ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปัญหาเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งตลอดแนวชายแดนจนเกิดการปะทะมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาที่ต้องการใช้มรดกโลกแห่งนี้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินพัฒนาเขตพื้นที่เหนือยังไปไม่ถึงฝั่ง ยูเนสโกกลับลำยอมเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารออกไปก่อนตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายไปตกลงเรื่องการปักปันเขตแดนกันเป็นที่พอใจก่อนเพราะยิ่งดึงดันจะยิ่งสร้างความขัดแย้งไม่จบสิ้น แต่สุดท้าย “สุวิทย์” บอกยังไร้ข้อยุติ
การประชุมนอกรอบแบบทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา ระหว่างวันที่ 25-26 พ.ค. ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย มีกำหนดหารือกับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เกี่ยวกับแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาเป็นฝ่ายเสนอต่อยูเนสโก สิ้นสุดลงแล้ว
ล่าสุด นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาของไทย กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เนื่องจากกัมพูชาต้องการให้แก้ไขบางข้อความที่ฝ่ายไทยขอให้เลื่อนพิจารณาแผนบริหารจัดการของฝ่ายกัมพูชาออกไป ทั้งนี้ แผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ยังอยู่ในวาระลำดับที่ 62 ในการประชุมใหญ่คณะกรรมการมรดกโลก ระหว่างวันที่ 19-29 มิถุนายนนี้ ที่ประเทศฝรั่งเศส จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือ
ก่อนหน้าการให้สัมภาษณ์ของนายสุวิทย์ มีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า นางอิรินา โกโบวา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก มีท่าทีสนับสนุนข้อเสนอฝ่ายไทยที่ต้องการให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการบริเวณรอบปราสาทพระวิหารในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 19 - 29 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ออกไปก่อน เนื่องจากแผนดังกล่าวไม่มีความสมบูรณ์ และที่สำคัญคือมีพื้นที่บางส่วนรุกล้ำเขตแดนไทย ซึ่งเป็นปมปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงจนถึงขั้นปะทะกันตามแนวชายแดนและมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายไทยที่ต้องการให้เลื่อนการพิจารณาแผนออกไป นับเป็นการสั่งสมความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อท่าทีของไทยที่ดำเนินการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและแผนบริหารจัดการนับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 หลังจากยูเนสโกสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารจนเป็นผลสำเร็จ
แต่หากมองในมุมของฝ่ายไทย นี่อาจถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ยูเนสโกยอมรับฟังเหตุผลที่ไทยยกขึ้นมาโต้แย้งการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาว่าพื้นที่ดังกล่าวยังมีความขัดแย้งสูงเนื่องจากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างหลักฐานกันคนละชิ้นและยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ หากยูเนสโกสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนก็จะนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งไม่สิ้นสุดแต่ครั้งนั้นยูเนสโกไม่ได้รับฟังเหตุผลในการคัดค้านของฝ่ายไทยแต่อย่างใด
ยูเนสโก ได้ยกเหตุผลมาอธิบายตลอดว่า ตามอนุสัญญายูเนสโก มาตรา 11 (3) ซึ่งระบุว่า “The inclusion of a property in the World Heritage List requires the consent of the State concerned. The inclusion of a property situated in a territory, sovereignty or jurisdiction over which is claimed by more than one State shall in no way prejudice the rights of the parties to the dispute.
“การจัดเอาทรัพย์สินใดเข้าอยู่ในบัญชีของมรดกโลก จะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐที่เกี่ยวข้อง การขึ้นทะเบียนทรัพย์สินใดที่ตั้งอยู่ในอาณาเขต ภายใต้อำนาจอธิปไตย หรือ ขอบเขตอำนาจ ที่มีการอ้างสิทธิมากกว่าหนึ่งรัฐ การขึ้นทะเบียนย่อมไม่ทำให้สิทธิเช่นว่านั้นเสียไปแต่อย่างใด”
นั่นหมายความว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ไม่ได้ทำให้การอ้างสิทธิเหนือดินแดนที่มีข้อพิพาทต่อกันเสียไปแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุด ยูเนสโก ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ซึ่งจะต้องมีแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบเพื่อให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นไปอย่างสมบูรณ์และเดินหน้าไปได้นั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง ตราบใดที่ฝ่ายไทยและกัมพูชายังมีข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนกันอยู่ การที่จะให้ฝ่ายไทยละปัญหานี้ไว้เพราะมีอนุสัญญายูเนสโก มาตรา 11 (3) ระบุเอาไว้ชัดแจ้งอยู่แล้ว ไม่ใช่หลักประกันใดๆ ที่จะทำให้ฝ่ายกัมพูชาไม่ล่วงละเมิดอธิปไตยของไทย
