xs
xsm
sm
md
lg

พธม.จี้กองทัพป้องดินแดน-จวก“ยูเนสโก”เล่นละครตบตาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คกก.ป้องกันราชอาณาจักรไทย ยื่นหนังสือปลุกกองทัพออกมาป้องดินแดน หากยังนิ่งเตรียมใช้ กม.อาญาฟัน ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ขอดูท่าทีประชุมมรดกโลกนอกรอบ หากเลือกการพิจารณาแผนจัดการพระวิหาร พร้อมทบทวนการชุมนุม “อ.สมปอง”ชี้ ผอ.ยูเนสโก เอนเอียงมาฝ่ายไทยให้ตายใจ แท้ที่จริงหวังช่วยเขมรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารโดยเร็ว หวั่นหากขัดแย้งมากกว่านี้ จะผิดธรรมนูญของยูเนสโก แนะควรโต้แย้งเขมรใช้ปราสาทซ่องสุมอาวุธรุกรานไทย จนต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตัวเอง "มาร์ค"เชื่อ ยูเนสโก อาจหนุนเลื่อนแผนบริหารจัดการเขาพระวิหาร

วานนี้ (26 พ.ค.) ที่บ้านพระอาทิตย์ คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย โดย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมย์ นายเทอดภูมิ ใจดี และนายนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการฯ พร้อมด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมกันแถลงข่าวความเคลื่อนไหวของการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน

นายประพันธ์ แถลงว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการชุมนุมที่ผ่านมา 122 วัน ที่ได้มีการนำเสนอข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ 1.ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 2.ถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก และ 3.ผลักดันชุมชนและทหารกัมพูชาออกจากดินแดนไทย แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลและผู้มีอำนาจ รวมทั้งยังไม่เห็นหนทางที่จะมีผู้ใดมาทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ

โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพที่มีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันอธิปไตยของชาติ ภาคประชาชนจึงเห็นว่า จากที่ผ่านมาเราได้ให้เกียรติกองทัพมาโดยตลอด แต่เมื่อถึงเวลาที่เห็นว่าไม่มีหนทางหรือบุคคลใดจะมาทำหน้าที่ป้องกันรักษาอธิปไตยของชาติ การเฝ้ารอต่อไปก็ไม่มีวี่แววว่าจะมีการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการฯจึงต้องแสดงเจตจำนงค์ และยื่นหนังสือให้แก่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เรียกร้องให้ทหารออกมาทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กองทัพทบทวนบทบาทที่มีต่อเรื่องดังกล่าว โดยจะดำเนินการยื่นหนังสือให้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการทหารเรือ ภายในวันนี้ โดยต้องการให้กองทัพได้ทราบว่าประชาชนต้องการเห็นการออกมาปฏิบัติหน้าที่ปกป้องดินแดนภายใต้การนำของกองทัพ จึงได้ร่างหนังสือขึ้นมา 1 ฉบับ

“หากกองทัพยังเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ ก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องถูกดำเนินการทางกฎหมาย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119-120 และ 157 รวมไปถึงขัดต่อหน้าที่ที่ระบุไว้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญด้วย เหมือนที่เราได้ดำเนินการต่อนายกฯ ต่อ ป.ป.ช.ไปแล้วฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” นายประพันธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการยื่นหนังสือครั้งนี้ได้กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพไว้หรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ควรกระทำทันทีและเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องอธิปไตยดินแดนของชาติ ไม่สามารถรรอได้ แต่อาจจะให้เวลาในการพิจารณาหนังสือระยะหนึ่ง หากผ่านไปแล้วยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็คงต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

เมื่อถามว่าในหนังสือระบุถึงช่วงเวลาการชุมนุมว่าจะสิ้นสุดในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ หลังจากทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกต่อกรณีปราสาทพระวิหาร นายประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากเรามาชุมนุมในครั้งนี้ มุ่งที่ผลของปํญหาดินแดนอธิปไตยเป็นหลัก และเรามีความห่วงใยว่าในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้จะเป็นตัวชี้ขาดที่จะมีผลต่อดินแดนของชาติ ซึ่งการประชุมมีการจัดขึ้นในวันที่ 26 - 29 มิ.ย.

