xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนาบริเวณรอบปราสาทพระวิหารเป็นของใคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

* อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สำนักกฎหมาย Freshfields Bruckhaus Deringer (กรุงปารีส). นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด. นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำพิพากษาอาจเป็นที่สิ้นสุดในทางกฎหมาย แต่ความชอบธรรมนั้นใคร่ครวญได้ไม่สิ้นกาลเวลา (A judgment may be final in law; its legitimacy is another matter in time). การอ่านคำพิพากษาที่แยบยล เช่น คดีปราสาทพระวิหาร ควรอ่านเชิงวิเคราะห์โดยประมวลใจความคำพิพากษาทั้งฉบับ มิเพียงเรียงบรรทัดแต่พึงถอดรหัส. บทย่อและหมายเหตุคำพิพากษา (ซึ่งควรอ่านประกอบกัน) ทำขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านเห็นเหตุผลโดยรวมของมติเสียงข้างมากอันเป็นเพียงแค่ข้อพิจารณาหลักส่วนหนึ่ง แต่การศึกษาคำพิพากษาให้สมบูรณ์นั้นอย่างน้อยต้องพิจารณาทั้งบรรทัดที่ปรากฏและไม่ปรากฏ ทั้งจากคำพิพากษา ความเห็นผู้พิพากษา บันทึกกระบวนการพิจารณาและคำคู่ความ.

แม้คำพิพากษาจะมีอายุเกือบครึ่งศตวรรษและมีคำแปลภาษาไทยพอให้ศึกษา แต่ก็ยังมีผู้กล่าวอ้างถึงเนื้อหาของคำพิพากษาแตกต่างกันไปหลายทาง บ้างก็ว่าศาลได้ตัดสินว่าไทยต้องยอมรับผูกพันตามแผนที่ภาคผนวก ๑ ที่กัมพูชานำมาอ้าง ไทยจึงสมควรยอมรับเส้นเขตแดนในแผนที่ฯตามที่กัมพูชาเรียกร้อง บ้างก็ว่าคำพิพากษาตัดสินเฉพาะตัวปราสาทฯเท่านั้น บ้างก็ว่าปราสาทฯยังเป็นของไทยและไทยมีสิทธิเอาคืนมาได้ บ้างก็ว่าไทยถูกกฎหมายปิดปากเพราะปฏิบัติยอมรับแผนที่ฯเองตลอด ๕๐ กว่าปีและจะมาปฏิเสธแผนที่ฯในวันนี้ไม่ได้ ฯลฯ เกรงว่าคำกล่าวทั้งหลายนี้อาจทำให้เกิดความสับสน จึงทำหมายเหตุท้ายคำพิพากษาดังต่อไปนี้.

เรื่องตัวปราสาทพระวิหาร

ตัวปราสาทฯเป็นของกัมพูชาตามคำพิพากษา แม้ไทยจะไม่เห็นด้วยแต่ในฐานะอารยประเทศผู้มีสัจจะและเคารพกฎหมาย ไทยก็เคารพคำพิพากษาและปฏิบัติตามโดยดี. ประชาชนคนไทยควรจะภาคภูมิใจ เพราะยังมีประเทศมหาอำนาจในโลกที่เรียกตนว่าเป็นผู้นำแต่เมื่อศาลโลกพิพากษาไม่ตรงความคาดหวัง ก็กลับเมินเฉยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา. ส่วนที่มีผู้กล่าวว่าไทยสงวนสิทธิเอาปราสาทฯคืนมาได้นั้น ย่อมกระทำได้และควรกระทำอย่างแยบยล การสงวนสิทธิในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่ใช่แค่เรื่องการขอให้ศาลทบทวนคำพิพากษาหรืออายุความเพียงอย่างเดียว แต่สามารถสงวนอย่างทั่วไป ต่อเนื่อง และไม่มีระยะเวลาจำกัด หลายประเทศในโลกที่เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศไม่เพียงแต่นิยมสงวนสิทธิเท่านั้น แต่กลับประท้วงปฏิเสธอย่างเอิกเกริกจนเกิดคำศัพท์ที่มีนัยสำคัญว่า “persistent objector” (ซึ่งล้วนมีบริบทแตกต่างกันไป). แม้จะไม่มีหลักประกันใดว่าการสงวนสิทธิจะก่อให้เกิดสิทธิ ฉันใดก็ฉันนั้น รัฐย่อมพึงระวังสงวนสิทธิไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ในอนาคตอย่างแยบยล หากแต่มิใช่เป็นเงื่อนไขที่ขัดขวางโอกาสสร้างประโยชน์ร่วมกันในปัจจุบัน.

