สมาคมสื่อฯ จัดเสวนา ปฏิรูปที่ดินเพื่อความเป็นธรรม โดยกรรมการปฏิรูป ระบุ การกระจายถือครองที่ดิน ต้องเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าว อนทุกฝ่ายร่วมผลักให้เป็นจริง ขณะที่นักวิชาการ มธ.ชี้ กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ต้องมีการเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก ด้าน “สาทิตย์” ยอมรับโฉนดชุมชนยังมีปัญหา เพราะกฎหมายยังไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์
วันนี้ (13 มี.ค.) ที่ห้องประชุมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยได้จัดเวทีราชดำเนินเสวนา เรื่อง “ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปความเป็นธรรมในสังคมไทย”
นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูป กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะตอบรับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินบางประเด็น แต่ก็มีบางเรื่องที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ จึงขอเน้นย้ำว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต้องกระจายการถือครอง ด้วยการใช้มาตรการทางทางภาษีในอัตราสูง รวมทั้งภาคสังคม ฝ่ายการเมือง พรรคการเมือง ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน
“พรรคการเมืองต้องออกมารับลูก เพราะต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึง 5-6 ฉบับ หากไม่รับลูกก็จะปฏิรูปไม่สำเร็จ ส่วนนักวิชาการจำเป็นที่ต้องออกมาแสดงความเห็นเพื่อนำข้อมูลวิชาการมาคุยกันเพื่อใช้ข้อมูลขับเคลื่อนร่วมกัน สิ่งแรกที่สามารถทำได้เลย คือ การเปิดเผยข้อมูล ไม่จำเป็นต้องทำข้อมูลใหม่แต่สามารถเปิดเผยได้ด้วยการใช้รัฐธรรมนูญ เพราะการเปิดเผยข้อมูลเรื่องที่ดินถือเป็นเรื่องสาธารณะ ไม่ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนอีกทางหนึ่งสามารถทำได้ด้วยการแก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกิดขึ้น”
นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาข้อมูลการปฏิรูปที่ดินหลายประเทศ และจากประสบการณ์เรื่องที่ดินในเมืองไทยเห็นได้ชัดว่า ปัญหาเรื่องที่ดินเกิดขึ้นจากกลไกตลาดการซื้อขายที่ดินมีความเสรี จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ใครมีเงินมากก็ซื้อที่ดินมาก โดยพบว่าหลังปี 2540 มีที่ดินเกือบ 40 ล้านไร่กลายเป็นที่ดินเน่าเอ็นพีแอล และ เอ็นพีเอ เมื่อกลไกตลาดบิดเบือนก็ทำให้กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น วิธีแก้ไขต้องแทรกแซงกลไกตลาดให้ทำงานอยู่ในระดับที่รับใช้สังคม ด้วยการกระจายที่ดินออกมาให้ได้ ด้วยมาตรการทางภาษีก้าวหน้าในอัตราสูง เพราะคนที่ซื้อที่ดินเก็บไว้เก็งกำไรเขาจะได้คายที่ดิน
“เมื่อปี 2543 มีที่ดินถูกปล่อยให้ทิ้งร้างถึง 47 ล้านไร่ แต่เมื่อปี 2550 ราคาข้าวดีดตัวสูงขึ้นจึงเกิดปรากฎการณ์คนแห่กลับไปสู่ภาคเกษตร ทำให้เกิดการเช่าที่ดินเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ ราคาเช่าที่ดินไร่ละประมาณ 500-1,000 บาทต่อไร่ แต่ตอนนี้สูงขึ้นถึงไร่ละ 1,500-2,000 บาท หรือร้อยละ 35-40 ของต้นทุนของการทำนา เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่ประเทศเกาหลีใต้และไต้หวัน ดังนั้น ต้องทำให้ภาษีที่ดินสูงในอัตราก้าวหน้าเพื่อให้การปฏิรูปที่ดินเกิดขึ้น ถ้าทำได้ผลอย่างน้อยเกษตรกรกว่า 2 ล้านครัวเรือน ก็จะได้รับการดูแล สำหรับข้อเสนอในการจำกัดการถือครองที่ดิน 50 ไร่นั้นถือเป็นเพียงเกณฑ์ที่วางไว้เท่านั้น แต่เรายังยืนยันว่าหากใครอยากจะถือครองมากกว่านี้ก็ได้ แต่ต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้า” นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายอภิชาติ สถิตนิรมัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในขณะนี้ คือ การกระจุกตัวของที่ดินโดยเจ้าของที่ดินส่วนมากจะเป็นนายทุนและนักการเมืองไม่ใช่เกษตรกรที่ใช้ที่ดินในการทำการเกษตร อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งคือภาคเกษตรกรเองก็มีปัญหา
