ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง ทุ่มงบกว่า 140 ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษาเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรายละเอียดในการก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือเฟส 3 ที่มีงบลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ควบคู่การจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความเห็นจากชาวบ้าน ชี้แม้ถูกต่อต้านหลังไม่สามารถปฏิบัติตามที่รับปากได้ แต่ก็ต้องเดินหน้าทำความเข้าใจ
เจ้าหน้าที่จากการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ว่า แม้การทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาจะถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างหนัก ทั้งในเรื่องที่ท่าเรือแหลมฉบัง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในหลายส่วนตามที่ได้รับปากกับชาวบ้าน และชุมชนที่อยู่โดยรอบได้ รวมถึงการดูแลความเป็นอยู่ต่างๆ ที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการท่าเรือแหลมฉบังจะต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป
ในส่วนของการพัฒนาโครงการก็ยังคงต้องกระทำควบคู่กับการทำประชาพิจารณ์ ที่คาดว่าอาจจะต้องมีอีกประมาณ 2-3 ครั้ง ซึ่งขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมของการจัดทำโครงการ โดยใช้งบประมาณในส่วนนี้ถึง 141 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังหมายรวมถึงการออกแบบแปลนท่าเรือในเฟส 3 ให้เป็นท่าเรือน้ำลึกขนาด 18 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจะมีท่าเทียบเรือทั้งสิ้น 9 ท่า แบ่งเป็นท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์ 7 ท่า ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไปและตู้คอนเทนเนอร์ 1 ท่า และท่าเทียบเรือเพื่อขนส่งรถยนต์อีก 1 ท่า โดยมีแผนให้ท่าเทียบเรือแรกสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2560 และจะทยอยเปิดท่าอื่นๆ จนครบทั้ง 9 ท่าในปีต่อๆ ไป
“งบลงทุนในโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ภายใต้เนื้อที่ดำเนินงาน 1.6 พันไร่ โดยจะเป็นท่าเทียบเรือที่มีแอ่งจอดเรือยาวถึง 4,500 เมตร ซึ่งหากโครงการนี้เปิดดำเนินการพร้อมกันจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้มากถึง 8 ล้านทีอียูต่อปี และจะสามารถรองรับรถยนต์ส่งออกได้ถึง 1 ล้านคันต่อปี และยังจะทำให้ศักยภาพโดยรวมของท่าเรือแหลมฉบังในการรองรับตู้สินค้าจากท่าเทียบเรือที่มีทั้ง 3 เฟส ได้มีมากถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี” เจ้าหน้าที่กล่าว
5 เดือนแรกตู้สินค้าผ่านท่าทะลุ 2 ล้านทีอียู
ขณะที่ตัวเลขการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ต.ค.2553 - ก.พ.2554) พบว่า เฉพาะเที่ยวเรือทั้งขาเข้าและออกมีจำนวนถึง 4,109 เที่ยว ขณะที่จำนวนตู้สินค้าขนถ่ายผ่านท่าเรือแหลมฉบังมี 2.19 ล้านทีอียู ทำให้คาดการณ์ว่าเมื่อถึงสิ้นปีท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี จะมีจำนวนตู้สินค้าผ่านท่ามากกว่า 5.5 ล้านทีอยู สูงกว่าจำนวนตู้สินค้าผ่านท่าในปีงบประมาณ 2553 ที่มีจำนวน 5 ล้านทีอียู และย่อมส่งผลต่อผลประกอบ การของท่าเรือฯ ที่คาดว่า จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ
นอกจากนั้น ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ยังพบว่าในส่วนท่าเทียบเรือขนถ่ายรถยนต์ มีรถยนต์นำเข้าใช้บริการผ่านท่าจำนวน 26,500 คัน และมีการส่งออกรถยนต์ผ่านท่าฯ ถึง 402,000 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตรถยนต์ในไทย ทั้งนี้ ผลกระทบจากการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น ยังไม่กระทบต่อการผลิตรถยนต์ในประเทศรวมทั้งการส่งออกรถยนต์ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง
ทั้งนี้ คาดว่า หากในปี 2-3 เดือนข้างหน้า บริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถส่งอะไหล่หรือชิ้นส่วนยานยนต์ที่ต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นป้อนให้กับโรงงาน ผลิตในไทยได้ ก็จะทำให้จำนวนรถยนต์ส่งออกผ่านท่าเรือแหลมฉบังลดลงอย่างแน่นอน
“เหตุที่จำนวนรถยนต์ส่งออกผ่านท่าเรือแหลมฉบังในช่วง 5 เดือนนี้ยังสูงอยู่ เพราะโรงงานผลิตในประเทศไทย ใช้ชิ้นส่วนที่ยังมีอยู่ในสต๊อก แต่หากในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าเมื่อชิ้นส่วนต่างๆ หมดลง และบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถส่งอะไหล่ป้อนโรงงานในไทยได้ ก็จะกระทบต่อยอดการผลิตและการส่งออกผ่านท่าเรือแหลมฉบังอย่างแน่นอน” เจ้าหน้าที่ การท่าเรือแหลมฉบัง กล่าว