เรื่องบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ

บริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯเป็นของกัมพูชาตามคำพิพากษา แต่ศาลมิได้ระบุให้แน่ชัดว่า “บริเวณใกล้เคียง” (in the vicinity) ดังกล่าวมีความหมายว่าอย่างไร. ไทยเองเคยทำรั้วรอบปราสาทฯเพราะเห็นว่า “บริเวณใกล้เคียง” ดังกล่าวมีอยู่จำกัดและไม่รวมถึงพื้นที่บนยอดเขาพระวิหารทั้งหมด ซึ่งกัมพูชาไม่เห็นด้วย. ในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ กัมพูชาได้ขอให้ศาลตีความคำพิพากษาและแม้อาจจะหวังผลในเรื่องเกี่ยวกับ “บริเวณใกล้เคียง” แต่ใจความสำคัญของคำร้องขอ (Application) ของกัมพูชากลับมิได้ขอให้ศาลตีความคำว่า “บริเวณใกล้เคียง” โดยตรง แต่เป็นการพยายามขอให้ศาลตีความอย่างกว้างไปในทางว่า “บริเวณใกล้เคียง” ดังกล่าวย่อมต้องพิจารณาตามแผนที่ฯ. สุดท้ายแล้วศาลจะรับตีความหรือไม่อย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับข้อพิจารณาสำคัญหลายประการซึ่งเมื่อคดียังไม่เสร็จสิ้นก็มิควรจะกล่าวไว้อย่างละเอียดในที่นี้ อย่างไรก็ดี หากเราต้องการทราบในเบื้องต้นว่า “บริเวณใกล้เคียง” นั้นศาลอาจหมายความว่าอย่างไร เราสามารถ “ถอดรหัส” ถ้อยคำในคำพิพากษาได้ดังต่อไปนี้.

(๑.) ผู้คนทั่วไปมักพยายามหาคำตอบโดยแปลถ้อยคำว่า “in the vicinity” ที่ศาลกล่าวไว้ในบทปฏิบัติการท้ายคำพิพากษาในหน้า ๓๗ (คำพิพากษาฉบับฝรั่งเศสใช้คำว่า “dans ses environs” ซึ่งต้องพิจารณาประกอบฉบับภาษาอังกฤษที่ศาลยึดเป็นหลักในคดีนี้) แต่คำดังกล่าวทั้งในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสก็แปลทั่วไปได้ว่า “บริเวณใกล้เคียง” หรือ “บริเวณรอบๆ” ตัวปราสาทฯ. หากเราอาศัยการเทียบเคียงคำว่า “vicinity” ในจุดอื่นของคำพิพากษา เช่น ในหน้า ๒๑ หรือ ๓๕ ก็จะพบว่าศาลใช้อย่างกว้างๆเพื่อกล่าวถึง “บริเวณเดียวกัน”. เช่นเดียวกับคำว่า “region” ก็ถูกนำมาใช้หลายครั้งซึ่งมิอาจตีความเทียบกับบริบทของบริเวณรอบปราสาทฯได้โดยชัดได้. ที่สำคัญ ศาลใช้คำว่า “vicinity” ในหน้า ๓๐ เพื่ออธิบายถึงละแวกอื่นที่ไม่ได้อยู่บริเวณเดียวกับตัวปราสาทหรือยอดเขาพระวิหาร ดังนั้น “vicinity” ในหน้า ๓๐ ดังกล่าวจึงมิอาจนำมาเทียบเคียงกับ “vicinity” ในบทปฏิบัติการณ์ในหน้า ๓๗ ได้. คำว่า “vicinity” จึงมีความหมายที่ไม่แน่นอนในตัวเอง.

