หนองคาย-ก.คมนาคม เดินหน้าผุดสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ ที่หนองคาย หลังระดมสมองแลกเปลี่ยนทุกภาคส่วนเห็นพ้องขับเคลื่อนทันที เผยรองรับเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย และรถไฟรางคู่ เฟสแรกรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 80,000 ตู้ ส่วนเฟสสองรับเต็มที่ 240,000 ตู้ต่อปี ร.ฟ.ท.อาจลงทุนเองทั้งหมด คาดปี 2557 เปิดใช้ได้
นายบรรพต เจริญสัตยธรรม รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)กระทรวงคมนาคม เปิดเผยในโอกาสเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในจังหวัดหนองคาย เกี่ยวกับการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์เพื่อการจัดการลอจิสติกส์ เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ความจำเป็นของการศึกษาโครงการสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (Container Yard-CY) เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาโครงข่ายรถไฟรางคู่ทั่วประเทศของรัฐบาล
โดยเฉพาะในเส้นทางที่มีปริมาณการขนส่งหนาแน่น และพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงการผลิตในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ปรับปรุงบูรณะทาง รวมทั้งพัฒนาการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและลดต้นทุนการขนส่ง
สถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการกระจายสินค้าด้วยการขนส่งทางรถไฟร่วมกับระบบการขนส่งรูปแบบอื่นให้มีความเหมาะสม โดยทุกกระบวนการจะมีความเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างทางธุรกิจ เช่น สายเดินเรือ ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ส่งออกและนำเข้า อีกทั้งในแง่ของการลงทุนจะต้องมีความพร้อมในเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินการ
กลุ่มที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์จำกัด, บริษัทโชติจินดา มูเชล คอนซัลแตนท์จำกัด และบริษัทพิสุทธิ์ เทคโนโลยีจำกัด ได้ดำเนินการศึกษาโครงการ พบว่า บริเวณสถานีรถไฟนาทา ต.หนองกอมเกาะ อ.เมืองหนองคาย มีความเหมาะสมและมีความพร้อมมากที่สุด ในการจัดตั้งเป็นสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ เพราะมีความได้เปรียบเชิงพื้นที่ติดกับบริเวณชายแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) สนับสนุนการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในอนาคต สามารถรองรับการส่งออกยางพารากว่า 2 ล้านไร่ มีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านแดน โดยเฉพาะสินแร่ทองแดง จากประเทศลาวสู่ท่าเรือศรีราชาไปยังประเทศที่ 3 และข้าวมอลต์จากท่าเรือฝั่งอ่าวไทยไปยังสปป.ลาว
นายบรรพตกล่าวอีกว่า จังหวัดหนองคายมีโครงข่ายการคมนาคม ทั้งรถไฟและทางหลวงเชื่อมโยงกับสปป.ลาว ทั้งยังเชื่อมโยงไปยังประเทศจีนตะวันตก ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันการค้าชายแดนมีปริมาณสูงในลำดับต้นๆ ในอนาคตก็จะมีโครงการพัฒนารถไฟรางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อระหว่างไทย – ลาว – จีนตะวันตก เข้าด้วยกัน
ในระยะแรกอาจจะมีปริมาณสินค้าที่ยังไม่สูงมากนัก รูปแบบการขนส่งสินค้าในลักษณะคอนเทนเนอร์จะมีปริมาณสูงกว่าประเภทหีบห่อที่ต้องการบรรจุและนำออกจากตู้คอนเทนเนอร์ สถานีในช่วงแรกจึงจะเป็นการวางกองตู้สินค้าเพื่อนำเข้า –ส่งออกเป็นหลัก ส่วนในระยะต่อไปจะเป็นสถานีที่เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายที่ครอบคลุมหน้าที่ลานกองสถานีขนส่งสินค้าศูนย์การจัดการลอจิสติกส์ ศุลกากร และสถานีเพิ่มคุณค่าและคลังสินค้าที่สมบูรณ์แบบ
นายบรรพต กล่าวอีกว่า สถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์แห่งนี้ถูกออกแบบพื้นที่ขนาดกว่า 150 ไร่ โดยในระยะแรก สามารถรองรับการขนส่งสินค้าในรูปแบบของตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 80,000 ตู้ต่อปี และในระยะที่สองสามารถรองรับตู้สินค้าได้สูงสุด 240,000 ตู้ต่อปี ซึ่งสินค้าที่จะมาใช้บริเวณสถานีแห่งนี้จะประกอบไปด้วยสินค้านำเข้า – ส่งออก ของพื้นที่จังหวัดหนองคายและใกล้เคียง, สินค้าผ่านแดนของสปป.ลาว – ประเทศที่ร่วม และสินค้านำเข้า – ส่งออกไปยังประเทศจีนตะวันตก
นอกจากนี้ ยังเป็นการรองรับการค้าอาเซียนในอนาคต ซึ่งจากการคาดการณ์ในปี พ.ศ.2562 สินค้าของจีน มีโอกาสขนส่งผ่านประเทศไทย ปริมาณรวม 1.1 แสนตัน หรือจำนวน 69,000 ตู้ โดยเป็นสินค้าในกลุ่มเยื่อไม้ กระดาษ เคมีภัณฑ์ ผัก ผลไม้ปรุงแต่ง และสำหรับสปป.ลาวมีการขนส่งสินแร่ทองแดงผ่านไทยโดยขนส่งทางรถไฟ คิดเป็น 94,000 ตัน ซึ่งงบประมาณค่าลงทุนโครงการ ระยะที่ 1 จำนวน 696 ล้านบาท ระยะที่ 2 จำนวน 1,303 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบในการลงทุนเห็นว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)จะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งจะให้ผลตอบแทนทางการเงินสูงกว่า การร่วมทุนกับเอกชนหรือการให้บริษัทเอกชนลงทุน มีการตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผลตอบแทนทางการเงินเท่ากับร้อยละ 9.6 และระยะเวลาในการคืนทุน 20 ปี ภายในระยะเวลาสัมปทาน 40 ปี
นายบรรพตกล่าวย้ำว่า ผู้ประกอบการและภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดหนองคายและใกล้เคียงเห็นด้วยกับโครงการนี้ และอยากให้มีการดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเป็นการออกแบบรายละเอียดเพื่อการก่อสร้าง จัดทำเอกสารประกวดราคาของสถานีขนส่งสินค้าระยะที่ 1 ซึ่งใช้พื้นที่ 57 ไร่ โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ได้ในปี พ.ศ.2557