ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ยันความพร้อมการจัด “มหกรรมรวมพลคนท่าศาลาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ระหว่าง 22-24 ก.พ.นี้ ระบุจะเป็นการเขียนประวัติศาสตร์การแสดงพลังของคนคอนนับหมื่นครั้งใหม่ ซึ่งจะแสดงออกในรูปของขบวนแห่รณรงค์ การประสานมือตามถนนสายหลักรอบเมือง และพิธีลงนามในสัญญาประชาคมระหว่างผู้นำท้องถิ่นกับประชาชน เผย “เครือข่าย มวล.เพื่อปวงชน” ที่เกิดจากการรวมตัวของคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาจากรั้ว ม.วลัยลักษณ์ ประกาศเข้าร่วมการเคลื่อนไหวด้วยแล้ว
นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา เปิดเผยถึงงานมหกรรมรวมพลคนท่าศาลาไม่เอาถ่านหิน ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ก.พ.นี้ โดยใช้พื้นที่ทั่วบริเวณเขต อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นสถานที่จัดงานว่า จากที่ได้รับการประสานงานกลับมาจากหลายเครือข่ายและองค์กรต่างๆ ทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ในเวลานี้ ทำให้ตนมั่นใจว่าจะมีผู้เข้าร่วมมหกรรมรวมพลคนท่าศาลาครั้งนี้อย่างคึกคัก หรือคิดเป็นจำนวนหลายหมื่นคนอย่างแน่นอน
สำหรับกิจกรรมหลักๆ ที่จะมีขึ้นในงานมหกรรมรวมพลคนท่าศาลาครั้งนี้ ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ วันแรกคือวันอังคารที่ 22 ก.พ.ตั้งแต่เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป เป็นการรณรงค์ที่จะมีขบวนทั้งรถจักรยานยนต์ รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง รถยนต์สาธารณะ รถยนต์ส่วนบุคคลและรถคลาสสิก ทั้งหมดจะติดธงและอุปกรณ์รณรงค์ รวมถึงขนคนท่าศาลาแห่ไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วบริเวณ อ.ท่าศาลา เวลานี้ประเมินได้แล้วว่าจะมีรถราทุกประเภทเข้าร่วมนับพันคัน และจะมีคนท่าศาลาเข้าร่วมหลายพันคน หรืออาจจะถึงกว่าหมื่นคน ซึ่งขบวนที่เคลื่อนไปน่าจะยาวไม่ต่ำกว่า 3-4 กิโลเมตร
อีกกิจกรรมหลักจะจัดขึ้นในวันสุดท้าย หรือวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.พ.ตั้งแต่เวลา 14.00 น.เป็นต้นไปเช่นกัน เริ่มด้วยกิจกรรมประสานมือต่อกันไปบนถนนสายหลักรอบๆ เขตเมืองท่าศาลา ผ่านหน้าบ้านใครถ้าเห็นด้วยก็ออกมาจับมือต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และลูกเด็กเล็กแดงก็สามารถเข้าร่วมได้ ส่วนคนที่มาจากต่างพื้นที่ก็เลือกจะจับมือกับชาวท่าศาลาช่วงไหนก็ได้ ตอนนี้สามารถประเมินได้แล้วว่าจะมีคนมาจับมือต่อๆ กันไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคนแน่นอน
ต่อจากนั้น ในวันที่ 24 ก.พ.จะมีการเปิดโต๊ะลงนามในสัญญาประชาคม ระหว่างผู้นำท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นระดับ อบจ.เทศบาล อบต.กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน กับตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ อ.ท่าศาลา แล้วจบลงด้วยเวทีคอนเสิร์ตของบรรดาศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งที่ได้รับเชิญมาจากภายนอกและในพื้นที่ อาทิ วงซูซู, ตุด นาคร และ ภิญโญ ด้ามขวาน เป็นต้น ซึ่งสถานที่จัดงานหลักทั้งที่เป็นเวทีและจุดศูนย์รวมของการรณรงค์ต่างๆ ก็คือ บริเวณด้านหน้าที่ว่าการอำเภอท่าศาลานั่นเอง สำหรับวันพุธที่ 23 ก.พ.กิจกรรมทั้งวันจะเน้นมนเรื่องของการจัดนิทัศการเกี่ยวกับปัญหาและมลภาวะของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในและต่างประเทศ
นายทรงวุฒิ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ทางเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลาได้ประกาศให้พี่น้องประชาชนรับรู้ไปแล้วว่า ขอให้ทุกคนนำสำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการมาด้วย หากไม่สะดวกจะเอาตัวจริงมาก็ได้ เพื่อที่ทุกคนจะได้ร่วมแสดงประชามติให้ใครๆ ได้เห็นอย่างเป็นทางการว่า คนท่าศาลาไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ซึ่งก็จะเป็นข้อมูลที่ไปยันกับข้อมูลของทางการ โดยเฉพาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่กำลังทุ่มเงินนับ 10 ล้านบาทดำเนินการอยู่ในเวลานี้
