xs
xsm
sm
md
lg

แผนพระวิหารส่อยื้อ "สุวิทย์"ยันไร้ข้อยุติ พธม.ย้ำต้องถอนตัวมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ยูเนสโกส่อเลื่อนถกแผนบริหารปราสาทพระวิหาร ชี้กระทบอธิปไตยไทย พันธมิตรฯย้ำไทยต้องถอนตัวมรดกโลกเท่านั้น แค่เลื่อนประชุมไม่แก้ปัญหา ชี้หวังเตะถ่วงผลักภาระให้รัฐบาลชุดหน้า โดยไม่มีหลักประกันใดๆ “สุวิทย์” ยืนยันยังไร้ข้อยุติ

การประชุมนอกรอบแบบทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา ระหว่างวันที่ 25-26 พ.ค. ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยนายสุวิทย์คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย มีกำหนดหารือกับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เกี่ยวกับแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาเป็นฝ่ายเสนอต่อยูเนสโก สิ้นสุดลงแล้ว

ล่าสุด นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาของไทย กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เนื่องจากกัมพูชาต้องการให้แก้ไขบางข้อความที่ฝ่ายไทยขอให้เลื่อนพิจารณาแผนบริหารจัดการของฝ่ายกัมพูชาออกไป ทั้งนี้ แผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ยังอยู่ในวาระลำดับที่ 62 ในการประชุมใหญ่คณะกรรมการมรดกโลก ระหว่างวันที่ 19-29 มิถุนายนนี้ ที่ประเทศฝรั่งเศส จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือ

ก่อนหน้าการให้สัมภาษณ์ของนายสุวิทย์ มีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า นางอิรินา โกโบวา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก มีท่าทีสนับสนุนข้อเสนอฝ่ายไทยที่ต้องการให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการบริเวณรอบปราสาทพระวิหารในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 19 - 29 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ออกไปก่อน เนื่องจากแผนดังกล่าวไม่มีความสมบูรณ์ และที่สำคัญคือมีพื้นที่บางส่วนรุกล้ำเขตแดนไทย ซึ่งเป็นปมปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงจนถึงขั้นปะทะกันตามแนวชายแดนและมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายไทยที่ต้องการให้เลื่อนการพิจารณาแผนออกไป นับเป็นการสั่งสมความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อท่าทีของไทยที่ดำเนินการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและแผนบริหารจัดการนับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 หลังจากยูเนสโกสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารจนเป็นผลสำเร็จ

แต่หากมองในมุมของฝ่ายไทย นี่อาจถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ยูเนสโกยอมรับฟังเหตุผลที่ไทยยกขึ้นมาโต้แย้งการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาว่าพื้นที่ดังกล่าวยังมีความขัดแย้งสูงเนื่องจากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างหลักฐานกันคนละชิ้นและยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ หากยูเนสโกสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนก็จะนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งไม่สิ้นสุดแต่ครั้งนั้นยูเนสโกไม่ได้รับฟังเหตุผลในการคัดค้านของฝ่ายไทยแต่อย่างใด

ยูเนสโก ได้ยกเหตุผลมาอธิบายตลอดว่า ตามอนุสัญญายูเนสโก มาตรา 11 (3) ซึ่งระบุว่า “The inclusion of a property in the World Heritage List requires the consent of the State concerned. The inclusion of a property situated in a territory, sovereignty or jurisdiction over which is claimed by more than one State shall in no way prejudice the rights of the parties to the dispute.

“การจัดเอาทรัพย์สินใดเข้าอยู่ในบัญชีของมรดกโลก จะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐที่เกี่ยวข้อง การขึ้นทะเบียนทรัพย์สินใดที่ตั้งอยู่ในอาณาเขต ภายใต้อำนาจอธิปไตย หรือ ขอบเขตอำนาจ ที่มีการอ้างสิทธิมากกว่าหนึ่งรัฐ การขึ้นทะเบียนย่อมไม่ทำให้สิทธิเช่นว่านั้นเสียไปแต่อย่างใด”

