xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายค้านท่าเรือสตูลซัดนักวิชาการมอ.จี้ยุติรับเศษเงินกรมเจ้าท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ธนิยา เกาศล
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ร่วมเสวนาผ่านวิทยุ มอ.88 กับทีมนักวิชาการ มอ. เพื่อร่วมหาข้อยุติ กรณีที่รับหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้โครงการท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารา ชี้อย่าตกเป็นเครื่องมือนำข้อมูลเท็จมาเผยแพร่ต่อ และแสดงสปิริตรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยการถอนตัวออกจากงานนี้

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โครงการท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ได้ยื่นหนังสือคัดค้านไม่ให้ คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จำนวนหนึ่งเข้ามาทำงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อนดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรม อ.ปากบารา จ.สตูลโดยรับเงินว่าจ้างจากกรมเจ้าท่ามาดำเนินการ เป็นเงินประมาณ 15 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านฯ จาก จ.สตูลจำนวนมาก ได้เดินทางมาพูดคุยร่วมกับ ผศ.ดร.ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดี ฝ่ายศิษย์เก่าและชุมชนสัมพันธ์ และทีมนักวิชาการ โดยมีนายบัญชร วิเชียรศรี ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟ สถานีวิทยุ มอ.88 เมกะเฮิรตซ์ เข้าร่วมด้วย

ผศ.ดร.ธนิยา เกาศล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวว่า เหตุที่ทีมนักวิชาการ มอ.หาดใหญ่ รับทำประชาสัมพันธ์โครงการนี้ เนื่องจากกรมเจ้าท่าเห็นว่ามีความเป็นกลางในสังคม และไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงมีโอกาสที่จะสะท้อนประเด็นปัญหาของชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากที่ผ่านมาการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จากบริษัทเอกชนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใสตลอดจนความไม่ถูกต้องเป็นอย่างมาก

การทำหน้าที่ของ มอ.ครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนคนกลางที่เข้าไปรับฟังข้อมูลและแลกปัญหาเปลี่ยนระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย คือกรมเจ้าท่าและชาวบ้าน โดย มอ.ได้เริ่มรับงานตั้งแต่เดือน ก.ย.ของปี 2553 ได้เริ่มประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสปอตวิทยุ ซึ่งในระยะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน และเตรียมลงพื้นที่ดูปัญหาว่าเหตุใดชาวบ้านจึงไม่ยอมรับ

ด้านนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี แกนนำเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้มองการพัฒนาเป็นเสี้ยวอย่างที่ภาครัฐพยายามแยกส่วนเป็นโครงการแยกย่อย ทั้งท่าเรือน้ำลึก โครงการรถไฟรางคู่ แต่ชาวบ้านกำลังมองการพัฒนาในภาพรวมว่า เมื่อพัฒนาแล้วสภาพบ้านเกิดจะอยู่กันอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อ มอ.มาดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์กลับนำข้อมูลที่กรมเจ้าท่าบิดเบือนมาเผยแพร่เป็นครั้งที่ 2 โดยมีสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยติดไปด้วย เพราะเมื่อมีการก่อสร้างท่าเรือก็จะมีอุตสาหกรรมตามมาต่อจากนี้ ดังที่ อ.มะนัง และละงู ได้เปลี่ยนผังเมืองเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมร่วมแสนไร่ไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีท่าเทียบเรือแล้วข้อขัดแย้งจะยุติลงเพียงเท่านั้น

โครงการพัฒนาด้านปิโตรเคมี คลังน้ำมัน ที่กำลังจะตามมานั้น สวนทางกับข้อมูลของกรมเจ้าท่าที่บอกว่าจะขนส่งสินค้ายางพาราและเฟอร์นิเจอร์ แต่เมื่อมีการร้องเรียนความเดือดร้อนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จึงได้ทราบว่าในระดับกระทรวงนั้นได้เตรียมให้เป็นเส้นทางขนส่งปิโตรเคมีต่างหาก

