xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไม่กล้างัด “เจ๊วา” เทงบอุ้มน้ำมันปาล์ม อีก 321 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรทิวา นาคาศัย
ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบ 321 ล้านบาท จ่ายค่าชดเชยส่วนต่างต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มตามข้อเสนอ “พรทิวา” เบรกให้ความช่วยเหลือบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง หลังสภาพการเงินวิกฤตหนัก

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอขออนุมัติงบกลางเพื่อเป็นการใช้จ่ายในการชดเชยส่วนต่างต้นทุนการผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชขนาดบรรจุ 0.5 ลิตร และขนาด 0.25 ลิตร รวม 321 ล้านบาท แบ่งเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ 1.5 หมื่นตัน ประมาณ 9.7 ล้านลิตร อัตราชดเชย 9.5 บาทต่อลิตร เป็นเงิน 92 ล้านบาท

ทั้งนี้ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบนำเข้า 3 หมื่นตัน ประมาณ 22.6 ล้านลิตร อัตราชดเชย 3.2 บาทต่อลิตร เป็นเงิน 72 ล้านบาท และ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ 4 หมื่นตัน ประมาณ 26 ล้านลิตร อัตราชดเชย 4.27 บาทต่อลิตร เป็นเงิน 111 ล้านบาท พร้อมกับชดเชยต้นทุนการผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชขนาดบรรจุ 0.5 ลิตร ประมาณ 4.78 ล้านขวด อัตราชดเชยขวดละ 1.8 บาท เป็นเงิน 8.9 ล้านบาท และชดเชยต้นทุนการผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชขนาดบรรจุ 0.25 ลิตร ประมาณ 22.33 ล้านขวด อัตราชดเชยขวดละ 1.65 บาทต่อขวด เป็นเงินชดเชยรวม 36.84 ล้านบาท

นายแพทย์ มารุต เผยอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด กรณีที่บริษัทขอปรับเกลี่ยการชำระผลประโยชน์ตอบแทนรายปีให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และขอปรับเปลี่ยนแผนการก่อสร้างและจัดหาเครื่องมือยกขนในการปฏิบัติตามสัญญาลงทุนก่อสร้าง บริหาร และประกอบการท่าเทียบเรือเอ3, ซี1, ซี2, ดี1, ดี2 และ ดี3 ของท่าเรือแหลมฉบัง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สำหรับสาระสำคัญคือ การขอปรับลดการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในช่วงปีที่ 4-10 ลง รวมเป็นเงิน 3,720 ล้านบาท โดยจะขอจ่ายเพิ่มผลประโยชน์ตอบแทนในช่วงปีที่ 11-30 รวมเป็นเงิน 12,201 ล้านบาททำให้วงเงินรวมตลอดอายุสัญญาเพิ่มขึ้นอีก 8,481 ล้านบาท จากเดิม 61,924 ล้านบาท เพิ่มเป็น 70,405 ล้านบาท ขณะที่การปรับเปลี่ยนการแผนการก่อสร้างนั้นจะขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างท่าเรือชุดดี จากเดิมกำหนดแล้วเสร็จภายใน 7 ปี เป็นทยอยก่อสร้างจนแล้วเสร็จภายใน 12 ปี

ทั้งนี้ ทางบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล ได้ให้เหตุผลของการขอปรับแก้การดำเนินงานตามสัญญา ว่า เป็นอุปสรรคมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลในการจำกัดปริมาณตู้สินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพ จากที่กำหนดให้จำกัดปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ ไม่เกิน 1.0 ล้านทีอียูต่อปี ปรับขึ้นเป็น 1.34 ล้านทีอียูต่อปี จึงกระทบต่อแผนการเงินและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนและการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ กกท.ตามที่กำหนดในสัญญา นอกจากนี้บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล ยังระบุว่า กทท.ไม่สามารถกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการท่าเรือแหลมฉบังรับตู้สินค้าตามจำนวนที่เสนอไว้ในแผนธุรกิจ ทำให้ท่าเรือฝั่งบี รับส่งตู้สินค้าสูงกว่าปริมาณที่เสนอในแผนธุรกิจ 60-100% และท่าเทียบเรือฝั่งบีมีการลงทุนและจ่ายผลประโยชน์ให้ กทท.ต่ำ ทำให้ลดราคาค่าบริการลงได้ 35-40% ทำให้ตู้สินค้าไม่กระจายไปท่าเทียบเรืออื่น บริษัทจึงจำเป็นต้องลดค่าบริการลง 20-25% ทำให้รายได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ในแผนธุรกิจ

นอกจากนี้ บริษัทยังอ้างว่าจากปัญหาวิกฤติทางด้านการเงิน(ซับไพร์ม)ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ปริมาณตู้สินค้าเข้าออกประเทศไทยลดลง ทำให้บริษัทขาดโอกาสที่จะรับตู้สินค้าให้มากขึ้นเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดรายได้จากการแข่งขันด้านราคา รวมไปถึงการปรับขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง ทำให้การลงทุนของบริษัทสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการตามแผนธุรกิจถึง 26.46% และต้องกู้เงินมาลงทุนสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในระดับวิกฤติ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.ให้ กทท.ไปหารือกับบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล ก่อนที่จะนำมาเสนอ ครม.อีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าข้ออ้างของบริษัทฯเรื่องเศรษฐกิจโลกไม่ดี หรือถูกท่าเรือฝั่งบีแย่งลูกค้า เป็นสิ่งที่ทางบริษัทรับทราบอยู่แล้ว จึงไม่เห็นสมควรนำมาเป็นข้ออ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น