อย่างไรก็ตามในวันนี้ (26 พ.ค.) ได้มีการประชุมนอกรอบในระดับทวิภาคีระหว่างนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กับนายซกอาน รองนายกฯกัมพูชา ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหากมีการตกลงให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการประชุมในวาระพิจารณาแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารออกไป เราจะมีการพิจารณาถึงแนวทางการชุมนุมอีกครั้งว่า จะปรับมาเป็นการรณรงค์โหวตโนอย่างเต็มรูปแบบ หรือยุติการชุมนุมชั่วคราวก็เป็นไปได้ แต่ต้องรอให้มีความชัดเจนก่อน

**“จำลอง” สับฝ่ายการเมืองมีเอี่ยวผลประโยชน์

ด้าน พล.ต.จำลอง กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสียดินแดนอธิปไตยถือเป็นเรื่องใหญ่ จึงมีประชาชนจำนวนมากทำหนังสือมาถึงตนในฐานะที่เป็นทหารเก่า ว่าเหตุใดกองทัพจึงไม่ออกมาทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน เมื่อได้อ่านท้งข้อความหรือบทกลอนแล้วก็สะเทือนใจ สะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวังของประชาชนต่อทหารหาญของพวกเขา อย่างไรก็ตามการที่เราออกมาเรีกยร้องให้ทหารทำหน้าที่ผลักดันกัมพูชาออกจากแดนไทยนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ไปรบราฆ่าฟัน เพราะยังมีมาตรการหลายๆอย่างที่สามารถทำได้ อย่างที่เคยบอกไปแล้วทั้งการนำเครื่องบินรบไปฝึกซ้อมใกล้แนวชายแดนในฝั่งไทย หรือการฝึกซ้อมรบในบริเวณใกล้เคียง เป็นต้น ส่วนมาตรการทางเศรษฐกิจก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปิดด่าน ที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของทางฝ่ายกัมพูชา ทั้งบ่อน การขนสินค้าเถื่อน หรือการเคลื่อนย้ายยุทธภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงการตัดการส่งพลังงานหรือตัดไฟฟ้าที่ส่งไปขายที่กัมพูชา ที่อาจทำให้ประเทศต้องสูญเสียรายได้เล็กน้อย แต่เทียบไม่ได้กับการสูญเสียดินแดน

“เหตุที่ยังไม่มีการดำเนินมาตรการใดๆเลย ก็เพราะฝ่ายการเมืองไทยไปมีผลประโยชน์ร่วมกับทางกัมพูชา จึงทำให้กัมพูชาเหิมเหริมจนกล้าเข้ามายึดดินแดนไทยในหลายจุด” พล.ต.จำลอง กล่าว

**“ปรีชา”ฉุน ทหารไทยมีปืนแต่ไม่ใช้

ส่วน พล.อ.ปรีชา กล่าวเสริมว่า ขณะนี้กัมพูชาเข้ามายึดพื้นที่ของไทยในหลายจุด แต่เรากลับปล่อยไม่ทำอะไร และที่สำคัญยังถูกลากให้ไปขึ้นศาลโลกเสียอีก ทั้งที่เรามีปืน มีศักยภาพทางการทหารที่เหนือกว่ามาก ในสมัยที่ตนยังรับราชการอยู่นั้น ไม่เคยมีปัญหาเรื่องพวกนี้ ทั้งพม่า ลาว หรือแม้แต่กัมพูชา ที่ไม่มีใครล่วงล้ำเข้ามาในแดนไทย เพราะเรามีปืนและแสดงศักยภาพให้เขาเห็น

**“ดร.สมปอง” ชี้ ผอ.ยูเนสโก เล่นละครตบตาไทย

ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอดีตทนายความผู้ทำคดีปราสาทพระวิหารปี พ.ศ.2502-2505 อดีตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำยูเนสโก และเป็นอดีตที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกเรื่องมรดกโลก ได้ตีพิมพ์บทความใน เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ โดยตั้งข้อสังเกตต่อการเข้าร่วมประชุมนอกรอบเรื่อง มรดกโลกระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่กรุงปารีส ของ นางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการยูเนสโกโดยไม่ได้รับเชิญ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา

ศ.ดร.สมปอง ระบุว่า ท่าทีของนางนางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการยูเนสโก ซึ่งดูเหมือนเอนเอียงมาทางฝ่ายไทยนั้น หากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงนั้น นางโบโกวา มีวัตถุประสงค์เพียงรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายตน เพื่อให้การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกสำเร็จลุล่วงไปในที่สุด ทั้งนี้ เนื่องจากไทยเป็นฝ่ายถอยโดยขอให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องพื้นที่บริหารจัดการออกไปแทนที่จะโต้แย้งขั้นเด็ดขาดมิให้มีการขึ้นทะเบียนตั้งแต่แรก