นายวิโชคศักดิ์ ยังสอบถามถึงพฤติกรรมที่ไม่เป็นกลางของนักวิชาการ มอ.ที่เข้าแจกปฏิทินสวัสดีปีใหม่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฯ ที่จัดทำขึ้นโดยนายนาวี พรมทรัพย์ โดยวางไว้ที่ศูนย์ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของ มอ. ซึ่ง ผศ.ดร.ธนิยา ชี้แจงว่าเกิดขึ้นจากบุคคลคนๆ เดียวที่เคยทำงานให้นายนาวี และมาเป็นหนึ่งในทีมงานของ มอ. จึงรับมาแจกเป็นการส่วนตัวไม่เกี่ยวกับ มอ. และไม่ใช่หน้าที่หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ นายนาวีเคยกล่าวอ้างว่าเป็นทีมงานของ มอ.ต่อชาวบ้าน จึงได้มีการแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบเรื่องนี้แล้ว
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
ด้านนายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวเสริมว่า นายนาวีเคยทำธุรกิจการขนส่งสินค้าจึงมีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องรถไฟรางคู่ โดยที่ไม่ได้สนใจความเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบต่อชาวบ้านตัวเล็กๆ ซึ่งต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต ร่วมกับข้าราชการและคหบดีที่ประกาศว่าคนสตูลต้องการการพัฒนาด้วยชุดโครงการดังกล่าว ซึ่งเมื่อชาวบ้านพยายามหาข้อมูลเรื่องนี้จึงเห็นชัดว่าจะมีการพลิกโฉมเมืองสตูลเป็นเมืองอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกฯ นั่นเอง

ชาวบ้านจึงร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ตรวจสอบ และใช้อำนาจนำข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านได้รับทราบโฉมหน้าของโครงการที่แท้จริงในที่สุด และกลายเป็นฉันทมติในที่ประชุมว่า ให้กรมเจ้าท่าทบทวน EIA ที่สร้างข้อมูลเท็จเพื่อผลักดันท่าเรือน้ำลึกให้เกิดขึ้น ต่อมา มอ.ได้เข้ามารับหน้าที่ตามข้อเสนอของกรมเจ้าท่าโดยไม่ได้ศึกษาเบื้องหลังว่ามีความเป็นมาเช่นไร และ มอ.ก็กลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งไปแล้ว ในขณะที่หน่วยงานราชการยังปฏิเสธว่าไม่มีเพื่อปัดภาระ ทั้งที่คณะกรรมการสิทธิฯ นำข้อมูลมาเปิดเผยไปแล้ว

นายสมบูรณ์ กล่าวต่ออีกว่า ที่ชาวบ้านพยายามเรียกร้องจุดยืนของ มอ.นั้น มาจากนิคมอุตสาหกรรมในมาบตาพุดที่ได้รับความเดือดร้อน และทุกรัฐบาลก็เล็งพื้นที่ชายฝั่งทะเลในภาคใต้ แต่เมื่อ มอ.ออกมารับเงินเพื่อทำเรื่องนี้ ทำให้ชาวบ้านผิดหวังสวนทางกับความภาคภูมิใจที่ลูกหลานสามารถสอบเข้าเรียนได้ แต่บ้านเกิดของตัวเองกำลังจะถูกทำลายโดยที่นักวิชาการไม่ได้ทำหน้าที่ตอบคำถามสังคม หรือเสนอทางออกให้กับรัฐบาลเลย

นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านอีกหลายรายที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อบ้านเกิด และไม่ต้องการให้ จ.สตูล มีการพัฒนาที่ทำลายธรรมชาติ โดยให้ยึดและรักษาความเป็นสตูลที่ว่า สะอาด สงบ และบริสุทธิ์ และชูการพัฒนาที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามศักยภาพ

ทั้งนี้ ข้อสรุปของการเสวนาในครั้งนี้ เครือข่ายประชาชนฯ ได้มีการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทบทวนบทบาทของตัวเอง เพราะทีมนักวิชาการที่รับหน้าที่นี้ไม่สามารถแบกรับภาระนี้ได้ และเป็นการเสี่ยงที่จะเอาภาพลักษณ์ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเข้าแลก โดยไม่ต้องยื้อเวลาให้คำตอบกับชาวบ้านไปเรื่อยๆ และอยากเห็นสปิริตของนักวิชาการที่อยู่เหนือผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งหากการตัดสินของมหาวิทยาลัยไม่สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของชาวบ้านนั้น ก็จะมีมาตรการเคลื่อนไหวที่เข้มข้นขึ้นกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น