ASTVผู้จัดการรายวัน-"สุวิทย์"แฉเขมรตุกติก ยื่นแผนบริหารจัดการพระวิหารให้คณะกรรมการมรดกโลกแล้ว พบรุกล้ำดินแดนไทยชัดเจน อ้อนเขมรเจ้าเล่ห์หันเจรจากรอบเจบีซี และยึดสันปันน้ำปักหลักเขตแดน ยันอินโดฯ ไม่มีสิทธิ์เข้ามา ถ้าเขมรยังไม่ถอนทหารและประชาชนออกไป พร้อมโยนเผือกร้อนให้ถาม “บิ๊กป้อม” เรื่องทีมสำรวจอินโดฯ ด้านโฆษกกลาโหมร้อนตัว ยันกลุ่มที่จะเข้าพื้นที่พิพาทเป็นแค่ชุดสำรวจ ไม่ใช่คณะผู้สังเกตการณ์
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีที่ทางการกัมพูชาออกแถลงการณ์ประท้วง กรณีขอเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกประสาทพระวิหารว่า ฝ่ายกัมพูชาพยายามอ้างว่า ได้ส่งเอกสารในเรื่องของแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารให้คณะกรรมการมรดกโลกเรียบร้อยแล้วนั้น ตนขอยืนยันเอกสารดังกล่าวทางสำนักงานคณะกรรมการมรดกโลกยังไม่ได้จัดส่งให้ฝ่ายไทยอย่างเป็นทางการ แต่ตนก็ได้ประสานเอกสารที่ไม่เป็นทางการมาศึกษาแล้ว หลังจากกลับจากการประชุมที่ประเทศบราซิล โดยได้นำมาศึกษาว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ในเรื่องแผนที่มีส่วนไหนที่รุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตของแผ่นดินไทยบ้าง ซึ่งในเอกสารก็มีการรุกล้ำอาณาเขตของไทยเช่นกัน ประการสำคัญคือ ในแผนที่ดังกล่าวมีปัญหาในเรื่องเขตแดน ซึ่งเรายังไม่ได้ปักปันให้เรียบร้อย แผนที่ดังกล่าวจึงไม่มีความสมบูรณ์ ดังนั้นถือว่าแผนบริหารจัดการมรดกโลกก็ยังขาดความสมบูรณ์
"สิ่งที่อยากเห็นการดำเนินการของไทยและกัมพูชา คือ เราต้องไม่ทะเลาะกัน สิ่งสำคัญคือการหันหน้าเข้าหากัน เพื่อทำให้การปักปันเขตแดนเสร็จ ผ่านกระบวนการของเจบีซีที่มีกลไกอยู่แล้ว เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จปัญหาต่างๆ ก็จะยุติลงได้ เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จ กัมพูชาจะทำอะไรในเขตแดนเขาก็สามารถทำได้ แต่อย่ามารุกล้ำอำนาจอธิปไตยและเขตแดนไทย ซึ่งเรายอมไม่ได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว"
เมื่อถามว่าขั้นตอนขณะนี้เลยกรอบในเรื่องการปักปันเขตแดนไปแล้วหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า ยังไม่ทำเลย เพราะการปักปันเขตแดนยังไม่ได้เริ่ม ซึ่งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมได้ยืนยันว่าจะมีการประชุมเจบีซีที่กัมพูชา และคงจะเร่งรัดให้มีการประชุมเพื่อหารือในเรื่องการปักปันเขตแดนต่อไป คิดว่าตรงนี้เป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การเผชิญหน้าระหว่างไทยกัมพูชา
“ไม่มีใครต้องการเห็นการรบราฆ่าฟันกัน แต่ถ้าจำเป็นคนไทยก็รบไม่ขลาดอยู่แล้ว เราก็พร้อมที่จะปกป้องอำนาจอธิปไตยและเอกราชของเรา แต่ความสำคัญคือเราไม่ต้องการไปสู้รบกับใคร เราต้องการสันติภาพและสันติสุขให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ระหว่างไทยกับกัมพูชาก็เหมือนเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน ย้ายหนีออกจากกันก็ไม่ได้เพราะแผ่นดินติดกัน ดังนั้นมีอย่างเดียวคือหันหน้าเข้าหากัน และตกลงว่าขอบเขตอยู่ตรงไหนอย่างไร ภายใต้สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เขียนไว้ชัดเจนในเรื่องสันปันน้ำ ที่เป็นเขตแดนธรรมชาติสามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้มีความเป็นรูปธรรม แตกต่างจากแผนที่ที่เป็นลายเส้นโดยประมาณเท่านั้นเอง” นายสุวิทย์ระบุ