“นางโบโกวา รู้ดีว่า หากยอมให้มีการโต้เถียงยืดเยื้อถึงขั้นรุนแรงกว่านี้ ก็จะเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ดังกล่าวยังมีปัญหาขัดแย้งซึ่งผิดธรรมนูญของยูเนสโกว่าด้วยการรักษาสัมพันธภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศภาคี และไม่ส่งเสริมให้มีการขัดแย้งอันอาจนำมาซึ่งการใช้กำลัง” ศ.ดร.สมปอง ระบุ

ศ.ดร.สมปอง ระบุอีกว่า สรุปได้ว่า นางโบโกวา พยายามช่วยกัมพูชาให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยใช้กุศโลบายที่แนบเนียน และละมุนละม่อมเพื่อให้อีกฝ่ายตายใจ ท่าทีที่แสดงว่าเข้าข้างไทยน่าเป็นละครฉากหนึ่ง เพราะในส่วนลึก สิ่งที่น่าหวั่นเกรงมากที่สุดของยูเนสโกคือไทยถอนตัวจากอนุสัญญามรดกโลก เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยถอนตัวจากยูเนสโกแล้วถึงสองครั้ง

ทั้งนี้ การที่กัมพูชากล่าวหาว่า ไทยทำความเสียหายโดยยิงปืนใส่ซากปราสาทพระวิหารนั้น ไทยควรโต้แย้งว่ากัมพูชาต่างหากเป็นฝ่ายใช้ปราสาทเป็นที่มั่นซ่องสุมกำลังทหารและสรรพาวุธรุกรานฝ่ายไทยโดยใช้อาวุธสงครามยิงบ้านเรือนและราษฎรไทยจากจุดดังกล่าว ไทยจึงไม่มีทางเลือกนอกจากใช้กำลังตอบโต้เพียงเพื่อป้องกันตัวเอง

**มาร์คเชื่อ ยูเนสโก อาจหนุนเลื่อนแผนบริหาร

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า การหารือนอกรอบทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา วันที่ 25-26 พ.ค. ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีนายสุวิทย์คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ว่า กัมพูชาก็ต้องสู้ของเขา แต่เมื่อเช้าวันที่26 พ.ค. ที่ผ่านมา ตนได้คุยกับคนที่อยู่ที่นั่น ซึ่งขณะนี้ทางยูเนสโกเอง ค่อนข้างที่จะคล้อยมาว่า ถ้าหากจะเลื่อนไปน่าจะเป็นทางออกที่ดี และยังทำงานกันอยู่ ซึ่งตนจะติดตามอีกที ส่วนการเจรจานั้น เดิมจะต้องคุยกันในวันที่ 25-26 พ.ค. และต่อมาต้องมาคุยกันในคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ซึ่งขณะนี้เรายังยืนอยู่จุดเดิมว่าควรจะเลื่อน ทางยูเนสโกเองก็ดูจะสนับสนุนเรามากขึ้น

“เขาเข้าใจว่าเงื่อนไขตรงนี้จะเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง ความตรึงเครียดขึ้นมาได้ และเราได้ย้ำมาตลอดว่าทางยูเนสโกควรระมัดระวัง แม้ว่าจะดูในเชิงเทคนิคว่าทำงานทางด้านการอนุรักษ์ แต่ข้อเท็จจริงที่เขาปฏิเสธไม่ได้คือ ก่อนที่จะมีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้สู้รบกัน และไม่ได้ปะทะกันเลย ทั้งสองฝ่ายอยู่ด้วยกัน เปิดให้คนเข้าไปเที่ยว มีทั้งการเก็บเงินซึ่งก็ได้ทั้งสองฝั่งด้วยซ้ำ แต่เมื่อมีการขึ้นมรดกโลกมาก็มีแต่ปัญหาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเขาต้องไปทบทวน เพราะเหนือสิ่งอื่นใด เจตนารมณ์ของการก่อตั้งองค์กรโดยยูเนสโก เองคือเรื่องของสันตาภาพ” นายกฯ กล่าว ถึงกรณีที่ยูเนสโกเข้าใจปัญหาของเรามากขึ้น

ซักต่อว่า ถ้าหากปัญหาเดินสู่ทางตัน จะมีวิธีสำรองเพื่อนำเสนอ ยูเนสโกในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ร่วมกัน หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตรงนั้นคงเป็นข้อเสนอในระยะที่ยาวออกไป สามารถพูดคุยกันได้ในเรื่องแบบนี้ แต่ในเบื้องต้นควรหยุดยั้งกระบวนการที่จะพิจารณาแผนบริหารของกัมพูชาในพื้นที่ก่อน ถ้าตรงนี้ยังตกลงกันไม่ได้ ในเดือนมิถุนายน ต้องไปดูมติตรงนั้นอีกที่

เมื่อถามว่า หากการพูดคุยครั้งนี้ไม่มีความชัดเจน แนวทางในเดือนมิ.ย.จะต้องทำอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ต้องประมวลความเห็นจากฝ่ายต่างๆที่แสดงความคิดเห็นในช่วง 1-2วันนี้ เพื่อจะได้เดินหน้าต่อได้ถูกแนวทาง ตนเห็นหนังสือพิมพ์นำไปเขียนว่าทำไมต้องรวบรวมข้อมูล เพราะเราต้องดูข้อมูล ดูท่าทีของประเทศต่างๆใน1-2วันนี้ เพื่อไปประกอบการพิจารณาการทำงานในเดือนมิ.ย.