** พธม.ย้ำไทยต้องถอนตัวมรดกโลกเท่านั้น

ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวจากฝ่ายรัฐบาลว่า ทางคณะกรรมการมรอดโลกเห็นคล้อยตามกับฝ่ายไทยในการขอให้เลื่อนวาระการพิจารณาแผนบริหารจัดการมรดกโลกออกไปก่อน จนกว่าจะมีการปักปันดินแดนไทย-กัมพูชาแล้วเสร็จ ว่า กรณีนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าในท้ายที่สุดจะสามารถเลื่อนออกไปได้ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พยายามกล่าวอ้างหรือไม่ เพราะทั้งฝ่ายกัมพูชาก็ยังไม่มีท่าทีว่ายอมรับหรือไม่ รวมทั้งคณะกรรมการมรดกโลกเองก็ไม่ได้มีความชัดเจนออกมา เนื่องจากเป็นเพียงการกล่าวอ้างถึงความเห็นของผู้อำนวยการองค์การยูเนสโกเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นที่สิ้นสุดว่าจะมีการเลื่อนในหัวข้อดังกล่าวจริงหรือไม่

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความเชื่อที่ว่าการเลื่อนการพิจารณาแผนบริการจัดการได้นั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะแท้ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเลยแม้แต่น้อย กลับทำให้ปัญหาคาราคาซังยืดเยื้อไปถึงรัฐบาลชุดหน้า โดยที่ไม่มีหลักประกันว่าจะมีแนวทางต่อเรื่องนี้อย่างไร เพราะไม่มีพรรคการเมืองให้ใดนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้เลย ดังนั้นการปล่อยผ่านไปถึงรัฐบาลชุดหน้าก็เสมือนเป็นการปัดสวะ โยนเผือกร้อน ไม่แก้ปัญหาให้เสร็จสิ้น ผลักภาระให้ตกอยู่ภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลชุดถัดไป โดยจากผลการสำรวจล่าสุดก็มีแนวโน้มว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แต่หากมีการาสูญเสียในเวทีมรดกโลกในรัฐบาลชุดหน้า ก็จะโทษแต่รัฐบาลชุดหน้าไม่ได้ ต้องโทษรัฐบาลชุดนี้ที่ทิ้วปัญหา มี่แก้ไขและปล่อยให้ยืดเยื้อถึงรัฐบาลชุดหน้า

“แนวทางของพันธมิตรฯและภาคประชาชนได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า ปัญหาเรื่องนี้ควรแก้ไขให้เสร็จสิ้นทันทีก่อนสิ้นสุดรัฐบาลชุดนี้ด้วยการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก เพื่อประท้วงต่อมติคณะกรรมการมรดกโลกทั้งหมด และไม่ให้ปัญหาบานปลายไปถึงรัฐบาลชุดหน้า แต่รัฐบาลนี้ก็เพิกเฉยไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวราวกับว่ามีความพยายามในการสมรู้ร่วมคิดให้เรื่องนี้ตกอยู่ภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลชุดหน้า ซึ่งก็รู้ดีแก่ใจแล้วว่าจะเป็นใครมาเป็น” นายปานเทพ ระบุ

ถ้อยแถลงของฝ่ายไทยทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กลับเดินแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยอ้างเพียงว่าการจัดทำเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ เรื่องนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการไม่ยอมยืนยันในเส้นเขตแดนของตัวเอง แล้วกลับไปเดินหน้าถลำลึกไปต่อสู้ในประเด็นเนื้อหาบนเวทีศาลโลก ทั้งที่สามารถปฏิเสธการยอมรับอำนาจของศาลโลกได้ในหลายเหตุผล

“การที่ฝ่ายไทยถลำเข้าไปต่อสู้ในศาลโลก อาจทำให้สถานการณ์บานปลาย โดยศาลโลกอาจอกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายกัมพูชาได้ และทำให้มรดกโลกที่ไทยทำได้เพียงถ่วงเวลาออกไปนั้น ก็จะมีปัญหาในที่สุด” นายปานเทพ กล่าว

