ฟิฟทีนมูฟ/ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลโลกเปิดไต่สวนข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา "เฒ่าฮง" ขึ้นเบิกความรายแรกยันพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทเป็นของกัมพูชา ด้านโฆษกเขมรออกโรงป้ายสีซ้ำไทยยิงถล่มปราสาทพระวิหาร พันธมิตรฯ จี้รัฐถึงเวลาถอนตัวจากมรดกโลก หลัง"สุวิทย์" ถกเหลว จวกยูเนสโกตัวการสุมไฟสงคราม “กษิต” นำทีมเชี่ยวชาญกฎหมาย 3 คนสู้คดีมั่นใจคุณสมบัติพร้อม ขณะที่เขมรต่างแดนรวมตัวประท้วงไทยหน้าศาลโลกเตรียมไปหน้าสถานทูตไทยด้วย ด้าน"มาร์ค" แหลไม่เลิก อ้างยูเนสโกยืนข้างไทย
สื่อต่างประเทศ รายงานว่า ศาลระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เริ่มรับฟังการชี้แจงปัญหาพิพาทชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นคำร้องให้ศาลโลก มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อยับยั้งการปะทะกันของทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากปี 2008 เป็นต้นมา โดย นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ขึ้นเบิกความเป็นคนแรก ก่อนตามด้วยทนายชาวฝรั่งเศส และอังกฤษ
รายงานของสื่อต่างประเทศ ระบุว่า นายฮอร์ นัมฮง ยืนยันในศาลว่า ศาลโลกจะต้องมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในทันที เพื่อป้องกันการปะทะกันอีก เพราะมีการปะทะกันมาอย่างน้อย 4 ครั้ง และทุกครั้งประชาชนกัมพูชา ได้รับความเดือดร้อน และเสียหายจำนวนมาก ตลอดจนเพื่อสั่งการให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ในทันที
ในการเบิกความของนายฮอร์ นัมฮง ระบุว่า เมื่อปี ค.ศ.1962 ศาลโลกเคยตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหาร เป็นของกัมพูชาไปแล้ว โดยยึดแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่กัมพูชายึดถือ ซึ่งหมายรวมถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่ไทยอ้างว่าเป็นอาณาเขตของประเทศไทย และมีการทำแผนที่ขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการทำขึ้นมาเพียงฝ่ายเดียว จึงได้ร้องต่อศาล เมื่อเดือนก่อน ให้มีการตีความใหม่ และตัดสินเพื่อให้เกิดสันติภาพในภูมิภาค
หลังจากนั้น ทนายความชาวฝรั่งเศสของกัมพูชา ขึ้นเบิกความ และพยายามยืนยันถึงคำตัดสินของศาลโลก เมื่อปี 1962 ว่า ศาลโลกได้ตัดสินอย่างละเอียดแล้ว ว่า พื้นที่โดยรอบเป็นของกัมพูชา ด้วยตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่มีการยึดถือและใช้เป็นหลักฐานในการตัดสินเมื่อครั้งก่อน
***พธม.จี้ถอนตัวมรดกโลก
วานนี้ ( 30 พ.ค. ) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อให้เลื่อนวาระแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ยังไม่คืบหน้าว่า จากถ้อยแถลงของนางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการยูเนสโก ที่เสนอให้ไทยและกัมพูชา เจรจากันอีกครั้งก่อนการประชุมมรดกโลก ครั้งที่ 35 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 19-29 มิ.ย.นั้น สะท้อนให้เห็นว่า ที่นายอภิสิทธิ์ เคยระบุว่าผู้อำนวยการยูเนสโก มีความเห็นพ้องกับข้อเสนอให้เลื่อนวาระการประชุมนั้น ไม่เป็นความจริง