(๒.) แท้จริงแล้วคำรหัสที่อาจสำคัญมากกว่าคำว่า “vicinity” กลับเป็นคำที่ปรากฏอยู่ในย่อหน้าแรกของคำพิพากษาหลังที่ศาลได้ทบทวนคำแถลงสรุปของไทยและกัมพูชา นั่นก็คือถ้อยคำว่า “and its precincts” ในหน้า ๑๔ ซึ่งศาลทวนข้อสรุปของศาลเองที่สรุปไว้ว่า กัมพูชากล่าวอ้างว่าไทยได้ละเมิด “อำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหารและเขตที่เกี่ยวข้อง” (sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear and its precincts). คำว่า “precincts” ที่ปรากฏในคำพิพากษานี้แปลอย่างเป็นกลางได้ว่า “เขตที่เกี่ยวข้อง” แต่มีนัยที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอย่างน้อยสี่ระดับ.

(ก.) นัยระดับแรก คำว่า “precincts” นั้นเป็นศัพท์ที่เข้ารหัสเฉพาะได้หลายทาง. หากถอดรหัสตามนัยรัฐศาสตร์ คำนี้หมายถึงเขตการปกครองหรือเขตบริหารที่แบ่งตามพื้นที่ เช่น ในเมืองแห่งหนึ่งอาจมี เขตสถานีตำรวจ หรือ เขตเลือกตั้ง แบ่งออกเป็นเขต (precincts) ต่างๆ. แต่หากถอดรหัสตามนัยศาสนาหรือโบราณคดีแล้ว จะแปลว่าบริเวณทั้งหลายที่ถือรวมเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่เดียวกัน เช่น เราอาจเรียก เจดีย์ อุโบสถ ศาลาและลานวัดทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในกำแพงวัด ว่าเป็น precincts ของวัด โดยการใช้ลักษณะนี้มักใช้รูปพหูพจน์. การถอดรหัสคำว่า precincts ในคำพิพากษาต้องแปลจากบริบทที่ศาลกล่าวว่า “sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear and its precincts”. คำถามคือศาลอธิบายถึง precincts ของ “region” (บริเวณ) หรือ ของ “Temple” (ตัวปราสาทฯ) เพราะหากเป็นกรณี “Temple” เราอาจตีความได้ว่าศาลกำลังพูดถึงบริเวณบันไดนาค โคปุระ บ่อน้ำ หรือรอยกำแพงรอบๆตัวปราสาทฯที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหารเท่านั้น. แต่หากมองว่าศาลกำลังพูดถึง “region” ก็อาจมีผู้มองว่าศาลกำลังกล่าวถึงเขตการบริหารปกครองต่างๆ ที่กัมพูชาอาจแบ่งได้ในบริเวณเขาพระวิหารหรือไม่. การตีความโดยเน้นที่ “region” นี้อาจรับฟังได้ยาก เพราะศาลกล่าวถึงคำว่า precincts เป็นพหูพจน์ ยากที่จะฟังว่ากัมพูชาจะแบ่งเขตในพื้นที่รอบปราสาทฯเป็นหลายเขต. อีกทั้งในคำพิพากษาฉบับภาษาฝรั่งเศสศาลยังได้ใช้คำว่า “environs” ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป.