ส่วนกรณีที่โฆษกกระทรวงกลาโหม กัมพูชา ออกมาแถลงข่าวตอบโต้ว่าสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ์ รมว.กลาโหม เปิดเผยกับชาวไทยนั้นไม่เป็นความจริง ในกรณีที่จะมีการเปิดประชุมจีบีซี โดยกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ นายปานเทพ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ทางกัมพูชาเปิดเผยข่อเท็จจริงที่ว่า หากต้องการให้มีการเปิดประชุมนั้น ฝ่ายไทยต้องทำการยืนยันในชุดทางออก (Package of Solutions) ที่เป็นผลจากการประชุม รมว.ต่างประเทศ 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 9 พ.ค.เสียก่อน แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราพูดมาตลอดเป็นความจริงทุกประการ ว่าก่อนจะมีการประชุมจีบีซีจะต้องมีผู้สำรวจเข้ามาจากต่างชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้ทีโออาร์ที่รัฐบาลไปตกลงมา และมีข้อมูลบางประการที่รัฐบาลยังปกปิดอยู่ไม่ให้ประชาชนได้รับรู้ ทั้งที่ในความเป็นจริงการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับต่างชาติ จะไปลงนามใดๆไม่ได้ ต้องผ่านรัฐสภามาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญเสียก่อน ตั้งแต่ขั้นตอนการขอกรอบการประชุม เพราะฉะนั้นรัฐบาลชุดนี้ไม่ควรที่จะใช้อำนาจที่เกินขอบเขตไม่ได้โดยเด็ดขาด

ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดยืนของพันธมิตรฯยังยืนยันที่ฝ่ายไทยต้องถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก แม้จะมีการเลื่อนวาระการประชุมแล้วก็ตาม นายปานเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังมีความเสี่ยงในอนาคตอยู่มาก เพราะการเลื่อนพิจารณาแผนบริหารจัดการก็เป็นเพียงแค่การหนีเอาตัวรอดของรัฐบาลชุดนี้ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าที่ผ่านมาถลำลึกไปมาก จึงไม่ทำการหยุดยั้ง หรือไม่พยายามทำให้เลิกการทำแผนหรือเลิกมติคณะกรรมการมรดกโลกย้อนหลังที่ให้ร้ายกับประเทศไทย ดังนั้นการหยุดยั้งโดยการถอนตัวจากภาคีมรดกโลกตั้งแต่ตอนนี้คือ ทางออกสุดท้ายก่อนที่จะสิ้นวาระของรัฐบาลชุดนี้ การปล่อยให้รัฐบาลชุดหน้าเป็นผู้ตัดสินใจก็เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง โดยไม่มีหลักประกันใดๆทั้งสิ้น ในขณะที่พรรคการเมืองต่างๆก็ไม่ได้มีนโยบายในเรื่องนี้เลย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องรณรงค์โหวตโน เมื่อฝ่ายการเมืองไม่เป็นความหวังในการแก้ปัญหาดินแดนอธิปไตยของชาติ

เมื่อถามว่าหากมีการเลื่อนวาระการพิจารณาแผนบริหาร จะมีผลต่อการชุมนุมต่อไป หรือยุติการชุมนุมหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ต้องมีการประชุมกันอีกครั้ง หากมีการเลื่อนอย่างชัดเจนแล้ว แต่ตอนนี้ยังคลุมเครืออยู่มาก

โฆษกพันธมิตรฯยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากมีการเลื่อนจริงตามข่าว ก็เชื่อได้ว่ามีการเจรจาแลกเปลี่ยนต่อรองระหว่างกัน โดยที่ตนได้รับรู้มาคือ หากคณะกรรมการมรดกโลกตัดสินใจเลื่อนจริงตามที่ฝ่ายไทยเสนอ ก็ต้องแลกมาด้วยการขอเข้ามาบูรณะปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ ตรงนี้ต้องย้ำว่าตัวปราสาทและพื้นที่ขอบๆนั้นได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 51 เหลือเพียงแผนบริหารจัดการเท่านั้นที่ยังมีปัญหาอยู่ โดยที่ฝ่ายไทยก็ไม่ได้มีท่าทีในการปฏิเสธในสิ่งที่คณะกรรมการมรดกโลกได้อนุมัติไปแล้ว การเดินหน้าบูรณะปฏิสังขรณ์ก็เป็นการตอกย้ำว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา เพราะเป็นการร้องขอโดยฝ่ายกัมพูชา โดยอ้างว่าได้มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการปะทะของฝ่ายไทย เป็นการรุกคืบสร้างหลักฐานเพื่อนำไปใช้ในเวทีนานาชาติ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 05 เช่นเดียวกับที่ยูเนสโกสนับสนุนเงิน 5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯให้กัมพูชานำมาซ่อมและสร้างตลาดในดินแดนประเทศไทย เป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยโดยยูเนสโกชัดเจน

“สิ่งที่ยูเนสโกพยายามทำอยู่เป็นการละเมิดธรรมนูญของยูเนสโกเอง ที่จุดชนวนสงครามโดยยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลก ที่สมควรต้องประณาม เพียงเท่านี้ไทยก็มีความชอบธรรมที่จะถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลกแล้ว” นายปานเทพ กล่าว

**จำลอง” ลั่นต้องยกเลิกทันที

ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคประชาชนได้แสดงความเห็นมานานแล้วว่า เราไม่เห็นด้วยกับการให้มีผู้สังเกตการณ์จากทั้งอินโดนีเซีย หรือประเทศอื่นๆเข้ามา แต่รัฐบาลกลับเลี่ยงใช้คำว่าคณะผู้สำรวจล่วงหน้าแทน ซึ่งมีหน้าที่ในการสำรวจดูที่พักของคณะผู้สังเกตการณ์ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนที่ต้องมีคณะล่วงหน้ามาก่อน เหมือนว่าฝ่ายไทยยอมทำตามที่กัมพูชาต้องการทั้งหมด ส่วนเรื่องที่อยู่ในคณะกรรมการมรดกโลกนั้น ตนเห็นว่าไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก ขอให้ยกเลิกวาระการประชุมดังกล่าวไปเลย

**มาร์ค อ้าง“สุวิทย์” บอกข่าวดี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวคณะกรรมการมรดกโลก มีมติเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการของกัมพูชาออกไปว่า ขณะนี้กำลังรอรายละเอียดอยู่ ทราบเบื้องต้นแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดี น่าจะมีความเป็นไปได้ว่า มีการตกลงในการที่จะเลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไป เพราะเป็นไปตามที่ฝ่ายไทยได้เสนอมาตลอด ส่วนรายละเอียด จะให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าชุดเจรจา ได้รายงานอีกที เพราะเพิ่งประชุมเสร็จเมื่อคืนนี้ 26 พ.ค. ซึ่งเบื้องต้นนายสุวิทย์ ได้ส่งข้อความว่า เป็นไปในทางที่ดี มีข่าวดี

**หาแนวทางสู้ศาลโลกต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางต่อไปไทยจะสู้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าในส่วนของมรดกโลก เบื้องต้นคือเมื่อมีการเลื่อนเราก็จะมีการพูดคุยกันต่อว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในเรื่องของการปะทะ และเรื่องอื่นๆ สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 มันน่าจะต้องมีการมาทบทวนกันว่าแนวทางที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน คงจะต้องไปดูในเวทีอื่นๆ เพราะอย่างลืมว่า เรามีเรื่องของคดีที่ทางกัมพูชาไปร้องศาลโลก

เมื่อถามว่า จะมีการเสนอให้ถอนวาระนี้ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ เวลานี้กำลังรอว่าข้อตกลงที่ได้คุยกันไว้น่าจะได้ข้อยุติ ในรายละเอียดมันคือรูปแบบไหน แต่ที่นายสุวิทย์ รายงานเป็นข้อความสั้นๆ มา คือมีข่าวดี เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วบทสรุปในเรื่องนี้คณะกรรมการมรดกโลกควรจะทบทวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอีกรอบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าในเบื้องต้นเลื่อนการพิจารณาในการประชุมใหญ่ เดือนมิถุนายน และระหว่างเดือนมิถุนายนปีนี้ไปสู่ปีหน้าควรจะมาดูว่า แนวทางที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่อีกครั้ง

