xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คถกตั้งรับเจรจาเขมร ดึงพระวิหารขึ้นศาลโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ครม.ถกลับ แก้ปมพิพาทไทย-กัมพูชา เกี่ยวข้อง เตรียมประเด็นสู้ศาลโลก 23 พ.ค.นี้ ชี้ยูเนสโกควรชัดเจนก่อนเปิดเวทีโลก “ปานเทพ” ย้ำหากฝ่ายไทยยังยึดติดอยู่กับเอ็มโอยู 2543 ก็จะเสียเปรียบในเวทีนานาชาติอยู่ต่อไป "กษิต"เห็นควรไทยต้องขึ้นศาลโลก

เมื่อเวลา 18.15 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชากรณีเขาพระวิหาร ที่ประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 25 พ.ค.นี้ ว่า วานนี้ได้หารือกัน และในวันจันทร์ที่ 23 พ.ค.ตนจะนัดประชุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุมมรดกโลก และเรื่องคดีในศาลโลก ซึ่งในวันนี้ได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะฉะนั้นประเด็นต่างๆติดตามอยู่ตลอดเวลา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 25 พ.ค.ประเด็นที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่ายไทย จะนำไปเจรจากับทางกัมพูชาคืออะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป้าหมายก็ชัดว่า ทางผู้แทนองค์การยูเนสโกมาบอกกับเราว่าไม่ควรที่จะให้มรดกโลกเป็นปมขัดแย้งลุกลามบานปราย หรือเสี่ยงต่อการทำให้เกิดความรุนแรงกระทบกระทั่งกัน ฉะนั้นก็ต้องไปหาแนวทางที่เหมาะสมในเรื่องการกำหนดท่าทีการประชุมมรดกโลกในปีนี้

เมื่อถามว่า ในช่วงขณะนี้ทางกัมพูชาได้มีการไปฟ้องที่ศาลโลกด้วย จะมีการนำมาคาบเกี่ยวกันกับเรื่องมรดกโลกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางกัมพูชาก็คงพูดถึงการที่ไปยื่นของเขา แต่ในส่วนของประเทศไทยยืนยันว่าเรื่องมรดกโลกไม่ควรไปสร้างปมขัดแย้ง ควรที่จะเลื่อนเรื่องนี้ออกไปก่อน เพื่อให้กลไกต่างๆเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ได้เสียก่อน

เมื่อถามว่า ภาพของยูเนสโกควรจะมีความชัดเจนก่อนที่จะมีการประชุมมรดกโลกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เวทีมรดกโลกจะเปิดเดือนมิถุนายน เราหวังว่าการพบปะกันในวันที่ 25-26 พ.ค.จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่มีปัญหาในเดือนมิถุนายน เมื่อถามว่า หมายถึงจะมีการเลื่อนการเสนอแผนของกัมพูชาออกไป นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็คงจะไปคุยกันในกรอบอย่างนั้น ตนคิดว่าน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้ เพราะตอนที่คุยกับยูเนสโกก็เห็นว่าเป็นทางออกที่ดีทางออกหนึ่ง แต่ก็ต้องฟังข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ

เมื่อถามว่า ทางกัมพูชาอาจจะมีการเล่นตุกติกอีกหรือทำให้การเจรจาล้มเหลว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราจะต้องพยายามเต็มที่ เพราะเราก็ทราบว่าทางกัมพูชาก็มีวาระของเขา และเราก็พยายามทำให้ดีที่สุด เมื่อถามว่า ถ้าในวันที่ 25 พ.ค.ไม่สามารถหาข้อยุติได้จะทำอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ต้องดูว่าในเดือนมิถุนายนจะกำหนดท่าทีอย่างไร ตนยังคิดว่าเดือนพฤษภาคมต้องตกลงกันให้ได้

**“มาร์ค”ฉุนสื่อถามสละสัญชาติ

นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์กรณีการสละสัญชาติ โดยผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องการสละสัญชาติเป็นอย่างไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ ย้อนถามกลับมาว่า “สละยังไงหละครับ” ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อว่า ท่านนายกฯตัดสินอย่างไรในเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าท่านเคยถามที่ปรึกษาว่ายังไม่ได้ความชัดเจน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ก็ยังไม่ได้ครับ” และเดินไปขึ้นรถออกจากพรรคประชาธิปัตย์