(ข.) นัยระดับที่สอง วิธีที่ศาลกล่าวถึงคำว่า precincts นี้สื่อรหัสพิเศษ เพราะในย่อหน้าแรกศาลใช้คำนี้โดยการยกถ้อยคำ (quote) มาจากคำพิพากษาอีกฉบับในคดีเดียวกัน นั่นคือคำพิพากษาเรื่องเขตอำนาจ (jurisdiction) ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ค.ศ ๑๙๖๑ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าศาลมีอำนาจรับคดีปราสาทพระวิหารไว้พิจารณาในขั้นเนื้อหาต่อไปได้ (ซึ่งประมาณเกือบ ๑ ปีต่อมาศาลก็ได้ทำคำพิพากษาอีกฉบับในขั้นเนื้อหาที่ถูกกล่าวถึงในหมายเหตุฉบับนี้). วิธีการกล่าวของศาลมีนัยพิเศษเพราะ ในย่อหน้าแรกศาลยกถ้อยความมาอ้างว่า กัมพูชากล่าวอ้างว่าไทยได้ละเมิด “อำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหารและเขตที่เกี่ยวข้อง” (sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear and its precincts) แต่ย่อหน้าถัดมาในหน้าเดียวกัน ศาลได้อธิบายย้ำถึงกรอบของคดีโดยใช้ถ้อยคำซ้ำดังเดิม แต่ละคำว่า “precincts” ออกไป กล่าวคือศาลกล่าวว่า ประเด็นแห่งคดีนี้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่อง “อำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร” (sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear). การที่กล่าวถึงคำว่า “precincts” ในตอนแรกและละคำทิ้งในย่อหน้าถัดมาจะตีความอย่างไรนั้น มองได้หลายทาง. อย่างไรก็ดี หากคำว่า “precincts” ไม่ได้เป็นคำที่คำว่า “ปราสาทพระวิหาร” กินความถึงอยู่แล้ว ก็แสดงว่าศาลเผลอยกข้อความขัดกันเองโดยมิได้อธิบายไว้ หรืออาจผิดพลาดพิมพ์ตกไป ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความละเอียดของศาลแล้ว มิน่าเป็นเช่นนั้น. เหตุที่เป็นไปได้ข้อหนึ่ง ก็คือศาลละคำว่า “precincts” เพราะคำว่า “the region of the Temple of Preah Vihear” ชัดเจนพอแล้ว จึงไม่ต้องกล่าวซ้ำ ซึ่งย่อมหมายความว่า “precincts” คือบริเวณในทางโบราณคดีที่เป็นส่วนหนึ่งของปราสาทฯนั่นเอง.
(ค.) นัยระดับที่สาม การที่ศาลอ้างถึง “precincts” และละคำนี้จากประโยคที่ซ้ำกันในย่อหน้าถัดไปนั้น สมควรต้องอ่านรหัสควบคู่ไปกับสิ่งที่ศาลกล่าวต่อมาในหน้าถัดไป โดยในหน้า ๑๕ ศาลกล่าวสรุปว่า ศาลปฏิเสธที่จะนำข้อต่อสู้เชิงประวัติศาสตร์ ศาสนาและโบราณคดีมาประกอบการพิจารณาคดี. การกล่าวเช่นนี้ตีความได้หลายทาง ทางหนึ่งคือเป็นเครื่องยืนยันว่า “precincts” ถูกกล่าวถึงในบริบทเชิงศาสนาและโบราณคดี (แต่เมื่อศาลเลือกละคำๆนี้ออก ย่อมมีทางตีความที่แตกต่างกันไปได้อีก).

(ง.) นัยระดับที่สี่ คำว่า “precincts” ในหน้าที่ ๑๔ นี้ ศาลใช้คำภาษาฝรั่งเศสว่า “environs” ซึ่งก็เป็นคำแปลคำเดียวกันกับคำว่า “vicinity” ในบทปฏิบัติการหน้า ๓๗. แม้คำพิพากษาจะกำหนดให้ใช้ฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลักก็ตาม แต่การเลือกคำแปลเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้พิพากษาและนักกฎหมายที่ดีทุกคนต่างตระหนัก หากหน้าที่แพทย์คือการจับชีพจร หน้าที่ของนักกฎหมายก็คือการจับถ้อยคำ และผู้ทำหมายเหตุก็มิได้คิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องบังเอิญที่มีการใช้คำแปลฝรั่งเศสตรงกัน.