**โวสำเร็จเกิดจากไม่ถอนภาคีมรดกโลก

เมื่อถามว่า ท่าทีของคณะกรรมการมรดกโลกฟังเหตุผลไทยพอสมควร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ฟัง และเราก็พยายามทำงานเรื่องนี้มาต่อเนื่องโดยตลอด โดยตนเองได้มีการพูดคุยกับทางยูเนสโกหลายครั้ง ขณะเดียวกันรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ทำงานหนัก เมื่อถามว่า คิดว่าท่าตัดสินใจตามคำเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรว่าให้ถอนตัวออกจากภาคี วันนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บอกตรงๆ ว่า ถ้าเราถอนตัวออกก่อนหน้านี้ เขาก็ต้องฟังความอยู่ข้างเดียว คือจากกัมพูชา และก็จะเดินหน้าต่อ มันก็จะมีความตรึงเครียดมากขึ้น และเราก็จะเสียเปรียบมากขึ้น ฉะนั้นที่เรายืนยันในการเข้าไปชี้แจงในเวทีต่างๆ ตนยังเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมาก และรัฐบาลก็ทำเต็มที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ รวมถึงการต่อสู่ที่ศาลโลกก็เช่นกัน

เมื่อถามว่า การประชุมจีบีซี จะมีต่อหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องเดินต่อ ไม่ได้ไปผูกกับมรดกโลกอยู่แล้ว แต่ที่เขาให้สัมภาษณ์วันก่อน เข้าใจว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พูดชัดอยู่แล้ว ที่ไปอ้างว่า เราไม่ดำเนินการ ซึ่งเข้าใจทางกัมพูชาพยายามให้เกิดภาพกลไกสองฝ่ายไม่เดิน หรืออะไรต่างๆ ซึ่งมันไม่จริง และอินโดนีเซียจะยืนยันได้ เมื่อถามว่า ในเมื่อทุกอย่างแสดงให้เห็นว่า 2 ฝ่ายคุยกันได้ จะมีผลต่อศาลโลกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นั้นคือประเด็นที่เรานำเสนอแน่นอน ว่ากลไกเรื่องนี้ เราสามารถที่จะมาแก้ไขได้ในกรอบ ซึ่งมันมีข้อตกลง และกัมพูชาก็มาตกลงกับเราเองในเรื่องของเอ็มโอยู ฉะนั้นมันไม่มีความจำเป็นอะไรที่ศาลโลกจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการแก้ไขปัญหาตรงนี้ ในชั้นนี้

**ฝันทบทวนเรื่องทั้งหมดอีกครั้ง

เมื่อถามว่า คิดว่าคนไทยควรจะใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร เกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหารอย่างไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ของให้ติดตามข่าวสารทุกด้าน และต้องเข้าใจถึงสภาพความเข้าใจของต่างประเทศด้วย มันมีมุมมองซึ่งกว้างขวางไปกว่าเรื่องที่เราสนใจกันในส่วนของเราและกัมพูชา ฉะนั้น เราจำเป็นจะต้องเดินแนวทางให้สามารถทำให้ชาวโลกเข้าใจจุดยืนของเราด้วย ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะเราเสียเปรียบ มาตั้งแต่กรณีที่รัฐบาลชุดก่อนไปยอมให้เขาขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว ซึ่งตอนนี้เรากำลังแก้ไข กลับมาเพื่อให้เห็นความชัดเจนว่า มันทำไม่ได้ เพราะยังมีปัญหาเรื่องของเขตแดนอยู่

เมื่อถามว่า โอกาสตรงนี้จะทำให้คนไทย รวมใจเป็นหนึ่งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอให้คนไทยรวมใจเป็นหนึ่ง เพราะเรื่องนี้ควรมีผลประโยชน์เดียว เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน คือผลประโยชน์ของประเทศ และคนที่ทำงานยืนยันแน่นอนชัดเจนว่าทำงานมีแต่ผลประโยชน์ประเทศไทย เมื่อถามว่า เมื่อคณะกรรมการมรดกโลกถอนการพิจารณาแผนบริหารจัดการของกัมพูชา ก้าวต่อไปของรัฐบาลไทยคืออะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในกรอบมรดกโลกคงเป็นเรื่องการทำความเข้าใจกับกรรมการทั้งหลายว่าเหตุผลที่เดินต่อไม่ได้เพราะมีปัญหาที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดการปะทะ ฉะนั้นควรจะมีการทบทวนเรื่องทั้งหมดอีกครั้ง