เมื่อถามว่าถึงกรณีข่าวระบุว่า รมว.กลาโหมยอมรับจะให้อินโดนีเซียเข้ามาเป็นชุดสำรวจล่วงหน้านั้น นายสุวิทย์กล่าวว่า รมว.กลาโหมพูดชัดว่าเรื่องของเขตแดน เป็นเรื่องของสองฝ่ายไม่มีฝ่ายที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะว่าการปักปันเขตแดนเป็นเรื่องของเรากับกัมพูชาเท่านั้น ตนยืนยันว่าตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ การปักปันเขตแดนเป็นเรื่องของเรากับกัมพูชาคนอื่นจะมาบอกว่าเขตแดนเราอยู่ตรงไหนไม่ได้ และยืนยันว่ายังไม่มีการเจรจาตกลงให้อินโดนีเซียเข้ามา ซึ่งการสังเกตการณ์นั้นต้องมีการถอนประชาชนและทหารที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีปัญหาออกมาเสียก่อนจึงจะเกิดความเรียบร้อย ซึ่งตนคิดว่าทั้งสองฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะไม่จบ
** ยังไม่กำหนดเวลาที่ชุดสำรวจจะเข้ามา
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการส่งชุดสำรวจไทย-กัมพูชา และอินโดนีเซีย ลงพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า การส่งชุดสำรวจลงพื้นที่ ต้องรอฟังจากทางอินโดนีเซียว่าจะเข้ามาในช่วงเวลาใดและพื้นที่ใดบ้าง ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดที่แน่ชัด เพียงแต่การเข้ามาในพื้นที่อยู่ประมาณ 1-2 วัน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สถานทูต จากประเทศไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย โดยทั้งหมดจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน โดยจัดมาประเทศละ 3 คน และจะไม่มีการถืออาวุธเข้ามาในพื้นที่อย่างเด็ดขาด
"ภารกิจ ของชุดสำรวจ เป็นคนละส่วนกับคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย โดยแนวทางการจัดส่งชุดสำรวจ เป็นผลพวงจากการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือที่ดี โดยชุดสำรวจจะเข้ามาในรูปแบบของภาคพลเรือน โดยอยู่นอกกรอบของทีโออาร์ และไม่มีข้อผูกมัดใดๆ เพราะเข้ามาดูพื้นที่โดยทั่วไป เพื่อสำรวจที่พัก สถานที่ประกอบอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวก หากจะมีการจัดส่งคณะผู้สังเกตการณ์เข้ามาในอนาคต" พ.อ.ธนาธิปกล่าว
พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า วันเวลาที่เหมาะสมในการเข้ามาสำรวจในพื้นที่นั้น จะต้องรอการหารือในรายละเอียดร่วมกันอีกครั้งหนึ่งก่อน ทั้งนี้หลังจากชุดสำรวจเข้าพื้นที่แล้ว ก็จะนำไปสู่การประชุมจีบีซีต่อไป และในเวทีการประชุมจีบีซี อาจจะมีการหารือถึงรายละเอียดการจัดส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามา ตรวจสอบพื้นที่ชายแดนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การประกอบกำลังจะต้องเห็นชอบร่วมกันระหว่างกระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมเพื่อให้อยู่ในพื้นฐานของความไม่เสียเปรียบ
"เราอยากให้ทุกอย่างลงตัวทั้งหมด และร่วมมือกัน เพราะว่าสิ่งที่จะนำพาไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์ได้ น่าจะมีการจัดตั้งเวทีในการหารือกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งการเข้ามาสำรวจในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการเข้ามาสำรวจในพื้นที่เป็นเพียงการปฏิบัติไม่ได้เป็นอย่างทางการ และไม่ได้อยู่ในกรอบของ ทีโออาร์ ใดๆ ทั้งสิ้น" พ.อ.ธนาธิป กล่าว
** ทหารเขมรหิวโซ ไม่พอใจ"ฮุนเซน"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทหารเขมรในพื้นที่ไม่พอใจนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ไม่ดูแล และมาฟ้องทหารไทยว่า ไม่มีข้าวกิน ต้องมาขอข้าว และอาหารแห้งของทหารไทยไปกิน ในขณะที่อาหารฝั่งกัมพูชา ถูกลำเลียงส่งให้กับทหารสายตรงของฮุนเซน และกองพลน้อยรบพิเศษที่ 911 ของนายฮุนมาเน็ต บุตรชายนายฮุนเซน