เมื่อถามว่า ทางกัมพูชาบอกว่าเขาได้เปรียบ เนื่องจากนายสุวิทย์ ไปเซ็น ร่างสัญญาข้อตกลงต่างๆไว้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ไม่มี คุณสุวิทย์ ไม่เคยไปเซ็นตกลงอะไร เพราะเป็นมติของกรรมการ และวันนั้น เขาพยายามที่จะให้พิจารณาตั้งแต่ปีที่แล้ว แล้วเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงพยายามที่จะพูดเพื่อผลักดันอีกทีหนึ่งในปีนี้ แต่มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ชี้ชัดมากขึ้นว่าการเดินหน้าต่อจะทำให้มีปัญหามากขึ้น ทางกัมพูขาก็จะเล่นแบบนี้เหมือนโยกโย้ เรื่องจีบีซี ตนเข้าใจว่าต้องการให้เรื่องกลับไปที่เวทีศาลโลก พยายามจะบอกกับศาลโลกว่า ให้ช่วยมาแก้ปัญหาในเรื่องกำลังทหารหรืออะไรต่างๆ ถ้าประชุม จีบีซี คงจะกลัวว่าจะเห็นว่าความจริงมีกลไกอยู่

เมื่อถามว่าการเป็นเพื่อนบ้านกับกัมพูชานั้นยากลำบากหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเพื่อนบ้านกัน ธรรมดาที่จะมีกระทบกระทั่งกันบ้าง ส่วนการที่เขายังใช้เวทีโลกกับเรื่องการใช้การทหารนั้น เราจะมีแนวทางการต่อสู้ในส่วนของคดีที่จะไปขึ้นสู่ศาลโลก และเมื่อเช้าวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา รมว.กลาโหมของไทย ได้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเรื่องประชุมจีบีซีเดินหน้าต่อ ดังนั้นจึงไม่จริงที่ พล.อ.เตีย บันห์ รมว.กลาโหมกัมพูชามาพูดว่า ฝ่ายไทยยังไม่ดำเนินการ

เมื่อถามว่า ทางกัมพูชามักจะพูดไม่ตรงกับสิ่งที่พูดกับฝ่ายไทย จะทำอย่างไรให้กัมพูชากลับมาพูดความจริงกับสังคมโลก นายกฯ กล่าวว่า เรามีหน้าที่ในการไปชี้แจงทุกเวทีที่เราไป โดยให้เห็นว่าจริงๆแล้วเราเจรจาหรือพูดคุยกับกัมพูชา หรืออาจจะมีคนที่ สามหรือคนที่สี่ ในเวทีต่างๆก็ดี เรายืนอยู่บนเหตุอะไร และยึดตามข้อตกลงต่างๆอย่างไร ทางกัมพูชาเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราได้ชี้แจง ตนคิดว่าหลายคนเข้าใจเราดีขึ้น

เมื่อถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้กลายเป็นการเมืองในประเทศ โดยกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงขั้นบอกว่ารัฐบาลสมคบกับกัมพูชา เพื่อยกดินแดนให้โดยผ่านศาลโลก นายกฯ กล่าวว่า “ถ้ารัฐบาลสมคบกับกัมพูชาคงจะมีการปะทะกันหรือครับ ถ้ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่อะไรๆ ก็ยอมตามกัมพูชา คงไม่ต้องมีการปะทะกัน สมเด็จฮุนเซน คงไม่มาพูดหรือว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นคนที่ทำงานด้วยยาก ต้องดุที่มาที่ไปของปัญหา ส่วนเรื่องของมรดกโลก ที่มาของปัญหาคือปี 51 รัฐบาลในขณะนั้นไปแสดงท่าทีเองว่ายินยอมให้เขาขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว เรามาตามแก้ทีหลังว่าไม่ดีอย่างไร แต่ว่าเราเสียเปรียบไปตั้งแต่วันนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงมีความเสียดเปรียบที่มาจากตรงนี้ พันธมิตรฯ ควรจะไปดูข้อเท็จจริงพวกนี้

เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ออกมาระบุว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล วันแรกจะไปคุยกับกัมพูชา และความสัมพันธ์ก็จะราบรื่น นายกฯ กล่าวว่า ถ้าไปยกดินแดนให้เขาก็คุยได้อยู่แล้ว

**บัวแก้วเตรียมข้อมูลแจงศาลโลก 30 พ.ค.นี้

นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อ 26 พฤษภาคม ถึงกรณีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก จะตัดสินคดีปราสาทพระวิหารว่า การพิพากษาเกิดขึ้นจาก การที่กัมพูชายื่นขอศาลโลกให้ความชัดเจนเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร หลังจากเคยพิพากษาว่า ตัวปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในจุดแดนอธิปไตยกัมพูชา เมื่อปี 2505 แต่ไม่วินิจฉัยว่า เขตแดนของพื้นที่อยู่ที่ใด ดังนั้นศาลโลกจึงนัดหมายไทยเข้าให้ข้อมูล ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ และคาดว่าศาลโลกจะพิจารณาให้ไทยและกัมพูชาจัดทำข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมายังศาลโลกภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม และจะใช้เวลาพิจารณา 1-2 ปี ซึ่งถือว่าล่าช้า ดังนั้นระหว่างนี้กัมพูชาจึงขอให้ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราว เพื่อให้ไทยถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ โดยศาลโลกจะพิจารณาถึงความจำเป็นในการออกมาตรการชั่วคราวดังกล่าวหรือไม่ คาดว่าจะทราบผลภายในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินคดีต่อจากนี้ รัฐบาลไทยแต่งตั้งคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งมีเอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวแทน รวมทั้งจัดตั้งคณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดีด้วย

**“ประวิตร”ยันถก “จีบีซี” ไทย-กัมพูชาไม่ล่ม

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี)ว่า เราได้มีการตกลงกันแล้ว ซึ่งจากการที่ตนได้ติดตามข่าวตามสื่อต่างๆมีการเขียนกันสับสนไปหมด โดยเฉพาะคณะผู้สำรวจกับคณะผู้สังเกตการณ์ เป็นคนละขั้นตอนกัน เพราะคณะผู้สังเกตการณ์ยังจะเกิดขึ้นไม่ได้ ก่อนที่คณะผู้สำรวจจะเข้ามาสำรวจที่อยู่ที่อาศัยของผู้สังเกตการณ์ ดังนั้นจึงยังไม่ทราบว่าจะเกิดผู้สังเกตการณ์หรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานทูตว่าจะเลือกตรงจุดไหน เป็นเรื่องของประเทศอินโดนีเซียจะกำหนดวันที่ผู้สำรวจจะเข้ามาในโดยทาง อินโดนีเซียจะแจ้งมาทางประเทศไทยและกัมพูชาว่าจะส่งคณะผู้สำรวจเข้ามา อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงกันว่าจะมีฝ่ายละ 3 คนเข้ามาประมาณ 1 - 2 วัน โดยที่คณะผู้สำรวจไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่รู้สื่อไปเขียนกันอย่างไร

“คณะ ผู้สังเกตการณ์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะจะต้องประชุมจีบีซีก่อน ถ้าคณะผู้สำรวจเข้ามาทางกัมพูชาก็จะเชิญเราให้ไปประชุมจีบีซีครั้งที่ 8 ที่ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน ทางกัมพูชาพร้อมที่จะจัดการประชุมจีบีซี เพียงแต่รอทางอินโดนีเซียทำหนังสือเท่านั้น”พล.อ.ประวิตร ระบุ

เมื่อถามว่า จัดการประชุมที่ไหนเราไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีปัญหา พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา บอกกับตนว่าจะมีการประชุมจีบีซีที่ประเทศกัมพูชา แต่สื่อไปลงกันว่าการประชุมล้มเหลว ตนไม่เข้าใจว่าล้มเหลวอย่างไร เรามีการพูดคุยกันเรียบร้อยในที่ประชุมกลาโหมอาเซียน

เมื่อ ถามว่า การประชุมจีบีซี.กำลังเดินหน้า แต่ในทางตรงกันข้ามทางกัมพูชาก็ยื่นให้ศาลโลกตีความคำตัดสินเกี่ยวกับประสาท พระวิหาร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คนละเรื่องกัน เรื่องคดีก็ว่าไป ไม่เกี่ยวกัน แต่การประชุมจีบีซี.เป็นช่องทางหนึ่งในเรื่องความปลอดภัยตามแนวชายแดน ซึ่งเราได้ตกลงกันไว้.
กำลังโหลดความคิดเห็น