นายปานเทพ กล่าวอีกว่า เมื่อลงรายละเอียดในข้อเสนอของยูเนสโก จะเห็นว่ามีความสนใจแต่เรื่องการคุ้มครองซากปราสาทพระวิหาร ที่เป็นสิ่งไม่มีชีวิตมากกว่าที่จะสนใจวิถีทางการสร้างสันติภาพ หรือในประเด็นที่ฝ่ายกัมพูชาใช้พื้นที่ปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นมรดกโลก ในการสั่งสมอาวุธและกำลังทหาร เป็นฐานทัพในการทำร้ายราษฎรไทย
"ยูเนสโกสนใจเพียงสิ่งไม่มีชีวิตมากกว่าจะคำนึงถึงชีวิตมนุษย์ ราษฎรไทย ดังนั้นฝ่ายไทยต้องประณาม และไม่ยอมรับข้อเสนอของบยูเนสโก ที่มีจุดประสงค์ในการร่วมกันละเมิดอธิปไตยของไทย" นายปานเทพ กล่าว
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า จากท่าทีที่ยังไม่มีข้อยุติจากการประชุมในเวทีมรดกโลก เป็นสาเหตุที่สมควรอย่างยิ่งที่ฝ่ายไทยจะต้องถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญามรดกโลก เนื่องจากทั้งฝ่ายกัมพูชา และยูเนสโกไม่มีความจริงใจ มีเพียงการหารือถึงแนวทางที่ไม่เคารพต่ออธิปไตยของชาติไทย ด้วยพฤติกรรมที่เลือกข้าง ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของยูเนสโก จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่เราจะถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก อย่างชอบธรรม
** อัด"มาร์ค"หวังใช้ปมมรดกโลกหาเสียง
ด้านนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวเสริมว่า ภาคประชาชนได้เสนอ 3 ข้อเรียกร้องเพื่อเป็นทางออกในการปัญหา ทั้งการใช้กำลังทหารผลักดันให้ทหาร และชุมชนกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย และการถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก เพราะเชื่อว่าหากฝ่ายไทยทำใน 2 สิ่งนี้แล้ว อำนาจการต่อรองจะตกอยู่กับฝ่ายไทย
เมื่อกัมพูชาและยูเนสโก ต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้สำเร็จ ก็จำเป็นต้องต้องมาอ้อนวอนขอความร่วมมือ และเจรจาให้ได้ข้อยุติก่อนเข้าสู่ขั้นตอนคณะกรรมการมรดกโลกอีกครั้ง จึงเชื่อว่าหากรัฐบาลถอนตัวก็จะสามารถรักษาดินแดนอธิปไตยของชาติไว้ได้ เนื่องจากการยังอยู่ในภาคีมรดกโลกนั้น เป็นการย่ำอยู่กับที่ ไม่เห็นหนทางในอนาคต
นายประพันธ์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การถอนตัวจากภาคีมรดกโลก ถือเป็นหนทางที่ควรทำตามที่ภาคประชาชนเสนอไว้ จึงเชื่อว่าขณะนี้ทั้งนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หวังหยิบมาใช้ในช่วงก่อนการประชุม หรือระหว่างการประชุมมรดกโลก ที่ฝรั่งเศส ซึ่งจะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง เพื่อหวังให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชน ในฐานะที่ได้แก้ไขปัญหาการสูญเสียดินแดนอธิปไตยของชาติ แต่ก็ขึ้นอยู่ว่า ใครจะตัดสินใจทำก่อน