**ครม. ให้ไทยไปขึ้นศาลโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม.วานนี้ (18 พ.ค.) ได้มีการพิจารณาวาระเพื่อพิจารณาจร เป็นเรื่องลับ เกี่ยวกับปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชา โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ ในการแต่งตั้งอธิบดีกรมสนธิสัญญา และอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมเป็นองค์ประกอบในคณะทำงาน เพื่อเตรียมการต่อสู้คดีในศาลโลก ในคดีข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ส่วนรายละเอียดมอบหมายให้นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศไปประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับ เรื่องคณะผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซีย ที่ฝ่ายไทย เห็นควรต้องจัดทำข้อตกลง ร่วมกันก่อนที่จะจัดทำร่างทีโออาร์ คณะผู้สังกตการณ์ฯ ที่ให้มีการส่งบุคคลที่จะเข้ามาสำรวจหรือตรวจสอบในพื้นที่ก่อน และผลักดันให้กัมพูชาถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ก่อน ถึงจะดำเนินในขั้นการร่าง ทีโออาร์ ให้ส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามานั้น ที่ประชุมครม.ยังไม่ได้หารือกัน แต่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สอบถามว่า ถ้าเราไม่ไปเข้าร่วมการขึ้นศาลโลกจะผิดหรือไม่ จะถือว่าเราไม่ยอมรับได้หรือไม่ และถ้าไปร่วมจะเท่ากับฝ่ายไทย รับรู้ ยอมรับ หรือไม่ อย่างไร ซึ่งนายกษิต ตอบว่า เท่าที่รู้ ไม่ว่าเราจะไปร่วมหรือไม่ เขาก็ตัดสินคดีอยู่แล้ว เพราะเป็นการอ้างอิงถึงคำตัดสินเดิมของศาลโลก เพียงแต่ให้ชี้ชัดว่า คำสั่งศาลโลกเดิมแปลความหมายว่าอย่างไร ดังนั้นไม่ว่าเราจะไปหรือไม่ เขาก็ตัดสิน และเราก็ต้องรับผลนั้นอยู่ดี จึงคิดว่าเราควรจะไปร่วมดีกว่า

***พธม.จี้ไทยต้องเลิกยึดMOU43

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นำผลการประชุม 3 ฝ่าย ระหว่าง รมว.ต่างประเทศของไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย เข้าหารือในการประชุม ว่า การที่ พล.อ.เตีย บันห์ รมว.กลาโหม ของกัมพูชา ออกมาแถลงว่า จะไม่มีการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ( เจบีซี ) และคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป ( จีบีซี ) ระหว่างไทยกับกัมพูชา หากยังไม่มีผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้าไปในพื้นที่ รวมทั้งปฏิเสธว่า ไม่รู้จักพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหาร โดยยืนยันว่าเป็นดินแดนของกัมพูชานั้น ตนเห็นว่าเป็นการยืนยันเพียงฝ่ายเดียวของทางกัมพูชา

“เรื่องนี้รัฐบาลไทยต้องประกาศในเวทีสาธารณะให้ชัดเจน ถึงอาณาเขตดินแดนของไทย เพราะหากรัฐบาลยังมัวแต่พูดว่า พื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นพื้นที่พิพาท ปัญหานี้ไม่มีทางแก้ไขสำเร็จ เพราะขณะที่กัมพูชายืนยันตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ในขณะที่ฝ่ายไทยยังยึดติดอยู่กับเอ็มโอยู 2543 ก็จะเสียเปรียบในเวทีนานาชาติอยู่ต่อไป เพราะเป็นการเปิดช่องให้กัมพูชาอ้างอิง แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ที่ระบุอยู่ใน เอ็มโอยู 2543 ประกอบกับคำพิพากษาของศาลโลก เมื่อปี 2505 เพื่อยืนยันเส้นเขตแดน เหมือนเป็นกับดักที่รัฐบาลไทยติดอยู่ ทำให้ตกเป็นรองทุกด้าน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เอ็มโอยู 2543 ทำให้ไทยเสียเปรียบ”

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ข้อเสียเปรียบตรงนี้ได้ ไม่ว่าหลังเลือกตั้งใครจะมาเป็นรัฐบาล ปัญหาทุกอย่างก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์ร่วมกับ ฮุนเซน หรือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ยอมยืนยันในเรื่องเส้นเขตแดน และกลัวจะเสียภาพลักษณ์มากกว่าการเสียดินแดนอธิปไตย จึงสังเกตได้ว่า ทุกพรรคการเมืองไม่ได้มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาเลย การเมืองในระบบจึงไม่สามารถปกป้องอธิปไตยของชาติได้
กำลังโหลดความคิดเห็น