xs
xsm
sm
md
lg

ชี้รัฐหนุน “ท่าเรือทวาย” ของพม่าไร้ประโยชน์สร้าง “ท่าเรือปากบารา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ฯจัดกิจกรรมแสดงพลังคัดค้านการสร้างท่าเรือปากบารา แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายออกมายืนยันว่า ไม่มีโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามมาหลังการเกิดขึ้นของท่าเรือแห่งนี้
รายงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

พลันรัฐบาลสหภาพพม่าทุบโต๊ะเทงบประมาณ 5.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย เพื่อเป็นฮับแห่งภูมิภาคอาเซียน โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน ) เป็นผู้รับสัมปทานบนที่ดินประมาณ 200,000 ไร่ เป็นเวลา 75 ปี ซึ่งแค่เพียงพื้นที่ก็มีขนาดใหญ่กว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารา จ.สตูลถึง 10 เท่านั้น แน่นอนว่ารัฐบาลไทยต้องเข้าไปสนับสนุนโดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางนโยบายให้แก่นักลงทุน เพื่อเชื่อมเส้นทางลอจิสติกส์จากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือทวาย ยิ่งทำให้ความเปล่าประโยชน์ของท่าเรือแห่งใหม่ของอันดามัน ที่เคยฝันจะปั้นเป็นเส้นทางลอจิสติกส์ใหม่ของภูมิภาคนี้ปรากฏเด่นชัด

แต่ด้วยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มิได้ฟันธงถึงอนาคตของท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้มีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ความคลุมเครือนั้นถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม ที่ขายฝันให้ชาวสตูลส่วนหนึ่งยังหลงเคลิ้มกับความเจริญที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็พรางตากลุ่มที่คัดค้านว่าจะไม่มีโครงการท่าเรือปากบารา และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะมีผลต่อการหาเสียง ทว่า ตราบใดที่คำชี้เป็นชี้ตายนั้นยังไม่ได้ปรากฏเป็นมติ ครม.ก็หาได้เชื่อถือไม่

แม้ขึ้นชื่อว่าเมื่อลงทุนกับรัฐบาลพม่าแล้ว จะมีความเสี่ยงทั้งการลงทุนและความปลอดภัย แต่รัฐบาลกำลังทำให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ท้ายที่สุดแล้วโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายแห่งนี้แม้จะมีความเสี่ยงสูง แต่ก็มีผลตอบแทนสูงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนไทยด้วยกันจากผู้รับสัมปทาน

ตรงกันข้ามกับความไม่คุ้มของท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่มีมาตั้งแต่ต้น ซึ่งมีการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ ซึ่งเรือไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา ประเทศสิงคโปร์ โดยสามารถขนถ่ายสินค้าได้ที่ท่าเรือปากบาราและท่าเรือสงขลา 2 ที่ อ.จะนะ เข้าสู่กระบวนการผลิต แปรรูปในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อมการขนส่งด้วยระบบแลนด์บริดจ์ ทั้งระบบรางรถไฟ ท่อน้ำมัน

ทว่าเพียงแค่การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่าง 2 ท่าเรือด้วยรางรถไฟจะใช้เวลานานถึง 40 ชั่วโมง แต่ถ้าเรืออ้อมช่องแคบมะละกาใช้เวลาเพียง 18.1 ชั่วโมงเท่านั้น และหากจะอ้างใช้วิธีบรรทุกรถวิ่งแทนต้นทุนก็จะสูงกว่าที่เป็นอยู่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราและแลนด์บริดจ์เพื่อประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย แต่ถ้าจะเกิดก็เพราะการเมืองต้องการค่าหัวคิวแน่นอน!!

ล่าสุดนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่ายังได้เผยต่อสาธารณชนด้วยความภาคภูมิใจว่า งบการลงทุนทั้ง 3 เฟสร่วม 3.7 หมื่นล้าน ภายในอายุโครงการ 30 ปีนั้น จะมีกำไรกว่า 5,000 ล้านบาท (เท่านั้นหรือ?!? )

ขณะที่ นายพิเชฐ สุดเดือน ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสตูล เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการ” ว่า แม้ว่านโยบายของรัฐบาลจะเล็งที่ท่าเรือทวาย แต่ก็เปรียบเหมือนการยืมจมูกคนอื่นหายใจ ซึ่งพื้นที่สตูลนั้นมีความเหมาะสมในการสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันมาก และตนยืนยันว่าโครงการนี้จะไม่มีนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการระเบิดหินภูเขาจำนวน 7 ลูกมาถมท่าเรือเกิดขึ้น แต่จะเป็นเพียงท่าเรือที่ขนส่งตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ลงท่าเรือ โดยเน้นสินค้าจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และดึงเรือที่เดินทางเข้าปีนัง สิงคโปร์ มาใช้บริการ ซึ่งจะต้องมีอัตราที่พิเศษสามารถแข่งขันได้