** "มาร์ค" อ้างยูเนสโกยืนข้างไทย
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการหารือระหว่างคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายไทย กับกัมพูชา ที่สำนักงานคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งกัมพูชาออกมาพูดในสิ่งที่ตรงข้ามกับผลการหารือว่า เราทราบว่าฝ่ายกัมพูชาไม่ยินยอม แต่จากการพูดคุยกัน และการที่คณะกรรมการเตรียมร่างข้อเสนอ เพื่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในเดือนมิ.ย.นี้ ก็เป็นไปในทางที่ดี โดยทางสำนักงานยูเนสโก ชี้ให้เห็นว่าการเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชาออกไปก่อนเป็นทางออกที่ดีสุด และเราจะเดินหน้าทำงานตรงนี้ต่อไป ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนั้น นายสุวิทย์ คุณกิตติ จะกลับมารายงานต่อที่ประชุมครม. แต่ขณะนี้มีการชี้แจงต่อศาลโลกในการที่กัมพูชาร้องขอให้ตีความคำพิพากษา เมื่อปี 2505 และขอให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ให้ไทยถอนกำลังทั้งหมดออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งไทยจะต้องแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลก ในวันที่ 30-31 พ.ค.นี้ โดยจากการที่ตนได้สอบถามครั้งล่าสุด ก็พบว่ามีความพร้อม และได้มีการซักซ้อมในประเด็นต่างๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางที่ผู้อำนวยการยูเนสโกชี้ไว้ จะมีผลต่อการตัดสินใจต่อคณะกรรมการมรดกโลก มากน้อยแค่ไหน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เชื่อว่าแนวทางของผู้อำนวยการยูเนสโก มีน้ำหนัก แต่ทั้งหมดอำนาจอยู่ที่คณะกรรมการมรดกโลก
ดังนั้นฝ่ายไทยจึงต้องเดินสายทำความเข้าใจกันต่อ แต่ตนคิดว่าถ้าฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการมรดกโลก มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมคล้ายกับร่างข้อมติที่จะเป็นไปในทางที่ให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารฯ ก็เป็นแนวโน้มที่ดี
เมื่อถามว่ากัมพูชากล่าว ตำหนิผู้อำนวยยูเนสโกว่า ทำเกินหน้าที่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ถ้ากัมพูชาเริ่มโวยวาย ก็แสดงให้เห็นว่าที่จริงแล้วมีความโน้มเอียงเห็นประเด็นที่ไทยเสนอมาตลอด ดังนั้น เราเดินหน้าทำงานในแง่ของการพูดคุยกับคณะกรรมการมรดกโลก
เมื่อถามว่านายสุวิทย์ ที่ต้องทำหน้าที่ไปพูดคุยสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ ก็จะต้องไปรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จะทำให้มีปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่มีปัญหา เพราะเรามีเครือข่าย และเจ้าหน้าที่ที่จะช่วยทำ นายสุวิทย์ ก็ทำเต็มที่ และมีการรายงานถึงตนมาตลอด
เมื่อถามว่าแนวทางที่ไทยจะต่อสู้ในศาลโลกมีอะไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นี่เป็นเรื่องของการพิจารณากรณีที่กัมพูชาร้องขอมาตรการชั่วคราว ซึ่งหลักๆ คือไม่มีความจำเป็นที่ออกมาตรการนี้ อีกทั้งเป็นคำขอก้าวล่วงไปเกินเลยจากคำพิพากษาเดิม และคำตีความที่กัมพูชา พยายามเสนออยู่
ดังนั้น เราจึงต่อสู้ทั้งในแง่ของความจำเป็น ขอบเขตอำนาจของศาล และตัวข้อเท็จจริงของการนำเสนอ โดยหลักของเราคือเมื่อกัมพูชาชนะคดีในรอบที่แล้ว รัฐบาลไทยได้กำหนดขอบเขตวิธีปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก และได้ทำมานานตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งกัมพูชาไม่ได้โต้แย้ง ดังนั้น ตรงนี้ควรจบไปนานแล้ว