เมื่อถามว่า กัมพูชาคงไม่ยอมคิดว่าเขาจะเดินเกมต่ออย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แน่นอน เราก็ต้องพยายามหาคำตอบซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งตรงนี้จะต้องคุยกับทางกัมพูชา และยูเนสโกด้วย เมื่อถามว่า ห่วงว่าชายแดนจะกลับมาปะทุอีกรอบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ควรจะมีเหตุผลอะไรที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ากัมพูชาดำเนินการอย่างนั้น เราก็ต้องปกป้องสิทธิของเรา และต้องให้ชาวโลกเขารู้ว่าที่เกิดปัญหาขึ้นมาไม่ใช่ฝ่ายเรา

**เผยผลถกรอบ 3 ไทย-เขมร

รายงานข่าวแจ้งว่า คืนวันที่ 25 พ.ค.ตามเวลาไทย ถือ เป็นการพบกันครั้งที่ 3 ใน การหารือทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา ที่สำนักงานใหญ่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะฝ่ายไทย ได้หารือกับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อย้ำจุดยืนไทยที่จะให้เลื่อนวาระการพิจารณาแผนการจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหาร โดยให้เหตุผลว่ากัมพูชาส่งเอกสารล่าช้า และแผนขาดความสมบูรณ์ตามแนวทางของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยกำหนดพื้นที่กันชนไม่ครบทุกด้าน ซึ่งพื้นที่กันชนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมี เพื่อป้องกันอันตรายต่อพื้นที่มรดกโลก

ทั้งนี้ บรรยาการการหารือเป็นไปด้วยความตึงเครียด ต่างฝ่ายต่างยืนยันจุดยืนตัวเอง และกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเป็นฝ่ายทำให้ตัวปราสาทพระวิหารเสียหาย โดยเฉพาะฝ่ายไทยย้ำว่า สถานการณ์ปัจจุบันหากยอมให้มีการยอมรับแผนดังกล่าว จะขัดต่อธรรมนูญยูเนสโก้ จนในที่สุดการหารือต้องยุติลง โดยฝ่ายกัมพูชายืนยันไม่ยอมให้มีการเลื่อนวาระพิจารณาแผนบริหารจัดการฯ ออกไปอย่างแน่นอน จึงทำให้การเจรจาโดยมีคนกลางคือ นางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ครั้งนี้ล้มเหลว

ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกจึงเชิญประชุมแต่ละประเทศ เพื่อสอบถามความขัดข้องของแต่ละฝ่าย ก่อนจะให้ประชุมร่วมกันอีกครั้ง และหวังจะหาแนวทางให้ทั้ง 2 ประเทศ ตกลงกันได้ และหากต้องไปใช้มติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ในวาระที่ 12 ฝ่ายไทยจะต้องไปเสนอขอเลื่อนวาระนี้ออกไป

**ถก"ซกอัน"ที่ปารีสล่ม เขมรลั่นไม่เลื่อน

นายสุวิทย์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังยุติการหารือว่า การหารือไม่เป็นผลสำเร็จ และเนื่องจากไม่อยากจะเผชิญหน้ากันอาจมีการใช้ภาษาที่รุนแรง ทำให้รู้สึกไม่ดีต่อกัน ดังนั้นจึงต้องยุติการหารือ

ส่วนกรณีที่กัมพูชายื่นต่อศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาที่ไทยแพ้คดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 คณะทำงานของไทย นำโดยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะเข้าชี้แจงต่อศาลโลกในวันที่ 30-31 พ.ค.นี้ โดยกัมพูชาต้องการให้ไทยถอนทหารออกไปจากพื้นที่ทับซ้อน และยึดแผนที่ของฝรั่งเศสเป็นหลัก