(๓.) นอกจากการถอดรหัสเรื่องคำว่า “vicinity” โดยอาศัยคำว่า “precincts ข้างต้นแล้ว การถอดรหัสคำว่า “vicinity” ย่อมทำได้โดยการตีความจากบริบทโดยรวมของบทปฏิบัติการทั้งสามข้อในหน้า ๓๖ – ๓๗. สมควรจะกล่าวทบทวนถ้อยคำที่ศาลใช้มีใจความดังนี้

(๑) ศาลเห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตใต้อธิปไตยของกัมพูชา; และจากเหตุดังกล่าว (in consequence)

(๒) ไทยจึงต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากปราสาทฯหรือในบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ (in its vicinity) บนอาณาเขตของกัมพูชา (on Cambodian territory); และ

(๓) ไทยจึงต้องคืนบรรดาวัตถุที่นำออกไปจากปราสาทฯ หรือบริเวณปราสาทฯ (the Temple area) ตามที่กัมพูชาสามารถระบุได้.
เราจะเห็นว่าบทปฏิบัติการข้อแรกมุ่งไปที่ตัวปราสาทฯอย่างเดียว คำที่เป็นปัญหาคือคำว่า “vicinity” ในข้อที่ ๒ นั้น สามารถถอดรหัสโดยการอ่านรหัสควบคู่กับคำว่า “in consequence” และ”Temple area”. ในทางหนึ่งกล่าวได้ว่าการที่ศาลใช้คำว่า “vicinity” ในข้อ ๒ และใช้คำว่า “Temple area” ในข้อ ๓ ทั้งที่ก็เป็นเรื่องผลที่ตามมาจากข้อ ๑ เหมือนกันแสดงให้เห็นว่าในบริบทโดยรวมศาลก็หมายถึง บริเวณที่ใกล้ชิดหรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวปราสาทฯ (precincts). ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า “in consequence” สื่อให้เห็นว่าการที่ไทยต้องถอนเจ้าหน้าที่ออกจากปราสาทฯหรือในบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯเป็นผลที่ตามมา หมายความว่าศาลกำลังเน้นไปที่เหตุเกี่ยวกับตัวปราสาทฯเป็นสำคัญ. ถามว่าอะไรคือสาระสำคัญของตัวปราสาทฯที่ทำให้ไทยต้องถอนเจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ ตอบได้หลายอย่าง แต่วิธีตอบวิธีหนึ่งคือการกลับไปอ่านรหัสถ้อยคำของศาลในหน้า ๑๕ ที่อธิบายเกี่ยวกับปราสาทฯไว้ว่า ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๐๕) ปราสาทฯยังคงถูกใช้เป็นที่สำหรับ “การจาริกแสวงบุญ” (is still used as a place of pilgrimage). เมื่อปราสาทฯเป็นของกัมพูชาและศาลเชื่อว่าชาวกัมพูชาหรือผู้ใดยังเดินทางไปจาริกแสวงบุญได้ หากไทยจะส่งกองทหารหรือตำรวจไปยืนประชิดสถานที่จาริกแสวงบุญดังกล่าว ก็คงเป็นผล (consequence) ที่มิเหมาะสมนัก. การถอดรหัสคำว่า vicinity ลักษณะนี้จึงเป็นการเน้นเพื่อมิให้ไทยแทรกแซงหรือก่อกวนการใช้ปราสาทฯจากบริเวณใกล้เคียง มิได้หมายถึงบริเวณอื่นรอบๆ หรือตามแผนที่ฯแต่อย่างใด.