**ยังตะแบงMOU43 ไทยได้ประโยชน์
เมื่อถามว่ากัมพูชา อ้างบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 และยังอ้างว่าไทยยอมรับแผนที่ของกัมพูชา 1:200,000 ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ตรงกันข้าม กัมพูชามีเอกสารที่ส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก โดยอ้างถึงเอ็มโอยูไทย-กัมพูชา ปี 2543 ว่าทำให้กัมพูชาไม่สามารถใช้แผนที่ 1:200,000 ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ ซึ่งเอกสารนี้น่าจะมัดกัมพูชา และไทยถือว่าเอ็มโอยูนี้บ่งบอกว่ากัมพูชายอมรับว่ากระบวนการการจัดทำหลักเขต แดนยังไม่จบ เพราะฉะนั้น การอ้างจากคำพิพากษาว่าเขตแดนอยู่ตรงนั้นตรงนี้จึงไม่เป็นความจริง เพราะกัมพูชาลงนามในเอ็มโอยูนี้เองว่าจำเป็นต้องจัดทำหลักเขตแดน
** ผบ.ทบ.สั่งติดตามการประชุมศาลโลก
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวถึง กรณีที่ศาลโลกจะรับฟังคำชี้แจงของไทยและกัมพูชา ต่อกรณีพิพาทพื้นที่บริเวณเขาพระวิหารว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. รับฟังสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเป็นการสื่อสารทางไกลผ่านจอภาพ จากกองกำลังสุรนารี โดยได้สั่งกำชับให้ดูแลขวัญกำลังใจของกำลังพลในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังย้ำให้มีการติดตามการประชุมศาลโลกว่าเป็นอย่างไร มีตัวแทนของกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องร่วมด้วย ให้ทำรายงานติดตามผลเป็นลายลักษณ์อักษรมาด้วย เพื่อบันทึกเป็นข้อมูลไว้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทหารเราได้มีการประสานข้อมูลกับรัฐบาลมาโดยตลอดในเรื่องการปกป้องอธิปไตย ส่วนกรณีที่กัมพูชาจะนำม็อบไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตไทยในกัมพูชานั้น เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ต้องว่ากันไป ข้อมูลข่าวสารออกมาทุกด้าน ทั้งในส่วนของเรา และทางกัมพูชา สิ่งที่ทางกัมพูชาเคยเล่ามาตลอดเป็นจริงหรือไม่
***“ซก อาน” เผยประชุมร่วมยูเนสโกล่ม
เมื่อวานนี้(30พ.ค.) เว็บไซต์ “ฟิฟทีนมูฟ” (www.15thmove.net) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวภายใต้กรอบ “ยุติการเสียดินแดนครั้งที่ ๑๕” ได้โพสต์คำให้สัมภาษณ์ของ นายซก อาน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการมรดกโลกกัมพูชา และหัวหน้าคณะผู้แทนกัมพูชาในการประชุมมรดกโลก ภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ที่ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่สนามบินนานาชาติกรุงพนมเปญ เมื่อช่วงสายวันที่ 29พฤษภาคม 2554 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ (30 พฤษภาคม 2554) โดยระบุว่า การหารือโดยการประสานงานขององค์การยูเนสโก เพื่อซ่อมแซมปราสาทพระวิหารระหว่างกัมพูชาและไทยนั้น แสดงอย่างชัดเจนว่าไม่ได้ผลแต่อย่างใด หากแต่เป็นการประชุมที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ที่องค์การยูเนสโกได้เห็นถึงความต้องการของฝ่ายไทย
รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า ในการประชุมนี้ข้อเรียกร้องของไทยมี 3 ประเด็น คือ 1. ฝ่ายไทยทำอย่างไรก็ตามที่จะขัดขวางไม่ให้คณะกรรมการมรดกโลก ส่งคณะผ้เชี่ยวชาญไปทำการศึกษาและซ่อมแซมปราสาทพระวิหาร ที่ได้รับความเสียหายจากการยิงปืนใหญ่ของทหารไทย จำนวน 414 ลูก มาบนตัวปราสาทพระวิหาร ประเด็นที่ 2 คือ ไทยได้เสนออย่างเปิดเผยว่า ต้องการถอดแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร ออกจากเอกสารคณะกรรมการมรดกโลก และประเด็นที่ 3 ไทยต้องการแสดงว่า การเจรจาระหว่างกัมพูชา-ไทย ควรเป็นแบบทวิภาคี
ในทั้ง 3ข้อเรียกร้องของไทยดังกล่าวนั้น นายซก อาน กล่าวย้ำว่า ทั้งหมดไม่บรรลุผล เป็นการพ่ายแพ้ของไทยทั้งสามประเด็น
ในตอนท้าย นายซก อาน กล่าวย้ำว่า ยูเนสโกไม่ใช่สถานที่สำหรับเจรจาปัญหาพรมแดน ไม่ควรโต้แย้งเกี่ยวกับนโยบาย การปะทะกันโดยกำลังทหารต้องนำไปที่คณะมนตรีความมั่นคง ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งสนับสนุนให้ประธานอาเซียนใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ในเรื่องการโจมตีของไทยต่อกัมพูชา ปัญหาพรมแดนก็เช่นเดียวกับปัญหามรดก ในกรอบของยูเนสโก อะไรที่เราผลักดันอย่างหนัก คือ คณะกรรมการมรดกโลกก็เช่นเดียวกับยูเนสโก ต้องใช้ความพยายามอย่างมากให้มีผู้เชียวชาญเข้ามาซ่อมแซมปราสาทของเราให้ได้
** จวก"แม้ว"บิดเบือนไทยรุกรานเขมร
ด้านนพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ นสพ. สเตรสไทม์ ของสิงคโปร์ โดยมีเนื้อหาพาดพิงบทบาทสถาบันทหาร และกองทัพ โดยเฉพาะบทบาทการปกป้องอธิปไตยประเทศไทย และมีหลายส่วนที่มีการพาดพิงที่ทำให้ผู้ติดตามข่าวเข้าใจว่า กรณีพิพาทไทย-กัมพูชา เป็นการกระทำที่เกิดจากการกระทำของประเทศไทยไปรุกรานประเทศ เพื่อนบ้าน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า เป็นคำสัมภาษณ์ของอดีตนายกฯ ประเทศไทย แต่น่าจะเป็นคำสัมภาษณ์ของอดีตที่ปรึกษานายกฯกัมพูชา มากกว่า
นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวโดยใช้สื่อใต้ดิน และการปลุกระดม ทำให้เกิดคดีความมั่นคงเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองควรช่วยกันปกปักษ์รักษา ดำเนินการตามพันธสัญญาของ กกต.โดยไม่พูดถึงเรื่องนี้
"ขอเตือนคุณทักษิณ ให้หยุดพูดเรื่องเหล่านี้ และที่สำคัญการพาดพิงในลักษณะที่สร้างความเข้าใจผิดนั้นไม่ควรเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารไทม์ออนไลน์ ในฐานะพรรคการเมือง ก็ไม่อยากให้พรรคการเมืองใดเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวทั้งสิ้น และเนื่องจากขณะนี้มีการเผยแพร่ความเคลื่อนไหวดังกล่าว จึงขอให้หน่วยงานของรัฐเร่งชี้แจง และทำความเข้าใจกับบทบาทของสถาบันสูงสุด ที่มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย และอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง" โฆษกปชป. กล่าว
***โฆษกเขมรป้ายสีซ้ำไทยถล่มพระวิหาร
การรณรงค์ของโฆษกกัมพูชาครั้งใหม่ยังมีขึ้นขณะที่ศาลระหว่างประเทศ ได้เปิดการไต่สวนตามคำร้องของกัมพูชาที่ขอให้มีคำสั่งคุ้มครองปราสาทเก่าแก่
กัมพูชากล่าวหาว่า ไทยยิงถล่มปราสาทพระวิหารด้วยปืนใหญ่และปืนครกกว่า 400 นัด และ ได้นำคณะทูตานุทูตขึ้นไปดูความเสียหาย ซึ่งบริเวณบันไดนาคทางขึ้นกับบริเวณโคปะรุชั้นนอก ที่ปรากฏเป็นรอยกะเทาะในบางจุด โดยอาจจะเกิดจากวัตถุเคลื่อนที่เร็ว เช่น สะเก็ดระเบิด หรือสะเก็ดจากกระสุนปืนชนิดต่างๆ
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซนแถลงในช่วงเดียวกันว่า ปราสาทได้พังลงไปส่วนหนึ่ง ซึ่งทราบกันในเวลาต่อมาว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร
“ผู้นำในรัฐบาลของไทยจะต้องตระหนักว่าทั้งโลกมีความทรงจำที่ดี ในต้นเดือนมีนาคม 2554 รัฐบาลไทยได้คัดค้านอย่างแข็งขันเมื่อกัมพูชาจัดคณะทูตทหารจาก 12 ประเทศไปดูด้วยตาของตัวเองความเสียหายต่างๆ ที่เกิดจากกระสุนปืนใหญ่ปืนครกของไทยกว่า 400 นัด รวมทั้งกระสุนลูกหว่านที่ยิงขึ้นไประหว่างวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์”
สำนักตอบโต้เร็ว กองโฆษกรัฐบาลระบุดังกล่าว ในบทความเห็นลงวันที่ 27 พ.ค. 2554 ที่เผยแพร่ผ่านสำนักข่าวกัมพูชา
แต่ฝ่ายทหารของไทยกล่าวว่า ทหารพูชาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นที่หลบ และใช้เป็นที่ตั้งอาวุธหนักยิงเข้าใส่ฝ่ายไทย ทำให้ต้องยิงตอบโต้ตามหลักปฏิบัติทั่วไป “ยิงจากจุดใด ยิงสวนไปที่จุดนั้น” และเวลาต่อมาฝ่ายไทยได้จัดคณะทูตานุทูตไปดูความเสียหายที่ไทยได้รับจากการยิงโดยไม่จำแนกเป้าหมายของฝ่ายกัมพูชาที่ชายแดนด้านนั้น
หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ถ้าหากฝ่ายไทยยิงอย่างตั้งใจเพื่อทำลายปราสาทมรดกโลกด้วยกระสุนปืนใหญ่กับปืนครกจำนวนกว่า 400 นัด ตามที่ฝ่ายกัมพูชากล่าวหา ปราสาทหินเก่าแก่อายุ 1,000 ปี ก็น่าจะทลายราบลงไม่มีชิ้นดี เพราะเป็นเป้าหมายที่โดดเด่นและอยู่ในรัศมีการยิง แม้กระทั่งยิงด้วยปืนจากรถถังเพียงไม่กี่นัด
***เขมรประท้วงไทยหน้าศาลโลก-โฆษกเขมรแนะไปสถานทูตไทยด้วย
เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ระบุมีรายงานสำนักข่าวซีอีเอ็น ช่วงเย็นวันที่ 28 พฤษภาคม ชาวกัมพูชาต่างแดนโพสต์ข้อความเอกสารว่อนอินเตอร์เน็ต เรียกร้องให้ชาวกัมพูชาอยู่ต่างแดนทุกประเทศ ไปรวมตัวกันประท้วงประเทศไทยหน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อกล่าวโทษไทยรุกรานแผ่นดินกัมพูชา ยิงปืนใหญ่กว่า 400 ลูกใส่ปราสาทพระวิหารเสียหาย
เอกสารนั้นกล่าวหาไทยหลายกรณี รวมทั้งการรบที่ปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือน ซึ่งตู่ว่าขึ้นกับจังหวัดอุดรมีชัย ของกัมพูชา เมื่อวันที่ 22 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม ไทยยิงปืนใหญ่จำนวนมากตกแผ่นดินกัมพูชา และราษฎรชาวเขมร
"ยืนยันว่าพวกโจรสยามมีความปรารถนาต้องการกลืนกินแผ่นดินของเขมร และรังแกราษฎรชาวเขมรผู้บริสุทธิ์อีกด้วย และเอกสารเรียกร้องระบุว่า นี่เป็นมูลเหตุที่ชาวเขมรไปประท้วงที่หน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก วัน 28 ถึง 30 พฤษภาคม เป็นเวลาที่ชาวเขมรทั่วโลกมาประท้วงต่อต้านสยามศัตรูผู้รุกราน"
เอกสารดังกล่าวยังเรียกร้องดังนี้ 1.เรียกร้องให้พวกสยามยุติการรุกรานแผ่นดินกัมพูชาในทันที 2.เรียกร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก กล่าวโทษประเทศไทย ละเมิดบูรณภาพดินแดนกัมพูชา และก่อสงครามรุกรานกัมพูชา ทำความเสียหายให้กับปราสาทพระวิหาร 3.ยินดีและเร่งให้รัฐบาลกัมพูชาแก้ปัญหาพรมแดนโดยเข้าร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งหลังจากการประกาศข้อเรียกร้องที่กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 28 พฤษภาคม เวลา 12.30 - 25.50 น. ชาวเขมรต่างแดนจะเคลื่อนขบวนไปหน้าสถานทูตไทยประจำกรุงเฮก เพื่อเรียกร้องให้ยุติสงครามรุกรานกัมพูชาในทันทีก่อนสลายตัว
ด้านนายโกย กวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ชาวเขมรนอกประเทศรวมตัวกันที่กรุงเฮก เพื่อประท้วงกล่าวโทษสยามที่รุกรานดินแดนกัมพูชานั้น ควรไปรวมตัวกันทำการประท้วงที่หน้าสถานทูตไทยประจำกรุงเฮก เพื่อแสดงถึงความเจ็บปวด และควรเปิดโอกาสให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก มีบรรยากาศในการพิจารณาคดี
***"กษิต"นำทีมกม.แจงศาลโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเนินการด้านกฎหมาย เดินทางไปถึงกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์แล้ว เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ประชุมร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยทั้ง 3 คน เพื่อเตรียมการเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทีและกลยุทธ์ของไทยก่อนขึ้นชี้แจงกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ในวันที่ 30-31 พ.ค. เกี่ยวกับกรณีที่ทางประเทศกัมพูชาการยื่นขอคำร้องให้ออกมาตรการชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมแผนที่ทหาร กรมศิลปากร คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าร่วมด้วย
นายกษิต กล่าวว่า ได้ซักซ้อมความพร้อมในการนำเสนอข้อมูลของฝ่ายไทยที่จะนำเสนอต่อศาลโลก โดยได้สรุปสาระสำคัญของผลการประชุมคณะรัฐมนตรีสมัยพิเศษเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงข้อเสนอแนะ แนวทางและข้อพึงระวังที่รัฐบาลไทยเสนอแนะให้คณะดำเนินคดีของฝ่ายไทยพิจารณาที่ผ่านมา ได้พบหารือกับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศทั้ง 3 คนอย่างสม่ำเสมอและคณะทำงานของฝ่ายไทยก็ได้ดำเนินการเตรียมการอย่างใกล้ชิดกับที่ปรึกษาทั้ง 3 คนเป็นเวลากว่า 2 ปี
"การลำดับ และการนำเสนอข้อมูลนั้น ในช่วงเช้าระหว่าง 10.00 - 12.00 น. ฝ่ายกัมพูชาจะเป็นผู้นำเสนอข้อมูลในการขอให้ศาลออกมาตรการชั่วคราว (provisional measures) ก่อน ขณะที่ฝ่ายไทยจะนำเสนอข้อมูลระหว่างเวลา 16.00 - 18.00 น. ตามเวลาในประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย จะกล่าวเป็นคนแรก เพื่อนำเสนอข้อมูลในภาพรวม ตามด้วยที่ปรึกษากฎหมายของไทยทั้ง 3 คน คือ ศาสตราจารย์อลัง เปลเล่ต์ จะกล่าวเกี่ยวกับขอบเขตของประเด็นปัญหา และศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด จะกล่าวเกี่ยวกับขอบเขตทางกฎหมายที่ศาลจะใช้ในการพิจารณาคำร้อง ขณะที่ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ จะกล่าวเกี่ยวกับคำขอเรื่องการออกมาตรการชั่วคราวของกัมพูชา"นายกษิต กล่าว