xs
xsm
sm
md
lg

"หมาป่ากับลูกแกะตัวน้อย" วาทะไทย-กัมพูชา ณ ศาลโลก (ยกแรก)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮกขึ้นให้การในศาลโลกวันจันทร์ 30 พ.ค.2554
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สำนักกฎหมาย Freshfields Bruckhaus Deringer (กรุงปารีส). นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนบท "วาทะไทย-กัมพูชา ณ ศาลโลก (ยกแรก) ชี้ให้เห็นการพยายามสร้างภาพ "หมาป่ากับลูกแกะ" ณ กรุงเฮก ของกัมพูชาและการตอบโต้จากฝ่ายไทย โดยข้อเขียนของ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ มีดังนี้

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก (“ศาลโลก”) ได้เผยแพร่เอกสาร Verbatim Record CR 2011/13 และ CR 2011/14 ซึ่งเป็นบันทึกคำแถลงที่กัมพูชาและไทยได้แถลงเป็นวาจาต่อศาล เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 เกี่ยวกับกรณีที่กัมพูชาได้ขอให้ศาลมีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ขอยกใจความของถ้อยคำบางตอนมาสรุป ดังนี้

นายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา
“...ท่านประธานศาล ท่านผู้พิพากษาที่เคารพ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ จะให้กัมพูชามีความหวังได้อย่างไร ในเมื่อตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายไทยนั้นจะยอมประชุมด้วยก็เพียงเพื่อเป็นข้ออ้างที่จะผัดผ่อนประเด็นต่อไปเรื่อยๆ เป็นวงจรไม่รู้จบ แสดงให้เห็นถึงแผนการถ่วงเวลาและเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ของฝ่ายไทย…”
(CR 2011/13 หน้า 23)

นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรไทยประจำเนเธอร์แลนด์
“…ภาพของลูกแกะตัวน้อยที่ถูกจับจ้องโดยเจ้าสุนัขป่าตัวร้าย ซึ่งกัมพูชาพยายามจะวาดภาพให้ศาลเห็นนั้น ล้วนเป็นเท็จ ไทยเองเมื่อสมัยศตวรรษที่ 19 ก็คุ้นเคยกับกรรมของลูกแกะตัวน้อยเป็นอย่างดี ไทยจึงหวังอย่างจริงใจว่าจะไม่มีประเทศใดรวมไปถึงกัมพูชาที่จะต้องรับชะตากรรมลูกแกะซ้ำในสมัยศตวรรษที่ 21...”
(CR 2011/14 หน้า 21)

เซอร์แฟรงคลิน เบอร์แมน ทนายความฝ่ายกัมพูชา
“…กัมพูชาไม่แน่ใจว่า “พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร” ที่สื่อมวลชนและทางการไทยอ้างถึงนั้น หมายถึงพื้นที่ใดโดยแน่ชัด แต่ดูเหมือนว่าจะหมายถึงดินแดนใกล้เคียงกับตัวปราสาทพระวิหารที่ไทยนำมาอ้างอธิปไตยภายหลังศาลมีคำพิพากษา…”
(CR 2011/13 หน้า 27)

“…แน่นอน ไทยย่อมต้องอ้างว่า การที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษานั้น กัมพูชาทำไปเพื่อหวังได้สิ่งที่ถูกศาลปฏิเสธไปเมื่อครั้งที่แล้ว...แต่ไทยเองคงกลืนน้ำลายตัวเองไม่ลง เพราะไทยเองนั้นเป็นฝ่ายปลุกเสกการตีความคำพิพากษาขึ้นมาใหม่อย่างวิปลาส...เพียงเพื่อจะผูกมัดกัมพูชาว่าเป็นผู้ตีความคำพิพากษาไปเองฝ่ายเดียว”
(CR 2011/13 หน้า 35)

ศาสตราจารย์อลัง เปลเล่ต์ ทนายความฝ่ายไทย
“…วันนี้กัมพูชาพยายามใช้วิธีอ้างว่าไทยยังคงมีหน้าที่ต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกไปจากบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาท ทั้งๆ ที่ไทยเองก็ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว...และเมื่อเช้านี้กัมพูชาก็ยอมรับต่อศาลเองว่า ไทยกับกัมพูชาเพิ่งมามีความเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษาไม่ตรงกันเมื่อไม่นานมานี้...นั่นไงครับท่านประธานศาล! กัมพูชากำลังสารภาพว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาจนกระทั่งไม่นานมานี้ กัมพูชาก็เห็นตรงกับไทยว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยถอนกำลังออกไปเรียบร้อยแล้ว...”
(CR 2011/14 หน้า 25)

ศาสตราจารย์ฌอง-มาร์ค โซเรล ทนายความฝ่ายกัมพูชา
“…กัมพูชาหวังพึ่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวจากศาลก็เพราะการเจรจาหยุดยิงระหว่างไทยและกัมพูชาในระดับนายทหารนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความเปราะบาง...สาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าหากไทยก้าวเข้าไปสู่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่เปราะบางด้วยแล้ว ก็ไม่มีอะไรประกันว่าการเจรจาหยุดยิงจะได้รับการรับรองให้แน่นอน ดูตัวอย่างความติดขัดในอดีตได้จากการที่รัฐสภาไทยไม่ให้ความยินยอมข้อตกลงเกี่ยวกับคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมระหว่างสองประเทศเป็นต้น...ความวุ่นวายทางการเมืองของไทยย่อมอาจนำไปสู่การปะทะกันด้วยอาวุธได้อีก...”
(CR 2011/13 หน้า 45-47)

ศาสตราจารย์ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ทนายความฝ่ายไทย
“…เวลาเกือบ 50 ปีหลังคำพิพากษานี้ไม่ใช่เวลาน้อยๆ แต่กัมพูชากลับขอให้ศาลมองทุกอย่างเป็นปัจจุบัน ขอศาลให้สั่งให้ทหารไทยต้องถอนกำลังออกไปจากตัวปราสาท ทั้งๆที่ตอนศาลมีคำพิพากษาทหารเหล่านั้นยังไม่ทันได้เกิดเสียด้วยซ้ำ...ราวกับว่าคำพิพากษาถูกหุ้มด้วยวุ้นถนอมอาหาร ไม่แปรเปลี่ยนข้ามทศวรรษหรือแม้ศตวรรษ หากเรายอมรับหลักการแบบนี้ แล้วระยะเวลาตีความจะไปสิ้นสุดที่จุดใด?...”
(CR 2011/14 หน้า 33)

ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ ทนายความฝ่ายไทย
“…การตั้งคณะผู้สังเกตการณ์จากประเทศอินโดนีเซียและการกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาโดยคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ย่อมทำให้ข้ออ้างเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนของมาตรการคุ้มครองชั่วคราวนั้นฟังไม่ขึ้น...”
(CR 2011/14 หน้า 54)

---------------------------------------------

หมายเหตุ
** ศาลโลกยังคงรับฟังการแถลงด้วยวาจาต่อในวันที่ 31 พฤษภาคม 2554.
**บทวิคราะห์ประเด็นคดีปราสาทพระวิหาร อ่านเพิ่มได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple/summary1962
**เกี่ยวกับผู้เขียน อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สำนักกฎหมาย Freshfields Bruckhaus Deringer (กรุงปารีส). นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
**วาทะไทย-กัมพูชา ณ ศาลโลก (ยกแรก) เผยแพร่โดยเวปไซต์ "ประชาไท"
กำลังโหลดความคิดเห็น