xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เทียบ “ปอนด์ต่อปอนด์” ศึกพระวิหาร ไทยแพ้ หรือขแมร์ชนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาย วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก นายอิทธิพร บุญประคอง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กับ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ร่วมคณะของไทย ระหว่างเข้าให้ปากคำต่อศาลโลกวันที่ 30 พ.ค.2554
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นใหญ่เกี่ยวกับปัญหา “ปราสาทพระวิหาร” ในห้วงนี้มีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนแล้วแต่มีความสำคัญและส่งผลสะเทือนซึ่งกันและกันอย่างมหาศาล

ประเด็นแรกคือ การที่กัมพูชายื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว(provisional measures) 3 ข้อคือ 1.ให้ไทยถอนกำลังทั้งหมดออกจากส่วนต่างๆ ของดินแดนกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทพระวิหารทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข 2.ห้ามไทยมีกิจกรรมทางทหารใดๆ ในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร 3.ให้ไทยงดการกระทำหรือดำเนินการใดๆ ที่กระทบสิทธิของกัมพูชาหรือเพิ่มความขัดแย้งในการตีความจนกว่าศาลโลกจะตีความคำพิพากษาเสร็จ และตีความคำพิพากษาคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 เกี่ยวกับเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งในการขอให้ศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวนั้น ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาได้ให้ปากคำไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30-31 พ.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนประเด็นที่สองคือ การที่กัมพูชานำเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเข้าสู่วาระการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 35 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-29 มิ.ย. ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ทั้งนี้ ถ้าหากถามถึงความเร่งด่วนของทั้ง 2 ประเด็นนั้น คงต้องตอบว่า เร่งด่วนและน่าเป็นห่วงทั้งคู่ เนื่องเพราะบทสรุปของทั้งสองเรื่องจะออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยไม่ว่าประเด็นไหนจะรู้ผลก่อน ก็สามารถพยากรณ์ถึงผลของอีกคดีหนึ่งได้ในทันที เรียกว่า เป็นดาบ 1 และดาบ 2 ของฝ่ายกัมพูชาที่เดินเกมรุกเข้าใส่ไทยเลยก็ว่าได้

กล่าวสำหรับการยื่นแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารนั้น ศึกยกแรกความพ่ายแพ้ตกเป็นของฝ่ายไทย เมื่อความพยายามในการขอเลื่อนแผนการดังกล่าวของฝ่ายไทยที่นำโดย “นายสุวิทย์ คุณกิตติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25-26 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ ประเทศฝรั่งเศสนั้นล้มเหลว โดยฝ่ายกัมพูชาไม่ตอบรับข้อเสนอของฝ่ายไทยโดยสิ้นเชิง

ขณะที่การยื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2505 นั้น แม้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และกว่าจะรู้ผลคำพิพากษาก็น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี แต่การขอให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไม่ได้ใช้เวลามากมายถึงขนาดนั้น เพราะเพียงแค่ 1-3 สัปดาห์ก็น่าจะรู้ผลของการพิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ ฝ่ายกัมพูชาได้เตรียมการในการสู้คดีครั้งนี้เอาไว้อย่างพรั่งพร้อม ยิ่งเมื่อพิจารณาทีมกฎหมายแล้ว ก็ยิ่งเห็นความหมายมั่นปั้นมือที่จะชนะศึกด้วยหัวใจเต็มร้อย

กล่าวคือ ทีมที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายกัมพูชาประกอบไปด้วย 1.เซอร์แฟรงคลิน โบแมน ที่ปรึกษากฎหมายชาวอังกฤษ 2.นายฌองมาร์ค โซเรล ชาวฝรั่งเศส 3.นาย รอดแมน บันดี ชาวอเมริกัน แต่ที่เด็ดที่สุดเห็นจะเป็นนายชิลแบร์ กีโญม อดีตประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ส่วนทีมที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยประกอบด้วย 1.นายแอล็ง เปเย่ต์ ชาวฝรั่งเศส 2.นายเจมส์ ครอว์ฟอร์ด ชาวแคนาเดียน 3.นายโดนัลด์ เอ็ม แม็คเร ชาวออสเตรเลียน โดยมี “นายวีรชัย พลาศรัย” เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการให้ข้อมูลต่อศาลโลก

และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้เช่นกันก็คือ นายวีรชัยผู้นี้คือคนคนเดียวกับนายวีรชัยที่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ก่อนที่ในปี 2551 จะถูกรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช โดยนายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ย้ายจากตำแหน่ง ไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงอย่างมีเลศนัย ขณะรัฐบาลไทยไปให้การรับรองการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นออกหนังสือเวียนที่เขียนด้วยลายมือ กล่าวยกย่องผลงานของอธิบดีผู้นี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบข้อมูลการต่อสู้ของทีมที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทย จะพบว่า มีประเด็นที่น่าสนใจในหลายเรื่องด้วยกัน และถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับข้อเสนอของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแทบทั้งสิ้น

เริ่มต้นจากนายวีรชัย พลาศรัยที่แถลงการณ์ต่อศาลโลกชัดเจนว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกอย่างครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี 2505 แม้จะไม่เห็นด้วย และแม้คำพิพากษาดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดและยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย พร้อมทั้งชี้แจงให้เห็นว่า คำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาท ไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กัมพูชาได้ยอมรับเส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว โดยนิ่งเฉยมิได้มีการทักท้วงใดๆ มากว่า 40 ปี จนเมื่อไม่นานมานี้กัมพูชาถึงได้เปลี่ยนท่าทีเนื่องจากต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

ตามต่อด้วยความคิดเห็นของ 3 ที่ปรึกษากฎหมายคือ “นายอแล็ง เปเย่ต์ นายเจมส์ ครอว์ฟอร์ด และนายโดนัลด์ เอ็ม แม็คเร” ที่ฟันธงชัดเจนว่า เมื่อปี 2505 ศาลได้มีคำพิพากษาที่ชัดเจนและไทยได้ดำเนินการทั้งสิ้นโดยสมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นทางกฎหมายที่จะต้องตีความในเรื่องนี้อีก เพราะแม้ฝ่ายไทยจะเห็นว่าไม่ยุติธรรมแต่ก็ได้ดำเนินการตามโดยไม่มีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อไม่มีความเห็นที่แตกต่างศาลก็ไม่มีอำนาจในการตีความ และเมื่อศาลไม่มีอำนาจในการตีความ ศาลก็ไม่มีอำนาจในการออกมาตรการชั่วคราวด้วย ที่สำคัญคือกัมพูชาพยายามเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของคำพิพากษาปี 2505 ในเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ เป็นคำพิพากษาเรื่องการกำหนดเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1(ระวางดงรัก มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000) โดยมีนัยปรากฏในคำร้องขอของกัมพูชา ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาพยายามให้ศาลตัดสินในสิ่งที่ศาลได้ปฏิเสธเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เนื่องจาก เมื่อปี 2505 ศาลได้วินิจฉัยว่า คดีปราสาทพระวิหารเป็นคดีเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน และจำกัดประเด็นข้อพิพาทเฉพาะในเรื่องดังกล่าว โดยจะนำประเด็นเรื่องเขตแดนมาใช้เป็นเหตุผลประกอบหากจำเป็นสำหรับการตัดสินเท่านั้น และได้สรุปไว้ในท้ายคำพิพากษาด้วยว่า คำขอของกัมพูชาที่ให้ศาลพิจารณาเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และเส้นเขตแดนในบริเวณดังกล่าว ศาลจะใช้เพื่อประกอบเป็นเหตุผลเท่านั้น คำร้องของกัมพูชาในครั้งนี้จึงเสมือนเป็นการขออุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลได้ตอบปฏิเสธไปแล้วในคดีหลัก และนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อใช้แก้ไขสิ่งที่ศาลได้พิพากษาแล้ว

ส่วนจะแพ้หรือชนะ หรือใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบมากกว่ากัน คงต้องหยิบยืมคำพูดของนายวีรชัยที่กล่าวเอาไว้ชัดเจนว่า “กรณีนี้ไม่แพ้-ชนะ เพราะผลแพ้-ชนะทราบกันดีตั้งแค่คดีเก่าแล้ว ตอนนี้เป็นการตีความคำตัดสิน ต้องรอดูกันต่อไป แต่ต้องยอมรับว่า ในฐานะที่รับมรดกคดีนี้มา เราอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเพราะผลคดีเดิมก็เป็นที่รู้กันอยู่ คนจำนวนมากก็เห็นว่าเราจะแพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง ถ้าคิดว่าเราอยู่ในฐานะนั้น เราทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ถ้าเป็นมวยแม้คนจะเห็นว่าไทยเป็นรอง แต่ก็สู้ได้สูสี ไม่ได้โดนน็อค”

และในประเด็นนี้นี่เองที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยท้วงติงว่า การยอมรับและนำคดีนี้ไปต่อสู้ในศาลโลกทำให้ไทยตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะถ้าไทยพ่ายแพ้นั่นหมายความว่า ไทยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทั้งไทยและกัมพูชากำลังลุ้นระทึกต่อผลการตัดสินที่จะออกมาอย่างใจจดใจจ่อ แต่คนที่ดูเหมือนว่าจะกระวนกระวายใจและหมายมั่นปั้นมือมากเป็นพิเศษก็คือ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรีแห่งพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถ้าย้อนกลับไปดูพฤติกรรมในต่างกรรมต่างวาระ ก็จะเห็นว่าผู้ดีอีตั้นรายนี้กำลังจ้องตาเป็นมันเพื่อนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

ดังจะเห็นได้จากการที่นายอภิสิทธิ์ใส่สีตีไข่จนประชาชนสับสนว่า “นางอิริบา โบโกวา” ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก สนับสนุนข้อเสนอของฝ่ายไทยที่ต้องการเลื่อนเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา และตามมาด้วยการประกาศจนประชาชนหลงดีใจไปทั้งประเทศว่า ยูเนสโกเลื่อนวาระการพิจารณาแผนบริหารจัดการเรียบร้อยแล้ว

ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น และสิ่งที่นายอภิสิทธิ์รับรู้ข้อมูลจากนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย มีเพียงข้อความสั้นๆ ว่า “มีข่าวดี” เท่านั้น

แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก นายอภิสิทธิ์ก็หน้าแตกเมื่อนายสุวิทย์เป็นผู้แถลงยอมรับภายหลังการหารือกับกัมพูชาว่า “การหารือไม่เป็นผลสำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม นอกจากนายอภิสิทธิ์แล้ว ดูเหมือนทางฝั่ง “นายฮุนเซ็น” นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาก็มั่นใจในชัยชนะของศึกครั้งนี้ไม่แพ้กัน เนื่องเพราะหมายมั่นปั้นมือว่า ปราสาทพระวิหารจะเป็นขุมทรัพย์แหล่งใหม่ที่สามารถเซ็งลี้เงินเข้ากระเป๋าตัวเองได้มากมายมหาศาล ดังจะเห็นได้จากการสร้าง “โรงแรมซรอแอเปรียะวิเหียร์คีซ” ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกที่ตั้งอยู่ใกล้กับปราสาทพระวิหาร

ทั้งนี้ โรงแรมแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารที่กัมพูชานำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก โดยเป็นโรงแรมระดับนานาชาติ สร้างขึ้นในพื้นที่ขนาด 30 เฮกเตอร์ เป็นอาคาร 3 ชั้น จำนวน 4 อาคาร รวมห้องพักกว่า 200 ห้อง โดยใช้เงินลงทุนร่วมร้อยล้านดอลลาร์ และมีกำหนดแล้วเสร็จใน พ.ศ.2555

 สำนักข่าวฟิฟทีนมูฟ รายงานว่า กลุ่มทุนของกัมพูชา สร้างโรงแรมซรอแอเปรียะวิเหียร์คีซ ขึ้นที่หมู่บ้านซรอแอม ต.กันตวต อ.จวมกะสาน จ.พระวิหาร โดยมีพิธีบวงสรวงก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมี “เซียง จันเฮง” ซึ่งเป็นเจ้าของกลุ่มทุนเฮงพัฒนา พร้อมด้วย พล.อ.กุน กีม รองผู้บัญชาการ และเป็นเสนาธิการร่วมในกองทัพแห่งชาติกัมพูชา และท่านผู้หญิง กึง จันดี กุนกีม ร่วมเป็นประธานในพิธี

ส่วนใครจะได้ประโยชน์จากศึกครั้งนี้มากกว่ากัน ในไม่ช้าคงรู้คำตอบ
เซอร์แฟร็งคลิน เบอร์แมน (ซ้าย) ทนายความฝ่ายกัมพูชา นายวาร์ กิมฮอง รัฐมนตรี-หัวหน้าคณะกรรมการชายแดน กับนายฮอนัมฮอง รองนายกฯ -รมว.ต่างประเทศ เข้าให้ปากคำต่อศาลโลกเป็นคิวแรกในวันเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น