที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามศักยภาพ

ทั้งนี้ ข้อสรุปของการเสวนาในครั้งนี้ เครือข่ายประชาชนฯ ได้มีการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทบทวนบทบาทของตัวเอง เพราะทีมนักวิชาการที่รับหน้าที่นี้ไม่สามารถแบกรับภาระนี้ได้ และเป็นการเสี่ยงที่จะเอาภาพลักษณ์ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเข้าแลก โดยไม่ต้องยื้อเวลาให้คำตอบกับชาวบ้านไปเรื่อยๆ และอยากเห็นสปิริตของนักวิชาการที่อยู่เหนือผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งหากการตัดสินของมหาวิทยาลัยไม่สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของชาวบ้านนั้น ก็จะมีมาตรการเคลื่อนไหวที่เข้มข้นขึ้นกว่านี้
ผศ.ดร.ธนิยา เกาศล


นายสมบูรณ์ คำแหง
นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี

กำลังโหลดความคิดเห็น