ซินหัว - กัมพูชาลงมือก่อสร้างท่าขนถ่ายตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ที่ท่าเรือพนมเปญ วานนี้ (9 มี.ค.) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีฮุนเซน และนายปัง กวงซวี เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ พร้อมเจ้าหน้าที่รัฐบาล นักการทูต และประชาชนอีกกว่า 2,000 คน เข้าร่วมในพิธีด้วย
ตามแผนแม่บทของกัมพูชาระบุว่า ท่าขนถ่ายตู้สินค้าขนาด 60 ไร่ สร้างโดยบริษัทเซี่ยงไฮ้คอนสตรัคชั่นกรุ๊ปของจีนด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษจำนวน 28.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้รับมอบจากฝ่ายจีน และจะใช้เวลาในการก่อสร้างนาน 30 เดือนจึงเสร็จสมบูรณ์
ท่าขนถ่ายตู้สินค้าแห่งใหม่นี้จะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 120,000 ทีอียูต่อปี (หน่วยนับสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าความยาว 20 ฟุต โดยตู้สินค้า 20 ฟุต เท่ากับ 1 ทีอียู) และจะประกอบด้วยท่าเรือรองรับเรือขนสินค้าขนาดระวาง 5,000 ตัน 2 จุด จากเดิมที่ท่าเรือพนมเปญรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้เพียง 80,000 ทีอียูเท่านั้น โดยท่าขนถ่ายตู้สินค้านี้ตั้งอยู่ตามแนวแม่น้ำโขง ในอำเภอเกียนสวาย ห่างจากกรุงพนมเปญ ไปทางตะวันออกประมาณ 30 กิโลเมตร
นายกฯฮุนเซนกล่าวในระหว่างพิธีว่า ท่าขนส่งสินค้าแห่งใหม่นี้ เป็นหนึ่งในความสำเร็จหลายอย่างภายใต้ความร่วมมือในระดับทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีน และรู้สึกขอบคุณฝ่ายจีนสำหรับการสนับสนุนด้านการเงินอย่างต่อเนื่องแก่กัมพูชา
ท่าเรือแห่งนี้จะเพิ่มอัตราการขนถ่ายสินค้าขึ้นลงของท่าเรือพนมเปญ และจะกลายเป็นศูนย์กลางหลักในการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ ที่สามารถผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ การค้าระหว่างประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกข้าวให้ได้ตามเป้าหมายที่ 1 ล้านเมตริกตันต่อปี นอกจากนั้นท่าขนถ่ายสินค้าจะไม่เพียงแค่เชื่อมต่อระหว่างท่าเรือพนมเปญกับท่าเรือก่ายแม็บ ของเวียดนามเท่านั้น แต่ยังช่วยขนส่งสินค้าได้โดยตรงไปยังสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยไม่ต้องเปลี่ยนเรือ
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กัมพูชาจะมีสินค้าส่งออกมากขึ้นนอกจากสิ่งทอ จะมีสินค้าทางการเกษตรและได้เปิดตลาดข้าว มันสำปะหลัง และสินค้าอื่นๆ กับจีน ที่ท่าขนส่งแห่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนและประเทศอื่นๆ ฮุนเซนกล่าว
นายปัง กวงซวี กล่าวว่า การก่อสร้างท่าขนถ่ายสินค้านี้เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ และว่ามีความสำคัญในการกระตุ้นกิจกรรมทางธุรกิจ อุตสาหกรรมการผลิต และภาคเกษตรกรรม และย้ำว่าจีนจะช่วยเหลือกัมพูชาในทุกภาคส่วน ทั้งการคมนาคมทางน้ำ ถนน สะพาน ระบบชลประทาน และไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา.