xs
xsm
sm
md
lg

สู้กับมายาคติขายชาติ ที่รัฐบาลพยายามสร้างขึ้น!!!

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

การต่อสู้เพื่อรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนไทย ลำพังสู้อริราชศัตรูไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ชาติใด เชื่อเถิดว่า ล้วนไม่เกินความสามารถของคนไทยซึ่งได้ชื่อว่า เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน ที่รักษาตัวรอดมาได้ โดยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งในยุคล่าอาณานิคม

แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด ที่จะทำให้ไทยพ่าย จนไม่สามารถรักษาอธิปไตยของตนไว้ได้ในปัจจุบัน หรืออนาคต ก็คือ “คนในของเราเอง” กลุ่มผู้มีอำนาจแต่กลับใช้อำนาจนำ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” แลกมาซึ่ง “ผลประโยชน์ส่วนตน” โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายมากมายมหาศาลที่จะตามมา

การต่อสู้ของภาคประชาชนบนสะพานมัฆวานรังสรรค์ กว่า 10 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า สิ่งที่น่าเหน็ดเหนื่อยใจเป็นที่สุด คือการที่ภาคประชาชน ต้องต่อสู้กับ “มายาคติ” ที่คณะรัฐบาลผู้บริหารประเทศ พยายามจะสร้างขึ้น เพื่อกลบความผิดพลาดจาก “การบริหารราชการที่ล้มเหลว” ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวโดย “เจตนา” หรือ “ไม่เจตนา” ก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น ความพยายามของรัฐบาล ที่จะทำให้คนไทยเชื่อว่า “การถอนตัวจากกรรมการมรดกโลกและภาคีอนุสัญญามรดกโลก จะทำให้ไทยเสียเปรียบ จะไม่มีเวทีในการคัดค้านการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหาร” ทั้งที่ข้อเท็จจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

อันว่า การประท้วงองค์กรระหว่างประเทศด้วยการประกาศถอนตัวจากสมาชิกภาพ หรือการเป็นภาคี มีให้เห็นอยู่เสมอ

อย่างกรณีของยูเนสโกที่ก่อตั้งขึ้นตามธรรมนูญ ปี 2489 ภายใต้เจตนารมณ์ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในประชาคมโลก ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แต่ก็มีหลายต่อหลายครั้งที่สมาชิกของยูเนสโกต้องลุกขึ้นมาประท้วงด้วยการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาพ อันมีสาเหตุมาจากความไม่พอใจต่อท่าที และการดำเนินนโยบายของยูเนสโกที่ไปกระทบต่อ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ของชาติสมาชิก กระทั่งเมื่อการประท้วงเป็นผล และปมขัดแย้งได้รับการคลี่คลาย ชาตินั้นๆ จะกลับเข้าเป็นสมาชิกในภายหลังก็ย่อมเป็นไปได้

เช่น กรณีของ สหรัฐฯ ก็เคยถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกยูเนสโกมาแล้วเช่นกัน เมื่อปี พ.ศ. 2527 แม้แต่ อังกฤษ และสิงคโปร์ก็เคยถอนตัวจากยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2528 เนื่องมาจากทั้ง 3 ประเทศ ไม่พอใจบทบาทของยูเนสโกที่ผลักดันระเบียบข่าวสาร และการสื่อสารโลกใหม่ (NWICO) 12 ข้อ ที่จะเข้าไปควบคุมข้อมูลการผลิตข่าวสารจากตะวันตก ซึ่งกลุ่มประเทศโลกที่สามมองว่า มีชาติมหาอำนาจเพียงไม่กี่ชาติควบคุมอยู่ กลุ่มประเทศโลกที่สามจึงเสนอให้มีการกำหนด แนวปฏิบัติระหว่างประเทศขึ้น แต่ฝ่ายสหรัฐฯ อังกฤษ และสิงคโปร์ มองว่า ตนจะเป็นฝ่าย “เสีย” มากกว่า “ได้”