กรณีการละเมิดข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 หรือ MOU 43 ทั้งการสร้างถนน สร้างวัด สร้างชุมชนบนพื้นที่ที่มีปัญหาต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์นั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากัมพูชาไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงแต่อย่างใด แม้ฝ่ายไทยจะส่งหนังสือประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่าก็ตาม
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ดำรงอยู่กว่า 2 ปีหลังปราทสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทำให้ยูเนสโกได้รู้ว่าการสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเป็นผลสำเร็จแต่เพียงฝ่าย โดยไม่ได้พิจารณาถึงความสมบูรณ์ของการเป็นมรดกโลกโดยรวมที่ฝ่ายไทยเคยมีข้อเสนอจะนำพื้นที่บริเวณรอบนอกที่มีโบราณสถานสำคัญๆ เช่น สระตราว สถูปคู่ ฯลฯ ซึ่งอยู่ฝั่งไทยไปขึ้นทะเบียนคู่ไปด้วยนั้น นำมาซึ่งปัญหาไม่สิ้นสุด เพราะฝ่ายไทยและกัมพูชาไม่มีจุดใดหรือผลประโยชน์ร่วมใดที่จะเจรจาประนีประนอมกันได้ ปมปัญหาทั้งหมดจึงถูกดึงไปสู่ความขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดนที่ยังโต้แย้งกันไม่จบสิ้นเป็นสำคัญ
กระทั่งสุดท้าย กัมพูชาได้เดินหน้านำเรื่องขึ้นสู่ศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 โดยกัมพูชาอาศัยมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลโลก ที่ระบุว่า “ในกรณีที่มีข้อพิพาทว่าด้วยความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลพึงตีความตามคำร้องของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” โดยมาตรา 60 อนุญาตให้กัมพูชายื่นได้โดยลำพัง ไม่จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากไทยและไม่ได้กำหนดว่าต้องยื่นภายในระยะเวลาเท่าไร
พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลตีความคำพิพากษาข้อ 2 ข้อเดียว โดยขอให้ศาลวินิจฉัยและชี้ขาดว่าประเด็นที่ว่า “พันธะที่ประเทศไทยจะต้อง “ถอนกำลังทหาร หรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงในอาณาเขตของกัมพูชา (ตามข้อ 2 ของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาเมื่อปี 2505) เป็นผลโดยตรงของการที่ไทยมีพันธะที่จะต้องเคารพต่อบูรณภาพของดินแดนของกัมพูชา ทั้งนี้ ดินแดนดังกล่าว อันเป็นที่ตั้งของปราสาทและบริเวณใกล้เคียง ได้ถูกปักปันตามเส้นเขตแดนที่ลากไว้บนแผนที่ (ซึ่งศาลได้เคยวินิจฉัยไว้ในหน้า 21 ของรายงานคำพิพากษา)”
แปลข้อความดังกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ กัมพูชาต้องการให้ศาลชี้ชัดว่า ที่ศาลเคยพิพากษาว่าไทยจะต้องถอนกองกำลังออกจากปราสาทพระวิหารและ “บริเวณใกล้เคียง” (vicinity) ในเขตกัมพูชานั้น ขอบเขตของ “บริเวณใกล้เคียง” ถูกกำหนดด้วยเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ใช่หรือไม่
ทั้งนี้ เส้นเขตแดนตามแผนที่ในความหมายของกัมพูชาก็คือ แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ขณะที่ไทยโต้แย้งว่าเส้นเขตแดนต้องยึดเอาตามเส้นสันปันน้ำที่ตกลงกันไว้ในสนธิสัญญา
อนึ่ง ศาลโลกได้รับพิจารณากรณีกัมพูชายื่นคำร้องให้ตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหารปี 2505 พร้อมยื่นคำร้องเพิ่มเติม ให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างรอตีความ และศาลโลกนัดไทยและกัมพูชาให้ข้อมูลในวันที่ 30-31 พฤษภาคมนี้ หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายให้ข้อมูล ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ว่ามีความจำเป็นจะใช้มาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวหรือไม่ ส่วนการตีความคำพิพากษาปี 2505 คาดว่าศาลโลกจะนัดทั้ง 2 ฝ่าย ให้ข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม 2554 และจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1-2 ปี
ไม่แน่ว่าถึงที่สุดแล้ว ยูเนสโก อาจต้องรอให้ข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนได้รับการตีความจากศาลโลกเสียก่อนถึงจะสามารถเดินหน้าแผนบริหารจัดการพื้นที่บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารซึ่งตามแผนที่สมบูรณ์แล้วจะกินเนื้อที่มายังบริเวณพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ที่มีปัญหาเผชิญหน้ากันอยู่จนถึงขณะนี้ก็เป็นได้
หรืออีกทางหนึ่งอาจเป็นไปได้เช่นกันว่า ผลจากการตีความของศาลโลกและความพยายามของยูเนสโกที่จะทำให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารมีความสมบูรณ์ จะยิ่งทำให้ไทย-กัมพูชา ขัดแย้งกันหนักขึ้นไปอีก