ขณะที่จุดยืนของประเทศไทย คือ ยืนยันต่อศาลโลกว่าไม่ได้รุกล้ำดินแดนกัมพูชา และไม่ยึดแผนที่ของฝรั่งเศส ดังนั้นไทยจะไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยและกัมพูชาได้ตั้งผู้พิพากษาเฉพาะกิจเป็นชาวฝรั่งเศสฝ่ายละ 1 คน รวมกับผู้พิพากษาประจำที่ศาลโลกอีก 15 คน เพื่อพิจารณาตีความตามที่กัมพูชายื่นเรื่องมายังศาลโลก อย่างไรก็ตาม คาดว่าศาลโลกจะสามารถตีความคำพิพากษาเพิ่มเติมได้ ในราวเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

**"กษิต"นำทีมกฎหมายไทยบินสู่กรุงเฮก

นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในคืนวันที่ 27 พ.ค. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะนำคณะเดินทางไปยังกรุงเฮก ประเทศ เนเธอร์แลนด์ เข้าร่วมให้ข้อมูลทางวาจา กรณีกัมพูชา ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ให้ตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหาร ปี2505 อีกครั้ง และกรณีกัมพูชายังยื่นคำร้องเพิ่มเติมให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างการรอตีความดังกล่าว ดังนั้นศาลโลกจึงนัดทั้งไทยและกัมพูชา ไปให้ข้อมูลกับศาลโลกระหว่างวันที่ 30 - 31 พฤษภาคมนี้ ซึ่งคณะของไทยประกอบด้วย ข้าราชการในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ เจ้ากรมแผนที่ทหาร กรมศิลปกร ทั้งนี้ เมื่อไปถึงทันที นายกษิตได้นัดประชุมเตรียมการภายใน ร่วมกับนายวีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ เฮก ในฐานะผู้แทนไทยที่จะให้ข้อมูลต่อศาลโลก ร่วมกับเจ้าหน้าทีมกฎหมายและที่ปรึกษาชาวต่างชาติ ทั้ง3 คน เพื่อย้ำถึงความพร้อม

ส่วนการเตรียมแนวทางการต่อสู้คดี กระทรวงการต่างประเทศทราบได้สักระยะหนึ่งแล้ว จึงสามารถคาดการณ์ว่ากัมพูชาจะนำเรื่องดังกล่าวขึ้นสู่ศาลโลกอีกครั้ง จึงมีการเตรียมการเรื่องเอกสาร การจัดจ้างที่ปรึกษาชาวต่างชาติ เพื่อสนับสนุนการทำงานของฝ่ายไทย

การพิจารณากรณีที่กัมพูชายื่นคำร้องให้มีมาตรการคุ้มมครองชั่วคราวหลังจากทั้ง2ฝ่ายให้ข้อมูลจะใช้เวลาประมาณ 3สับดาห์ ว่ามีความจำเป็นจะใช้มาตรการดังกล่าวหรือไม่ ส่วนการตีความคำพิพากษา ปี2505 นั้น คาดว่าศาลโลกจะนัดทั้ง2ฝ่ายอีกครั้งเพื่อให้ข้อมูลลายลักษณ์อักษร ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม นี้และจะใช้เวลาในการพิจารณานานถึง1-2ปี

**เผยกำหนดการศาลโลกนัดไทย-เขมร

มีรายงานว่า มีการเปิดเผยกำหนดการศาลโลกนัดไทยและกัมพูชา(Schedule for the hearings) 2 รอบ โดยวันจันทร์ที่ 30 พ.ค. ศาลโลกจะนัดฝ่ายกัมพูชา10 a.m.-12 noon: (Cambodia) นัดฝ่ายไทย4 p.m.-6 p.m.: (Thailand) รอบ 2 วันอังคารที่ 31 พ.ค.นัดฝ่ายกัมพูชา10.30 a.m.-11.30 a.m.: (Cambodia) และนัดฝ่ายไทย5 p.m.-6 p.m.: (Thailand).
กำลังโหลดความคิดเห็น