(๔.) คำรหัสสำคัญอีกคำหนึ่งที่ควรเน้นถึงก็คือคำว่า “บริเวณปราสาทฯ” (Temple area) ซึ่งมิได้ปรากฏอยู่แต่ในบทปฏิบัติการข้อ ๓. เท่านั้น แต่เป็นคำที่ศาลใช้บ่อย เช่นในหน้า ๑๕, ๑๗, ๑๙, ๒๑, ๒๒, ๒๙, ๓๐, ๓๓ และ ๓๖. หากเราเทียบเคียงจากบริบทในบทปฏิบัติการว่า “Temple area” ต้องเป็นบริเวณที่มีโบราณวัตถุที่สามารถถูกเคลื่อนย้ายได้ ก็ย่อมสนับสนุนการตีความว่า “Temple area” นั้นต้องหมายถึง “precincts” ในเชิงศาสนาและโบราณคดีเท่านั้น และไม่สามารถรวมไปถึงบริเวณพื้นที่รอบๆตัวปราสาทอย่างอื่นได้. ข้อสรุปนี้จะสำคัญพิเศษหากพิจารณาถึงคำว่า “Temple area” ที่ศาลใช้ในหน้า ๑๗ ซึ่งตีความได้ว่าศาลต้องการจำกัดประเด็นพื้นที่ให้อยู่เฉพาะสิ่งที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทฯเท่านั้น.

(๕.) นอกจากนี้ หากเราพิจารณาบริบทโดยรวมของคำพิพากษา เราจะเห็นว่าศาลเขียนคำพิพากษาด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งว่าศาลไม่ได้วินิจฉัยเรื่องเรื่องเส้นพรมแดนและแผนที่ฯแต่อย่างใด (หัวข้อนี้จะอธิบายต่อไปในหมายเหตุฉบับนี้) ซึ่งย่อมสอดคล้องกับแนวการตีความคำว่า “vicinity” ว่ามิอาจรวมไปถึงบริเวณอื่นๆโดยกว้างได้.

(๖.) จากรหัสที่ถอดมาข้างต้น อาจสรุปได้ว่า คำว่า “บริเวณใกล้เคียง” (vicinity) สามารถตีความเทียบเคียงได้กับ “precincts” หรือ “Temple area” ซึ่งย่อมส่งผลให้คำพิพากษาจำกัดพื้นที่ของกัมพูชาว่าได้แก่บริเวณที่ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวปราสาทฯเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็คงต้องฟังนักโบราณคดีของแต่ละฝ่ายอธิบายว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างไร. อนึ่ง ด้วยเวลาอันจำกัด ผู้ทำหมายเหตุได้เลือกกล่าวถึงเฉพาะรหัสที่ปรากฏให้เห็นชัดบางรหัส สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงข้อพิจารณาส่วนหนึ่งที่ยังถกเถียงได้ อีกทั้งยังมีวิธีการอื่นบางวิธีที่กัมพูชาเองก็อาจนำมาใช้ถอดรหัสเพื่อตีความไปอีกทาง แต่ผู้ทำหมายเหตุพึงเก็บไว้กล่าวภายหลังคดีสิ้นสุด. ในฐานะผู้ที่พอมีประสบการณ์ช่วยทำคดีในศาลโลก ไม่เป็นที่สงสัยว่าบรรดานักกฎหมายทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างได้ศึกษาคำเหล่านี้แล้ว อีกทั้งถ้อยคำอื่นๆ ทั้งในเชิงศัพทมูลวิทยา อัครวิเคราะห์ บริบทวิเคราะห์ ทั้งในคำพิพากษาฉบับอังกฤษและฝรั่งเศสและคำคู่ความทั้งฉบับอักษรและวาจา ประกอบกับการประพฤติปฏิบัติของคู่พิพาท แนวการวินิจฉัย และหลักการตีความอื่นซึ่งมีอีกหลายวิธี. สมควรเน้นเพิ่มว่า ไม่ว่าคู่พิพาทในคดีจะสงวนชั้นเชิงและท่าทีตามความจำเป็นอย่างไร แต่สำหรับผู้ที่มีใจเป็นธรรมและเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมนั้น สิ่งที่ไม่ควรหลีกหนีก็คือความจริง.

อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple
กำลังโหลดความคิดเห็น