ด้วยความไม่ชัดเจนทั้งปวง เครือข่ายติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล กรณีโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารา อ.ละงู จ.สตูล จึงจัดกิจกรรมรณรงค์และประกาศเจตนารมณ์ไม่เอาท่าเรือ และต้องการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีเครือข่ายจากหลายจังหวัดในภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้เข้าร่วมสนับสนุน ผนวกด้วยเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ จากทั้ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่-ปัตตานี, มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

ภายหลังจากเปิดเวทีย่อยเสวนาในคืนวันที่ 6 พ.ค.ที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู แล้ว วันรุ่งขึ้นจึงได้รวมพลนับพันคน และพาหนะอีกนับร้อยคันด้วยขบวนยาวร่วม 5 กิโลเมตร ออกเดินทางมายังย่านเศรษฐกิจของ อ.เมืองสตูล ก่อนอ่านแถลงการณ์และติดป้ายผ้าจารึกความต้องการของคนสตูลให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการในพื้นที่ ได้นำความต้องการของประชาชนสู่หน่วยงานระดับบนให้ตอบสนองเสียงของเจ้าของพื้นที่ และหากโครงการนี้ได้ดำเนินการจริง ไม่ว่าการที่รัฐบาลสนับสนุนท่าเรือทวาย ประเทศพม่า หรือเหตุผลอื่นใดก็แล้วแต่ ก็ขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานออกมติให้ชัดเจน

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าเจ้าของโครงการอยู่ระหว่างการให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ประชาสัมพันธ์โครงการ ภายหลังจากที่อ้างความชอบธรรมจากการอนุมัติการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) เมื่อเดือนต.ค. 2552 ท่ามกลางความฉงนในความถูกต้องของข้อมูลที่ได้มาเพื่อให้การก่อสร้างเกิดขึ้นเร็วที่สุด

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี หนึ่งในแกนนำเครือข่ายฯ กล่าวว่า คนที่อยู่ จ.สตูล มีสิทธิ์คิดโครงการพัฒนาและตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่ ไม่ใช่เป็นความคิดของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่รู้ร้อนหนาวต่อผลกระทบ ซึ่งแม้มีกฎหมายสิทธิชุมชนรองรับทั้งรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีการหยิบยื่นข้อมูลรอบด้านแก่ชาวบ้านได้รับรู้ และไม่เผยแพร่เอกสาร EIA ที่เป็นขั้นตอนการทำงาน ซึ่งบางคนเข้าใจว่าได้หยุดโครงการเสียแล้วด้วยซ้ำ ทว่า ความกระสันก็มิอาจหยุดยั้งให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางหน่วยงานโผล่ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ชาวบ้านรับรู้และยอมรับโครงการนี้

อย่างไรก็แล้วแต่ เหตุที่โครงการนี้ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ราบรื่น นอกจากการตรวจสอบของชาวบ้านแล้ว อีกประการหนึ่งคือ ความพยายามหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย ที่เป็น 1 ใน 11 โครงการซึ่งจะต้องมีเอกสารจำนวน 3 ชิ้นประกอบเพื่อให้ ครม.พิจารณา โดยนอกจากต้องมีรายการ EIA แล้ว ยังต้องสอบถามความเห็นองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment หรือ HIA)

แต่อธิบดีกรมเจ้าท่าปฏิเสธที่จะทำ HIA อ้างว่าศึกษาโครงการก่อนปี 2550 ทำให้การเดินหน้าโครงการนี้ยังขาดความชอบธรรม และสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐ-ชุมชน ตลอดจนชุมชน-ชุมชน จากคนบางกลุ่มที่มองว่าการโครงการเกิดขึ้นจุดนั้น ไม่ได้สร้างแรงสะเทือนถึงตนเอง ตลอดจนมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เฝ้ารอ เพื่อมีส่วนร่วมในการรับงานจากโครงการนี้ระหว่างดำเนินการก่อสร้างนั่นเอง ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเห็นเม็ดเงินจำนวนมากที่ละลายลงแม่น้ำ และถูกทิ้งร้างอย่างไร้ค่า ดังเช่นท่าเรือหลายแห่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น