xs
xsm
sm
md
lg

นักโทษที่ดิน : โซ่ตรวนเหลื่อมล้ำสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

หนึ่งโซ่ตรวนแห่งความเหลื่อมล้ำสำหรับสังคมไทยในห้วงยามความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างหนักหน่วงเข้มข้นคือ ‘ที่ดิน’ ด้วยเป็นทั้งปัจจัยที่อยู่อาศัยและการผลิตพื้นฐานสำคัญของทุกชีวิต แต่กระนั้นนับวันที่ดินก็กลับกลายเป็นทรัพยากรหายาก (Scarce resource) ที่ประชาชนทั่วไปไม่เพียงเข้าไม่ถึง ทว่ายังถูกเบียดขับผลักไสให้ออกจากที่ดินที่ลงหลักปักฐานทำมาหากินและพักพิงอาศัยมานานจากการรุกคืบเข้ามาถือครองของทุน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย ‘สองมาตรฐาน’ ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ฟ้องร้องประชาชนข้อหาบุกรุก แต่ขณะเดียวกันกลับออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่นายทุนหรือนักการเมืองได้ครอบครองที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม

เสียงสะท้อนประชาชน (Voice) ในงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 ช่วงแลกเปลี่ยนประสบการณ์เวทีเสวนาข่วงกำ กิ๊ด ‘เปิดว่าที่นักโทษที่ดินและทรัพยากร’ จึงเป็นเหตุสมควรให้ภาครัฐกลับมาทบทวนแนวทางการบริหารจัดการที่ดินโดยการปฏิรูปโครงสร้างสังคมไทยที่ไม่ใช่แค่รองรับกับการเคลื่อนไหวของประชาชนส่วนใหญ่ที่ขาดพลังต่อรองเรียกร้องเพื่อลดทอนความขัดแย้งเผชิญหน้าบนท้องถนนเมื่อรวมตัวเป็นมวลชนพลเมืองผู้เดือดร้อนเท่านั้น แต่ต้องขจัดความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการเอื้อประโยชน์ให้ผู้กุมอำนาจเงินและการเมืองสามารถครอบครองที่ดินบางแปลงที่ไม่ควรได้รับเอกสารสิทธิ์ด้วยเป็นสำคัญ ไม่เช่นนั้นเกาะหรือภูเขาจะถูกถือครองโดยกลุ่มเหล่านี้ ขณะที่ประชาชนอยู่อาศัยมานานกลับถูกฟ้องร้องไล่รื้อ ตกเป็นผู้ต้องหาอาญาแผ่นดิน

ดังปรากฏการณ์กลุ่มชาวบ้านราไวย์ อุรักลาโว้ย ต.ราไวย์ อ.ราไวย์ จ.ภูเก็ต ที่ถูกทุนรุกไล่ให้ออกจากพื้นที่ที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมโดยอาศัยกระดาษแผ่นเดียว ทั้งๆ ที่ผืนแผ่นดินแห่งนั้นชาวเลแห่งหาดราไวย์ได้ตั้งรกรากมานานกว่าสองศตวรรษแล้ว แต่อยู่ๆ ก็มีกลุ่มทุนถือโฉนดที่ดินเข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ที่อยู่อาศัยและทำมาหากินแบบพอเพียงเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ กล่าวหาว่าบุกรุก ต้องออกจากพื้นที่โดยไว แต่ถ้าต้องการอยู่บนผืนดินเดิมก็ต้องเปลี่ยนสถานะมาเป็น ‘ผู้เช่าที่ดิน’

โฉนดที่ได้มาไม่เป็นธรรมจึงเป็นเอกสารราชการที่ทำลายความอยู่ดีมีสุขของกลุ่มชาวเลไร้โฉนด ถึงแม้จะก่อร่างสร้างบ้านเรือนมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ดังนั้นภายใต้การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินทำเลทองติดชายหาดสามารถทำเป็นรีสอร์ตผืนดังกล่าวของกลุ่มทุน ความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการผสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างกลุ่มทุนกับรัฐ ที่ท้ายสุดผลักชาวเลตกเป็นจำเลยบุกรุกพื้นที่ ข้อดีเดียวคือมีทนายอาสามาช่วยต่อสู้คดีโดยยืนยันว่าพวกเขาอยู่มาก่อนมีโฉนดด้วยซ้ำ

การเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากการผสานผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างรัฐกับทุนในการทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ กำหนดเขตอุทยานทางทะเลโดยไม่คำนึงถึงวิถีประมงพื้นบ้าน ควบคู่กับการก่อกำแพงแบ่งเขตที่ดินโดยคนใหญ่โตในจังหวัดก็ทำให้วิถีชีวิตพอเพียงถูกทำลาย หลายสิบคนต้องกลายเป็น ‘นักโทษที่ดิน’ ถ้าไร้เงินประกันหลังเข้าไปจับปลาในเขตอุทยานโดยไม่รู้

ใช่ชนเผ่าเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่คนในอำเภอท่องเที่ยวอย่างหาดป่าตองก็ต้องต่อกรกับหน่วยงานท้องถิ่นในประเด็นที่อยู่อาศัยไม่ต่างกัน โดยเฉพาะหลังพิบัติภัยสึนามิที่ชาวบ้านผู้ประสบภัยได้ไปสร้างบ้านในพื้นที่หนีคลื่นยักษ์ หากด้วยการเป็นพื้นที่งามมองเห็นหาดป่าตองทั้งหาดได้จึงทำให้กลุ่มทุนต้องการสร้างรีสอร์ตตรงนั้น แต่ด้วยเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงร่วมกันกับนักการเมืองท้องถิ่นกำหนดพื้นที่นั้นเป็นทางสาธารณะ แล้วขอที่ดินคืน ขณะที่ตัวบทกฎหมายกลับให้อำนาจนายกเทศมนตรีเปลี่ยนทางสาธารณะเป็นที่สาธารณะและนำมาให้เอกชนเช่าภายหลังได้

47 ครัวเรือนถูกสั่งให้รื้อถอนออกไปในข้อหาบุกรุก หลายคนไม่ไปเพราะไม่มีที่ไป จะให้ไปก็ควรจัดสรรที่ใหม่ให้อยู่ ไม่ใช่ตั้งข้อกล่าวหาว่าบุกรุกที่สาธารณะและฟ้องร้องดำเนินคดีที่สร้างแรงกดดันนำความไม่เป็นธรรมถั่งโถมครอบครัวเหล่านี้ ที่ปัจจุบันผู้ไม่ย้ายออกไปจะถูกปรับวันละ 1,000 บาท โดยปรับไปเรื่อยๆ กระทั่งชาวบ้านบางคนถูกปรับสะสมเกือบแสนบาทแล้ว แม้นต่อมาจะมีคำสั่งศาลลดค่าปรับลงเหลือวันละ 500 บาท หากหามาจ่ายไม่ได้ก็จะกลายเป็น ‘นักโทษที่ดิน’

การถูกลงโทษจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมโดยการเข้าไปถือครองที่ดินเพื่อหนีภัยพิบัติ สร้างบ้านเรือนอาศัย หรือทำมาหากินของประชาชนโดยการสมประโยชน์ร่วมกันระหว่างทุนกับรัฐที่ขัดผลประโยชน์สาธารณะจึงพันธนาการสังคมไทยไว้ในความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ไม่นับหักร้างถางพงเข้าทำกินในที่ดินของรัฐจนก่อความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน

ซึ่งไม่เพียงเป็นการฉวยใช้ประโยชน์จากกฎหมายเพื่อเอารัดเอาเปรียบประชาชนผู้ทุกข์ยาก หากยังถั่งโถมเท่าทวีความเหลื่อมล้ำจากการกระจุกตัวของที่ดินที่จะไปเพิ่มอัตราส่วนการถือครองที่ดินในไทยจากร้อยละ 90 ที่กระจุกตัวในมือคนร้อยละ 10 ให้มีสัดส่วนสูงยิ่งขึ้น กระทั่งการกระจายการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรมถ่างกว้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ให้สูงยิ่งขึ้นตามไปด้วย

เหตุปัจจัยนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดิน การแก้ไข พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 และการจัดตั้งธนาคารที่ดิน จึงขจัดหรือลดทอนความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้ทางหนึ่ง ซึ่งถึงที่สุดก็ยังไม่เพียงพอถ้ายังไม่อาจไถ่ถอนพันธนาการล่ามร้อย ‘นักโทษที่ดิน’ ที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยกระบวนการยุติธรรม โดยการเดินเผชิญสืบ พิจารณาหลักฐานพยานบุคคลและประวัติศาสตร์ สร้างเสริมสิทธิและโอกาสแก่คนจนที่ต้องคดีที่ดินให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม รวมถึงเร่งรัดปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินไม่ให้รัฐและทุนถือครองที่ดินได้ไม่จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น