สมาคมผู้สื่อข่าว ศก. เปิดเวทีประชันนโยบายปากท้องกับ 5 พรรคการเมือง งัดนโยบาย ศก. สุดหรูโชว์ เน้นผลักดันประชาชนอยู่ดีกินดี เน้นจับกลุ่มฐานคะแนนเสียง
มีรายงานข่าว งานสัมมนาเรื่อง "ท้าความคิด..ประชันนโยบายปากท้องกับ 5 พรรคการเมือง" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะสร้างความแข็งแรงของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเฉลี่ยต่อปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยเน้นสร้างการจ้างงาน พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อเสริมสร้างการลงทุน เช่น การพัฒนารถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาระบบชลประทานแบบท่อ สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ควบคู่กับการสร้างเมืองใหม่ ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ จะเพิ่มรายได้ให้ประชาชนทุกระดับ โดยมีโครงการบัตรเครดิตเกษตรกร เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรโดยไม่เสียดอกเบี้ย ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับภาคธุรกิจจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556 เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถจ่ายเงินเดือนให้คนจบปริญญาตรีเพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อคน และสามารถจ่ายค่าแรงขั้นต่ำได้ 300 บาทต่อวัน
พร้อมกันนี้ พรรคเพื่อไทยจะตั้งหน่วยงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับเกษตรกร โดยเพิ่มวงเงินกองทุนหมู่บ้านเป็น 2 ล้านบาท จากเดิม 1 ล้านบาท และพักหนี้ภาคประชาชน ในกลุ่มที่มีหนี้ 500,000 บาทให้เป็นเวลา 3 ปี ส่วนคนที่มีหนี้ 500,000 บาทถึง 1 ล้านบาท จะปรับโครงสร้างหนี้ให้ โดยนโยบายดังกล่าวพรรคเพื่อไทย จะเร่งดำเนินการภายในเวลา 90 วัน
ส่วนภาคการศึกษา จะสนับสนุนเงินให้มหาวิทยาลัยทั้งเอกชนและรัฐบาลแห่งละ 1,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับนักเรียน-นักศึกษา แจกแท็บเล็ตให้นักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 จำนวน 800,000 คน รวมทั้งพัฒนาสินค้าโอท็อปให้เข้มแข้ง สนับสนุนเงินแก่ชุมชนในโครงการเอสเอ็มแอล 300,000-500,000 บาทตามขนาดชุมชน และพัฒนาการท่องเที่ยวให้ถึง 30 ล้านคนภายในเวลาอันรวดเร็ว ควบคู่กับการยกระดับโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ให้อาหารไทยกระจายสู่ตลาดโลกอย่างทั่วถึง ตลอดจนการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ
ด้านนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ทีมเศรษฐกิจพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า การที่พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน มีนโยบายตรึงราคาน้ำมันเบนซินไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร และดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อชะลอการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนราคาสินค้า และลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ปรับปรุงระบบบัตรโดยสารราคาเดียวใบเดียวทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที โดยการดูแลภาคเศรษฐกิจไทย จะเริ่มต้นดูแลตั้งแต่ประชาชนระดับรากหญ้า คือ เกษตรกร ที่จะมีทางเลือกในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวและประกันราคาข้าว และจะตั้งกองทุนความร่วมมือระหว่างเกษตรกร เอกชน และรัฐบาล เพื่อดูแลผลประโยชน์ทั้งระบบ และเร่งแก้ปัญหาภาระหนี้สินให้กับเกษตรกร เพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับคนชรา ซึ่งจะเร่งดำเนินการภายใน 90 วัน
ส่วนภาคแรงงาน จะมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับคนเริ่มทำงานเป็นเวลา 5 ปี และจัดสรรเงินกู้ให้แรงงานในการซื้อ ซ่อม ปลูกบ้านที่อยู่อาศัย และเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ 350 บาทต่อวัน ควบคู่ไปกับการสร้างเถ้าแก่เงินล้าน โดยจะปล่อยสินเชื่อรายละ 1 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านอัตรา พร้อมทั้งวางเป้าการค้าของไทยให้ได้ 10 ล้านล้านบาทภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี และมุ่งเน้นการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับจีน
ขณะที่นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ทีมเศรษฐกิจพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทย จะต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเรื่องคุณภาพและราคาของภาคธุรกิจ โดยเน้นการส่งเสริมการวิจัยละพัฒนา รวมกลุ่มคลัสเตอร์ของเอสเอ็มอี และพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รวมทั้งตั้งศูนย์กระจายสินค้าตามแนวชายแดน ส่วนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม จะดำเนินโครงการประกันราคาข้าว ให้ข้าวเปลือกมีราคา 20,000 บาทต่อตัน จัดการระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพทั้ง 28 ล้านไร่ และสนับสนุนการปลูกพืชพลังงาน อาทิ มันสำปะหลัง ยางพารา ในพื้นที่ชลประทาน เร่งรัดโครงการถนนปลอดฝุ่นเข้าไปในพื้นที่เกษตรอุดหนุนการท่องเที่ยวจังหวัดละ 100 ล้านบาท จัดทำกองทุนจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง และลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 เหลือร้อยละ 5
นายเกษมสันต์ วีระกุล ทีมเศรษฐกิจพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจกับคนไทยทั้งประเทศ คือ สถานภาพเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร ซึ่งเห็นว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวแต่ยังเปราะบาง ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังผันผวน และอาจเกิดวิกฤตได้ตลอดเวลา ขณะที่ในปี 2558 ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) เต็มตัว การค้า แรงงาน และบริการจะเสรี หากไทยไม่เร่งปรับโครงสร้างของประเทศ ทั้งมาตรการทางภาษี โครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จะทำให้ธุรกิจต่างๆ ไหลไปลงทุนในประเทศอื่นทั้งหมด โดยมองว่า หากไทยไม่มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งระบบ เพื่อรองรับกับความผันผวนทั้งในและนอกประเทศ เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไม่ถึงร้อยละ 8 ขณะที่หนี้สาธารณะของไทย จะกระโดดขึ้นไปถึงร้อยละ 80 ประเทศไทยจึงต้องมียุทธศาสตร์ เตรียมความพร้อมรองรับกับการเป็นเออีซี 2558 โดยพรรคฯ จะเร่งลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 5 ล้านล้านบาท ปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยปรับภาษีทั้งระบบให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยต้องไม่มากหรือน้อยกว่าร้อยละ 10 สำหรับนโยบายที่พรรคฯ จะเร่งดำเนินการในช่วง 90 วันแรก คือ ประกาศแผนปรองดองแห่งชาติ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อเตรียมเข้าสู่เออีซี
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รายได้ของประเทศ มาจากการเก็บภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พรรคจึงมีนโยบายเพิ่มรายได้ เช่น มีระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น พร้อมกับการส่งเสริมรายได้ของประชาชน ซึ่งจะดูแลค่าครองชีพของประชาชน โดยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่วนภาระหนี้สินจะเดินหน้าดูแลประเภทหนี้ต่าง ๆ ที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายประชาชน อาทิ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรเงินสด และหนี้เกษตรกร ส่วนนโยบายที่ดินทำกิน โฉนดที่ดิน กองทุนที่ดิน ธนาคารที่ดิน พรรคจะเดินหน้า เช่นเดียวกับโครงการบ้านที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างความมั่นคงให้ประชาชน ขณะที่การลงทุนระดับประเทศ มีหลายโครงการ เช่น แผนการลงทุนระบบในเกษตรกร 1.7 ล้านล้านบาท นโยบายส่งเสริมฮาเบอร์ ซิตี้ หรือการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพ-ลาดกระบัง และเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ใน 4 เส้นทางหลัก เชื่อมจีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง-ตราด และเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ ซึ่งเป็นแผนที่จะเสริมรายได้ให้ประเทศ สำหรับแผนการจัดเก็บรายได้ ก็จะมีการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
สำหรับเรื่องแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ จะดำเนินการคือ การเร่งการชดเชยราคาปุ๋ย กิโลกรัมละ 1.50 บาท การประกันภัยนาล่มจากภัยธรรมชาติ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองผ่านระบบประกัน 2,000 บาทต่อไร่ ส่วนค่าแรง จะเดินหน้าทันที โดย ปชป.ปรับค่าแรงมากกว่าทุกรัฐบาล และจะเพิ่มค่าแรงร้อยละ 25 ภายใน 2 ปี ขณะที่เรื่องหนี้สิน จะเดินหน้าโครงการบ้านหลังแรกเฟส 2 อีก 25,000 ล้านบาท รวมถึงขึ้นทะเบียนการโอนหนี้เสียเป็นหนี้ในระบบ นอกจากนี้ จะหยิบยกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการถือครองที่ดินและภาษีทรัพย์สินมาดำเนินการใน 90 วันแรก หลังได้รับเลือกเป็นรัฐบาล