จากระเบียบดังกล่าว บวกกับเห็นถึงปัญหาการบริหารงานภายในยูเนสโกหลายเรื่องที่ไม่โปร่งใส จึงอ้างเป็นเหตุผลในการประท้วงถอนตัวจากสมาชิกภาพ จนกระทั่งเมื่อยูเนสโก มีการปฏิรูปองค์กรใหม่และจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบธรรมาภิบาลภายในองค์กร ทั้ง 3 ชาติจึงกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง โดยอังกฤษเพิ่งจะกลับเข้าเป็นสมาชิกยูเนสโกปี พ.ศ. 2540 สหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2546 และสิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ. 2550

แอฟริกาใต้ก็เป็นอีกชาติที่เคยประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกยูเนสโกมาแล้ว ในปี พ.ศ. 2499 เนื่องจากไม่พอใจบทบาทของยูเนสโกที่เข้ามาก้าวก่ายปัญหาการเหยียดสีผิวภายในประเทศ โดยยูเนสโกได้ตีพิมพ์และแจกจ่ายเอกสารซึ่งให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องสีผิวให้กับประชาชนในแอฟริกาใต้ แต่เป็นประเด็นอ่อนไหว และสร้างปัญหากับให้แอฟริกาใต้ในขณะนั้น

ขณะที่คณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศเช่นกัน และทำงานสอดประสานกับยูเนสโก จนมีการนำสัญลักษณ์ยูเนสโกเข้ามารวมไว้ในคณะกรรมการมรดกโลก คณะกรรมการมรดกโลกเองก็เคยถูกประท้วงจากประเทศภาคี ในกรณีการดำเนินงานขององค์กร มีผลสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างรัฐชาติไม่ต่างกัน

สำหรับกรณีของไทยนั้น คณะกรรมการมรดกโลก ที่ฝ่ายเลขานุการเป็นเจ้าหน้าที่จากยูเนสโก (อนุสัญญาภาคีมรดกโลก กำหนดให้ยูเนสโกซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ไปทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการมรดกโลกซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศเหมือนกัน) ได้มีมติเมื่อปี 2551 รับขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก มติดังกล่าว ถือเป็น มติที่ละเมิดทั้งกฎบัตรของยูเนสโก และระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมการมรดกโลก

ต่อมา กัมพูชาได้เสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เพื่อทำให้การขึ้นทะเบียนปราสาทมีความสมบูรณ์ โดยเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่บราซิลเมื่อปี 2553 และมีรัฐมนตรีสุวิทย์ คุณกิตติ ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงนามรับมอบไว้นั้น เนื้อหาของแผนบริหารจัดการเป็นที่ชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยของไทยเหนือพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารที่อยู่ในเขตแดนไทยอย่างชัดเจน ซ้ำท่าทีของคณะกรรมการมรดกโลกตลอดมา มีท่าทีเอื้อประโยชน์ต่อกัมพูชาจนทำให้ไทยหวั่นเกรงว่า จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบต่อการดำเนินการของคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งนี้

จึงทำให้ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ที่ปรึกษาคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย และอดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ได้เสนอแนะต่อนายสุวิทย์ คุณกิตติ และรัฐบาล ทั้งก่อนและหลังการประชุมที่บราซิลว่า ถึงเวลาอันควรแล้วที่ไทย ประกาศถอนการเป็นภาคีอนุสัญญาตามบทบัญญัติข้อ 35 แห่งอนุสัญญามรดกโลก ค.ศ.1972 และอาจจะเลยไปถึงการถอนตัวจากยูเนสโก ด้วยเหตุที่ยูเนสโกจงใจทำการอันเป็นอธรรมเบียดเบียนอธิปไตยของไทย ทำการนอกหน้าที่เข้าโยงใยเอื้อประโยชน์แก่กัมพูชาโดยชัดแจ้งตลอดมา (ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 23 มิถุนายน 2552) การถอนตัวจะเป็นการประกาศท่าทีของไทยให้เวทีโลกได้รับรู้ว่า ไทยยึดถือความเป็นอธิปไตย การจะเอาดินแดนของไทยไปเข้าแผนบริหารจัดการของกัมพูชาเป็นเรื่องที่เรายอมไม่ได้ (บทสัมภาษณ์เพิ่มเติมใน สยามรัฐ, กรกฎาคม 28, 2553)