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533-2552 พบว่าแรงงานภาคการเกษตร หนุ่มสาวอายุระหว่าง 15-34 ปีลดลงถึง 4.1 ล้านคน ทำให้ภาคการเกษตรขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาวเป็นอย่างมาก จนต้องนำเทคโนโลยีด้านการผลิตมาใช้เป็นจำนวนมาก
นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า หากจัดแบ่งเกษตรกรออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรมืออาชีพที่สามารถตามการเปลี่ยนแปลงตลาดในภาคการเกษตรได้ซึ่งมีจำนวนประมาณ 5-6 แสนคน และถือครองที่ดินมากกว่า 40 ไร่ และกลุ่มเกษตรพอเพียงซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ทำการเกษตรเพื่อการเลี้ยงชีพ ตนเป็นห่วงเกษตรกรกลุ่มนี้เพราะส่วนใหญ่มีบุตรหลานไปทำงานในเมืองและส่งเงินกลับมาให้ทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง คนเหล่านี้ส่วนมากเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะยากจนและมีแหล่งราย 80 เปอร์เซ็นต์นอกภาคการเกษตร
“ผมเสนอทางออกเรื่องการกระจายที่ดิน คือ ต้องเร่งปฏิรูปให้เกิดการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินตามมูลค่าในอัตราก้าวหน้า ไม่ใช่ตามขนาดพื้นที่ โดยนำที่ดินทุกส่วนออกมาตีมูลค่าใหม่ให้หมด เช่น หากเป็นที่ดินที่ทำกินหรือทำการเกษตรควรเก็บในราคาเท่านี้ หรือที่ดินที่เก็บไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือที่ดินที่นายทุนหรือนิติบุคคลซื้อไว้เก็งกำไร เราต้องตีความเรื่องนี้ให้ใหม่หมดเพราะที่ดินในภาคชนบทกับที่ดินในเมืองต่างกัน หากเราทำตรงนี้ได้จริง จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล รวมทั้งต้องเก็บภาษีมรดกด้วย เพราะภาษีเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนในการถือครองที่ดินสูงขึ้น การแทรกแซงตลาดด้วยราคาภาษีจะทำให้เกิดการกระจายที่ดินออกมาอย่างแน่นอน” นายอภิชาติ กล่าว
ด้าน น.ส.พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนที่รัฐจะทำการปฏิรูปที่ดินให้เกิดอย่างแท้จริงรัฐต้องทำการปฏิรูปเรื่องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยก่อน เพราะปัจจุบันนี้มีเกษตรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นถูกละเมิดสิทธิเป็นจำนวนมาก หากพูดเรื่องปฏิรูปที่ดินพูดเรื่องช่วยเหลือชาวบ้านและคนยากจน แต่ยังมีชาวบ้านและคนยากจนจำนวนมากถูกจับกุมคุมขังอยู่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง รัฐต้องปลดล็อคเรื่องคดีความให้กับชาวบ้านทั้ง 3 ส่วนคือคดีความที่อยู่ในชั้นอัยการ ชั้นศาล และอยู่ในขั้นตอนของการบังคับคดี รัฐบาลต้องมีนโยบายในการยุติ และชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน เพราะถ้าจะสงบศึกแต่ไม่ยุติข้อบาดหมางการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมก็ไม่มีประโยชน์
นางสาวพงษ์ทิพย์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเรื่องการจำกัดการถือครองที่ดิน เป็นนโยบายที่รัฐบาลจะต้องรับไว้ โดยเฉพาะในเรื่องภาษีอัตราก้าวหน้า เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องศึกษาร่วมกัน เราควรมีสถาบันวิจัยที่ทำการวิจัยในเรื่องภาษีอัตราก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม และศึกษาอย่างแท้จริงว่าควรจะมีการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจำนวนเท่าไหร่ถึงจะทำให้กลุ่มนายทุนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากคายที่ดินเหล่านั้นออกมา
“รัฐต้องกล้าผลักดันเรื่องภาษีอัตราก้าวหน้าเพราะปัจจุบันการจัดเก็บภาษีที่ดินเหล่านี้ไม่ได้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง รัฐควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างในการดูแลในเรื่องที่ดินใหม่โดยต้องกล้ากระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรลงสู่ท้องถิ่น และต้องสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่สามารถสร้างอำนาจต่อรองในการปฏิรูปที่ดินได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโฉนดชุมชน เรื่องธนาคารที่ดิน และการยกร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับที่ดินที่รัฐจะดำเนินการนั้นภาคประชาชนต้องการเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการจัดการโดยต้องมีตัวแทนของภาคประชาชนเข้าไปร่วมยกร่างด้วยเพราะทั้งหมดเป็นผลประโยชน์ของประชาชน” ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าว
ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปฏิรูปที่ดินไม่ใช่เรื่องใหม่ หากมองย้อนไปดูมติครม.ก็จะพบว่ามีการพูดคุยกันมานาน โดยเฉพาะเรื่องธนาคารที่ดินก็เคยพูดเมื่อปี 2525 ส่วนกฎหมายปฏิรูปที่ดินก็พูดกันมาตั้งแต่ปี 2518 และมีกฎหมายอื่นๆ อีกมากที่พูดถึงการปฏิรูปที่ดิน
“ตอนนี้มีข้อมูลว่า ที่ดินของรัฐกว่าสิบล้านไร่ถูกบุกรุก โดยการบุกรุกมี 2 แบบ คือ การบุกรุกครอบครองและรัฐประกาศทับที่ดิน แต่พบว่าจำนวนที่รัฐประกาศทับที่ดินทำกินมีจำนวนที่น้อยกว่า ดังนั้นการปฏิรูปที่ดินจะต้องดูว่า มีจำนวนเกษตรกรที่ยากจนและไร้ที่ดินกินอยู่จำนวนกี่ราย และเกษตรกรที่บุกรุกที่ดินของรัฐจำนวนกี่ราย แล้วบุกรุกเพื่ออะไร หากเป็นคนยากจนจริงๆ เราคงต้องหาวิธีช่วยเหลือให้เขามีที่ดินทำกิน อาจจะอยู่ในรูปแบบของโฉนดชุมชน ที่ตอนนี้ยอมรับว่ามีปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่สามารถให้โฉนดชุมชนมีกรรมสิทธิ์ได้” นายสาทิตย์ กล่าว
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการขอโฉนดชุมชนทั่วประเทศ 195 ชุมชน 36 จังหวัด หรือ 1.4 หมื่นคน โดยอนุมัติไปแล้ว 35 แปลง ได้ส่งมอบแล้ว 2 แปลง ส่วนอีก 33 แปลงนั้นยอมรับว่าปัญหาข้อกฎหมายจากหลายหน่วยงาน ที่จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อออกกฎกระทรวงที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
ส่วนความคืบหน้าเรื่องธนาคารที่ดินนั้นขณะนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อในการตั้งกรรมการชั่วคราว ซึ่งจะนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์และให้ประชาชนขึ้นทะเบียนการไร้ที่ดินทำกินไว้ แล้วจากนั้นจะทำการพิสูจน์สิทธิต่อไปว่าไร้ที่ดินทำกินและยากจนจริงหรือไม่
“สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนในเรื่องการปฏิรูปที่ดิน คือ การผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ตอนนี้เรื่องยังค้างอยู่ที่กฤษฎีกา หากดูตามปฏิทินการเมืองก็คงไม่สามารถประกาศใช้ได้รัฐบาลนี้ เพราะสัปดาห์หน้าก็จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเปิดสภากลับเข้ามาก็คงจะพิจารณาไม่ทัน เนื่องจากนายกฯ บอกว่าจะมีการยุบสภา”
นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังมีความไม่ชัดเจนต่อข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เรื่องการถือครองที่ดิน 50 ไร่ และเคยทำหนังสือไปสอบถามก่อนหน้านี้ว่า นิติบุคคลจะสามารถถือครองได้หรือไม่ ซึ่ง คปร.ก็ตอบกลับมา ถ้าหากคปร.ยืนยันว่านิติบุคคลสามารถถือครองได้ แต่ถ้าเห็นว่ามาตรการนี้ต้องดำเนินด้วยอัตราภาษีก็ถือว่าแนวคิดรัฐบาลกับแนวคิดคปร.ตรงกัน
“คาดว่า ใน ครม.จะมีพิจารณาเรื่องนี้ในอีก 2 สัปดาห์ จะมีการเสนอควบคู่ไปกับการเสนอให้เปิดเผยข้อมูล ซึ่งต้องดูว่ากระทบข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ ส่วนข้อมูลการถือครองได้พูดคุยกันว่าชื่อผู้ถือครองที่ดินจะถูกตีความว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ คงต้องถกเถียงกันพอสมควร รัฐบาลชุดนี้มองว่าการเปิดเผยข้อมูลก็เป็นเรื่องสำคัญ และการปฏิรูปที่ดินก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องมองถึงการพัฒนาประเทศในระยะยาวด้วย” นายสาทิตย์ กล่าว
อนึ่ง ประเด็นเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมนี้ จะมีการนำเข้าสู่เวทีสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคมนี้ ที่เมืองทองธานี โดยมีระเบียบวาสำหรับการพิจารณาและรับรอง 2 เรื่อง คือ การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และการคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนกรณีที่ดินและทรัพยากร