“ตอนนี้เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลาได้รับการประสานมาจากองค์กรและเครือข่ายต่างๆ กลับมาจำนวนมากแล้วว่า จะมีตัวแทนเข้าร่วมงานมหกรรมรวมพลคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจาก อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจะจัดทัพมาร่วมแบบเป็นทัพใหญ่ ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำท้องถิ่นตอนนี้ยืนยันมาแล้วกว่า 20 แห่ง ซึ่งจะมีนายกเทศมนตรี นายก อบต. ส.อบจ.รวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมลงนามในสัญญาประชาคมกว่า 20 คน ที่น่าจับตาเป็นพิเศษก็คือ เครือข่ายมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ใน อ.ท่าศาลา ก็ได้ประกาศเข้าร่วมอย่างเป็นทางการแล้วด้วย”
ด้าน ว่าที่ ร.ต.กำพล จิตตะนัง ผู้ประสานงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เพื่อปวงชน กล่าวเพิ่มเติมว่า เครือข่ายเกิดจากการรวมตัวของคนในรั้วมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ชมรมลูกจ้างและพนักงาน มวล.ที่ประกอบขึ้นจาก 2 ส่วน คือ พนักงานฝ่ายวิชาการหรือคณาจารย์ และพนักงานฝ่ายปฏิบัติการหรือบุคลากร และยังรวมไปถึงนักศึกษาของสถาบันด้วย โดยเครือข่าย มวล.เพื่อปวงชนจะเข้าร่วมในทุกกิจกรรม แม้จะเป็นไปแบบชนิดที่ไม่มีการประกาศปิดสถาบัน แต่ก็เหมือนจะหยุดการเรียนการสอนไปโดยปริยาย เพื่อให้คนของ มวล.ได้มีโอกาสเข้าร่วมในมหกรรมรวมพลคนท่าศาลาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินในครั้งนี้
“มวล.ไม่ได้มีการประกาศให้วันที่ 22-24 ก.พ.เป็นวันหยุดเรียน แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าจะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าร่วมกับกิจกรรมชุมชนในครั้งนี้ โดยเฉพาะคณะที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพด้วยแล้ว ถือว่าเกิดความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกับพี่น้องประชาชนชาวท่าศาลาอย่างมาก ผมประเมินว่าคนของ มวล.จะนำรถทุกชนิดเข้าร่วมรณรงค์ไม่ต่ำกว่า 500 คัน ถ้าคิดเป็นจำนวนคนก็คงนับพันคน จนทำให้ได้เชื่อว่าน่าจะเป็นขบวนรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวท่าศาลา หรือจะบอกว่าเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่จะต้องบันทึกไว้ของคนนครศรีธรรมราชด้วย” ร.ต.กำพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (21 ก.พ.) ที่ห้องประชุม 201 อาคารสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) ได้มีเวทีดีเบตระหว่างฝ่ายนักวิชาการ มอ.หาดใหญ่ กับฝ่ายชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 แห่งอันเป็นส่วนประกอบสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ในโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด คือ ท่าเรือน้ำลึกปากบาราใน อ.ละงู จ.สตูล กับท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ใน อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน
สำหรับเวทีดีเบตดังกล่าวเป็นผลมาจากก่อนหน้านี้เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กับกลุ่มคัดค้านท่าเรือและอุตสาหกรรมจะนะได้เดินทางมาเรียกร้องต่อ รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มอ.ให้สถาบันยุติการรับดำเนินการศึกษาโครงการก่อสร้างท่าเรือทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ซึ่งอธิการบดี มอ.ได้มอบหมายให้จัดเวทีดีเบตครั้งนี้ขึ้น พร้อมมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิยุ มอ.88 ของสถาบันด้วย