อาจารย์อดุล ที่คลุกคลีกับงานด้านนี้มากว่า 2 ทศวรรษชี้ว่า การถอนตัว ณ เวลานี้ รังแต่จะเกิดผลดีกล่าวคือ ไทยจะไม่ยึดหลักการหรือข้อกำหนดต่างๆ อันจะทำให้กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ และยูเนสโกจะไปตกลงกับกัมพูชาฝ่ายเดียว เพื่อเดินหน้าแผนบริหารจัดการในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร อันจะกระทบอธิปไตยของไทยที่ไม่ร่วมรับรู้ด้วย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ขณะที่ผลเสียที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะกระทบต่อแหล่งมรดกโลกของไทยอื่นๆ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ ยิ่งไม่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยอาจารย์อดุลชี้แจงว่า ไม่พบข้อกำหนดที่จะให้เพิกถอนการเป็นแหล่งมรดกโลก กรณีที่ประเทศนั้นๆ ลาออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และหากยูเนสโกจะมาถอดถอนแหล่งมรดกโลกอื่นๆ ของไทย เพราะเหตุทางการเมืองก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากแหล่งมรดกโลกของไทย ผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว

สำหรับมายาคติเรื่อง เอ็มโอยู 2543 เป็นของดี รักษาอธิปไตยของไทยไว้ได้ ผู้เขียนคงไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอธิบายข้อเท็จจริงให้ยืดยาว เพราะชะตากรรมของนายวีระ สมความคิด และพวก ที่ถูกสั่งจำคุก 8 ปีด้วยข้อหารุกล้ำดินแดนกัมพูชา ทั้งที่ขายืนอยู่บนที่นาคนไทยแท้ๆ คือ พยานหลักฐานให้ได้ประจักษ์ว่า เอ็มโอยู 2543 ยังมีประโยชน์อันใดอีกต่อไปหรือไม่

ครั้งหนึ่ง นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ เคยกล่าวหาท่านอาจารย์อดุล หาว่าที่ท่านออกเรียกร้องให้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ปกป้องอธิปไตยเป็นประเด็นการเมือง เพียงเพราะท่านอาจารย์อดุลที่คนทั่วประเทศนับถือ มีศักดิ์เป็นคุณพ่อของคุณอานิก อัมระนันทน์ ทีมที่ปรึกษาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตผู้นำฝ่ายค้านในเวลานั้น…ต้องยอมรับว่า คำกล่าวหาของนายนพดลในเวลานั้น ไม่มีน้ำหนัก และไร้ราคาจนผู้คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจเพราะคุณค่าของนายนพดลเทียบอะไรไม่ได้เลย กับผู้หลักผู้ใหญ่อย่างท่านอาจารย์อดุล ที่ห่วงใยบ้านเมืองเสมอมา (ประชาชาติธุรกิจ, 30 มิ.ย. 2551)

แต่ในวันนี้ วันที่ภาคประชาชนนำข้อเสนออาจารย์อดุลส่งให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สานต่อ ด้วยการประกาศลาออกจากภาคีมรดกโลก ยกเลิก MOU 2543 และขับไล่ผู้รุกรานในพื้นที่ชายแดนไทย คุณอภิสิทธิ์กลับกล่าวหา ภาคประชาชนหน้าทำเนียบรัฐบาลว่ากำลัง “เล่นการเมือง”

ผู้เขียนแทบไม่เชื่อหูตัวเองว่า คุณอภิสิทธิ์กำลังพูดประโยคเดียวกับที่นพดล ปัทมะเคยพูดไว้ในอดีต ไม่อยากเชื่อเลยจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น